×

ย้อนปมคดีหุ้นบุรีเจริญฯ ของศักดิ์สยาม ก่อนศาลชี้ชะตา กับอนาคตทางการเมือง

โดย THE STANDARD TEAM
17.01.2024
  • LOADING...
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

บ่ายวันนี้ (17 มกราคม) ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่มีคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น กรณีถูกกล่าวหาว่าใช้นอมินีถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทใดๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ห้ามไว้ โดยศักดิ์สยามถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่ 3 มีนาคม 2566 หรือราว 10 เดือนมาแล้ว

 

THE STANDARD ชวนย้อนอ่านเส้นทางการเปิดประเด็นนำมาสู่การอภิปราย และการนำเรื่องนี้ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ กระทั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี

 

สำนักข่าวอิศราตั้งข้อสังเกต หจก.บุรีเจริญฯ

 

ราวต้นปี 2564 สำนักข่าวอิศราเปิดประเด็นเรื่องการถือหุ้นห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ซึ่งประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่ศักดิ์สยามเคยเป็นผู้ก่อตั้งและเคยเป็นหุ้นใหญ่ ซึ่งต่อมาพบว่าได้โอนให้บุคคลชื่อ ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ จำนวน 119.4 ล้านบาท เมื่อปี 2561 

 

สำนักข่าวอิศราตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะมีการโอนหุ้นไปแล้ว แต่ยังใช้ที่อยู่บ้านของศักดิ์สยามเป็นที่ตั้งบริษัท จนกระทั่งศักดิ์สยามเป็น สส. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 และ หจก.ดังกล่าวแจ้งย้ายที่ตั้งก่อนที่ศักดิ์สยามจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพียง 23 วัน

 

รวมถึงการตั้งข้อสังเกตว่า การโอนหุ้นเมื่อปี 2561 ระหว่างศักดิ์สยามและศุภวัฒน์ จำนวน 119.4 ล้านบาท มีการจ่ายเงินกันจริงหรือไม่

 

ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่า หจก.บุรีเจริญฯ เป็นผู้ชนะการประกวดราคาของ 2 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม คือ กรมทางหลวงชนบท 2 โครงการ และกรมทางหลวง 2 โครงการ รวมวงเงิน 122.18 ล้านบาท พบว่ามีคู่เทียบซึ่งเป็นบริษัทเดิมทั้ง 2 ครั้ง เป็นผู้ยื่นเสนอราคาทุกครั้งคือ บริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด และยังพบด้วยว่าบริษัท บุรีรัมย์ฯ คือหนึ่งในผู้ที่บริจาคเงินเข้าพรรคภูมิใจไทยเมื่อเดือนมกราคม 2562

 

สส. ก้าวไกล อภิปรายศักดิ์สยามในสภา

 

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจศักดิ์สยาม โดยกล่าวหาว่าศักดิ์สยามปกปิดทรัพย์สินของตัวเองในส่วนที่เป็น หจก.บุรีเจริญฯ โดยใช้ลูกจ้างเป็นนอมินี จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เพื่อให้ตนเองมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐ

 

ในการอภิปรายมีการเรียงลำดับเหตุการณ์ว่า หจก.บุรีเจริญฯ ก่อตั้งในปี 2539 โดยมีตระกูลชิดชอบถือหุ้น 80% และที่ตั้งสำนักงานก็คือบ้านของศักดิ์สยามในขณะนั้น เมื่อมีตำแหน่งทางการเมืองก็ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น หจก.นี้ทั้งหมด และย้ายสำนักงานไปที่อื่น 

 

พอยุค คสช. ศักดิ์สยามกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของ หจก.บุรีเจริญฯ ในปี 2558 โดยเพิ่มทุนเป็น 120 ล้านบาท และย้ายที่ตั้งสำนักงานมาที่บ้านหลังใหม่ของตัวเอง

 

และต่อมาในปี 2561 ที่มีข่าวว่าจะมีการเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร ศักดิ์สยามโอนหุ้นทั้งหมดไปให้นายเอ ซึ่งปกรณ์วุฒิกล่าวหาว่าเป็นนอมินี และย้ายที่ตั้งสำนักงาน หจก.บุรีเจริญฯ ออกจากบ้านของศักดิ์สยามก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน

 

ปกรณ์วุฒิตั้งคำถามว่า นี่เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อคนถือหุ้นให้ลูกจ้างมาเป็นนอมินี หรือมีการซื้อขายหุ้นจริง เพราะไม่พบหลักฐานว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเลย หากมีการซื้อขายกันจริง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายต่ำกว่าหรือสูงกว่าราคาทุนที่ 120 ล้านบาท ศักดิ์สยามหรือผู้ถือหุ้นคนใหม่ก็จำเป็นต้องยื่นมูลค่าหุ้นส่วนเกินเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี 

 

หรือหากซื้อขายเท่าราคาทุน ศักดิ์สยามต้องระบุเงินที่ได้จากการขายหุ้นเป็นทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ไม่ปรากฏเงินก้อนนี้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่น ป.ป.ช. ในปี 2562

 

“ในปี 2562 ท่านยื่นทรัพย์สินในการเข้ารับตำแหน่ง สส. ว่ามีทรัพย์สินอยู่ที่ 115 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน มีเงินสดบวกเงินฝากอยู่ประมาณ 76 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่นๆ เกือบทั้งหมดระบุว่าได้มาก่อนปี 2561 แทบทั้งสิ้น คำถามคือ เงิน 120 ล้านบาทก้อนนี้หายไปไหนครับ” ปกรณ์วุฒิระบุ

 

พบ หจก.บุรีเจริญฯ รับงานกระทรวงคมนาคม

 

ปกรณ์วุฒิยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าศักดิ์สยามยังนำ หจก.บุรีเจริญฯ มาเป็นคู่สัญญากับรัฐรับงานในกระทรวงคมนาคมที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยหลายงานมีความผิดปกติคือ ราคาที่ชนะประมูลต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยไม่ถึง 0.3% และมีคู่เทียบเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นบริษัทที่บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย 5 ล้านบาทในปี 2562

 

ปกรณ์วุฒิตั้งข้อสังเกตว่านายเอคนนี้แจ้งข้อมูลรายได้น้อยมากจนน่าสงสัย ทั้งที่เขาสามารถซื้อต่อที่ดินในพื้นที่พิพาทเขากระโดงต่อจากบิดาของศักดิ์สยาม และซื้อหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ ทั้งหมดมาจากศักดิ์สยามได้

 

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายเอคนนี้เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการในธุรกิจ 4 แห่ง แต่มีสถานะทิ้งร้างไป 3 แห่ง ส่วนอีกแห่งที่เหลือไม่มีรายได้เลยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมและกรมสรรพากรในช่วงปี 2558-2563 ยังพบว่าเขาแสดงรายได้เพียงปีละประมาณ 100,000 บาท หรือเดือนละ 9,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นเงินเดือนที่ได้รับจากบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด ธุรกิจครอบครัวของตระกูลชิดชอบ มาตั้งแต่ปี 2558 ไล่เลี่ยกับช่วงที่ศักดิ์สยามเป็นกรรมการบริษัท ศิลาชัยฯ

 

นอกจากนี้ งบดุลของบริษัท ศิลาชัยฯ ในปี 2561-2562 ยังระบุว่าลูกจ้างคนนี้กลายมาเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ระยะยาว 221.5 ล้านบาทของบริษัท จนปี 2564 สรุปสุดท้ายบริษัทนี้เป็นหนี้ลูกจ้างอยู่ 250.2 ล้านบาท 

 

และในขณะที่บริษัท ศิลาชัยฯ ขาดทุนและติดหนี้ก้อนโตกับนายเอคนนี้ ในปี 2562 บริษัท ศิลาชัยฯ ยังบริจาคให้พรรคภูมิใจไทยไป 4.7 ล้านบาท และนายเอเองก็บริจาคให้พรรคไปอีก 2.77 ล้านบาท พร้อมกับให้ หจก.บุรีเจริญฯ ที่ตัวเองเป็นเจ้าของบริจาคให้พรรคไป 4.8 ล้านบาท และในปี 2563-2564 ยังให้บริษัท ศิลาชัยฯ กู้เพิ่มอีก 100 กว่าล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นการกู้เงินไม่มีสัญญา ไม่คิดดอกเบี้ยใดๆ

 

โดยสรุป ปกรณ์วุฒิกล่าวหาว่าศักดิ์สยามใช้นายเอเป็นนอมินีถือหุ้นแทนตนเอง และใช้ความเป็นรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตัวเอง ส่วนนายเอที่ปกรณ์วุฒิระบุนั้นคาดการณ์ว่าคือ ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ตามที่สำนักข่าวอิศราเคยรายงานมาก่อนหน้านี้

 

“หากเราลองเปลี่ยนชื่อพฤติการณ์นี้ทั้งหมดจากนายเอเป็นศักดิ์สยาม ชิดชอบ และบริษัท ศิลาชัยฯ เป็นเหมือนกงสี ทุกอย่างก็ดูเรียบง่าย ตัวเลขกำไร-ขาดทุนก็อาจไม่สำคัญมากนัก ถึงบริษัทจะขาดทุนและเป็นหนี้อยู่เป็นร้อยล้าน แต่ก็เป็นหนี้คนในครอบครัว เอาเงินไปบริจาคให้พรรคการเมืองตัวเองก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไร” ปกรณ์วุฒิกล่าวในการอภิปรายครั้งนั้น

 

ศักดิ์สยามชี้แจงแย้งทุกข้อกล่าวหา

 

วันถัดมาหลังการอภิปรายของปกรณ์วุฒิ ศักดิ์สยามชี้แจงถึงข้อกล่าวหาในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 ประเด็น คือ เรื่องที่ดินการรถไฟฯ เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์, การขายหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ เป็นนิติกรรมอำพราง, การจัดสรรงบประมาณกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทให้จังหวัดบุรีรัมย์มากผิดปกติ และ MR-MAP เป็นการลงทุนโครงการซ้ำซ้อน

 

สำหรับประเด็นขายหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนิติกรรมอำพรางนั้น ศักดิ์สยามกล่าวว่ามีการซื้อขายหุ้นจริง และรับโอนเงิน 3 ครั้ง รวม 119 ล้านบาท และนับตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2561 ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจบริษัทดังกล่าว 

 

ขณะที่เงินที่ได้รับจากการขายหุ้นก็ได้นำไปชำระหนี้ส่วนตัวและหนี้สินทางธุรกิจแล้ว กรณีที่ไม่ได้ยื่นข้อมูลไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขการยื่น ซึ่งกำหนดไว้ให้ยื่นเฉพาะกรณีมีการเพิ่มการลงทุน หรือจดใหม่ และการโอนขายหุ้นไม่จำเป็นจะต้องยื่น 

 

และเหตุที่ไม่ได้แจ้งข้อมูลในการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. เนื่องจากการดำเนินการซื้อขายเกิดขึ้นก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งในปี 2562 และตามกฎหมายให้แจ้งทรัพย์สินที่มีในขณะนั้น

 

ศักดิ์สยามยังได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีการฮั้วการประมูลงานของกระทรวงคมนาคม โดยกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯ ในการประมูลงานก่อสร้าง หรือวิธีการ e-bidding ผ่านกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งในการดำเนินงานย้ำให้ข้าราชการยึดหลัก 4 ข้อ คือ ต้องเป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย, ถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.), ดำเนินการเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และรับฟังความเห็นของประชาชน 

 

ศุภวัฒน์ยืนยันไม่ใช่นอมินีของศักดิ์สยาม

 

ศุภวัฒน์ที่ถูกกล่าวถึงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชี้แจงโดยการโพสต์คลิปวิดีโอความยาวประมาณ 5 นาทีผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 

 

โดยยืนยันว่าตนเองไม่ใช่นอมินีของศักดิ์สยาม และรู้จักกับศักดิ์สยามมาอย่างยาวนาน ทำธุรกิจหลายอย่างร่วมกัน ส่วนการซื้อขายหุ้นของ หจก.บุรีเจริญฯ นั้นมีการโอนหุ้นและซื้อขายหุ้นจริง ซึ่งตนได้โอนเงินให้กับศักดิ์สยามเป็นจำนวนทั้งหมด 3 งวด ช่วงปี 2560-2561 

 

เขาระบุว่าการซื้อหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ​ เป็นลักษณะของการลงทุน ราคาการซื้อขายมีการเจรจากัน โดยระบุว่ามีการต่อรองราคากัน เพราะรู้ว่าศักดิ์สยามไม่อยากทำธุรกิจนี้แล้ว เนื่องจากเตรียมเข้าสู่สนามการเมืองเต็มตัว

 

“ผมเห็นว่าคุ้มค่าการลงทุน จึงตัดสินใจซื้อหุ้นจากคุณศักดิ์สยาม และผมเป็นเจ้าของ หจก.บุรีเจริญฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา” ศุภวัฒน์กล่าว

 

ทำไมรัฐมนตรีถือหุ้นเกินในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเกิน 5% ไม่ได้

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 187 บัญญัติว่า “รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด

 

“ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีตามวรรคหนึ่งต่อไป ให้แจ้งประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้แต่งตั้ง และให้โอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น”

 

ซึ่งพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 บัญญัติซ้ำอีกว่า “รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท” แต่ยกเว้นการถือหุ้นไม่เกิน 5% ทั้งในบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทมหาชน

 

อย่างไรก็ตาม นิติบุคคลที่รัฐมนตรีจะโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้จัดการตามพระราชบัญญัตินี้ได้ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือนิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นตามกฎหมายโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 

 

ทั้งนี้ หากมีการถือหุ้นเกิน 5% และถือเกิน 30 วันหลังการได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี โดยไม่ได้โอนหุ้นออกและแจ้งประธาน ป.ป.ช. ถือเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวทันทีหากมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

 

ไทม์ไลน์คดี

 

19 กรกฎาคม 2565: ปกรณ์วุฒิอภิปรายกล่าวหาศักดิ์สยามในสภา

 

20 กรกฎาคม 2565: ศักดิ์สยามชี้แจงข้อกล่าวหาในสภา

 

7 กุมภาพันธ์ 2566: พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นต่อเรื่องประธานสภาให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยาม

 

3 มีนาคม 2566: ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ศักดิ์สยามหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และหลังจากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการไต่สวนคดี

 

17 มกราคม 2567: ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีในเวลา 14.00 น.

 

แนวคำวินิจฉัยของคดีจะเป็นอย่างไร

 

  • หากศาลวินิจฉัยให้ศักดิ์สยามรอดพ้นจากข้อกล่าวหาดังกล่าว จะทำให้ศักดิ์สยามมีสิทธิในการกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีใดๆ ได้อีกครั้ง
  • หากศาลวินิจฉัยว่าศักดิ์สยามกระทำผิดจริงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (8) บัญญัติว่ารัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ที่พ้นจากตำแหน่งเพราะกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 187 มาแล้วไม่ถึง 2 ปีนับถึงวันแต่งตั้ง นั่นหมายความว่าศักดิ์สยามจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใดได้อีก 2 ปีนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising