×

‘ตรอกแห่งโรคมะเร็ง’ รอยด่างพร้อยความอยุติธรรมจากยุคค้าทาสในสหรัฐฯ

13.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ในช่วงปี 1940 ความเปลี่ยนแปลงได้มาเยือนลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี เมื่อบรรดาบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้มองเห็นถึงศักยภาพของที่ดินสองฟากฝั่งแม่น้ำเพื่อที่จะใช้เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม
  • บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเหล่านั้นได้เริ่มกว้านซื้อที่จากเจ้าของไร่คนขาวที่ขนาบไปด้วยชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดเล็กของคนดำ ซึ่งหลังจากกรรมสิทธิ์เปลี่ยนมือ โรงงานก็เริ่มผุดขึ้นมารอบๆ โซนอยู่อาศัยของคนผิวดำ แต่รัฐบาลของมลรัฐลุยเซียนาก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรที่จะออกมาปกป้องสุขภาวะหรือความปลอดภัยของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าผู้แทนในสภามลรัฐเป็นคนขาวเกือบทั้งหมด
  • กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเคมีเหล่านี้ย่อมเกิดของเสีย ซึ่งถูกกำจัดโดยการฝังลงดินบ้าง ปล่อยลงน้ำบ้าง เผาขึ้นไปในชั้นบรรยากาศบ้าง แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะกลับมาสู่ร่างกายของชาวบ้านในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคโดยตรงผ่านน้ำและอากาศที่ปนเปื้อน หรือผ่านทางห่วงโซ่อาหารจากการสะสมของสารพิษในพืชและสัตว์เป็นลำดับชั้นขึ้นมา
  • ข้อมูลจากสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติในปี 2014 พบว่าโอกาสเกิดมะเร็งของประชากรใน ‘ตรอกแห่งโรคมะเร็ง’ (Cancer Alley) นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนอเมริกันทั่วไป

ในปี 1987 ชาวบ้านในย่านถนนเจค็อบ ไดร์ฟ ในเมืองเซนต์คาเบรียล มลรัฐลุยเซียนา ได้สังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในชุมชนของตัวเอง เนื่องจากชาวบ้านถึง 15 คนในช่วงแค่ 2 บล็อกของถนนพากันล้มป่วยเป็นโรคมะเร็งพร้อมๆ กัน ถนนเส้นนี้จึงถูกขนานนามว่าเป็น ‘ตรอกแห่งโรคมะเร็ง’ (Cancer Alley) แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลมลรัฐได้ทำการสืบสวนโรค ความจริงก็ปรากฏขึ้นมาว่าปัญหาไม่ได้จำกัดอยู่ที่แค่ถนนเส้นนี้เท่านั้น พวกเขาพบว่าอัตราการเป็นมะเร็งของชาวบ้านในชุมชนสองฟากแม่น้ำมิสซิสซิปปีตั้งแต่เมืองแบตันรูช จนมาถึงเมืองนิวออร์ลีนส์ นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนอเมริกันทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด 

 

นั่นแสดงว่า ‘ตรอกแห่งโรคมะเร็ง’ เส้นนี้ไม่ได้กินระยะแค่ 2 ช่วงถนน แต่มันเหยียดยาวไปถึง 85 ไมล์

 

ต้นกำเนิดจากยุคค้าทาส

ชุมชนสองฟากแม่น้ำมิสซิสซิปปีในตอนใต้ตั้งแต่เมืองแบตันรูช จนมาถึงปากอ่าวที่เมืองนิวออร์ลีนส์เป็นชุมชนชนบทที่มีประชากรไม่หนาแน่น และประชากรส่วนใหญ่มักเป็นชาวอเมริกันผิวดำ ซึ่งสาเหตุที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวผิวสีก็เป็นเพราะว่าดินแดนแถบนี้เคยเป็นไร่อ้อยและฝ้ายมาก่อน ด้วยความที่ผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์ น้ำท่าบริบูรณ์ และสภาพอากาศอบอุ่น เหมาะกับการทำเกษตรกรรม เหล่าบรรดาชาวยุโรปที่ได้มาแสวงหาโอกาสที่โลกใหม่จึงได้เข้ามาจับจองทำกินที่บริเวณผืนดินแถบนี้ พร้อมกับนำเข้าแรงงานทาสที่พวกเขาล่ามาได้จากทวีปแอฟริกา

 

ภายหลังการพ่ายแพ้ของมลรัฐฝ่ายใต้ต่อมลรัฐฝ่ายเหนือภายใต้การนำของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ในสงครามกลางเมืองในปี 1865 การใช้แรงงานทาสก็กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทาสผิวดำที่เคยใช้แรงงานในไร่อ้อยแถบนี้ได้รับอิสรภาพในชั่วข้ามคืน 

 

แต่อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่มีความรู้และทักษะ รวมทั้งไม่มีทุนทรัพย์หรือที่ดินเพื่อจะใช้เริ่มต้นประกอบอาชีพ พวกเขาจึงต้องทำงานในไร่เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบจากการเป็นทาส มาเป็นการแบ่งผลประโยชน์ในกรรมสิทธิ์ของผลผลิตระหว่างเจ้าของที่ดินผิวขาวกับแรงงานผิวดำ (Sharecropping) แน่นอนว่าการทำงานในรูปแบบของการแบ่งผลประโยชน์ย่อมดีกว่าการเป็นทาส แต่ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ก็ยังถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบ ไม่เอื้อให้คนผิวดำได้มีโอกาสสะสมทุน และไม่อาจถีบตัวเองให้พ้นจากความยากจนได้โดยง่าย 

 

 

 

การมาถึงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ในช่วงปี 1940 ความเปลี่ยนแปลงได้มาเยือนลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี เมื่อบรรดาบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้มองเห็นถึงศักยภาพของที่ดินสองฟากฝั่งแม่น้ำ เพื่อจะใช้เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งในแง่ของความใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ (ซึ่งก็คือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากแท่นขุดเจาะในอ่าวเม็กซิโก) ความสะดวกในการขนส่ง (สามารถขนส่งโดยเรือคาร์โกผ่านแม่น้ำมิสซิสซิปปีลงอ่าวเม็กซิโก ออกไปสู่มหาสมุทรแอตแลนติกได้โดยง่าย) และการมีอยู่ของแหล่งน้ำที่โรงงานจำเป็นต้องใช้ในการในการลดอุณหภูมิ (Cool Down) ในกระบวนการผลิต

 

บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเหล่านั้นได้เริ่มกว้านซื้อที่จากเจ้าของไร่คนขาวที่ขนาบไปด้วยชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดเล็กของคนดำ ซึ่งคนขาวที่เป็นเจ้าของที่เหล่านี้ก็เต็มใจเป็นอย่างยิ่งที่จะขายที่ดินให้ เพราะในยุคนั้นผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายเริ่มล้นตลาดโลก จากการเริ่มทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ของประเทศในแถบอเมริกาใต้อย่างบราซิล 

 

หลังจากกรรมสิทธิ์เปลี่ยนมือ โรงงานอุตสาหกรรมก็เริ่มผุดขึ้นมารอบๆ โซนอยู่อาศัยของคนผิวดำ แต่รัฐบาลของมลรัฐลุยเซียนาก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรที่จะออกมาปกป้องสุขภาวะหรือความปลอดภัยของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าผู้แทนในสภามลรัฐเป็นคนขาวเกือบทั้งหมด 

 

เพราะยุคนั้นยังมีกฎหมายที่ออกมากีดกันและลดบทบาทในการเลือกตั้งของคนดำอยู่ (เรียกกันรวมๆ ว่ากฎหมายในยุคของจิม โครว) เช่น กฎหมายที่ระบุไว้ว่าคนที่มีสิทธิเลือกตั้งต้องเสียภาษีที่เรียกว่า Poll Tax เสียก่อน (คนดำส่วนมากยากจน ไม่มีกำลังพอจะมาเสียภาษีอะไรแบบนี้ได้) ต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้ว่าตัวเองมีที่พักอาศัยในมลรัฐลุยเซียนาจริงๆ (ซึ่งคนดำจำนวนหนึ่งไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง) และต้องรู้หนังสือ เป็นต้น กฎหมายแบบนี้ทำให้คนผิวดำจำนวนมากไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ทำให้ผู้แทนและรัฐบาลท้องถิ่นมีแต่คนขาว ซึ่งก็จะปกป้องแต่ผลประโยชน์ของคนขาวโดยที่ไม่สนใจผลประโยชน์ของคนผิวดำ

 

ตัวชาวบ้านเอง แรกเริ่มก็ไม่ได้ต่อต้านโรงงานเหล่านี้มากนัก เพราะยังไม่ทันได้รู้ถึงพิษภัยของมัน และพวกเขายังหวังด้วยว่า โรงงานที่มาตั้งจะสร้างงานในรูปแบบใหม่และช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจนจากการทำเกษตรได้ แต่ผลที่ออกมากลับไม่เป็นอย่างที่พวกเขาหวัง เพราะเจ้าของโรงงานส่วนใหญ่เป็นคนขาว และคนขาวในยุคนั้นยังมีความคิดในเรื่องการแบ่งแยกกันระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำอยู่มาก  (Segregation) ทำให้โรงงานส่วนใหญ่เลือกที่จะจ้างคนงานผิวขาวที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น (เคยมีการเก็บสถิติและพบว่าคนงานในโรงงานเหล่านี้เป็นคนดำในพื้นที่ไม่ถึง 10%) ทำให้คนผิวดำก็ยังประสบกับปัญหาการว่างงานและความยากจนต่อไป

 

 

 

อยู่ในน้ำ อยู่ในอาหาร อยู่ในอากาศ

แน่นอนว่ากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเคมีเหล่านี้ย่อมเกิดของเสีย และของเสียหลายตัวก็ถูกค้นพบในภายหลังว่าเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) หรืออย่างน้อยมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง ยกตัวอย่างเช่น ไดออกซิน (Dioxin), เอทิลีน ออกไซด์ (Ethylene oxide), เบนซีน (Benzene), คลอโรพรีน (Chloroprene) รวมทั้งฝุ่น PM2.5 สารพิษเหล่านี้ก็ถูกกำจัดโดยการฝังลงดินบ้าง ปล่อยลงน้ำบ้าง เผาขึ้นไปในชั้นบรรยากาศบ้าง ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็จะกลับมาสู่ร่างกายของชาวบ้านในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคโดยตรงผ่านน้ำและอากาศที่ปนเปื้อน หรือผ่านทางห่วงโซ่อาหารจากการสะสมของสารพิษในพืชและสัตว์เป็นลำดับชั้นขึ้นมา

 

การศึกษาของสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (Environmental Protection Agency) ในปี 2014 พบว่าโอกาสเกิดมะเร็งในชั่วชีวิต (Lifetime Risk of Cancer) ของประชากรใน Cancer Alley นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนอเมริกันทั่วไป ในบางชุมชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่อยู่ติดกับโรงงานโดยตรง) โอกาสเกิดมะเร็งนั้นสูงกว่าคนอเมริกันทั่วไปถึง 50 เท่าเลยทีเดียว นอกจากนี้ในการศึกษาอื่นๆ ก็พบว่าสุขภาวะด้านทางเดินหายใจของคนในชุมชนนี้แย่กว่าค่าเฉลี่ย เช่น ความชุกของการเป็นโรคหอบหืดของเยาวชนในชุมชนสูงเป็น 2.5 เท่าของค่าเฉลี่ยของประเทศ

 

โควิด-19 

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับคนทั้งโลก รวมทั้งชุมชนสองฟากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากคืออัตราการตายจากโควิด-19 ของผู้คนในย่านนี้สูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศ (อัตราการเสียชีวิตล่าสุดคือ 1 ใน 700 คน) ทั้งๆ ที่ชุมชนเป็นชุมชนชนบทที่ผู้คนไม่ได้อยู่กันอย่างหนาแน่นเหมือนฮอตสปอตอื่นๆ ที่เป็นเขตเมืองใหญ่ ซึ่งถึงแม้ว่าตอนนี้เราอาจจะไม่สามารถสรุปได้อย่างมั่นใจว่าเหตุการณ์นี้เกิดจากอะไร แต่ความเป็นไปได้หนึ่งคือชาวบ้านของชุมชนนี้เผชิญกับมลพิษและฝุ่น PM2.5 อยู่ทุกวัน ทำให้ปอดของพวกเขาไม่แข็งแรงอยู่เดิม และเสียหายได้ง่ายเมื่อมีการติดเชื้อไวรัส

 

ปัญหาการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อคนผิวดำเป็นเสมือนยอดของภูเขานำแข็ง แต่เอาเข้าจริงปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเหยียดสีผิวในสังคมอเมริกานั้นกว้างขวางและฝังรากหยั่งลึกมานาน รวมถึงเรื่องพื้นฐานที่สุดอย่างสิทธิที่จะมีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจ ไม่แปลกที่เมื่อมีเหตุการณ์มากระตุ้นอย่างการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ จะทำให้ความโกรธแค้นของมวลชนปะทุขึ้นมาจนกลายเป็นการจลาจลไปทั่วประเทศ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising