×

‘ทางเท้าใหม่สำหรับทุกคน’ กทม. ตั้งแผนเปลี่ยน-ซ่อม-สร้าง ทางเดินเท้าใหม่รอบกรุง เสริมอัตลักษณ์ชุมชนผ่านฝาท่อสีสันสดใส

โดย THE STANDARD TEAM
25.04.2024
  • LOADING...
กทม. ทางเท้า ใหม่ สำหรับทุกคน

วันนี้ (25 เมษายน) เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย สุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และ ณัฐพล นาคพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนก่อสร้างและบูรณะ 1 สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สำรวจทางเท้าบริเวณถนนราชดำริและถนนเพลินจิต และชมการปรับปรุงฝาท่อที่ออกแบบให้มีความโดดเด่นและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำย่านราชดำริ-เพลินจิต  

 

โดยทางเท้าบริเวณนี้ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางนำร่องในการใช้มาตรฐานทางเท้าใหม่ที่จะมีความมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น และเป็น Universal Design รวมถึงมีการปรับให้ทางเข้า-ออกอาคารกับทางเท้ามีความสูงที่ใกล้เคียงกัน

 

เอกวรัญญูกล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีเป้าหมายในการพัฒนาทางเท้าตามมาตรฐานใหม่ 76 เส้นทางภายในปี 2568 โดยในระยะแรกตั้งเป้าไว้ 1,000 กิโลเมตร ผ่าน 3 วิธี คือ การทำใหม่ทั้งเส้นทาง, การปรับปรุงซ่อมแซมจุดที่ชำรุดเป็นการเร่งด่วน และการปรับใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่ 

 

ทั้งนี้ การทำใหม่ทั้งเส้นทางมีการดำเนินการ 2 รูปแบบ โดยในส่วนพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ และเส้นทางที่มีผู้คนสัญจรหนาแน่นจะปูพื้นโดยใช้กระเบื้องตามมาตรฐานทางเท้าใหม่ ซึ่งฐานรากจะต้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหนา 10 เซนติเมตร ที่จะสามารถเพิ่มความแข็งแรงของทางเท้าได้ 

 

ส่วนพื้นที่ชานเมืองบางเส้นทางซึ่งการสัญจรไม่หนาแน่นจะใช้วิธีปูด้วยแอสฟัลต์ซีเมนต์ เปลี่ยนช่องรับน้ำจากแนวตั้งให้เป็นแนวนอน เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ วางแนวทางการจัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า พร้อมวางอิฐนำทางเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา

 

เอกวรัญญูกล่าวต่อว่า การปรับปรุงคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์คอนกรีต เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น สิ่งสำคัญคือการตรวจงานกับผู้รับเหมาที่จะต้องตรวจงานให้มีความเข้มข้นมากขึ้น และหากผิดพลาดสามารถแก้ไขได้ทันทีเพื่อความปลอดภัย 

 

ในส่วนเส้นทางที่ไม่เหมาะสมในการทำทางเท้าขึ้นมา เช่น ในตรอกซอกซอย หรือในพื้นที่ที่มีทางเท้าแคบ ได้มีการรื้อย้ายสิ่งกีดขวางทางเท้า และใช้หลากหลายวิธีให้เหมาะกับสภาพพื้นที่

 

ขณะที่การดูแลรักษาทางเท้า สุขวิชญาณ์ระบุว่า เป็นหน้าที่โดยตรงของสำนักงานเขตที่จะคอยกวดขันไม่ให้มีการมาตั้งสิ่งกีดขวางบนทางเท้า รวมทั้งการกระทำความผิดบนทางเท้าต้องมีการจับกุมเปรียบเทียบพินัยตามกฎหมาย และจัดเจ้าหน้าที่ตรวจตรากวดขันในทุกพื้นที่ 

 

ทั้งนี้ กทม. ขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาในการแจ้งผ่าน Traffy Fondue เมื่อพบเห็นจุดที่ชำรุดหรือเสี่ยงต่ออันตราย เพื่อให้เขตรับทราบปัญหาอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการลงพื้นที่สำรวจด้วยตนเอง

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising