×

‘บิตคอยน์’ คือ ‘ทองคำดิจิทัล’ เชื่อ ก.ล.ต. คุมเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องระวัง ‘ผลเสีย’ หากเข้มงวดเกิน สรุปประเด็นจาก THE STANDARD WEALTH FORUM

05.03.2021
  • LOADING...
‘บิตคอยน์’ คือ ‘ทองคำดิจิทัล’ เชื่อ ก.ล.ต. คุมเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องระวัง ‘ผลเสีย’ หากเข้มงวดเกิน สรุปประเด็นจาก THE STANDARD WEALTH FORUM

กระแสความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะ ‘บิตคอยน์’ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก นับตั้งแต่ที่แพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์รูปแบบนี้เปิดกว้างให้คนเข้าถึงได้อย่างไร้ข้อจำกัด (เห็นได้ชัดจากในประเทศไทย) การที่มันได้รับการพูดถึงโดยคนดังในหลากหลายอุตสาหกรรม ปรากฏบนหน้าสื่ออยู่เป็นประจำ และเป็นที่ยอมรับจากบริษัทเอกชนซึ่งตบเท้าทยอยเข้ามาลงทุนเพื่อเพิ่มความหลากหลาย กระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตรายได้ของตัวเองกันอย่างคึกคัก

 

บนเวทีเสวนา THE STANDARD: WEALTH FORUM 2021 ในเซกชัน ‘Bitcoin as a Virtual Gold? คริปโตเคอร์เรนซี-บิตคอยน์…สินทรัพย์ทางเลือก ทองคำดิจิทัล หรือฟองสบู่รอวันแตก’ ที่จัดขึ้นในวันนี้ (5 มีนาคม) ได้มีการพูดคุยถึงประเด็นกระแสความนิยมของบิตคอยน์ สินทรัพย์ดิจิทัลและอนาคตของมันต่อจากนี้ โดยมีผู้คร่ำหวอดในวงการอย่าง สรวิศ ศรีนวกุล ผู้ก่อตั้ง Band Protocol, เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex และกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder SCB 10X ร่วมแสดงทัศนะในหลากหลายแง่มุม

 

เริ่มต้นที่สรวิศ เขาเชื่อว่าหลักการของบิตคอยน์หรือคริปโตเคอร์เรนซีทำหน้าที่ไม่ต่างอะไรจาก ‘ทองคำ’ แต่เป็นทองคำในลักษณะดิจิทัล ช่วยให้ผู้ที่เข้ามาลงทุนสามารถเก็บมูลค่า (Store of Value) ได้ดี ไม่เสื่อมสลายไปไหน ลดความกังวลในประเด็นเงินเฟ้อ เพราะมีจำนวนจำกัดแค่ 21 ล้านเหรียญ ไม่เหมือนธนบัตรที่สามารถพิมพ์เพิ่มได้ทีละมากๆ 

 

รวมถึงยังมีข้อดีมากกว่าในแง่การส่งข้ามหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้ในระยะเวลาไม่กี่นาที ไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาหรือเวลาทำการ มีค่าธรรมเนียมต่ำมากๆ ช่วยให้คนที่อยากเข้ามาลงทุนเริ่มต้นลงทุนได้ง่ายๆ ต่างจากสินทรัพย์รูปแบบอื่นๆ (บิตคอยน์สามารถแบ่งส่วนเข้าถือได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งหมดเหมือนการลงทุนรูปแบบอื่นๆ)

 

“ราคาบิตคอยน์ขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลายล้วนๆ มีจำกัดแค่ 21 ล้านเหรียญ ปัจจุบันออกมาแล้ว 18-19 ล้านเหรียญ ซึ่งถ้าคนเริ่มเชื่อและเข้าใจมันมากขึ้นเรื่อยๆ หายากมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นบิตคอยน์จะกลายเป็น Snowball Effect และเข้ามาแทนที่ทองคำได้มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

 

“ผมไม่เชื่อว่ากรณีของบิตคอยน์จะเหมือนปรากฏการณ์ของทิวลิป เนื่องจากมันมีพื้นฐาน Fundamental ที่ชัดเจน ในระยาวยังเชื่อว่ามันจะยังไปต่อได้”

 

ด้านเอกลาภ ในฐานะตัวแทนผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอย่าง Zipmex ระบุว่าแนวคิดของผู้คนที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัลและบิตคอยน์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนและมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ลากยาวมาจนถึงการที่ Tesla เข้าลงทุน ซึ่งเปลี่ยนมุมมองคนที่มีต่อบิตคอยน์ว่ามันไม่ใช่สินทรัพย์ในโลกมืดอีกต่อไปแล้ว โดยมีตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้

 

1. เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ก.ล.ต. เปิดเผยว่ามีผู้สมัครเปิดบัญชีเพื่อเข้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรวมทั้งสิ้น 6 แสนราย เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และเติบโตเร็วกว่าอัตราการขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วไปด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ตัวเลขดังกล่าวเพิ่งจะอยู่ที่ 1.5 แสนรายเท่านั้น

 

2. ในมุมมองทั่วโลก มีการเปิดบัญชีสำหรับซื้อบิตคอยน์เพิ่มเป็น 33 ล้านในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เทียบเท่าอัตราการเติบโตราว 10%

 

อย่างไรก็ดี ด้วยกระแสความสนใจที่เกิดขึ้น นักลงทุนหน้าใหม่ต่างตบเท้าเข้ามาสู่โลกการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จึงทำให้ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไทยอดเป็นห่วงและแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดไม่ได้ ในช่วงที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นกระแสข่าวที่ว่าทาง ก.ล.ต. อาจจะดำเนินการออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนในไทย

 

โดยในมุมมองของเอกลาภ เขาเชื่อว่าเป็นเรื่องดีที่ทาง ก.ล.ต. แสดงความเป็นห่วงในประเด็นการลงทุนผ่านคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนและกระบวนการของการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เท่านั้น ยังไม่ผ่านเป็นร่างกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมา 

 

“ผมมองว่าการรับฟังความคิดเห็นที่ทาง ก.ล.ต. จัดทำขึ้นมาเป็นเรื่องที่ดี เพราะถือเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตย ซึ่งเขาก็เปิดการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนจำนวนมาก แล้วก็ต้องไม่ลืมว่าที่ทาง ก.ล.ต. พยายามจะเข้ามาออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องก็เป็นเพราะว่าพวกเขาหวังดี มีเจตนารมณ์ที่ดี เนื่องจากคริปโตเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง เป็นเรื่องที่ใหม่

 

“แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี ในบางมุม ก.ล.ต. อาจจะต้องคำนึงถึงประเด็นการออกมาตรการกำกับที่เข้มงวดเกินจำเป็น ไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้นักลงทุนไทยบางรายเลือกหันไปใช้วิธีการใต้ดิน ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่า ต้องพิจารณาในหลายๆ มุม เพราะอาจเกิดผลกระทบเชิงลบกับทั้งประเทศได้”

 

ต่อประเด็นนี้ กวีวุฒิก็แสดงความคิดเห็นเช่นกัน โดยเขาเชื่อว่าการ Regulate ออกกฎหมายมาตรการควบคุมถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในมุมหนึ่งก็ต้องดูด้วยว่า Regulator เข้าใจตัวผู้ใช้งานจริงๆ หรือเปล่า เพราะหากมีการควบคุมแล้วสามารถทำได้ดีก็จะสร้างความเชื่อถือและส่งผลให้ตลาดโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว แต่หากทำไม่ดี สุดท้ายแล้วตลาดก็จะกลับกลายไปสู่ตลาดมืด และเกิดผลกระทบทางลบแทน ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังประเด็นนี้ให้ดี

 

หัวเรือใหญ่ของ SCB 10X ยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่าการเข้ามามีอิทธิพลในด้านการลงทุนของทองคำดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการพลิกค่าสมการที่ว่า คนอายุน้อยที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีและมีประสบการณ์ก็กลายเป็นผู้ที่มีความสามารถและความรู้ด้านการลงทุนได้เช่นกัน ซึ่งอาจจะต่างจากในอดีตที่โลกของการลงทุนเคยถูกจำกัดแค่คนกลุ่มหนึ่ง

 

ที่สำคัญ การทำความเข้าใจและมีความรู้ในสินทรัพย์ประเภทดิจิทัลนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก ก่อนที่นักลงทุนหน้าใหม่แต่ละรายจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในบิตคอยน์

 

โดยกวีวุฒิยังแย้มเป็นนัยอีกด้วยว่าปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้ของการเข้ารับใบอนุญาตต่างๆ หรือแม้กระทั่งการขอไลเซนส์ Exchange Platform โดยทำงานใกล้ชิดกับ ก.ล.ต. เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้ให้บริการธนาคาร และมีสินค้าบริการในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์อยู่แล้ว จึงไม่ปฏิเสธความสนใจในส่วนนี้ ส่วนจะทำออกมาได้จริงหรือได้เห็นเมื่อไรก็คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดอีกที เนื่องจากการสร้างความน่าเชื่อถือ (Trust) เป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการธนาคารต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้

 

สำหรับภาพรวมในอนาคตของบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซี ทั้งสามคนได้แสดงทัศนะร่วมกันว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งความผันผวนของมันจะเริ่มลดลง โดยเราน่าจะได้เห็นการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ปัจจุบันโลกบิตคอยน์เริ่มหันมาใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบนี้อย่างหลากหลาย รวมทั้งการปล่อยกู้เพื่อรับผลตอบแทนมากขึ้น 

 

นั่นหมายความว่าในอนาคตบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีอาจจะพัฒนาต่อยอดไปสู่โมเดลของการเป็น Digital Banking ได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการเป็นช่องทางทางเลือกของบริษัท หน่วยงานเอกชน ในการระดมทุนในรูปแบบ Tokenization ที่ไม่ใช่แค่ ICO ซึ่งจะเปิดกว้างให้คนเข้ามาลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising