×

จับตาผลกระทบ Archegos เปลี่ยนภาพตลาดสู่โหมด Risk off ห่วงกลุ่ม ‘หุ้นเทค’ หากยังร่วงต่อเนื่อง เสี่ยงถูก Forced sell ซ้ำเติม

01.04.2021
  • LOADING...
จับตาผลกระทบ Archegos เปลี่ยนภาพตลาดสู่โหมด Risk off ห่วงกลุ่ม ‘หุ้นเทค’ หากยังร่วงต่อเนื่อง เสี่ยงถูก Forced sell ซ้ำเติม

ความกังวลในเรื่องผลกระทบจากการถูกบังคับขายปิดสถานะด้วยมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ‘Archegos’ ดูเหมือนจะเริ่มคลายลงไปพอสมควร แม้ว่าผลขาดทุนของ Archegos และของธนาคารหลายแห่งที่รับทำธุรกรรมของกองทุนจะคิดเป็นเงินมูลค่ามหาศาล แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่ามันจะไม่ได้กระทบเป็นลูกโซ่จนสร้างความเสียหายในวงกว้าง

 

บทความจาก Bloomberg ล่าสุด จั่วหัวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า ‘อย่าสับสนระหว่างการล่มสลายของ Archegos กับผลกระทบเป็นลูกโซ่’ ซึ่งเขียนโดย Aaron Brown อดีตกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดการเงินของ AQR Capital Management 

 

แม้ว่าตามหน้าสื่อจะมีการพูดถึงประเด็นนี้ด้วยถ้อยคำที่ชวนให้กังวล แต่ในมุมของ Aaron นี่เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวันในวอลล์สตรีท และถึงแม้ว่าเราอาจจะได้เห็นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้ตามมา แต่จากสิ่งที่รู้กันก่อนหน้านี้ มันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้คิดได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีอะไรที่มากไปกว่าแค่ ‘การขาดทุนของคนที่รวยมากคนหนึ่ง’ 

 

นอกจากนี้ Bloomberg ได้ให้ข้อมูลเสริมอีกว่า ประเด็นเกี่ยวกับ Archegos ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ครั้งแรกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารได้รับความเสียหายจากการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่ร่ำรวย เมื่อปีก่อน Lu Zhengyao ประธานบริหารของ Luckin Coffee ก็เคยผิดนัดชำระมาร์จิ้น 518 ล้านดอลลาร์ ในช่วงที่ตลาดหุ้นถูกเทขายจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้หลายโบรกเกอร์ต้องเรียกให้ลูกค้าเพิ่มหลักประกันเข้ามา

 

“ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด ธนาคารกลางของแต่ละประเทศต่างอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ทำให้ธนาคารและโบรกเกอร์ต่างๆ พยายามปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่ร่ำรวยมากขึ้น” Kenny Ng นักกลยุทธ์ของ Everbright Sun Hung Kai Co. ในฮ่องกงกล่าว 

 

สำหรับกลุ่มคนที่เป็นอภิมหาเศรษฐี การใช้หุ้นที่ถือครองอยู่เป็นหลักประกันเพื่อใช้มาร์จิ้นเป็นเรื่องปกติ และสำหรับธนาคารเองก็ยากจะปฏิเสธที่จะปล่อยกู้ให้กับคนเหล่านี้ เพราะมูลค่าที่ปล่อยกู้นั้นคิดเป็นเพียงแค่ส่วนน้อยของมูลค่าหุ้นที่นำมาเป็นหลักประกัน

 

“ในตลาดกระทิง การใช้หุ้นที่ถือครองอยู่เป็นหลักประกันในการกู้ยืมสามารถให้ผลตอบแทนอย่างงดงาม เมื่อราคาหุ้นที่ถืออยู่วิ่งขึ้นไปอีก นักลงทุนอาจจะเรียกขอเงินกู้ยืมเพิ่มได้อีก แต่ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวเช่นกันหากภาพของตลาดเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว” Kenny กล่าว 

 

ด้าน สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลกระทบจากกรณีของ Archegos อาจจะไม่ได้กระทบในวงกว้างมากนัก แต่สิ่งที่เริ่มเห็นคือ ภาวะ Risk on ในตลาดหุ้นโลกที่เริ่มลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งวัดได้จากการใช้อัตราทด (Leverage) ในตลาดต่างๆ ที่เริ่มลดลง

 

ส่วนประเด็นต่อจากนี้ อยากจะแนะนำให้ติดตามในส่วนของ Block Trade ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นกลุ่มที่ปรับขึ้นมาแรง และเริ่มถูกขายลงมาก่อนหน้านี้ หากราคาหุ้นยังคงปรับลงไปต่อจนต่ำกว่าต้นทุนของนักลงทุนที่ใช้ Block Trade เข้าซื้อ ก็อาจจะเห็นแรง Forced sell ตามมาอีกได้ 

 

“ประเด็นดังกล่าวเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือน หลังจากที่ภาวะตลาดดูดีมากเกินไป แต่อาจจะยังไม่ได้ทำให้เกิดภาวะ Risk off แต่อย่างใด” 

 

ปัจจุบันสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ เริ่มเข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้น อย่างทองคำ น้ำมัน หรือแม้แต่ VIX Index ขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนตลาดหุ้นโลกนั้นขยับขึ้นไปสูงกว่าโควิด-19 ได้แล้ว 18% 

 

“หลังจากนี้ไม่คิดว่าสินทรัพย์ต่างๆ จะปรับขึ้นต่อไปได้อีกเยอะมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนที่อาจจะเห็นแรงขายทำกำไรออกมาก่อน หากนักลงทุนที่เคยใช้ Leverage สูงๆ ก็อาจจะลดสถานะลงมาบ้าง และระมัดระวังมากขึ้น” 

 

ส่วนความเสี่ยงของการใช้ Leverage ในตลาดหุ้นไทยนั้น ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า อย่างกรณีของ Block Trade มูลค่ารายวันในไทยอยู่ที่ราว 3.4 หมื่นล้านบาท ถือว่ายังต่ำกว่าช่วงพีกที่ราว 4-5 หมื่นล้านบาท ขณะที่เครื่องมืออื่นๆ สำหรับการใช้ Leverage ในไทยนั้นไม่ได้หลากหลายและซับซ้อนเท่ากับต่างประเทศ ทำให้ความเสี่ยงในประเด็นนี้ของตลาดหุ้นไทยมีค่อนข้างต่ำมาก 

 

“การควบคุมความเสี่ยงเรื่องของการใช้ Leverage ในไทยทำได้ค่อนข้างดี และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ก็จะแสดงตัวเลขออกมาให้เห็นได้หมด ส่วนตัวจึงมองว่าไม่น่ากังวลใดๆ กับประเด็นนี้” 

 

ขณะที่ผลกระทบจากกรณีความเสียหายของกองทุน Archegos ทำให้หน่วยงานกำกับต่างๆ เริ่มประเมินกองทุนอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ การที่ตลาดประเมินว่าการใช้ Leverage เป็นส่วนผลักดันให้ตลาดหุ้นปรับขึ้นมาเยอะมากก่อนหน้านี้ หากมีการควบคุมในเรื่องนี้มากขึ้น ตลาดก็อาจจะพักฐานลงมาได้ 

 

“เราอาจจะเห็นตลาดเข้าสู่โหมด Risk off ได้ในช่วงสั้นๆ และด้วยปัจจัยบวกใหม่ๆ ที่ไม่มีเข้ามา รวมถึงการที่ธนาคารกลางต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณว่าสภาพคล่องอาจจะยังอยู่กับเรา แต่อาจจะไม่เพิ่มไปมากกว่านี้ ทำให้ตลาดอาจจะพักฐานลงมาได้ เพราะฉะนั้นนักลงทุนควรจะระมัดระวังมากขึ้นในช่วงนี้” 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising