×

ไม่ใช่แค่เขาจะลืมเรา แต่ ‘อัลไซเมอร์’ ยังมีหลายแง่มุมที่คุณต้องเข้าใจ [Advertorial]

12.10.2018
  • LOADING...

เราอยากให้คุณลองดูภาพยนตร์โฆษณาตัวนี้ แล้วลองตอบคำถามดูว่า ถ้าคนที่คุณรักเปลี่ยนไป อาจหลงลืมหลายเรื่องราวจากอาการ ‘อัลไซเมอร์’ นอกจากความรัก คุณต้องใช้ความเข้าใจแบบไหนในการดูแลคนที่คุณรัก

 

 

 

ถ้าคุณดูจบแล้ว เรามีเรื่องราวมาเล่าให้คุณฟัง

 

“ละครจบแล้ว แล้วอีหนูไปทำงานหรือยัง”

คุณย่าหันมาถามเราเป็นรอบที่ 4 หรือ 5 ถ้าจำไม่ผิด เธอกำลังถามหาคุณแม่ของเราอยู่ ทั้งๆ ที่มันเลยเวลานอนหลับของแกไปแล้วด้วยซ้ำ และนั่นอาจจะเป็นอาการแรกๆ ที่เราประสบพบเจอ และต้องรับมือกับอาการ ‘อัลไซเมอร์’ ของคุณย่าอย่างเป็นทางการ

 

แน่นอนว่าในภาพแรกของคนที่ไม่เคยรู้จักอาการ ‘อัลไซเมอร์’ มาก่อน หลายคนก็มักคิดว่าอัลไซเมอร์เป็นเพียงอาการหลงๆ ลืมๆ และเปล่าประโยชน์ที่จะรักษา แต่ความเป็นจริงก็คือ นอกเหนือจากปัญหาเรื่องความจำแล้ว ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ยังมีพฤติกรรม และอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง และคุณรู้หรือไม่ว่า ในปัจจุบันยังไม่มียาสำหรับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่แพทย์และคนรอบข้างสามารถช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขมากขึ้นได้

 

 

ความรักและความเข้าใจคือสิ่งสำคัญ

เราขอพาคุณกลับมาที่ภาพยนตร์โฆษณาอีกครั้ง เรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้เรามองเห็นความกดดันของคนรอบข้าง เมื่อคนในครอบครัวต้องกลายเป็นผู้ป่วย ‘อัลไซเมอร์’ และในบางครั้งทางเลือกที่คนในครอบครัวเลือกเมื่อแก้ปัญหาต่างๆ อาจสร้างความเจ็บปวดให้เรา และมันคงดีไม่น้อย ถ้าเราเจอทางเลือกที่ถูกต้องในการดูแลรักษาผู้ป่วย นอกเหนือจากยาแล้ว ความรักและความเข้าใจน่าจะเป็นยาอีกขนานที่สำคัญ ที่จะเยียวยาผู้ป่วยเพื่อให้ช่วงเวลาที่เหลือทั้งหมดให้เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่า

 

อัลไซเมอร์กับภาวะสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการเสื่อมลงของสมอง อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เส้นเลือดสมองตีบ เนื้องอก อัลไซเมอร์ ขาดวิตามิน หรือฮอร์โมนบางตัว เป็นต้น

 

อัลไซเมอร์เป็นโรคโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์จะมีอาการสมองเสื่อม แต่คนที่สมองเสื่อมไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์เสมอไป อาจเป็นสมองเสื่อมจากโรคอื่นก็ได้

 

 

คนแก่ทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์

สิ่งที่คุณควรทำความเข้าใจเบื้องต้นคือ ‘อัลไซเมอร์’ เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมอง ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ เพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ

 

 

อัลไซเมอร์ไม่ใช่แค่หลงลืม

อาการแรกเริ่มที่สำคัญของผู้ป่วยอัลไซเมอร์คือการสูญเสียความจำระยะสั้น ซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยร้อยละ 80-90 จะมีอาการทางพฤติกรรมหรือทางจิตเวชร่วมด้วย ซึ่งอาการทางพฤติกรรมนี้เองที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะรายที่มีอาการก้าวร้าว

 

 

การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการหลงลืม ขั้นตอนแรกของการวินิจฉัยโรคคือ ดูว่าผู้ป่วยเข้าข่ายมีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ โดยแพทย์จะซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง พร้อมทั้งให้ผู้ป่วยเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพของสมองโดยการตอบคำถามเกี่ยวกับความจำ สมาธิ การตัดสินใจ ทิศทาง การใช้ภาษา และการคำนวณ เป็นต้น

 

จากนั้นจึงเป็นการตรวจคัดกรองหาสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมว่ามาจากโรคที่รักษาได้หรือไม่ โดยการเจาะเลือดตรวจและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (MRI) หากไม่พบสาเหตุอื่น ประกอบกับผู้ป่วยมีอาการและการทดสอบทางสมองเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคอัลไซเมอร์ จึงจะวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้แพทย์ยังสามารถระบุแยกย่อยออกไปได้อีกว่า ผู้ป่วยเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมอื่นๆ ที่รักษาไม่หายขาดนอกเหนือจากอัลไซเมอร์หรือไม่ ซึ่งโรคเหล่านี้มีอาการแตกต่างกัน แต่การรักษาไม่ต่างกัน เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลเตรียมตัวได้ว่าจะต้องเจอกับอาการใดบ้าง

 

ไม่หายขาดแต่ควบคุมดูแลได้

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด โดยสมองจะค่อยๆ เสื่อมลงไปโดยไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ แต่การนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจะช่วยยืดระยะเวลาการดำเนินโรค เพิ่มคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายหลักของการรักษาโรคอัลไซเมอร์

 

 

ให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของผู้ป่วยและผู้ดูแล

ในฐานะที่เราเองเป็นคนที่ต้องดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ แน่นอนว่ามันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนทั้งครอบครัว ฉะนั้นการดูแลสภาพจิตใจของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลจึงสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ซึ่งผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจก่อนเป็นลำดับแรก และยอมรับว่าอาการต่างๆ ของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากโรคที่ผู้ป่วยเป็นไม่ใช่แกล้งทำ ดูแลเขาด้วยความใจเย็น ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง อับอาย หรือหงุดหงิด และควรหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการโต้เถียง เพราะไม่มีประโยชน์

 

ควรพูดคุยในเรื่องที่ทำให้มีความสุข ผู้ดูแลต้องดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองด้วย เพราะการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ตลอดเวลาอาจก่อให้เกิดความเครียดหรือปัญหาด้านอารมณ์ได้ ฉะนั้น หากเครียดหรือรู้สึกแย่ควรหยุดพัก ให้ผู้อื่นมาดูแลแทน เมื่อสภาพร่างกายและจิตใจพร้อมแล้วจึงค่อยกลับมาทำหน้าที่ผู้ดูแลใหม่ ความเข้าใจโรคและเข้าใจผู้ป่วยนี้จะช่วยเปลี่ยนช่วงเวลาของฝันร้ายให้กลายเป็นความทรงจำที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของครอบครัวได้ไม่ยาก

 

เราเป็นกำลังใจให้ทุกๆ คนที่ต้องเผชิญหน้ากับอัลไซเมอร์ และนี่เป็นแง่มุมความรู้ที่จะทำให้คุณสามารถก้าวผ่านไปได้อย่างเข้มแข็ง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising