×

เปิดตำนาน 140 ปีบอนสี จากบอนเจ้าสู่บอนไพร่ กระแสบอนจีน และ พส.เล่นต้นไม้

08.10.2021
  • LOADING...
Caladium

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • การเข้ามาของ บอน เป็นผลมาจากการค้นพบทวีปอเมริกาโดยโคลัมบัส จากนั้นเมื่อการค้าทาสและการปลูกพืชในอเมริกาเจริญขึ้น ทำให้บอนสีเริ่มเข้ามาปลูกในยุโรปเพื่อเป็นไม้ประดับเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้วจึงแพร่หลายไปยังประเทศในอาณานิคม เช่น อินเดีย บอนสีชุดแรกๆ ของไทยจึงมาจากอินเดีย แล้วค่อยมาจากเยอรมนีและอเมริกาใต้ 
  • การเลี้ยงบอนในไทยนั้นย้อนกลับไปได้ไกลเกินกว่า 100 ปี
  • บอนสีก็เหมือนไม้ด่าง ราคามีขึ้นมีลง แต่ในมุมผมถ้าเทียบกันแล้วบอนสีต่างจากไม้ด่างและไม้มินิมัล (เช่น ยางอินเดีย กวักมรกต บัวโขด) ซึ่งเป็นไม้กระแส ที่เกาะกลุ่มความนิยมกันในหมู่ชนชั้นกลาง และพวกอยู่อาศัยตามคอนโดมิเนียม หรือบ้านขนาดเล็กๆ ความยั่งยืนจะอยู่ในระดับหนึ่ง 
  • ในขณะที่บอนสีนิยมกันในวงที่กว้างกว่า กินตลาดทั้งกลุ่มคนชั้นสูง ชั้นกลาง และชาวบ้านทั่วไป (ขอใช้คำว่าชั้นหรือชนชั้นอย่างหลวมๆ) พูดง่ายๆ ถึงตลาดจะเฉพาะกลุ่ม แต่ใหญ่กว่ามาก และเล่นกันทั่วประเทศ ตลาดน่าจะไปได้อีกนาน เพราะถ้าคนไม่ชอบจริง คงไม่อยู่มาได้ร่วมร้อยปี นักวิชาการและนักการเมืองที่ออกมาเตือนจึงยังอาจไม่เข้าใจตลาดของมันดีพอ
  • หน่วยงานราชการควรให้การสนับสนุนบอนไทยให้ตีตลาดโลก เพราะจุดเด่นอย่างหนึ่งของบอนสีคือมีความหลากหลายของสายพันธุ์สูง (Variation) เพราะคนไทยบ่มเพาะความรู้ประสบการณ์และเล่นบอนกันมานานร่วมร้อยปี เรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมและการเกษตรที่เข้มแข็ง และบอนสีคือโอกาสอย่างหนึ่งในการเผยแพร่วรรณคดีและประวัติศาสตร์อีกทางหนึ่ง 

เห็นนักวิชาการและ ส.ส. ออกมาเตือนด้วยความเป็นห่วงถึงกระแสการเล่นบอนสีในไทยตอนนี้ว่าปั่นราคากันสูงมาก ซึ่งก็นับว่าเป็นความหวังดีที่ควรฟัง แต่ถ้าได้ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของวงการบอนสีแล้ว จะพบว่าราคาบอนสีเคยสูงหลักแสนกันมาแล้วเมื่อเกือบร้อยปีก่อนเมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน คนในวงการบอนจริงๆ ไม่ได้ตื่นตระหนกอะไรกันมาก ราคาพวกนี้มีขึ้นมีลงเป็นปกติตามกระแส  

 

ช่วงนี้ผมเริ่มมาซื้อบอนสีนิดหน่อย เพราะอยากให้พ่อมีกิจกรรมทำจะได้ไม่ทรุดโทรมไปตามวัยชรา โดยเฉพาะร่างกายและสมอง ทำให้ติดตามตลาดและความเคลื่อนไหวบ้าง แต่ด้วยความเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์เลยชอบขุดคุ้ยว่าประวัติความเป็นมาของบอนสีเป็นอย่างไร และพบว่ามันมีแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจทีเดียว 

 

บอนจีนมา บอนไทยสู้

อย่างที่ทราบกันดีในหมู่พ่อค้าแม่ค้าต้นไม้ สาเหตุหนึ่งที่คนกลับมาฮิตบอนสีกันนั้นช่วงนี้หลักๆ ก็คือ การเข้ามาของบอนสีจีน บอนพวกนี้สังเกตง่ายจากชื่อ เช่น สตรอว์เบอร์รี บับเบิล อะไรพวกนี้ เพราะมันไม่มีชื่ออยู่ในสารบบของบอนไทย บอนพวกนี้เข้ามาในราคาต้นทุนที่ถูกมาก จากนั้นพวกพ่อค้าแม่ค้าก็ตั้งให้ราคาให้สูง สร้างกระแส ทำให้คนที่เล่นไม้ด่างและไม้อื่นๆ คิดว่าบอนสีกำลังจะมาฮิตอีกครั้ง ผลก็คือทำให้ราคาบอนสีทุกชนิดกลับมาราคาแพงขึ้น จะเรียกว่าปั่นราคาก็ได้

 

แต่กระแสของบอนจีนที่เข้ามานี้เอง ทำให้เกิดกระแสโต้กลับ โดยมีคนจำนวนหนึ่งหันกลับมาฮิตบอนไทยกันอีกครั้ง ในเฟซบุ๊กไลฟ์และกลุ่มของคนขายบอนสีเลยมักย้ำเสมอว่าไม่ใช่บอนจีน และบางคนก็ถือว่าการเลี้ยงบอนไทยนั้นเป็น ‘การอนุรักษ์’ อาจเรียกได้ว่าเป็นกระแสการอนุรักษ์มรดกทางภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกเชิงชาตินิยมแบบหนึ่ง แต่ผมไม่ได้หมายความคำว่าชาตินิยมในแง่ลบนะครับ 

 

แต่ด้วยกระแสของการหวนกลับมาอนุรักษ์บอนไทยนี้เอง จึงทำให้ราคาของบอนไทยทั่วประเทศจึงพุ่งสูงขึ้นกว่าบอนจีน แต่จีนและพ่อค้าแม่ค้าต้นไม้ก็ฉลาด ทำให้ราคาบอนจีนนั้นวางอยู่ตรงช่องว่างทางราคาของบอนไทยแบบพื้นๆ ขอเรียกบอนชาวบ้าน กับบอนไทยแบบมีชาติมีสกุลที่อยู่ในตับ (ตับหมายถึงกลุ่ม หรือ ตระกูล) เท่าที่ตามๆ ดูราคาบอนจีนจะอยู่ระหว่าง 250-500 บาท (ราคาต้นทุนถูกกว่านี้หลายเท่า)

 

Caladium

รถคอนเทนเนอร์กำลังขนบอนจีนเข้าประเทศไทย (อ้างอิง: https://www.facebook.com/groups/225550657843210/posts/1403790240019240/)

 

อีกทั้งบอนจีนยังมีสีสันสวยน่ารัก มีชื่อที่ดูทันสมัย เช่น สตรอว์เบอร์รี บับเบิล ทำให้ถูกใจกลุ่มชนชั้นกลางที่กำลังเห่อการเล่นต้นไม้ เรื่องนี้ยังไม่นับรวมการเข้าถึงที่ง่ายกว่า คือไปร้านต้นไม้ก็ซื้อได้เลย ต่างจากบอนไทยที่มีตลาดค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม แต่ความเฉพาะนี้ก็มีคนเล่นบอนหลักหลายแสนคน โดยมารวมกันอยู่ในเฟซบุ๊ก ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่กล้าเข้าไปเล่นถ้ายังไม่คุ้นเคย พูดง่ายๆ ว่าบอนจีนทำตลาดได้เพราะอาศัยช่องว่างของราคา หาซื้อง่าย ราคาไม่แรง แถมยังมีสีสันใหม่ๆ ให้เลือกได้ถูกใจ 

 

สำหรับคนที่มือใหม่เรื่องบอนสี เท่าที่สังเกต ผมขอแบ่งกลุ่มบอนออกเป็น 4 กลุ่มคือ 

 

กลุ่มที่ 1 บอนชาวบ้าน เช่น เจ้ากรุงไกเซอร์ เจ้ากรุงเดนมาร์ก อิเหนา นกกระทา พวกนี้เป็นบอนไทยที่ปลูกกันมานาน ย้อนกลับไปได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กันเลย (ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาดูประวัติศาสตร์ของมันกัน) แต่การที่ปลูกกันมานาน มีปริมาณเยอะ และสีสันชินตา ทำให้ราคาไม่แรง กำเงินหลักสิบหลักร้อยก็สามารถซื้อได้ (ขึ้นอยู่กับขนาดของกระถางหรือกอ)

 

Caladium

(ซ้าย) บอนอิเหนา สังเกตง่ายมีใบสีขาวกระดูกสีเขียว

(ขวา) บอนวัวแดง และบอนสาวน้อยประแป้ง ถือเป็นบอนชาวบ้านแต่มีความเก่าแก่เช่นกัน

กลุ่มที่ 2 บอนคลาสสิก บอนพวกนี้มีชื่อ มีสกุลวงศ์รุนชาติ โดยมักมีชื่อที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีและประวัติศาสตร์ชาติ เช่น บอนตับรามเกียรติ์ (คำว่า ตับ หมายถึง กลุ่ม, ชุด) บอนตับหนุมาน บอนตับขุนช้างขุนแผน บอนตับวีรชน บอนตับพระอภัยมณี บอนตับสามก๊ก บอนตับฉลองพระนคร ราคามีตั้งแต่หลักร้อยกลาง-ปลาย หลักพัน หลักหมื่น และอาจพุ่งไปถึงหลักเกือบแสนขึ้นอยู่กับขนาดความหายาก ความนิยม และขนาดต้น/ใบ ราคาของบอนกลุ่มนี้ค่อนข้าง Stable ไม่แกว่งมาก เพราะคนเล่นกันมานานและมีประวัติศาสตร์ยาวไกล ถึงอย่างนั้นก็ต้องระวังเรื่องการปั่นราคาเช่นกัน อย่างว่า Demand มากแต่ Supply ต่ำ และมีกระแสการปั่นราคาบอนกันจริง แต่ชื่อของบอนตับนี้เองที่น่าสนใจในแง่มุมทางประวัติศาสตร์มากๆ

 

Caladium

บอนสีฮกหลง อยู่ในตับสามก๊ก บอนพื้นฐานราคาเบสิก แต่กำลังกลับมาได้รับความนิยม

 

กลุ่มที่ 3 บอนกระแส เช่น นางไหม จอมทัพ ชายชล (ผสมขึ้นเมื่อปี 2545 โดย วิเชียร สุดธูป) บอนพวกนี้ได้รับความนิยมราคาพุ่งเร็ว เนื่องจากทางอินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดียกำลังนิยมกันและเข้ามากว้านซื้อพอควร ทำให้เดิมที เช่น ชายชล ราคาอยู่ที่หลักร้อย กลายเป็นราคาหลักหมื่นกันเลยทีเดียว ในกลุ่มนี้ยังมีบอนสีที่ตั้งชื่อเกี่ยวกับด้านธุรกิจและความร่ำรวยและยิ่งใหญ่ด้วย เช่น มั่งมีศรีสุข เศรษฐีพันล้าน มิ่งมงคล จ้าวจักรพรรดิ จอมทัพ ทำให้การซื้อมาปลูกไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามแต่มีความเชื่อพ่วงเข้ามาด้วย 

 

Caladium

(ซ้าย) ชายชล ราคาแพงมากในตอนนี้ สมัยก่อนราคาเพียงหลักร้อย (ขวา) บอนจอมทัพ

 

กลุ่มที่ 4 บอนลูกไม้ เป็นบอนที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์หรือกลายพันธุ์ ทำให้เกิดบอนสีสันใหม่ๆ ขึ้นมาต่างจากต้นแม่ บอนพวกนี้มีทั้งราคาสูงและไม่สูง หลายคนซื้อเพราะชอบความ Uniqueness ของมัน แต่บางคนซื้อเพราะหวังเกร็งกำไร ถ้าด่าง มีสีแปลกตาสวยงามก็มีโอกาสนำไปตั้งต้นแม่พันธุ์ร่ำรวยได้

 

Caladium

บอนลูกไม้ที่ไม่มีชื่อที่บ้านผม กะว่าอนาคตจะตั้งเป็นชื่อของพ่อ 

 

บอนสีก็เหมือนไม้ด่าง ราคามีขึ้นมีลง แต่ในมุมผมถ้าเทียบกันแล้วบอนสีต่างจากไม้ด่างและไม้มินิมัล (เช่น ยางอินเดีย กวักมรกต บัวโขด) ซึ่งเป็นไม้กระแส เกาะกลุ่มความนิยมกันในหมู่ชนชั้นกลาง และพวกอยู่อาศัยตามคอนโดมิเนียม หรือบ้านขนาดเล็กๆ ความยั่งยืนจะอยู่ในระดับหนึ่งเมื่อเป็นเจ้าของครอบครองกันไปถึงจุดหนึ่งแล้ว ในขณะที่บอนสีนิยมกันในวงที่กว้างกว่า กินตลาดทั้งกลุ่มคนชั้นสูง ชั้นกลาง และชาวบ้านทั่วไป (ขอใช้คำว่าชั้นหรือชนชั้นอย่างหลวมๆ) พูดง่ายๆ ถึงตลาดจะเฉพาะกลุ่ม แต่ใหญ่กว่ามาก และเล่นกันทั่วประเทศ ตลาดน่าจะไปได้อีกนาน เพราะถ้าคนไม่ชอบจริงคงไม่อยู่มาได้ร่วมร้อยปี นักวิชาการและนักการเมืองที่ออกมาเตือนจึงยังอาจไม่เข้าใจตลาดของมันดีพอ

 

บอนไทยมาจากไหน

ตำราจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่โพสต์ตามเฟซบุ๊กในกลุ่มของคนนิยมบอนสีพูดตรงกันว่า บอนสีเป็นไม้ประดับที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ หรือในเขต Tropical America มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Caladium bicolor Vent (เรียกสั้นๆ ว่า คาลาเดียม)  

 

การเข้ามาของบอนพวกนี้เป็นผลมาจากการค้นพบทวีปอเมริกาโดยโคลัมบัส จากนั้นเมื่อการค้าทาสและการปลูกพืชในอเมริกาเจริญขึ้น ทำให้บอนสีเริ่มเข้ามาปลูกในยุโรปเพื่อเป็นไม้ประดับเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 (สัก 200 ปีก่อน) แล้วจึงแพร่หลายไปยังประเทศในอาณานิคม เช่น อินเดีย บอนสีชุดแรกๆ ของไทยจึงมาจากอินเดีย แล้วค่อยมาจากเยอรมนีและอเมริกาใต้ 

 

ส่วนการเลี้ยงบอนจะย้อนกลับไปไกลถึงสมัยสุโขทัยตามที่ชอบอ้างๆ กันนั้น ไม่มีหลักฐาน แต่ด้วยประวัติการเข้ามาของบอนสีเกิน 100 ปี ทำให้มีรายละเอียดมาก ผมจะขอเลือกเฉพาะที่เห็นว่าสำคัญ

 

พระยาวินิจอนันต์กร (โต โกเมศ) ได้เล่าถึงบอนสีหรือบอนฝรั่งไว้ว่า “บอนสีจะเข้ามาเมืองไทยเมื่อใดไม่ทราบแน่ ว่ากันว่าราวปี 2425 ฝรั่งสั่งบอนจากยุโรป คือชนิดที่เรียกกันว่า กระนกกระทา และ ถมยาประแป้ง” ถือเป็นบอนสีชุดแรกในไทย แต่ด้วยการที่บอนสีชนิดนี้เล่นกันมานานเกินร้อยปี ทำให้ปริมาณการปลูกมีเยอะมาก จนราคาไม่แพง 

 

นอกจากนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จประพาสยุโรป เมื่อปี 2442 และ 2444 จึงได้นำพันธุ์ไม้จากยุโรปหลายสายพันธุ์ มี 4 ชนิดที่ควรกล่าวถึงคือ เจ้ากรุงเดนมาร์ก เจ้าไกเซอร์ เจ้าอัมเปอร์ และอิเหนา ชื่อทั้งหมดตั้งขึ้นมาเป็นที่ระลึกที่พระองค์เสด็จไปยังประเทศเดนมาร์ก เยอรมนี (ไคเซอร์) เจ้าอัมเปอร์มาจากคำว่า Emperor แปลว่า จักรพรรดิ ส่วนอิเหนาสื่อถึงประเทศชวาหรืออินโดนีเซีย 

 

Caladium

เจ้ากรุงไกเซอร์ มีที่มาจากพระอิสริยยศเยอรมัน ซึ่งเทียบได้กับจักรพรรดิ 

 

นอกจากนี้แล้วรัชกาลที่ 5 ได้ทรงจัดให้มีการประกวดบอนสีในงานประจำปีของวัดเบญจมบพิตรอีกด้วย โดยผู้ชนะการประกวดจะได้เหรียญทองคำจากพระองค์ ซึ่งในครั้งนั้นบอนที่ชนะการประกวดมีชื่อว่า ‘นกประทุม’ (หรือนกประทุมเหรียญทอง) ด้วยความนิยมพันธุ์ไม้แปลกในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง ทำให้ราวปี 2449-2450 ฝรั่งชื่อ มะโรมิ เลนซ์ สั่งบอนสีต่างๆ เข้ามาขายจากประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นจำนวนมาก และในปี 2472 คุณพระกันภยุบาทว์สั่งนำเข้าบอนสีมาจากญี่ปุ่นมากถึง 50 ชนิด เช่น บอนไก่ตัวงาม ซึ่งเพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์เพิ่มมากขึ้นไปอีก 

 

เมื่อเจ้าเลี้ยง พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย ขุนนาง ก็พากันนิยมชนชอบเลี้ยงบอนสีกันไปด้วย ลามลงไปยังพระสงฆ์และชาวบ้านในที่สุด ความนิยมของบอนสีเมื่อร้อยปีที่แล้วถือว่าบูนกันมาก ไม่ต่างจากสมัยนี้ เท่าที่มีหลักฐานพบว่า ปี 2475 มีการซื้อขายบอนสีกันในราคาสูงแล้ว ได้แก่ บอนชื่อนกยิบ ผสมโดยพระวรรณวาศ ถนนรองเมือง มีราคา 10 ชั่ง (เท่ากับ 800 บาท) (บ้างก็บอกว่า 80 ชั่ง เป็นเงิน 6,400 บาท) จนมีคนขนานนามว่า ‘นกยิบสิบชั่ง’ เงิน 800 บาทในสมัยนั้นก็เกือบแสนบาทในปัจจุบัน (ถือกันว่าบอนนกยิบเป็นต้นกำเนิดของบอนตับขุนช้างขุนแผน) นอกจากบอนตัวนี้แล้วก็มีบอนเถรขวาดที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น แต่ไม่นิยมในปัจจุบันสักเท่าไร

 

Caladium

สมัยก่อนหน้าบ้านใครมีบอนถือเป็นสง่าราศีของบ้านนั้นๆ 

 

โดยสรุปก็คือ บอนสีไทยแรกเริ่มนั้น แท้จริงแล้วก็คือ บอนสีจากต่างประเทศนั่นเอง ปลูกกันมานานจนทำให้มองว่าเป็นบอนไทย เรื่องนี้ไม่ผิดอะไรที่จะบอกว่าบอนเทศเป็นบอนไทย ก็มันอยู่มาเป็นร้อยปี อีกทั้งบอนจำนวนมากก็ถูกพัฒนาสายพันธุ์ใหม่จากที่เป็นเพียง ‘ลูกไม้’ (หมายถึงบอนที่เกิดจากเมล็ดแล้วกลายพันธุ์จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) ให้กลายเป็นบอนมีชื่อ ซึ่งชื่อที่ตั้งนี้แน่นอนก็ต้องตั้งด้วยชื่อไทย ทำให้มันกลายเป็นบอนไทยในที่สุด

 

แต่ประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งที่อยากชี้ชวนด้วยให้ตั้งคำถามด้วยก็คือ ทำไมบอนสีจึงได้เข้ามาในไทยช่วงรัชกาลที่ 5 และจริงๆ ก็ไม่ได้มีแค่บอนสีแต่ยังมีพันธุ์ไม้อีกหลายชนิด ถ้าตอบอย่างสั้นๆ และเร็วๆ ก็คือ สาเหตุที่ทำให้พันธุ์ไม้จากต่างประเทศเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมากนั้นไม่ใช่เกิดขึ้นจากการที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปเพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดขึ้นจากความคิดที่ต้องการปรับปรุงให้สยามเกิดความทันสมัยอย่างยุโรป ทำให้ต้นไม้ที่นิยมกันในยุโรปเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการแต่งบ้านแต่งสวนสมัยใหม่ 

 

ตัวอย่างเช่น ถนนหลายสายในเพชรบุรีก็ใช้ต้นมะฮอกกานี หรือการปลูกมะขามรอบสนามหลวงเพื่อให้เกิด Landscape ที่เป็นสวนสาธารณะแบบยุโรป เป็นต้น ไม้พวกบอนสีก็คือไม้ประดับสวยงามที่ปลูกเพื่อให้บ้านแบบใหม่ของเจ้านายที่เป็นบ้านตึกแบบยุโรปมีความเป็นตะวันตกมากขึ้นนั่นเอง แต่แน่นอนครับว่าด้วยสยามตั้งอยู่ในพื้นที่ 2 วัฒนธรรมคือ ยุโรปและจีน ทำให้ความนิยมไม้บอนไซที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยายังคงอยู่ และยังนิยมมาถึงปัจจุบัน (ผสมเข้ากับกระแสบอนไซญี่ปุ่นในบางช่วงเวลาด้วย)

 

ตำราบอนเล่มแรกของไทย 

เมื่อบอนสีได้รับความนิยมกันมาก ทำให้เกิดความหลากหลายสายพันธุ์ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องทำการจัดหมวดหมู่ขึ้นมา ย้อนกลับไปเมื่อปี 2474 นักเล่นบอนสีกลุ่มหนึ่งได้รวมกลุ่มกันตั้งชื่อกลุ่มว่า ‘บาร์ไก่ขาว’ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นสถานที่นักเล่นบอนสีมาขอตั้งชื่อบอนสีใหม่กัน บาร์ไก่ขาวนี้ตั้งบริเวณร้านศรแดง ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปัจจุบัน 

 

บาร์ไก่ขาวนี้จะมีการนัดชุมนุมกันเดือนละครั้ง มีการจัดตั้งชื่อ (ฉายา) บอนสีเป็นหมวดหมู่เรียกว่า ‘ตับ’ ทำให้เกิดตับต่างๆ ขึ้น เช่น ตับพระอภัยมณี ตับขุนช้างขุนแผน ตับนก มีชื่อที่ตั้งกันประมาณ 160 ชื่อ จัดพิมพ์ออกเป็นหนังสือ ราคาเล่มละ 5 สตางค์ในเวลานั้น (ขออภัยที่ผมหาภาพมาประกอบให้ดูไม่ได้) ทำให้นักเล่นบอนในปัจจุบันทราบชื่อและกำหนดชื่อและตับได้ในปัจจุบัน ความจริง บอนหลายตัวมีชื่ออยู่แล้ว ตั้งกันมาแต่เดิม แต่ถูกจัดให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น เพื่อให้สะสมกันได้อย่างมีทิศทาง 

 

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจในแง่มุมประวัติศาสตร์ก็คือ ชื่อบอน หรือ ฉายา ที่ตั้งให้นี้มีความเกี่ยวข้องกับชื่อของตัวละครในวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้น ทำให้เกิดวิชาประวัติศาสตร์และวิชาภาษาไทยขึ้น ทำให้มีการนำเรื่องจากพงศาวดาร และวรรณคดีที่เจ้านายกรุงเทพฯ ถือว่าทรงคุณค่ามาเป็นเนื้อหาในวิชาภาษาไทย หลังจากนั้นจึงทำให้ความคิดความเชื่อและความรู้เรื่องพวกนี้แพร่หลายลงสู่สามัญชน สำนึกและความรู้เช่นนี้เองที่นำไปสู่การตั้งชื่อบอนสีด้วย 

 

ตัวอย่างเช่น ตับขุนช้างขุนแผน (มีทั้งหมด 94 ต้น/ชื่อ) ขอยกตัวอย่างมาสัก 2 ต้น เช่น ขุนแผน เป็นบอนที่มีใบพื้นแดงหนุนทรายบางๆ กระดูก (ก้านใบ) แดงเส้นแดง สีแดงสด สีชมพูอมขาวกระจายไปทั่วก้าน พื้นแดงอมม่วง สีสะพานหน้าสาแหรกสีดำบัว โดย เปลื้อง สุเดช ถนนนครสวรรค์ให้ชื่อมาแต่เดิม

 

นางไหม พื้นสีเขียว กระดูกแดงเส้นแดง เม็ดเล็กสีขาวกระจายทั่วใบ มีป้ายสีแดงทับก้าน พื้นสีสมอแก่ค่อนข้างดำ เปลือง สุเดช ถนน นครสวรรค์ให้ชื่อมาแต่เดิม (ซึ่งนางไหมนี้เองที่กำลังฮิตกันในปัจจุบัน) 

 

ในส่วนของตับวีรชน เพจท่องโลกบอนสี ได้ให้ข้อมูลว่า “บอนนายโชติ ต้นตำนานต้นนี้คือผู้กล้าบางระจัน ที่ออกมาในปี 2522 ให้ชื่อโดย บุญมี เพชรดี จังหวัดนนทบุรี” ราคา ณ ปัจจุบันถ้าสวยๆ ไปถึง 35,000 บาท ผมไม่มีโอกาสตามว่าทำไมบุญมีถึงได้เลือกตั้งชื่อนี้และมีเกณฑ์อย่างไร ขออภัยท่านผู้อ่านด้วย เพราะบ้านเรายังไม่มีงานศึกษาด้านประวัติศาสตร์ต้นไม้กันจริงจังแพร่หลายมากนัก 

 

อีกตับที่กำลังฮิตกันในหมู่นักเล่นบอนคือ ตับรามเกียรติ์ ซึ่งมีกลุ่มในเฟซบุ๊กค่อนใหญ่ระดับหลักแสนคน มีชื่อตามตัวละครในวรรณคดี เช่น ทศกัณฑ์ ก็ออกโทนเขียวใบลายสวยงาม พระราม พระลักษณ์ หนุมาน และกุมภกรรณ (สองตัวนี้ผมเพิ่งได้มา) เป็นต้น ถ้าตั้งใจจะตามเก็บ ผมรับรองว่าแทบไม่มีทางหากทุนไม่หนาจริง เลือกตามที่ชอบครับ 

 

ความจริงหลังจากยุค 2475 ไปแล้ว ซึ่งน่าสนใจว่าการเล่นบอนสีเฟื่องฟูนั้นเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของชนชั้นกลางด้วยหรือไม่นั้น บอนสีก็ซบเซาไปช่วงหนึ่ง จนกระทั่งปี 2501 ได้มีการฟื้นฟูการเล่นบอนสีกันอีกครั้งโดยมีการจัดประกวดทางทีวีช่อง 4 ต่อมาได้มีการสร้างกฎเกณฑ์ของการประกวดว่าบอนสีที่ส่งเข้าประกวดจะต้องส่งมาจำนวน 3 ต้น (เหมือนกัน) เพื่อแสดงให้เห็นว่าลูกไม้นั้นสามารถสืบทอดพันธุ์ได้โดยไม่กลายพันธุ์จึงจะตั้งเป็นชื่อได้ ภายหลังมาลดลงเหลือ 2 ต้น และมีเกณฑ์การประกวดที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การแบ่งตามรูปแบบของใบ

 

ทั้งหมดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นวิธีการกำหนดตระกูลต้นไม้ (Taxonomy) แบบไทยๆ ซึ่งสะท้อนภูมิปัญญาของการพัฒนาองค์ความรู้ที่น่าสนใจ แต่ที่สำคัญคือจะเห็นได้ถึงอำนาจความรู้ทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทยที่ถูกสร้างขึ้นโดยเจ้ากรุงเทพฯ ที่ฝังอยู่ในบอนสีเหล่านี้ ทำให้เท่าที่ผมสังเกตจึงไม่พบชื่อบอนสีที่สะท้อนเรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและวรรณคดีท้องถิ่นมากนัก ถ้าเป็นไปได้โดยส่วนตัวคิดว่า บอนลูกไม้ต่างๆ น่าจะนำมาจัดตับและใช้ชื่อที่สัมพันธ์กับเรื่องราวของท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์และส่งเสริมเรื่องราวของท้องถิ่นให้สืบเนื่องยาวนานขึ้น

 

Caladium

ตลาดนัดสนามหลวงเมื่อปี 2525

 

และเท่าที่สังเกตช่วงปี 2520-30 นี้เป็นอีกช่วงเวลาที่ฮิตบอนสีกัน เพราะหลังจากเกิดและจำความได้ ผมก็เห็นก๋งและพ่อปลูกบอนหลายสีกันแล้ว ช่วงปี 2525-26 มีการเพาะบอนสีกันแพร่หลาย สนามหลวงกลายเป็นตลาดนัดบอนใหญ่ที่สุด ทำให้ปี 2525 นี้เองที่มีการก่อตั้งสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทยขึ้น ซึ่งถ้าเอาบริบททางประวัติศาสตร์เข้ามาจับก็พบว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดการขยายตัวของชนชั้นกลาง และมีการซื้อบ้านเดี่ยวเพื่ออยู่อาศัยกันมากขึ้น ส่งผลทำให้ต้นไม้ได้รับความนิยม แต่ก็มีจุดร่วมกับปัจจุบันนะครับ ที่คนอยู่บ้านกันมากขึ้นเพราะโควิด ทำให้แห่กันปลูกต้นไม้

 

พระก็เล่นต้นไม้ 

ฉากหลังของพระมหาไพรวัลย์แทนที่จะเป็นภาพโต๊ะหมู่บูชา แต่เลือกเป็นภาพของต้นไม้ ซึ่งสะท้อนบรรยากาศของชนชั้นกลาง และวิถีของมนุษย์ยุคโควิด แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้ก็คือ ท่านเล่นหรือชอบต้นไม้ 

 

เรื่องพระเล่นต้นไม้นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมานานแล้ว ตั้งแต่รัชกาลที่ 7 ไม่เช่นนั้นเวลาเราเข้าวัด คงไม่ได้เห็นต้นไม้สวยๆ เห็นไม้ดัดงามๆ บอนสีก็เช่นกัน พบว่าในสมัยก่อนที่วัดสระเกศ (ภูเขาทอง) เป็นสำนักบอนสีเลื่องชื่อ มีชมรมบอนสีถึง 3 ชมรมด้วยกัน โดยแยกเป็นหมู่คณะของพระ ได้แก่ อาจารย์หรุ่น อาจารย์เป๋ หมวดเจิ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพระภิกษุ เท่าที่ทราบบอนที่อาจารย์หรุ่นให้ชื่อ เช่น พระไวย พลายบัว ขุนช้าง นางพิม เจ้าเชียงอินทร์ จัดอยู่ในตับขุนช้างขุนแผน เป็นต้น 

 

ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางตลาดต้นไม้โลก

ถ้าหากดูกันในมิติประวัติศาสตร์แล้ว ความนิยมในบอนสีและต้นไม้สามารถบอกความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี มี 2 ประเด็นคือ หนึ่ง การเกิดขึ้นของสังคมชนชั้นกลาง หรือการขยับฐานะทางสังคมของคนในประเทศ และ สอง การใช้เวลาว่างและสถานการณ์ทางสังคม เสียอย่างเดียวว่าในบ้านเรายังไม่มีงานประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาต้นไม้ในมิติที่สัมพันธ์กับสังคมมาก อาจมีมากเฉพาะพืชในช่วงสมัยอยุธยาที่มักเขียนกันบ่อยๆ 

 

หากหน่วยงานราชการสนับสนุนให้ดี ประเทศไทยจะเป็นแหล่งผลิตบอนสีอันดับต้นๆ ของโลกได้ เช่นเดียวกับต้นไม้อื่นๆ เพียงแต่จะมีวิธีการอย่างไร ในการสร้าง Popular Culture ของต้นไม้ให้เกิดขึ้น จำเป็นที่ต้องทำงานเชิงรุก ร่วมมือกับภาคเอกชน นักสร้างสรรค์ นักการตลาด และฉกฉวยประโยชน์จากกระแสของตลาดเช่นนี้ ไม่ใช่ทำลายกำแพงภาษีตัวเองเอื้อนายทุนจีนจนสินค้าจากจีนทะลักเข้ามา 

 

ในทางกลับกันคือ สนับสนุนบอนไทยให้ตีตลาดโลก ไม่ใช่ให้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มของคนไทยเท่านั้น เพราะจุดเด่นอย่างหนึ่งของบอนสีคือมี Variation หรือความหลากหลายของสายพันธุ์สูง เพราะคนไทยบ่มเพาะความรู้ประสบการณ์และเล่นบอนกันมานานร่วมร้อยปี คือเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมและการเกษตรที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ที่สำคัญพวกที่มักนำเสนอความเป็นไทยก็ควรมองว่า บอนสีนี่แหละคือโอกาสอย่างหนึ่งในการเผยแพร่วรรณคดีและประวัติศาสตร์อีกทางหนึ่ง 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising