×

กทม. ชี้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีทั้งข้อดีและที่ต้องปรับปรุง แต่โจทย์สำคัญคือลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
20.06.2023
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ

วานนี้ (19 มิถุนายน) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมหารือเวทีสาธารณะ หัวข้อ ชำแหละกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและผลกระทบต่อรายได้ท้องถิ่น พร้อมบรรยายเรื่องผลกระทบของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อการจัดเก็บรายได้ของกรุงเทพมหานคร

 

ชัชชาติกล่าวว่า สำหรับวันนี้เปิดเวทีหารือเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งทางหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่และภาคีเครือข่าย ได้ทำวิจัยเรื่องนี้อยู่และมีการนำผลวิจัยมาคุยกัน ทั้งนี้เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับ กทม. เองก็มีข้อดีหลายอย่าง 

 

เช่น กทม. สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ใกล้เคียงกับภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิม มีการใช้ดุลพินิจในการประเมินภาษีน้อยลง ทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น เอกชนมีการนำที่ดินรกร้างมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ภาพรวมข้อดีคือในระยะยาวอาจเก็บภาษีได้มากขึ้น

 

ในส่วนข้อที่อาจจะเป็นปัญหาอยู่บ้างคือ ถึงแม้จะเก็บภาษีได้เท่าเดิม แต่แหล่งที่มาของเงิน บางคนเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น บางคนเสียน้อยลง เช่น จากที่ได้ลงพื้นที่เขตบางกอกน้อย มี 5 หอพัก ที่จากเดิมเสียภาษีรวมกัน 1 ล้านบาท หลังจากเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษี กลับเสียแค่ 2 แสนกว่าบาท เนื่องจากถูกตีว่าเป็นที่อยู่อาศัย หรือห้างสรรพสินค้าที่อาจจะเสียภาษีลดลงถึง 50% 

 

ชัชชาติกล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าสนใจคือการประเมินที่ดิน สำหรับที่ดินแปลงใหญ่ โดยก่อนหน้าคิดตามความใกล้ถนนแล้วแบ่งเป็น 4 ชั้นตามระยะห่างออกไป โดยพื้นที่ด้านในคิดภาษีถูกสุด แต่ได้ปรับเกณฑ์ภาษีใหม่โดยที่ดินแปลงใหญ่แบ่งเป็น 7 ชั้น ซึ่งภาษีจะลดหลั่นลงเร็วกว่าทำให้ที่ดินแปลงใหญ่บางที่ภาษีลดลงไปเยอะ ขณะที่คนที่มีที่ดินแปลงเล็กเสียภาษีเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นตามราคาประเมิน หรือกรณีอื่นๆ อาทิ ราคาประเมินทุนทรัพย์ของสิ่งปลูกสร้างบางรายการไม่ครอบคลุม ทำให้ไม่สามารถประเมินภาษีได้ 

 

เช่น เสาสื่อสารส่งสัญญาณ หรือพื้นที่เกษตรจำแลงเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี การมีพื้นที่เกษตรในพื้นที่สีแดงในเขตเมือง ซึ่งอาจมองว่าเป็นการทำให้เป็นพื้นที่เกษตรเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดเก็บภาษี โดยเบื้องต้นสิ่งที่ทางกรุงเทพมหานครเสนอ คือการจัดเก็บภาษีในที่ดินดังกล่าว หรืออีกกรณีที่ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีของ กทม. ลดลงคือ การออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภทในช่วงปี 2563 และ 2564 โดยลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ทำให้ กทม. ขาดรายได้ไปถึง 2.5 หมื่นล้านบาท

 

“สำหรับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องบอกว่ามีทั้งข้อดีดังที่ได้กล่าวมา แต่ในข้อที่ต้องปรับปรุง ทำให้ต้องย้อนกลับไปว่ากฎหมายฉบับนี้ที่ตั้งใจออกมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น ลดได้จริงหรือไม่ ต้องขอฝากให้ผู้วิจัยและผู้เกี่ยวข้องช่วยกันดูว่าควรปรับปรุงในมิติไหนบ้าง เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ลดความเหลื่อมล้ำได้จริงอย่างที่ตั้งใจ” ชัชชาติกล่าว

 

สำหรับการหารือเวทีสาธารณะในวันนี้ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และภาคีเครือข่ายจัดขึ้นเพื่อให้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ กทม. นำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัย สรุปบทเรียนพร้อมข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลในการปรับปรุงกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับอนาคต โดยวิทยากรจาก บพท. ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และวิทยสถานธัชภูมิเพื่อการพัฒนาพื้นที่

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising