×

ปัจจุบันค่ายหรือบริษัทต้นสังกัดยังสำคัญสำหรับศิลปินอยู่ไหม?

17.10.2023
  • LOADING...
ศิลปินที่เปิดค่ายของตัวเอง

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • การเปิดบริษัทเพื่อบริหารจัดการและรับงานเองกลายเป็นทางเลือกใหม่ของศิลปินทั้งฝั่งไทยและเกาหลีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่ฝั่งเกาหลีวิธีนี้ก็ฮิตไม่แพ้กัน แล้วปัจจุบันค่ายหรือบริษัทต้นสังกัดยังสำคัญสำหรับศิลปินอยู่ไหม? 
  • ค่ายยักษ์ใหญ่ก็เหมือนแบรนดิ้งที่ดึงดูดทั้งสื่อและแสงให้กับศิลปิน รวมทั้งเป็นสปริงบอร์ดให้ศิลปินโด่งดังได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยข้อจำกัดหลายๆ ด้าน โดยสถานะของค่ายเพลงเกาหลีเหมือนเป็นทั้งครูและผู้ปกครอง ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลเพื่อปลุกปั้นไอดอลขึ้นมาสักคน
  • เมื่อปีที่แล้ว QOW Entertainment ของเจเจและต้าเหนิง ทำรายได้ไปแล้ว 70 ล้านบาทจากการทำโปรดักชันใหญ่ๆ เช่น แคมเปญโฆษณา AIS TEEN, โปรเจกต์โกลบอลของ Burberry ในส่วนของ ไบร์ท วชิรวิชญ์, เพลง My Duty ของ JAYLERR x 4EVE และมิวสิกวิดีโอ imysm ของ มาร์ค ต้วน

การเปิดบริษัทเพื่อบริหารจัดการและรับงานเองกลายเป็นทางเลือกใหม่ของศิลปินทั้งฝั่งไทยและเกาหลีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงกลางปีที่แล้วเมื่อบริษัทนาดาวปิดตัวลง ก็มีดาราและศิลปินอายุน้อยก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งซีอีโอในบริษัทตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร ที่เปิดบริษัท PP Krit Entertainment, บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล กับบริษัท Billkin Entertainment และ ไอซ์-พาริส อินทรโกมาลย์สุต กับบริษัท Ice Paris Entertainment รวมทั้ง เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม และ ต้าเหนิง-กัญญาวีร์ สองเมือง ที่ออกไปเปิดบริษัท QOW Entertainment ก่อนหน้านั้นแล้ว

 

ส่วนล่าสุด ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี หลังจากหมดสัญญากับ GMMTV เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ก็เพิ่งเปิดบริษัทของตัวเอง Cloud9 Entertainment บริหารงานบันเทิงและปลุกปั้นศิลปินใหม่ในอนาคต 

 

ขณะที่ฝั่งต่างประเทศวิธีนี้ก็ฮิตไม่แพ้กัน อย่างเช่น เรน กับ RAINCOMPANY, แจ็คสัน หวัง กับ TEAM WANG และ พัคแจบอม หรือ เจย์ ปาร์ค กับ AOMG ฯลฯ หรือแม้แต่ข่าวลือจากฝั่ง YG ENTERTAINMENT ของ เจนนี่ และ จีซู BLACKPINK ที่อาจจะเปิดค่ายดูแลงานของตัวเอง 

 

แล้วปัจจุบันค่ายหรือบริษัทต้นสังกัดยังสำคัญสำหรับศิลปินอยู่ไหม? 

 

FIFTY FIFTY

FIFTY FIFTY

ภาพ: we_fiftyfifty / X (Twitter)

 

ค่ายนั้นสำคัญไฉน?  

 

ความสำเร็จของ FIFTY FIFTY จากค่ายเพลงเล็กๆ อย่าง ATTRAKT เป็นเคสตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะหากย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของวงเกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่วงนี้ EP เปิดตัว THE FIFTY (2022) ขายได้เพียง 1,500 ชุดในสัปดาห์แรก 

 

ในขณะที่ NMIXX เกิร์ลกรุ๊ปจากค่าย JYP Entertainment เปิดตัวซิงเกิล AD MARE (2022) ด้วยยอดขาย 227,399 ชุด ภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งก่อนหน้านั้น JYP Entertainment เปิดตัว Blind Package ซิงเกิลเปิดตัวของ NMIXX ในเดือนกรกฎาคม ปี 2021 และได้รับการจอง 60,000 ครั้งภายในเวลาเพียง 10 วัน ทั้งที่แทบจะยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเกิร์ลกรุ๊ปวงนี้เลย 

 

แต่หลังจากนั้นเพลง Cupid ก็ทำให้ FIFTY FIFTY กลายเป็นวงเคป๊อปที่จะขึ้นชาร์ตซิงเกิล Billboard Hot 100 ได้เร็วที่สุด ในขณะที่ NMIXX มี EP expérgo ที่อยู่ในชาร์ต Billboard 200 แต่ยังไม่ถึงชาร์ต Hot 100 ซึ่งหากมองที่ยอดขายตอนเริ่มต้นก็พอจะบอกได้ว่า เมื่อแปะป้ายค่ายยักษ์ใหญ่ แฟนๆ ก็พร้อมเทใจไปล่วงหน้าแล้ว

 

ค่ายยักษ์ใหญ่ก็เหมือนแบรนดิ้งที่ดึงดูดทั้งสื่อและแสงให้กับศิลปิน รวมทั้งเป็นสปริงบอร์ดให้ศิลปินโด่งดังได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยข้อจำกัดหลายๆ ด้าน โดยสถานะของค่ายเพลงเกาหลีเหมือนเป็นทั้งครูและผู้ปกครอง ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลเพื่อปลุกปั้นไอดอลขึ้นมาสักคน

 

แม้จะไม่มีตัวเลขที่เปิดเผยอย่างแน่นอน แต่ว่ากันว่าต้องใช้เงินมากถึง 300 ล้านวอน (ราวๆ 8.2 ล้านบาท) ต่อสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปหรือบอยแบนด์หนึ่งคน จนกระทั่งเมื่อได้เดบิวต์ก็ถึงเวลาที่ทางค่ายต้องหักค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไป ซึ่งไอดอลบางคนต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่จะได้เงินค่าจ้างจริงๆ จังๆ อย่างเช่น ยูจู จาก GFRIEND ได้รับเงินเดือนครั้งแรกหลังจากเดบิวต์ 2 ปี ส่วน ยอนอู จาก MOMOLAND ใช้เวลา 3 ปีกว่าจึงได้รับค่าจ้าง ขณะที่ NewJeans ได้รับค่าตอบแทนหลังผ่านไปเพียง 2 เดือนเท่านั้น

 

สำหรับวงการบันเทิงไทย แม้จะไม่ได้มีระบบฝึกหัดศิลปินอย่างจริงจังแบบเกาหลีใต้ แต่ก็ต้องใช้เงินจำนวนมากกว่าจะสร้างศิลปินดาราขวัญใจขึ้นมาสักคนหนึ่ง อีกทั้งยังต้องบริหารความเสี่ยงว่า เมื่อใช้เด็กหน้าใหม่ในงานแต่ละชิ้นจะปังหรือแป้ก อีกทั้งยังไม่นับรวมค่าบริหารจัดการหลังบ้านในเรื่องการดูแลศิลปิน การบริหารภาพลักษณ์ และอื่นๆ อีกมากมาย 

 

ถ้ามองแบบแฟร์ๆ ก็ไม่แปลกที่ทางค่ายจะต้องหักรายได้จากตัวศิลปิน ซึ่งเด็กหน้าใหม่ก็ยินดี เพราะการจะแจ้งเกิดในวงการบันเทิงไทย โดยเฉพาะในอดีต แทบเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่อยู่ในสังกัดค่ายใหญ่ๆ 

 

ZICO

ZICO

ภาพ: koz_entofficial / Instagram

 

สิ้นสุดยุค ‘คนกลาง’?

 

จากในอดีตค่ายเพลงหรือบริษัทต้นสังกัดมีหน้าที่ผลักดันศิลปินและผลงานให้ปรากฏตามสื่อต่างๆ แต่ในปัจจุบันการเจริญเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์เริ่มทำให้ความสำคัญของ ‘คนกลาง’ ลดลง ศิลปินสามารถทำผลงานและสื่อสารกับแฟนคลับได้โดยตรงผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และมีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นแล้ว อย่างเช่น ZICO แรปเปอร์และโปรดิวเซอร์ที่ใช้ TikTok บุกชาร์ตเพลงเกาหลีใต้ในปี 2020 ส่งผลให้ KOZ ENTERTAINMENT เอเจนซีที่เขาก่อตั้งขึ้น ถูก HYBE เข้าซื้อกิจการในเดือนพฤศจิกายนปีนั้นเอง

 

ส่วนในของประเทศไทย วงการเพลงในยุคหลังเจริญเติบโตไปก่อนหน้านั้นแล้วผ่าน YouTube และวางจำหน่ายผ่านมิวสิกสตรีมมิงต่างๆ ทางด้านนักแสดงก็ใช้ช่องทางเดียวกันบริหารชื่อเสียงและภาพลักษณ์ด้วยรายการที่เผยให้เห็นมุมมองอื่นๆ ที่หากยังสังกัดค่ายก็อาจต้องเจอข้อจำกัดที่ค่ายกำหนดเอาไว้ รวมทั้งยังเป็นช่องทางการหารายได้อีกทางหนึ่งด้วย 

 

อีกส่วนปนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เราอยู่ในยุคที่คนเชื่อ ‘บุคคล’ มากกว่า ‘สื่อ’ ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาศัยภาพลักษณ์ของศิลปินและนักแสดงสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำและเฉพาะเจาะจงผ่านช่องทางส่วนตัวของศิลปิน ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้มหาศาลที่ศิลปินบริหารจัดการเองได้…แต่ไม่ใช่กับทุกคน 

 

ถ้าลองย้อนมองดาราและศิลปินที่หันมาเปิดบริษัทของตัวเองในช่วง 2-3  ปีที่ผ่านมา พวกเขามีจุดร่วมที่คล้ายๆ กันนั่นคือ มีภาพลักษณ์ที่แข็งแรง ฐานแฟนคลับแน่น และส่วนหนึ่งขยายฐานแฟนไปสู่ระดับอินเตอร์แล้ว การออกมาเป็นอิสระและมีอำนาจในการตัดสินใจเองก็อาจคล่องตัวมากกว่า แต่ก็อาจต้องแลกมากับการบริหารจัดการหลังบ้านที่ยุ่งยากขึ้นเมื่อไม่มีตัวกลางคอยเจรจาต่อรอง

 

สำหรับกรณีของบิวกิ้น พีพี และไอซ์ เมื่อต้นสังกัดเดิมปิดตัวลง แล้วมองไปซ้ายหรือขวาก็แทบไม่มีสังกัดไหนที่ตอบโจทย์ภาพลักษณ์ของพวกเขาได้ หากจินตนาการว่าพีพีไปอยู่ช่อง 3 บิวกิ้นไปอยู่ช่อง 7 หรือไอซ์ไปอยู่ช่อง one31 เส้นทางชีวิตในวงการบันเทิงก็อาจจะเปลี่ยนไปและไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่พวกเขาอยากจะเป็น

 

เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม และ ต้าเหนิง-กัญญาวีร์ สองเมือง

เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม และ ต้าเหนิง-กัญญาวีร์ สองเมือง

ภาพ: qow_ent / Instagram 

 

โจทย์ใหม่ที่ท้าทายคือการบริหารคน 

 

ศิลปินถูกฝึกมาให้ความบันเทิงไม่ใช่นักบริหาร การเปิดบริษัทหรือสังกัดของตัวเองก็เน้นการบริหารงานของตัวเองเป็นหลัก และมักจะขยายไปดูแลศิลปินคนอื่นๆ ในค่ายได้ไม่ดีเท่าที่ควร อย่างเช่น กรณีของเรนที่ถูกแฟนเพลง Black Ocean หรือดับแท่งไฟขณะที่แสดงคอนเสิร์ต KCON LA 2023 จากกรณีที่ปฏิบัติกับวง Ciipher ที่อยู่ในสังกัดของเขาอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งกรณีนี้ยังไม่เกิดขึ้นกับศิลปินไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ยังบริหารผลงานของตัวเองเป็นหลักกันอยู่

 

เมื่อปีที่แล้ว QOW Entertainment ของเจเจและต้าเหนิง ทำรายได้ไปแล้ว 70 ล้านบาทจากการทำโปรดักชันใหญ่ๆ เช่น แคมเปญโฆษณา AIS TEEN, โปรเจกต์โกลบอลของ Burberry ในส่วนของ ไบร์ท วชิรวิชญ์, เพลง My Duty ของ JAYLERR x 4EVE และมิวสิกวิดีโอ imysm ของ มาร์ค ต้วน โดย 60% ของรายได้มาจากพาร์ตการดูแลและจัดการศิลปิน ส่วนอีก 40% จากพาร์ตการทำโปรดักชัน ซึ่ง ณ เวลานั้นก็คือเจเจและต้าเหนิงเองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนความท้าทายใหม่สำหรับปีนี้คือ QOW Entertainment มีศิลปินเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนนั่นคือ จิงจิง-วริศรา ยู และกำลังเปิดออดิชันศิลปินหน้าใหม่ภายใต้สังกัดเพิ่มเติมด้วย

 

ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี

ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี

ภาพ: cloud9.ent.official / Facebook 

 

ขณะที่ Cloud9 Entertainment ของไบร์ท ทำงานทั้งในส่วนการทำโปรดักชันและการจัดการศิลปิน แต่เลือกที่จะทดลองระบบใหม่จากการบริหารจัดการงานของเขาก่อนเป็นคนแรก โดยวางแผนที่จะปั้นศิลปินเข้าสังกัดในอนาคต

 

ส่วน Billkin Entertainment ครบรอบ 1 ปีไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยบิวกิ้นได้ให้สัมภาษณ์กับ Forbes Thailand ว่า เขาเรียนรู้โนว์ฮาวหลายอย่างจากนาดาว และเชื่อว่าตัวเองไม่ได้เริ่มจากศูนย์ จึงตัดสินใจมาเปิดบริษัทของตัวเอง ซึ่งก็ต้องเรียนรู้ใหม่และทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เคยต้องทำเองมาก่อน ขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแค่ศิลปินอย่างเดียว แต่ต้องคิดในมุมของนักบริหารอีกด้วย

 

บิวกิ้นในชุดสูท

บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล

ภาพ: billkin_entertainment / Instagram

 

จากคำตอบของบิวกิ้นก็พอจะบอกได้ว่า ค่ายหรือสังกัดก็ยังคงจำเป็น อย่างน้อยก็มอบประสบการณ์และจุดเริ่มต้นในการสะสมชื่อเสียงก่อนที่จะออกมาดูแลตัวเองได้ และที่สำคัญคือ ไม่ใช่ทุกคนที่มีทักษะบริหารจัดการได้รอบด้าน ในขณะเดียวกันค่ายหรือสังกัดยุคใหม่ก็ต้องปรับโครงสร้างให้ยืดหยุ่น เพื่อต่อยอดความสำเร็จของศิลปินที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในบ้านเรา แต่หมายถึงตลาดใหญ่ในระดับสากลอีกด้วย 

  

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising