×

ถนนหด-รถเพิ่ม วิบากกรรมของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องอดทนต่อไปอย่างน้อย 3 ปี

06.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • กว่าที่ระบบขนส่งแบบรางจะครอบคลุมเป็นเครือข่าย คนกรุงเทพฯ อาจต้องใช้เวลารอกันนานหลายปี แถมระหว่างนี้ยังต้องอดทนกับวิกฤตการณ์ ‘ถนนหด-รถเพิ่ม’ จากมหกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ทำให้พื้นที่สัญจรเหลือน้อยลง และรถจดทะเบียนใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน
  • ปัจจุบันมีรถยนต์จดทะเบียนในกรุงเทพฯ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์สะสมถึงวันที่ 31 กรกฎาคม รวมทั้งสิ้น 9,879,685 คัน ซึ่งต้องแชร์พื้นที่ถนนกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ไม่ถึง 7%
  • ที่ซ้ำร้ายไปกว่าจำนวนรถยนต์บนท้องถนนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือพื้นที่ถนนที่กำลังค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ จากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ทยอยต่อคิวปิดการจราจรบนถนนสายหลักหลายเส้นที่ขึ้นชื่อว่ารถติดหนัก

กรุงเทพฯ คือหนึ่งในมหานครที่ได้ชื่อว่า ‘รถติด’ มากที่สุดในโลก โดยจากรายงานการประเมินสภาพจราจรทั่วโลกประจำปี 2560 ที่ผ่านมาของ INRIX Global Traffic Scorecard ที่สำรวจการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนและช่วงเวลาอื่นๆ ของวันใน 1,360 เมืองทั่วโลก เปิดเผยว่า ไทยเป็นประเทศที่มีการจราจรติดขัดมากที่สุดของโลก โดยคนไทยเสียเวลาเฉลี่ย 56 ชั่วโมงต่อปี ไปกับการจราจรที่หนาแน่นบนท้องถนน

 

ซึ่งถ้าแยกเฉพาะกรุงเทพฯ ตามข้อมูลระบุว่า เมืองหลวงของประเทศไทยเป็นเมืองที่รถติดเป็นอันดับที่ 16 ของโลก และครองแชมป์รถติดอันดับ 1 ของเอเชีย โดยผู้ใช้ถนนคนกรุงต้องเสียเวลาไปกับรถติดประมาณ 64 ชั่วโมงต่อปี

 

ขณะที่ความหวังในการแก้ไขปัญหารถติดของคนกรุงเทพฯ ยังคงพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีรถไฟฟ้า-รถไฟใต้ดิน เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่คนกรุงเทพฯ จำนวนมากฝากความหวังเอาไว้

 

แต่กว่าที่ระบบขนส่งแบบรางจะครอบคลุมเป็นเครือข่าย และเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทาง ชาวแบงค็อกอาจต้องใช้เวลารอกันนานนับปี แถมระหว่างนี้ยังต้องอดทนกับวิกฤตการณ์ ‘ถนนหด-รถเพิ่ม’ จากมหกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ทำให้พื้นที่สัญจรเหลือน้อยลง และรถจดทะเบียนใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน

 

โครงข่ายรถไฟฟ้า ปี 2566

 

ถนนเท่าเดิม เพิ่มเติมคือรถป้ายแดงแย่งพื้นที่จราจร

ผู้ใช้รถใช้ถนนคนกรุงอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า ในแต่ละวันกรุงเทพมหานครแห่งนี้มีความต้องการในการเดินทางมากกว่า 17 ล้านเที่ยวต่อคน ต่อวัน มีปริมาณรถยนต์วิ่งอยู่บนท้องถนนประมาณ 9 ล้านคัน ในขณะที่พื้นที่โดยรวมของกรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 1,568 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในจำนวนนี้มีพื้นที่ถนนน้อยกว่า 7% ต่างจากมหานครอื่นๆ ของโลก อย่างนิวยอร์กที่มีพื้นที่ถนน 38% หรือโตเกียวที่มีพื้นที่ถนน 23% เมื่อเทียบกับพื้นที่ของเมืองทั้งหมด

 

 

เมื่อถนนมีอยู่อย่างจำกัด และดูจะน้อยกว่าความต้องการที่เกิดขึ้นจริง ปัญหารถติดจึงเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ แต่ถึงอย่างนั้นคนกรุงเทพฯ จำนวนมากก็ยังเลือกที่จะเดินทางด้วยรถส่วนตัว เพราะมีความสะดวกมากกว่า แม้จะรู้ว่าหนทางข้างหน้าระหว่างขับรถออกจากบ้านคือการจราจรที่แน่นขนัดในทุกๆ เช้า

 

 

ข้อมูลการจดทะเบียนรถใหม่ของกรมการขนส่งทางบกระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา จนถึงเดือนกรกฎาคม มีรถยนต์จดทะเบียนใหม่รวม 577,299 คัน โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน มีการจดทะเบียนมากที่สุดรวม 7 เดือน 214,380 คัน รองลงมาคือรถบรรทุกส่วนบุคคล หรือรถกระบะ 56,158 คัน

 

ทำให้ปัจจุบันมีรถยนต์จดทะเบียนในกรุงเทพฯ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์สะสมถึงวันที่ 31 กรกฎาคม รวมทั้งสิ้น 9,879,685 คัน ซึ่งต้องแชร์พื้นที่ถนนกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ไม่ถึง 7% ทำให้แนวโน้มความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางด้วยรถยนต์อาจลดลงเหลือ 33.9 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายในปี พ.ศ. 2565 ตามการคาดการณ์ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม

 

 

ถนนหด สร้างรถไฟฟ้าอีก 4 ปี สิงหาคม เดือนแห่งการปิด-เบี่ยงถนน

ที่ซ้ำร้ายไปกว่าจำนวนรถยนต์บนท้องถนนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือพื้นที่ถนนที่กำลังค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ จากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ทยอยต่อคิวปิดการจราจรบนถนนสายหลักหลายเส้นที่ขึ้นชื่อว่ารถติดหนัก

 

โดยล่าสุดโครงการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีการก่อสร้างอยู่ขณะนี้มีถึง 8 โครงการ รวมระยะทาง 159.9 กิโลเมตร คือ

  1. รถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน
  2. รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต
  3. รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
  4. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ
  5. รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
  6. รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
  7. รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี
  8. รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

 

 

ถ้านับเฉพาะเดือนสิงหาคม มีถนนหลายเส้นที่จำเป็นต้องปิดเบี่ยงจราจร เช่น

  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ปิดช่องการจราจรบนถนนลาดพร้าว 4 จุด จุดที่ 1 ช่องทางขวา (ชิดเกาะกลาง) ฝั่งขาออก ตั้งแต่ลาดพร้าว 71-หน้าปั๊มสยามแก๊ส รวม 450 เมตร จุดที่ 2 ช่องทางขวา (ชิดเกาะกลาง) ฝั่งขาออก ตั้งแต่ลาดพร้าว 61-ลาดพร้าว 63 รวม 400 เมตร จุดที่ 3 หน้าห้างบิ๊กซีลาดพร้าว-ลาดพร้าว 87 รวม 750 เมตร และจุดที่ 4 คลองลาดพร้าว-คลองบางซื่อ โดยจุดที่ 1 จะเริ่มปิดตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป จุดที่ 2 และ 3 เริ่มปิดวันที่ 2 สิงหาคม และจุดที่ 4 จะเริ่มปิดในวันที่ 20 สิงหาคม ซึ่งทั้ง 4 จุด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี จนกว่าจะสร้างเสร็จ
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ปิดเบี่ยงจราจรช่องทางขวา (ชิดเกาะกลาง) 1 ช่องจราจร บนถนนติวานนท์ฝั่งขาเข้าและขาออกบริเวณสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ-ธนาคารทหารไทย รวมระยะทาง 175 เมตร ตลอด 24 ชั่วโมง และปิดเพิ่มอีก 1 ช่องจราจร ในช่วง 22.00-04.00 น. และปิดจราจรช่องทางขวา (ชิดเกาะกลาง) ฝั่งขาเข้าและขาออก ถนนติวานนท์ บริเวณแยกสนามบินน้ำ-ซอยติวานนท์ 44 รวมระยะทาง 275 เมตร ตลอด 24 ชั่วโมง และปิดเพิ่มอีก 1 ช่อง ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. เช่นเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ปิดเบี่ยงจราจรบนถนนรามคำแหง เพื่อก่อสร้างกำแพงกันดิน (Diaphragm Wall) สถานีรามคำแหง 12 ตั้งแต่ซอยรามคำแหง 11-19 ฝั่งขาออก ชิดทางเท้า 3 ช่องทาง ระยะทาง 250 เมตร ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม-30 กันยายน 2561 ตลอด 24 ชั่วโมง
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จำเป็นต้องปิดเบี่ยงจราจรทางขวา (ชิดเกาะกลาง) บนถนนรามอินทราฝั่งขาเข้า ตั้งแต่รามอินทรา 69-บริเวณร้านแสงทวีการไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคมเป็นต้นไป
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง จำเป็นต้องปิดเบี่ยงจราจรบนถนนศรีนครินทร์ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก บริเวณใต้ทางพิเศษศรีรัช-สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ หัวหมาก ระยะทางประมาณ 300 เมตร ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคมเป็นต้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ปิดเบี่ยงจราจร 1 ช่อง ทางด้านขวา (ชิดเกาะกลาง) บนถนนศรีนครินทร์ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก ตั้งแต่เชิงสะพานข้ามคลองแสนแสบ-แยกลำสาลี รวม 150 เมตร ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมเป็นต้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปิดการจราจรถนนข้ามคลองสอง ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม-15 กันยายน ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ซึ่งหลังจากนี้น่าจะมีมหกรรมปิดถนนทยอยตามมาอีกหลายเส้นทาง ซึ่ง พล.ต.ต. จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) ด้านจราจร ประเมินว่า กรุงเทพฯ จะประสบปัญหาถนนหด-รถติดไปอย่างน้อยอีก 3-5 ปี เพราะมีการใช้ผิวถนนสายหลักหลายแห่งในการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายโครงการ ยังไม่รวมแผนสร้างอุโมงค์ทางลอดเพิ่มอีกไม่ต่ำว่า 4 โครงการ

 

เมื่อรถไฟฟ้าคือความหวังที่ต้องแลกด้วยพื้นผิวถนนที่หดลดลงจากการก่อสร้าง ระหว่างนี้คนกรุงเทพฯ คงทำอะไรได้ไม่มากนัก นอกจากรอคอย พร่ำบ่น และทนๆๆๆ กันต่อไป

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising