×

“BWG” บริษัทจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจรรายเดียวในไทย ที่อยากเห็นเมืองไทย ไร้มลพิษจากขยะอันตราย

โดย THE STANDARD TEAM
02.05.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ปริมาณขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทยในปัจจุบันสูงถึง 22 ล้านตันต่อปี แต่ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ แต่คือวิธีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง ประกอบกับมีการลักลอบนำขยะไปทิ้งอย่างผิดกฎหมาย 
  • บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG เป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจรรายเดียวในไทยที่ได้รับใบอนุญาตครบทุกการจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร 
  • นอกจากการจัดการขยะอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตราย (Hazardous Waste) และไม่อันตราย (Non Hazardous Waste) ด้วยการบำบัดน้ำเสีย การกำจัด (ฝังกลบ) เผาทำลาย รีไซเคิล ยังแปรรูปกากอุตสาหกรรมเพื่อนำไปผลิตเป็นก้อนเชื้อเพลิง SRF เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า 
  • หลังจากที่ ETC หรือ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ผ่านการตัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) รวมทั้งสิ้น 80 MW นั้น คาดการณ์ว่าจะส่งผลดีในหลายมิติให้กับ BWG นอกจากตัวเลขด้านกำไรแล้วยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะเปิดโอกาสให้โรงงานหลายแห่งสามารถเข้าถึงการจัดการขยะอุตสาหกรรมและผลักดันให้กากอุตสาหกรรมในประเทศไทยเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ทำให้ปัญหาขยะอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทว่าปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ แต่คือวิธีการกำจัดที่ไม่ถูกต้องประกอบกับมีการลักลอบนำไปทิ้งอย่างผิดกฎหมาย 


ยังคงมีการตรวจพบแหล่งลักลอบทิ้งกากของเสียหลายแห่ง พบร่องรอยการฝังกลบ และพบสิ่งปฏิกูล กากของเสียอุตสาหกรรมที่อาจเข้าข่ายวัตถุอันตราย ไม่ว่าจะเป็น เศษบดย่อยอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก เศษยาง เศษปูน ดินปนเปื้อน และของเสียที่เป็นของเหลวปนเปื้อน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมระยะยาว 

 

หนึ่งในต้นตอของปัญหาคือ ขาดข้อมูลและความรู้ในเรื่องการจัดการขยะอุตสาหกรรมที่ถูกต้อง และมีผู้ประกอบการไม่น้อยที่มองว่าการจัดการขยะเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่จะต้องลดให้ได้มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาหากขยะอุตสาหกรรมได้รับการจัดการที่ไม่ถูกต้อง

 

พอย้อนกลับมาดูที่จำนวนโรงงานรับกำจัดขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทยก็มีโรงงานเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถกำจัดขยะได้ทุกประเภทและมีระบบการจัดการแบบครบวงจร หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG ผู้นำด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจรรายเดียวในประเทศไทยที่มีมาตรฐานสากลรับรอง และปฏิบัติตามกฎหมายและหลักวิชาการอย่างถูกต้องมาตลอด 25 ปี 

 

 

ณัฐพรรณ เหลืองวิริยะ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจและสื่อสารองค์กร บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เผยทุกข้อมูลเกี่ยวกับเบื้องหลังการทำงานของธุรกิจการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ธุรกิจที่จะช่วยลดปัญหามลพิษจากขยะ

 

“หลายคนอาจไม่ทราบว่านอกจากขยะชุมชนหรือขยะตามบ้านเรือนทั่วไปที่ดูแลโดยเทศบาลหรือ อบจ. ยังมีขยะอีกประเภทที่กำลังสร้างมลพิษให้กับคนไทยอย่างมากก็คือ ขยะอุตสาหกรรม ที่เกิดจากโรงงานทั้งจากขั้นตอนการผลิต สินค้าที่ไม่ผ่าน QC หรือสินค้าที่ถูกโละสต็อก ซึ่งขยะอุตสาหกรรมยังถูกแยกย่อยเป็นขยะอันตรายกับไม่อันตราย ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง โดยมีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม คอยกำกับดูแล”

 

ณัฐพรรณยังบอกต่อว่า BWG เป็นบริษัทเพียงหนึ่งเดียวในไทยที่ได้รับใบอนุญาตครบทุกการจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2548 มีบริการที่ครอบคลุมทุกประเภทการจัดการขยะอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตราย (Hazardous Waste) และไม่อันตราย (Non Hazardous Waste) ด้วยการบำบัดน้ำเสีย การกำจัด (ฝังกลบ) เผาทำลาย รีไซเคิล ตลอดจนการแปรรูปกากอุตสาหกรรมเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า ที่สำคัญคือกลุ่มบริษัทฯ มีระบบที่เชื่อมโยงกันในด้านของการบริการ ทำให้สามารถบริหารต้นทุนการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ทั้งในด้านของราคา ระยะเวลาการให้บริการ และคุณภาพของการบริการ

 

“สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากคู่แข่งคือการให้บริการที่ครบวงจร ตั้งแต่ให้คำปรึกษาว่าธุรกิจของลูกค้ามี Waste อะไรบ้าง และปลายทางของ Waste จะไปทำอะไรได้บ้าง จนถึงขั้นตอนขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ จัดหารถขนส่งกากอุตสาหกรรมและจัดการกากอุตสาหกรรมด้วยวิธีต่างๆ ทุกขั้นตอนการดำเนินงานเราให้ความสำคัญด้านข้อกำหนดของกฎหมายและระบบมาตรฐานด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด 

 

“นอกจากลูกค้าจะได้รับความสะดวกสบายจากบริการที่ครบวงจรแล้วเรายังช่วยดูแลเรื่องงบประมาณเพื่อให้ได้สิ่งที่คุ้มค่าที่สุด เช่น ลูกค้าที่มีบ่อบำบัดน้ำเสียของตัวเองต้องการจัดการบ่อบำบัดเนื่องจากใช้งานมาระยะหนึ่ง แทนที่จะแนะนำให้ลูกค้าเปลี่ยนน้ำในบ่อทั้งหมดและเสียค่าใช้จ่ายตามน้ำหนักต่อตัน เราจะนำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยดูแลบ่อบำบัดน้ำเสียโดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำทั้งหมด ด้วยการใช้เรือดักตะกอนน้ำเสียขึ้นมา น้ำก็กลับมาใส และบำบัดเฉพาะตะกอน การนำเสนอบริการและนวัตกรรมที่แตกต่างก็เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นใน BWG” 

 

แม้ว่าตอนนี้ BWG จะถือครองสัดส่วนตลาดเกินครึ่ง แต่ด้วยปริมาณขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทยต่อปีสูงถึง 22 ล้านตัน แต่ BWG สามารถจัดการได้เพียงปีละ 5-6 แสนตันเท่านั้น 

 

“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตอนนี้มีโรงงานเพียงแห่งเดียวที่สระบุรี ทำให้ลูกค้าบางรายที่อยู่ไกลมากๆ แม้เขาต้องการจัดการขยะอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธีก็ไม่คุ้มค่าขนส่ง”

 

 

ณัฐพรรณบอกว่า การที่บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC ดำเนินธุรกิจด้านโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ได้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม (ปี 2569) พ.ศ. 2565 โดยเป็นโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกำลังการผลิตรวม 100 เมกะวัตต์ จะส่งผลดีในหลายมิติให้กับธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือ เปิดโอกาสให้โรงงานหลายแห่งเข้าถึงการจัดการขยะอุตสาหกรรมมากขึ้น

 

“โครงการนี้ BWG จะรับดูแลในส่วนที่เป็นการผลิตเชื้อเพลิง SRF โดยจะมีการจัดตั้งโรงงาน SRF เพิ่มในหลายภูมิภาค เพื่อให้เราสามารถเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งกากอุตสาหกรรม สำคัญยิ่งกว่าคือ BWG จะมีส่วนให้โรงงานที่อยู่นอกระบบกว่า 70% ได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้องมากขึ้น และช่วยผลักดันให้กากอุตสาหกรรมในประเทศไทยเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น” 

 

แต่หากมองในเชิงธุรกิจ หาก BWG ได้โครงการนี้มาจะทำให้ ETC เติบโตกว่า 3 เท่าตัว ขณะเดียวกัน BWG จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากการถือหุ้น ETC อยู่ที่ 44% และได้รายได้เพิ่มขึ้นจากการขายเชื้อเพลิง SRF ให้แก่โรงไฟฟ้า คาดการณ์เบื้องต้นว่า BWG จะมี EPS เติบโตถึง 11.7x – 20.8x เท่าจากปี 2565 

 

ไม่เพียงเท่านั้น BWG ซึ่งถือหุ้นอีก 7% ผ่านบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) หรือ AKP ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเตาเผาขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ก็จะมีส่วนแบ่งรายได้จากตรงนี้ด้วย 

 

“ส่วนที่จะเติบโตมากๆ คือ โรงงาน SRF ที่ต้องสร้างใหม่เพื่อป้อนให้กับ ETC น่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ BWG หันมาโฟกัส SRF มากขึ้น และล่าสุดมีการประกาศผลผู้ชนะโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม (ปี 2569) พ.ศ. 2565 ทำให้ ETC ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 80 MW จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านการเงิน โดยการออกหุ้นกู้สำหรับโครงการที่ได้รับคัดเลือกในครั้งนี้

 

“หุ้นกู้ของ ETC คาดว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 5-6% ต่อปี และระยะเวลาของหุ้นกู้ประมาณ 2-3 ปี ซึ่งการออกหุ้นกู้ของ ETC ในครั้งนี้ เรามั่นใจอย่างยิ่งว่า ETC จะได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน เพราะบริษัทมีความมั่นคงทางธุรกิจ ทั้งด้านเชื้อเพลิงจาก BWG ที่เป็นผู้นำในภาคอุตสาหกรรมการบริหารจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และกระแสเงินสดที่มั่นคงจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) กับ กฟภ.” 

 

ในส่วนของ BWG เพิ่งมีการประกาศผลอนุมัติการออกและจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท ครั้งที่ 5 (BWG-W5) อายุ 6 เดือน ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) ในอัตราส่วนการจัดสรรที่หุ้นสามัญเดิมในอัตรา 6 หุ้นเดิมต่อ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ และมีอัตราการใช้สิทธิแปลงใบสำคัญแสดงสิทธิเป็นหุ้นสามัญที่ราคา 1.00 บาท ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน รองรับการขยายตัวของธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทจะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิ BWG-W5 (Record Date) ในวันที่ 15 มีนาคม 2566” 

 

ณัฐพรรณอธิบายให้เห็นบทบาทสำคัญของนวัตกรรมการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม SRF (Solid Recovered Fuel) ของ BWG ที่ไม่เพียงพลิกโฉมการจัดการปริมาณขยะอุตสาหกรรมล้นเมือง แต่จะยังช่วยให้ BWG สามารถบริหารจัดการปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่รับเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

“เดิมที BWG เราเน้นกำจัดด้วยวิธีฝังกลบอย่างเดียว แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปและพื้นที่ที่จะฝังกลบขยะเริ่มลดน้อยลง แล้วจะทำอย่างไรถึงจะลดปริมาณที่เข้ามาในหลุมฝังกลบได้ รวมถึงนำของที่ฝังกลบไปแล้วขึ้นมาเพื่อให้เกิดการ Turn Over จึงเป็นที่มาของการนำขยะอุตสาหกรรมมาแปรรูปเป็นก้อนเชื้อเพลิง (SRF) มาใช้เป็นการนำขยะ 6 ประเภท ได้แก่ ไม้ ยาง หนัง พลาสติก กระดาษ และผ้า มาผสมกันให้เกิดค่าความร้อนที่เหมาะสม ก่อนจะนำมาตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ และอัดให้เป็นก้อนเชื้อเพลิงที่มีค่าความร้อนเกือบจะเทียบเท่าถ่านหิน มันคือแนวคิดการลดการกำจัด เพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อสร้าง Circular Economy หรือการนำทรัพยากรทุกอย่างกลับมาหมุนเวียน”

 

 

จริงๆ แล้วในเมืองไทยก็มีหลายแห่งที่นำนวัตกรรม SRF เข้ามาใช้จัดการขยะอุตสาหกรรม แล้วการผลิตเชื้อเพลิง SRF ของ BWG ต่างจากที่อื่นอย่างไร ณัฐพรรณบอกว่า “นับตั้งแต่วันแรกที่ BWG รับขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาจัดการได้เก็บข้อมูลคุณสมบัติ องค์ประกอบทางเคมี และค่าความร้อนจากกากอุตสาหกรรมต้นทางทุกโรงงาน จนถึงวันนี้ทางทีม R&D ได้นำข้อมูลเหล่านั้นกลับมาใช้ โดยคิดขั้นตอนการผลิตและสูตรผสม SRF เป็นของตัวเอง เช่น ต้องใช้ขยะจากโรงงาน A กี่เปอร์เซ็นต์ จากโรงงาน B กี่เปอร์เซ็นต์ ที่เมื่อผสมกันแล้วทำให้ SRF ทุกก้อนได้ความร้อนที่เหมาะสมมากที่สุดและมีคุณสมบัติคงที่ ปัจจุบันได้รับอนุสิทธิบัตรกระบวนการผลิตก้อนเชื้อเพลิง SRF เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ที่สำคัญกระบวนของ SRF แทบไม่มีของเสียเลย ณัฐพรรณอธิบายว่า เนื่องจาก BWG ทำการคัดแยกประเภทขยะจากต้นทาง ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการขออนุญาตขนของเสียออกนอกพื้นที่โรงงาน ในขณะที่ขี้เถ้าจากการเผาไหม้ของโรงงาน ETC จะถูกนำกลับมาที่ BWG เพื่อฝังกลบ

 

และดูเหมือนว่าเชื้อเพลิง SRF จะส่งผลดีมากกว่า ที่แน่ๆ คือเรื่องเสถียรภาพการผลิตที่ทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผลิตได้ทุกฤดูกาล มีความยืดหยุ่นในการผลิตมากกว่าพลังงานสะอาดอื่นๆ จึงสามารถวางแผนการผลิตเชื้อเพลิงได้ในระยะยาวให้สอดคล้องกับแผนซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้า และสามารถลดปัญหาขยะของประเทศได้เป็นอย่างดี 

 

“เชื้อเพลิง SRF ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มนอกเหนือจากค่าบริการในการรับกำจัดจากโรงงานลูกค้า ทำให้บริษัทฯ เติบโตได้อย่างมั่นคง รวมไปถึงสร้างธุรกิจใหม่คือโรงไฟฟ้าในนามบริษัท ETC ซึ่งมีจุดเด่นในด้านความมั่นคงของเชื้อเพลิงที่ได้รับมาจาก BWG และมีประสบการณ์และมาตรฐานในการจัดการและควบคุมมลพิษจากการเผาขยะจาก AKP ซึ่งก็ถือหุ้น ETC อยู่ด้วยเช่นกัน”    

 

 

นอกจากธุรกิจด้านโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของ ETC แล้ว ปัจจุบัน BWG เองก็ยังมีโครงการอื่นๆ ที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน อย่างโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ BWG ได้รับโครงการมาจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2562-2565 มูลค่างานรวมประมาณ 640 ล้านบาท คาดว่าจะมีการเปิดประมูลเป็นรายปีอย่างต่อเนื่อง มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี และยังมีโครงการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองเก่าอื่นๆ อีกหลายโครงการที่จะเข้าร่วมต่อไป 

 

“คลิตี้ เป็นเหมืองตะกั่วเก่า เมื่อก่อนไม่ได้มีการควบคุมมาตรการดูแลตะกอนแร่ กากแร่ ทำให้พื้นที่ตรงนั้นปนเปื้อนสารโลหะหนักเยอะ ตะกอนที่ยังไม่ได้รับการจัดการเมื่อฝนตกลงมาก็ไหลลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้าน โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จึงเป็นการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองเก่าปนเปื้อนสารตะกั่วโดยมีเป้าหมายให้พื้นที่รอบโรงแต่งแร่และพื้นที่ชุมชนกลับมาปลอดภัยจากสารโลหะหนัก เราจัดการโดยการขุดตะกอนจากแหล่งน้ำและพื้นดินรอบโรงแต่งแร่มาปรับเสถียรเพื่อลดความเป็นพิษก่อนนำไปฝังกลบ เราสร้างพื้นที่ฝังกลบเอง ปูพื้น 18 ชั้นตามหลักการวางฐานทางวิศวกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้ตะกอนรั่วซึมลงดิน ปัจจุบันเราทำไปแล้ว 3 เฟส ยังเหลือดินตะกอนที่ปนเปื้อนอยู่อีกเป็นจำนวนมาก และต้องฟื้นฟูพื้นที่ต่อไปเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม”

 

 

หรือในส่วนของบริษัท เบตเตอร์ เวสท์ แคร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรับบำบัดน้ำเสียที่ BWG ตั้งใจทำขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการในการจัดการของเสียในรูปแบบของเหลวที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีปริมาณสารเคมีหรือสารละลายเข้มข้นผสมอยู่ในปริมาณมากได้อย่างถูกต้อง  

 

“จากเดิมเราบำบัดน้ำเสียเพื่อให้ได้น้ำใส แต่ Better Waste Care เป็นการ Recovery น้ำ โดยจะใช้น้ำที่มีค่าความร้อน ปนเปื้อนน้ำมัน กรด ด่าง หรือน้ำที่ปนเปื้อนสารโลหะหนัก นำเทคโนโลยีในการแยกสารโลหะหนักออกมาผสมกรดด่างใหม่ให้มีคุณภาพ และแยกชั้นน้ำมันออกจากน้ำเสีย ทำให้เราได้ By product เพื่อวนกลับมาใช้ นำไปขายหรือใช้เองได้ ส่วนน้ำใสที่เกิดขึ้นจะส่งให้กับโรงไฟฟ้าในเครือ เพื่อใช้แทนน้ำประปาในกระบวนการ Cooling Down เตา เป็นการจัดการน้ำแบบครบวงจร ไม่มีการทำให้หลุดออกนอกระบบการจัดการ ถือเป็น Zero Waste อย่างแท้จริง”  

 



นอกจากนี้ BWG ยังคงดำเนินธุรกิจที่ไม่สร้างผลกระทบที่ต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งคืนสิ่งดีๆ ให้แก่สังคมผ่านกิจกรรม และโครงการมากมาย ที่เด่นๆ เลยก็คือ โครงการ “ส่งขยะกลับบ้าน” ชวนให้ทุกคนสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว อาทิ เศษผ้า เศษยาง เศษไม้ พลาสติก กระดาษ นำมาส่งต่อเพื่อไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ SRF ส่งต่อให้กับโรงไฟฟ้า

 

“โครงการนี้เราทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว ผลตอบรับดีมาก วัดได้จากจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นทุกปีและปริมาณขยะที่ได้มาก็เพิ่มขึ้น อย่างปี 2565 มีขยะประมาณ 620 ตัน แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราเองก็ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน หากทุกคนช่วยกันคัดแยกขยะ มีการจัดการขยะจากต้นทางที่ดี ก็จะช่วยให้ขยะปลายทางลดลงตามแนวคิด Circular Economy” 

 

ปัจจุบันมีจุดดรอปตั้งอยู่ที่มูลนิธิกระจกเงา, มูลนิธิบ้านนกขมิ้น, ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามโครงการและเช็กจุดดรอปอื่นๆ ได้ที่

Facebook: Betterworldgreenonline หรือเว็บไซต์ www.bwg.co.th 

 

 

“นอกจากโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการขยะ เรายังมี ‘โครงการสอนน้องรักวิทย์’ รับนักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาที่ศูนย์และให้พนักงานที่จบด้านวิศวะมาเป็นคนสอนวิชาวิทยาศาสตร์ น้องๆ จะได้เรียนรู้จากการทดลองทำจริง ที่เราทำเรื่องนี้เพราะมองว่าการที่ BWG เข้าไปสร้างโรงงานในพื้นที่นั้นๆ เท่ากับเราเป็นคนในชุมชน การพัฒนาชุมชนจึงเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ ซึ่งการสอนให้เด็กๆ เติบโตขึ้นมาเป็นคนมีเหตุและผล เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ จะทำให้เขาเติบโตมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนได้” 


แน่นอนว่าการให้ดูแลชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าก็เป็นสิ่งที่ BWG ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ณัฐพรรณเล่าว่า ช่วงที่ก่อตั้งโรงไฟฟ้าโรงแรกของ ETC มีอุปสรรคเรื่องการทำความเข้าใจกับชุมชนอย่างมาก แต่ด้วยการทำธุรกิจที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยอย่างมาก จึงสามารถสร้างความเข้าใจและไว้วางใจแก่ชุมชนโดยรอบได้ 

 

 

“เราตั้งใจทำโรงไฟฟ้าให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นโรงงานตัวอย่างที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาศึกษาดูงานเรื่องการจัดการโรงไฟฟ้าและการผลิต SRF ที่กล้าเปิดเพราะมั่นใจเรื่องระบบบำบัดมลพิษ เนื่องจากเราใช้มาตรฐานและระบบบำบัดมลพิษระดับสูงที่ใช้ใน AKP บริษัทเตาเผาขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย นอกจากนั้นยังติดตั้งระบบ CEMs เป็นการวัดค่ามลพิษต่างๆ แบบเรียลไทม์ไว้หน้าโรงงาน คนในชุมชนหรือใครที่มาเยี่ยมชมโรงงานสามารถดูค่าได้ตลอดเวลา” 

 

BWG ยังดูแลชุมชนโดยรอบด้วยการจ้างงานคนในพื้นที่กว่า 80% ในทุกโรงงาน เพื่อกระจายรายได้สู่คนในชุมชน ณัฐพรรณบอกว่า ตอนนี้ BWG มีโรงงานและโรงไฟฟ้าที่เป็นโมเดลต้นแบบที่สร้างความมั่นใจให้กับชุมชน ทั้งเรื่องความปลอดภัยต่อคนในชุมชน มาตรฐานการสร้างและการดำเนินธุรกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบชุมชน รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยดูแลชุมชนโดยรอบ หากในอนาคตมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมก็จะใช้โมเดลต้นแบบนี้ไปดำเนินการด้วยเช่นกัน

 

“ท้ายที่สุดเราต้องการผลักดันและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในทุกๆ ที่ที่เราไป เพื่อที่จะเติบโตไปกับชุมชนและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประเทศไทย”

FYI
  • ปัจจุบัน BWG เป็นทั้ง Holding Company และ Operating Company โดย BWG มีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ก้อนเชื้อเพลิง SRF ซึ่งได้มาจากการแปรรูปขยะอุตสาหกรรม และจากการนำขยะไปฝังในระบบฝังกลบ 
  • BWG ถือหุ้นบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยปัจจุบันรับก้อนเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมแปรรูป (SRF) จาก BWG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และมีกำลังการผลิตปัจจุบันอยู่ที่ 20.4 MW และบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) หรือ AKP ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเตาเผาขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และยังมีบริษัทในเครืออื่นๆ อีก ภายใต้กลุ่มบริษัท Better Group
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising