×

อนันดา เอเวอริงแฮม กับชีวิตที่เพิ่งเริ่มเต้น และการเรียนรู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด

13.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • สำหรับอนันดา การถ่ายทำหนังเรื่อง ขุนพันธ์ ไม่ใช่แค่การทำงานแสดงตามปกติ แต่เป็นการที่ทีมงานทุกคนต้องงัดความสามารถและประสบการณ์ที่มีทั้งหมดเพื่อออกไปต่อสู้กับความเป็นจริงและข้อจำกัดจำนวนมาก เพื่อให้หนังเรื่องที่ออกมาตรงกับภาพที่ทุกคนคิดเอาไว้ได้มากที่สุด
  • ก่อนหน้านี้อนันดาเคยพยายามค้นหาความหมายของชีวิตด้วยการวางตัวเองเป็นผู้นำในทุกๆ บทบาท จนกระทั่ง 3 ปีก่อนหน้านี้ที่เขาเหนื่อยกับการหาคำตอบและหยุดรับงานแสดงเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่จะค้นพบคำตอบว่าที่จริงแล้วตัวเขาไม่ได้มีความหมายมากเหมือนที่เขาเคยคิดเอาไว้
  • อนันดาบอกว่าชีวิตช่วงนี้คือช่วงเวลาที่สบายใจและสามารถเพลิดเพลินและละเอียดกับการใช้ชีวิตได้มากที่สุด และอย่างน้อยที่สุดเขาก็กล้าที่จะออกไปเต้นท่าประหลาดโดยไม่ต้องสนใจว่าใครจะมองว่าเขาคืออนันดาหรือเปล่าได้แล้ว

แน่นอนว่าภาพยนตร์ ขุนพันธ์ 2 ใกล้เข้าฉายเมื่อไร สปอตไลต์ดวงแรกต้องส่องไปที่ อนันดา เอเวอริงแฮม นักแสดงที่รับบทเป็น ‘ขุนพันธรักษ์ราชเดช’ ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเขาหยุดรับงานแสดงและไปทุ่มเทให้กับงานเบื้องหลังเป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ ขุนพันธ์ ภาคแรกบอกลาโรงภาพยนตร์

 

THE STANDARD นัดเจอกับเขาอีกครั้งในขวบวัย 36 ดูจากภายนอกถ้าไม่นับร่องรอยแห่งประสบการณ์ที่เห็นชัดเจนขึ้นบนใบหน้าและรอยคล้ำใต้ตาหลังจากออกกองถ่ายทำที่สาหัส เขาคืออนันดาคนเดิมที่เรารู้จักแทบทุกอย่าง ยกเว้นเพียงแต่ความรู้สึกภายในที่เขาใช้เวลาตกตะกอนมาตลอด 3 ปี

 

อนันดายังคงเป็นนักแสดงไม่กี่คนที่สามารถวิเคราะห์ตัวละครจนพูดถึงด้านร้ายที่ไม่ได้เขียนไว้ในบทได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ทั้งยังมีความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมที่โยนกลับมาให้เราหยุดคิดได้เสมอ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เราสังเกตได้ชัดคือ เขาหยุดคิดและใช้เวลาในการตอบคำถามมากขึ้น เช่นเดียวกับมุมมองการใช้ชีวิตที่เขาบอกว่าตอนนี้ ‘ละเอียด’ กับทุกสิ่งรอบตัวมากกว่าทุกช่วงชีวิตที่ผ่านมา

 

และนี่คือช่วงเวลาแรกในชีวิตที่เขากล้าออกไป ‘แดนซ์’ อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องสนใจว่าคนที่ยืนโชว์สเตปประหลาดอยู่ตรงนั้นจะเป็นผู้ชายที่ชื่อ ‘อนันดา’ หรือไม่ก็ตาม

 

 

คุณเคยพูดเอาไว้ตอนจบเรื่องขุนพันธ์ภาคแรกว่า อีก 10 ปีค่อยมาคุยกันเรื่องภาค 2 พอมาภาค 2 ก็ไปยืนหลับกลางกองถ่าย การทำหนังภาคต่อที่เคยทำมาแล้ว ไม่ได้ช่วยให้การทำงานง่ายหรือสบายขึ้นเลยเหรอ

ไม่ใช่แค่ผมหรอก ทีมงานทุกคนก็แซวกันตั้งแต่ปิดกล้องภาคแรกว่าไม่เอาแล้วนะ ขอพักไปสัก 10 ปีได้ไหม มันเหนื่อยมากจริงๆ นะ ใช้พลังงานสูงมากทั้ง 2 ภาคเลย เรื่องนี้ถือว่าหนักที่สุดในชีวิตการเป็นนักแสดงของผมแล้ว ด้วยเหตุผลที่เราต้องยอมรับว่าถ้ามองเรื่องความตั้งใจ เทียบกับสเกลของเนื้อหา ของบท ของโปรดักชันที่ควรจะเป็น มันใหญ่กว่างบประมาณที่ได้รับพอสมควร กลายเป็นว่าทุกครั้งที่ออกกองไม่ใช่แค่ไปทำงาน แต่เราต้องออกไปสู้กับความเป็นจริง ไปสู้กับปัญหา ไปสู้กับข้อจำกัดต่างๆ เป็นหนังที่ต้องอาศัยทุกเทคนิค ทุกชั่วโมงบิน เพื่อหาวิธีร่วมกันว่าจะทำให้ภาพที่ต้องการเกิดขึ้นได้อย่างไร พอจบเลยรู้สึกว่า เออ ไม่ต้องรีบกลับมาก็ได้ (หัวเราะ)

 

พอกลับมาคุยกับพี่โขม (ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับ) ผมบอกเขาว่าพอเป็นภาค 2 แล้วเราก็ลดทอนบทลงมาหน่อยนะพี่ ชีวิตเราจะได้ง่ายขึ้น พอได้บทมาอ่านจริงๆ ฉิบหาย แม่งก็ใหญ่อยู่ดี (หัวเราะ) อาจจะมีบางส่วนที่ลดลงไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วก็นั่นล่ะ มาแล้วครับท่าน เหนื่อยกันแน่นอน แล้วมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ พอตอนนี้ปิดกล้องเสร็จไอ้ความรู้สึกนั้นก็กลับมาอีกแล้ว พอก่อน อย่าเพิ่งมาคุยภาค 3 กับกูตอนนี้

 

ทำไมการทำหนังสักเรื่องหนึ่งทุกคนถึงต้องยอมลำบากกันมากขนาดนี้

เพราะหนังแบบนี้มันเกิดขึ้นยากในเมืองไทย ตั้งแต่ภาคแรกมีคนมาบอกผมเยอะนะว่าขอบคุณที่ทำหนังเรื่องนี้ เพราะไม่คิดว่าจะได้ดูหนังแบบนี้กันอีก คือหนังแอ็กชันแบบไทยๆ มีความ exotic มีเซตฉาก มีขี่ม้า ยิงปืน ระเบิด มีความคลาสสิกที่เป็นฟังก์ชันของหนังสมัยก่อนที่สร้างโลกอีกใบขึ้นมา แล้วให้คนดูหลบจากโลกความจริงไปอยู่ในนั้นสัก 2 ชั่วโมง ตอนนี้ฮอลลีวูดก็ยังมีแบบนี้อยู่นะ เขามี Marvel มีอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งตอนนี้เราก็จะได้มี Marvel สไตล์ไทยๆ ขึ้นมาบ้าง

 

ความน่าสนใจอีกอย่างคือ ถ้าดูตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ของฝั่งอเมริกาที่มีหลายภาค เราจะเห็นว่าตัวละครของเขาจะมีพัฒนาการที่ไม่เหมือนกันเลย คือไม่ได้เปลี่ยนแค่อาวุธหรือตัวร้าย แต่ตัวตนภายในจิตใจของเขาก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งนั่นคือความตั้งใจแบบเดียวกับที่พี่โขมพยายามสร้างให้กับตัวละครขุนพันธ์

 

ในภาคแรกความสัมพันธ์ของขุนพันธ์กับอัลฮาวียะลู ถึงแม้เขาจะมีความคิด มีเหตุผลในการกระทำคล้ายกันหลายอย่าง แต่สถานะในเรื่องเขาอยู่คนละฝั่งกันแบบขาว-ดำชัดเจน ขุนพันธ์ในตอนนั้นคือตัวแทนของกฎหมาย คือสัญลักษณ์ของฮีโร่

 

แต่ภาค 2 เราอยากให้ท่านมีความเป็นมนุษย์มากกว่านี้ มีปัญหา เจอความขัดแย้งเหมือนคนทั่วไป เราก็จะได้เห็นขุนพันธ์ฟังเพลง เต้นรำ มีเพื่อน โรแมนติก แต่แกนหลักคือแอ็กชันอยู่แล้วนะ เราแค่ทำให้ตัวละครนี้กลมขึ้น และเพิ่มความ ‘เทา’ เข้าไปแฝงตัวอยู่กับโจร ไปเป็นพี่น้องกับเสือใบและเสือฝ้าย แล้วต้องไปเจอสถานการณ์หลายอย่างที่ทำให้ทุกอย่างที่เขายึดมาตลอดในภาคแรกต้องไขว้เขว และสร้างคำถามให้ตัวละครว่าอะไรคือความถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่น่าศรัทธา ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายหรือควรปล่อยให้เป็นเรื่องของความรู้สึก เราจะยึดกับตัวบุคคลหรือยึดในอุดมคติที่เราเชื่อมาตลอด ภาคนี้เปลี่ยนจากโลกที่มีแต่สีขาวและดำเป็นโลกสีเทา เพราะเราไม่ได้เชื่อว่ามีใครที่ดีหรือเลวได้ 100%

 

ในชีวิตจริงถ้าต้องเลือกระหว่างอุดมคติและความรู้สึก คุณจะเลือกยืนอยู่ฝั่งไหนมากกว่ากัน

ถ้าตามเนเจอร์ ผมต่างจากตัวละครขุนพันธ์โดยสิ้นเชิง คือแทบไม่มีตรงไหนที่มาโคจรเจอกันได้เลย (หัวเราะ) คนรู้จักจะรู้ว่าผมเป็นพวก Make Love, Not War เพราะฉะนั้นถ้าถามผมตรงนี้ ผมคงเลือกอีกฝั่งมากกว่า เพราะผมรู้สึกว่าทัศนคติหรืออุดมคติสามารถเปลี่ยนได้ ปรับได้ ซึ่งสถานการณ์แตกต่างกับขุนพันธ์อย่างสิ้นเชิง ท่านคือคนแบกรับภาระของประเทศชาติ ความรับผิดชอบเขาใหญ่กว่าเราเยอะ เพราะฉะนั้นความคิดของเขาต้องแข็งแกร่งกว่าเรามากๆ ผมเป็นแค่คนหนึ่งที่มีอาชีพนักแสดง เป็นอาร์ทิสต์ เป็นน้ำที่ไหลไปเรื่อยๆ แล้วไม่ต้องเผชิญกับความเป็นหรือตาย ซึ่งทุกอย่างมันต่างกันหมด เลยเปรียบเทียบความคิดของตัวเองกับตัวละครอย่างขุนพันธ์ไม่ได้

 

 

อีกเรื่องที่น่าสนใจในหนังคือฉากที่ขุนพันธ์เข้าพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาสาบานตัวเป็นตำรวจ กับการสาบานเป็นพี่น้องกับจอมโจรอย่างเสือใบและเสือฝ้าย ซึ่งแน่นอนว่าต้องทำให้ตัวละครที่ยึดมั่นในความถูกต้องมาตลอดอย่างขุนพันธ์ต้องผิดคำสัญญากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน

ใช่ เรื่องนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่สะเทือนความเชื่อของขุนพันธ์อย่างแรงมาก ทุกครั้งที่เขากล่าวคำสาบานออกมา เขารู้ถึงความหนักหนาที่ต้องแบกรับทั้งหมด เขายึดมั่นในความซื่อสัตย์ เชื่อมั่นในคำสาบาน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็รู้ว่ามีโอกาสสูงมากที่เขาจะต้องผิดคำสัญญา มันคือความเทาของการเริ่มต้นจากคำสาบานที่นำไปสู่การโกหก และการเริ่มต้นจากการโกหกที่นำไปสู่การให้คำสาบาน แต่ตลอดทั้งเรื่องที่ขุนพันธ์ถูกท้าทายด้วยเรื่องนี้ ผมคิดว่าเขาก็ไม่เคยลืมความซื่อสัตย์ที่มีต่อหน้าที่การงาน และความรัก ความเป็นพี่น้อง ความเป็นครอบครัว ซึ่งสุดท้ายคำตอบจะออกมาเป็นแบบไหน ในหนังจะมีคำตอบให้อยู่

 

ขอเดาว่าถ้าเปลี่ยนจากขุนพันธ์เป็นอนันดา เอเวอริงแฮม น่าจะเลือกพี่น้องใช่ไหม

(คิดนาน) ใช่ครับ เพราะถ้าพูดตรงๆ ผมอาจไม่ได้ศรัทธากับกฎหมายที่สุดเท่าไรอยู่แล้ว (หัวเราะ) แต่ก็ยืนยันขนาดนั้นไม่ได้นะ เพราะชีวิตผมไม่ได้เจอเหตุการณ์ดราม่าขนาดนั้น คือผมเคยมี conflict กับกฎหมาย แต่ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ต้องเลือก เพราะผมเป็นคนผิดเองไง ผิดก็ต้องโดนกฎหมายลงโทษ แค่นั้นจบ อันนี้เรายอมรับได้

 

ปกติคุณเป็นคนที่พูดคำสาบานออกมาบ่อยแค่ไหน

เท่าที่นึกออก ผมไม่น่าจะเคยพูดเลยนะ เพราะมันน่ากลัว และไม่ชอบเวลามีคนมาพูดกับผมด้วย เพราะผมให้ความสำคัญกับการกระทำมากกว่า แล้วอย่างที่บอกว่าผมเป็นคนมองโลกในแง่บวก ใครพูดอะไรกับผมก็เชื่อ ถึงแม้ว่าผมจะไม่เชื่อเขามาก่อนคิดว่าต้องโดนหลอกแน่ๆ แต่ก็จะให้เครดิตเขาก่อน อย่างเวลาคนมายืมเงิน เอาไปเถอะ ถึงรู้ว่าจะไม่ได้คืนแน่ๆ ก็คิดว่าอย่างน้อยเขาคงเอาไปใช้กับเรื่องที่จำเป็น ถึงแม้ว่าสุดท้ายเขาอาจจะเอาไปจ่ายค่าพนันบอลหรืออะไรก็ได้ แต่ขอเชื่อก่อนว่าอย่างน้อยเขาจะเอาไปทำเรื่องที่ดี แค่นั้นพอแล้ว

 

พูดแบบนี้ออกไป แล้วคนไม่มายืมเงินคุณกันหมดเหรอ

โห บานเลยครับ (หัวเราะ) เป็นเรื่องปกติ ทุกวันนี้ไม่เรียกว่าให้ยืมแล้ว เรียกว่าให้ไปเลย ตัดคำว่ายืมออก จะเอาใช่ไหม เอาไป เอาไป

 

สถานการณ์แบบไหนบ้างที่พอจะทำได้คนอย่างคุณพูดคำสาบานออกมาได้

อันแรกตัดความรักออกไปก่อนเลย

 

เพราะกลัวว่าจะทำไม่ได้หรือเปล่า

เพราะความรักมันตีความได้มหาศาล สมมติผมบอกว่าผมจะรักคุณตลอดไป คนที่ฟังเขาก็จะแปลออกมาเป็นรูปธรรมในเวอร์ชันของเขา ซึ่งมันอาจจะเป็นคนละเวอร์ชันกับการรักคุณตลอดไปของผมก็ได้ และด้วยความที่ผมไม่ได้เชื่อว่าโลกมีแค่ขาวกับดำ ซึ่งคำสาบานมันเหมือนแจ้งมาว่ามีฝั่งขาวกับดำ มีฝั่งที่รักษาคำพูดกับไม่รักษาคำพูด ซึ่งผมว่าคนเรามันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น

 

อ๋อ แต่มีเรื่องหนึ่งที่กล้าสาบานได้คือ ผมจะไม่ทำร้ายตัวเอง มันเริ่มมาจากผมเป็นคนใช้ชีวิตค่อนข้างตามอารมณ์และความรู้สึก ช่วงหลังๆ มีข่าวฆ่าตัวตายออกมาเยอะ คนก็จะกลัวว่าวันหนึ่งผมอาจจะเซอร์แดก คิดว่าชีวิตนี้พอแล้ว ว่ายน้ำออกกลางทะเลแล้วหายไปเลย (หัวเราะ) อันนี้กล้าสาบานได้ว่าผมไม่ใช่คนแบบนั้น แต่เรื่องอื่นแม่งยากว่ะ สาบานเป็นคำที่แรงมาก ผมถึงบอกกับทุกคนไงว่าไม่ต้องมาสาบานอะไรกับกู

 

คุณจะแสดงออกอย่างไร เวลามีคนผิดคำสาบานที่เคยให้ได้กับคุณ

ไม่ใช่แค่สาบานนะ รวมทั้งคำสัญญา คำขอโทษอะไรก็ตาม ใครเริ่มมาพูดแบบนี้ผมจะหยุดก่อนเลย เฮ้ย ไม่ต้องสัญญา ไม่ต้องขอโทษ ถ้ามึงรู้สึกผิด ต่อไปมึงก็ไม่ต้องทำอีก การกระทำสำคัญที่สุด ไม่ต้องมาพูดหรอก แต่ไปทำให้เห็นเลยว่าต่อไปนี้จะไม่เกิดขึ้น หรือจะไปทำให้มันดีขึ้นอะไรก็ว่าไป

 

 

ในสังคมที่คนจำนวนมากกำลังถูกเอาเปรียบ คุณเชื่อในหลักการ ‘โรบินฮู้ด’ ว่าจะสามารถแก้ปัญหานั้นได้มากแค่ไหน  

เฉยๆ นะ ถ้ามองความคิดโรบินฮู้ดจริงๆ คือมันคือ socialism มันคือการจัดการในระบบสังคมนิยม การแบ่งทรัพย์สิน การแบ่งทรัพยากรให้คนอื่นเท่ากันหมด ซึ่งในประวัติศาสตร์หลายครั้งมันก็ถูกพิสูจน์แล้วว่าวิธีการแบบนี้ไม่เวิร์ก

 

ผมเป็น libertarian (คนที่เชื่อในแนวคิดอิสรนิยม) ที่เชื่อในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนที่ถูกกดขี่นะ ซึ่งตัวเสือฝ้ายกับเสือใบเขาก็มีมุมนี้อยู่ อันนี้โอเค แต่ถ้าเป็นการเอาเงินมาแบ่งให้เฉยๆ แล้วจบอันนี้ผมไม่เห็นด้วย เพราะผมไม่เชื่อว่ามันจะนำไปสู่พัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ในระยะยาว

 

คำนามคำว่า ‘เสือ’ ในมุมมองของคุณคือคนแบบไหน และคุณลักษณะแบบเสือมีความจำเป็นกับสังคมในตอนนี้อย่างไร

เสือ คือ กบฏ แต่พูดแบบนี้มันจะพูดยากนิดหนึ่งนะ คือผมคิดว่ากบฏที่ผมหมายถึงคือคนที่ลุกมาต่อต้านอะไรบางอย่าง แล้วเป็นตัวแทนของคนที่ถูกกดขี่ ไม่มีปากมีเสียง กบฏของผมจะมีประโยชน์ในสถานการณ์แบบนี้ แต่ถ้าเป็นกบฏที่ต่อต้านอะไรบางอย่างเพื่อขึ้นมาปกครองคนอื่น อันนี้ไม่ได้ แบบนั้นคือเผด็จการ อย่างกบฏในเชิงมาร์ติน ลูเทอร์ คิง (นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนสำคัญในช่วงปี 1950 ก่อนถูกลอบยิงเสียชีวิตในปี 1963) อันนี้ผมเชื่อ เพราะเขาคือเมสเสจของความเท่าเทียม กบฏเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อให้มนุษย์มีสิทธิเท่าเทียมกัน แล้วเขาได้เลือกใช้ชีวิตในแบบของเขา แต่ไม่ใช่ว่ากูจะกบฏเพื่อเทกโอเวอร์แล้วเป็นนายมึง

 

ผู้ชายที่ชื่ออนันดา เอเวอริงแฮม มีความเป็นกบฏอยู่ในตัวมากน้อยขนาดไหน

อาจจะมี (คิดนาน) แต่ไม่ได้ถึงขั้นลุกขึ้นมาต่อสู้ขนาดนั้น สุดท้ายด้วยความที่ผมมีความเป็น libertarian สูง ผมก็จะมีความคิดหลายอย่างที่ไม่เห็นด้วยกับความไม่ยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมหลายๆ อย่าง แต่ไม่ได้กบฏในเชิงผู้นำว่าจะต้องต่อสู้เพื่อขึ้นมาเป็นผู้นำของสังคม และไม่ได้รู้สึกว่าเมสเสจของผมหรือตัวผมมันสำคัญขนาดนั้น มันมีคนที่เกิดมาเพื่อการนั้นอยู่แล้ว ให้ผมไปซัพพอร์ตเขาอันนี้ได้ กบฏของผมมันจบแค่ระดับปัจเจกบุคคล เราไฟต์เพื่อความเชื่อของเราแค่นั้นพอ แต่ไม่ต้องเอาความคิดหรืออุดมคติอันนั้นไปครอบงำคนอื่น

 

อะไรคือเรื่องที่คุณอยากใช้ความกบฏในตัวเพื่อผลักดันหรือต่อสู้ด้วยมากที่สุด

หลายคนคงคิดไม่ต่างกับผมคือเรื่องที่เราทุกคนเชื่อในกฎของความถูกต้อง แต่บางคนไม่ได้อยู่ในกฎเดียวกับพวกเรา เมื่อเกิดแบบนี้ขึ้นเราเดือดร้อน เราตื่นตัว แต่สุดท้ายก็แทบไม่มีใครที่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้เลย ผมเชื่ออยู่นะว่าถ้าคนเรากล้า rise up มากกว่านี้ เราจะสามารถโค่นสิ่งเหล่านี้ไปจากสังคมเราได้ ซึ่งผมคิดว่าถ้าจะทำจริงๆ มันต้องไปเริ่มต้นที่การปฏิรูปการศึกษาเลยนะ ถ้าผมมีพลังพอที่จะใช้ความกบฏได้จริงๆ ผมอยากผลักดันเรื่องนี้ เราต้องแก้ไขที่ตัวเราเอง เราต้องทำให้ลูกหลานเราฉลาดขึ้น ไม่ใช่พอมีเรื่องก็ออกมาแฉคนนั้นคนนี้แล้วก็เงียบหายเป็นเรื่องๆ ไป

 

 

การศึกษาของประเทศไทยมีเรื่องไหนที่คุณคิดว่าต้องปฏิรูปมากที่สุด

ระบบความคิดของคนส่วนใหญ่มีความขัดแย้งกันอยู่ 2 อย่าง คือเราบริหารประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ์ มีเสียง ทุกอย่างมาจากประชาชน เป็นการบริหารแบบ Bottom-Up แต่จากหลายๆ เจเนอเรชันของเราที่ชินกับโครงสร้างของสังคมแบบ Hierarchy System ที่มีลักษณะการบริหารแบบ Top-Down และเราก็ใช้ทั้ง 2 ความคิดนี้ปนกันมั่วไปหมด

 

อันหนึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เคารพกฎหมาย เคารพความยุติธรรมอะไรก็ว่าไป ในขณะที่ Hierarchy System ก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เราเคารพผู้ใหญ่ มีระดับชั้นที่แตกต่างกัน ซึ่งผมไม่มีปัญหากับความคิดนี้นะครับ ถูกต้อง เราควรมีความเคารพ แต่ต้องแยกความคิดออกมาก่อนว่าวิธีการบริหารประเทศ หรือการปฏิบัติต่อสังคมในภาพใหญ่มันเป็นคนละส่วนกัน เพราะถ้าเอามารวมกันมันจะเกิดปัญหาแบบที่บอกคือ พอเกิดปัญหาขึ้น คนที่อยู่ข้างล่าง หรือคิดว่าตัวเองอยู่ข้างล่างก็จะคิดไปแล้วว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้หรอก ผมอยากให้มีการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนตั้งแต่เด็กๆ เหมือนที่อเมริกามีเพลง How a Bill Becomes a Law สอนให้เด็กๆ รู้ว่ากฎหมายเกิดขึ้นได้อย่างไร คือเกิดจากประชาชน ไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้ใหญ่ที่คิดแล้วครอบลงมา ถ้ารู้แบบนี้ตั้งแต่ต้น เราจะได้ไม่สับสนและสามารถแยกได้ว่าเมื่ออยู่ในสังคมเราควรเลือกปฏิบัติแบบไหน

 

อีกหนึ่งเรื่องที่ตัวละครขุนพันธ์ต้องเจอในภาคนี้คือ เขาต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ที่ผ่านมาเขากำลังทำอะไรอยู่ และเขาทำสิ่งเหล่านั้นไปเพื่ออะไร ที่ผ่านมาตัวคุณเองเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตั้งคำถามแบบนั้นกับตัวเองมากน้อยขนาดไหน

ต้องบอกก่อนว่าหลายๆ อย่างที่ตัวละครขุนพันธ์เป็น มันถูกขับเคลื่อนด้วยความเห็นแก่ตัว เป็นตัวละครที่เอาตัวเองเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ เพราะเขาดีมากนี่แหละ เขายึดมั่นกับทุกอย่างมากๆ จนไม่สามารถโอนอ่อนให้กับสิ่งใดได้เลย ซึ่งนี่คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาต้องพบกับคำถามต่างๆ ตามมา สิ่งที่สร้างปัญหาให้ผมมากๆ ก่อนหน้านี้ก็เพราะแบบนี้เลย การที่เราคิดว่าความคิดของเราดีกว่าคนอื่น แล้วก็เอาไปครอบงำคนอื่น ทุกคนต้องทำตาม

 

กลับกัน ถ้ามีคนพยายามเอาความคิดของเขามาครอบงำคุณบ้างจะเกิดอะไรขึ้น

ก็จะมีปัญหา (หัวเราะ) เวลาเจอบ่อยขึ้น ผมเริ่มมาสังเกตเห็นนะว่า อ๋อ กำลังเป็นคนนั้นอยู่นี่ คนที่ทำให้ปัญหาทั้งหมดมันเกิดขึ้นนี่แหละ (หัวเราะ) ตอนหลังเริ่มถอยออกมา ถึงได้เข้าใจว่าบางครั้งถึงแม้เราจะหวังดี แต่การเอาความหวังดีไปครอบคนอื่น มันก็สร้างปัญหาได้เหมือนกัน

 

เมื่อก่อนเวลาเกิดความขัดแย้งขึ้นคุณเลือกที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านั้นอย่างไร

ในอดีตช่วงที่ผมเดือดๆ ช่วงหาความหมายในชีวิตมีปมเยอะแยะไปหมด ก็จะแสดงท่าทางเหมือนมาร น้ำเสียง คำพูด โวยวายแตกหัก ตอนนี้ผมเชื่อว่าไอ้ความร้อนนั้นก็ยังอยู่นะ แต่สามารถจัดการได้ง่ายขึ้น ซึ่งมันเริ่มจากการที่เราเคลียร์ตัวเองว่าเราไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล แต่ละคนมีเส้นทางที่ต่างกันไป กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ใครจะรู้ว่าแต่ละคนเจออะไรกันมาบ้าง เขาเองก็คงยึดมั่นในความคิดของเขาไม่ต่างกับผม ตอนนี้ก็ถอยห่างออกมาเป็นฝั่งซัพพอร์ต ให้คนอื่นนำบ้างแทนที่จะพยายามเป็นคนนำทุกอย่าง ผ่อนคลายกับชีวิตมากขึ้น Let It Go แล้วคิดว่ามึงไม่ได้สำคัญอะไรกับสโคปของโลกใบนี้เลย ทุกอย่างบนโลกดำเนินไปโดยที่ไม่ต้องมีมึงอยู่ก็ได้เว้ย

 

 

ความคิดทั้งหมดที่พูดมาเริ่มผ่อนคลายได้ตอนไหน

ตอนอายุ 30 ต้นๆ หลังปิดกล้อง ขุนพันธ์ ภาคแรก มันมีช่วงที่เหนื่อยมาก เหมือนเราพยายามหาความหมายกับทุกสิ่งอย่างแล้วเกิดความท้อ ไปเสวยความเครียด ความต้องการ ความคาดหวัง แล้วเกิดคำถามว่าทำไมกูต้องทำงาน ทำไมกูต้องเหนื่อย ทำไมกูต้องเป็นคนคนนี้ พยายามตีความว่าความหมายของชีวิต ความหมายของตัวเราคืออะไร พอสะสมไปถึงจุดที่จากคิดอะไรออกแบบฟุ้งซ่านไปหมด กลายเป็นคิดอะไรไม่ออกเลย ทั้งความเหนื่อยทางใจ รวมกับความเหนื่อยทางกายเลยคิดว่าไม่ได้แล้ว กูต้องหยุด แล้วก็หยุดไปเลย ไม่รับงานแสดงไป 3 ปีกว่าๆ แล้วระหว่างที่หยุด ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นด้วยนะ ยังไม่ได้คำตอบ แต่เหมือนมีปมอะไรสักอย่างที่มันคลายตัวออกไป แล้วรู้สึกผ่อนคลายขึ้นเยอะเลย

 

สิ่งแรกที่เปลี่ยนไปเลยคือ กลายเป็นคนชอบฟังเพลง ชอบเต้น รู้สึกว่าความระแวงเกี่ยวกับตัวเองหายไปเยอะ เพราะเราไม่ต้องกดดันตัวเองในฐานะเซ็นเตอร์แล้ว ไอ้พวกความรู้สึกที่ว่าเราเป็นผู้นำ ต้องดีที่สุด ต้องรู้มากที่สุดมันหายไป

 

เมื่อก่อนคุณก็เป็นคนที่แฮงเอาต์อยู่ตลอดเวลา ตอนนั้นคุณไม่กล้าเต้นแบบนี้เหรอ ทั้งๆ ที่ 2 อย่างนี้ดูเป็นของที่ควรมาคู่กัน

เมื่อก่อนเก๊ก ไปแฮงเอาต์ก็ยืนพิงกำแพง โยกหัว มองไปรอบๆ กลัวว่าคนอื่นจะมองเห็นเรายังไง แต่ตอนนี้คือแดนซ์คนแรกเลย (หัวเราะ) ใครจะมองยังไงไม่สนใจแล้ว อันนี้ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่ผมเริ่มนั่งสมาธิจริงจังมากขึ้นด้วยมั้ง

 

สิ่งหนึ่งที่การนั่งสมาธิสอนผมคือ ให้เรามาเริ่มจากร่างกายของเรา ปล่อยทุกอย่างไปตามธรรมชาติ เราแค่อยู่กับร่างกายและภาวะของเราในตอนนั้น ไม่ต้องไปขืน ไปต้องไปคิด ซึ่งการเต้น การฟังเพลงมันเหมือนกันเลย คือไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องมองคนอื่น ไม่ต้องคิดว่าสเตปต่อไปจะทำท่าอะไร ปล่อยให้เพลงพาร่างกายเราไป และท่าจะออกมาแบบไหน ผ่อนคลายแล้วไปตามนั้นเลย

 

พูดตรงๆ ว่าเรานึกภาพอนันดานั่งสมาธิไม่ออกเลยนะ

ผมชอบอยู่แล้ว นั่งมาตลอด แต่นั่งๆ เลิกๆ รู้อยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าชอบขี้เกียจ แล้วก็อีกความรู้สึกหนึ่งคือกลัว เพราะรู้สึกว่าผมเป็นคนที่อยู่คนเดียวได้ สงบได้ ไม่มีปัญหา เลยกลัวว่าถ้านั่งสมาธิแล้วค้นพบความสงบมากๆ แล้วอาจจะติดใจไปทางนั้นแล้วไม่กลับมาทางนี้อีกเลย (หัวเราะ)

 

 

3 ปีที่หยุดรับงานคือใช้เวลาไปกับการนั่งสมาธิ

บ้า ไม่ถึงขนาดนั้น (หัวเราะ) ผมก็ใช้ชีวิตไปตามปกติ ไม่รับงานแสดงแต่ก็ยังทำงานให้กับออฟฟิศ (บริษัทเฮโล โปรดักส์ชั่น จำกัด) ผมแค่ถอยตัวเองออกมาจากหลายๆ อย่างที่ผมต้องแบกรับแค่นั้นเอง อย่าลืมว่าด้วยโพสิชันในอาชีพของผม ทำให้บทบาทที่ผมได้รับมันจะวนอยู่กับบทบาทที่ต้องเป็นนักแสดงนำ ผมอยากหนีจากตรงนี้มาก เวลาทำงานที่ออฟฟิศถึงผมจะหัวหน้า เป็นโปรดิวเซอร์ แต่ผมยังพอหลบทางให้คนอื่นขึ้นมานำแทนได้ แต่การเป็นนักแสดงนำที่มีชื่อของผมอยู่ มันหนีไปไหนไม่ได้เลย

 

ทั้งการเป็นนักแสดงนำ เจ้าของบริษัท โปรดิวเซอร์ มันคือสถานะที่ใหญ่มากทั้งหมดเลย พอจะนึกออกไหมว่าสถานะที่เล็กที่สุดที่คุณเคยได้รับในช่วงหลังๆ คืออะไร

อาจจะยังไม่เคยนะ แต่เรื่องนี้ดีนะ เพราะมันเป็นแฟนตาซีต่อเนื่องของผมมาหลายปีแล้ว แต่ถ้าพูดไปแล้วจะน่าหมั่นไส้มาก คือผมอยากทำอะไรสักอย่างที่มันเป็นรูทีน เหมือนกรรมกรแบกกระสอบทรายไปเรื่อยๆ อะไรอย่างนี้  

 

มันรู้สึกจริงๆ หลังจากเราไปอยู่ในฐานะผู้นำหลายพาร์ตของชีวิตตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ครอบครัว เพื่อน ชีวิตรัก มันทำมานานมากจนกลายเป็นบทบาทที่ทุกคนคาดหวังจากเรา และเราก็คิดว่านั่นคือบทบาทที่เราต้องทำจริงๆ แล้วทุกอย่างเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดและปัญญาหมดเลย มันเลยเป็นแฟนตาซีขึ้นมาว่า เฮ้ย ถ้าเราไม่เป็นคนนำแล้วโลกมันจะพังไหมวะ ไม่ต้องทำอะไรเลย เป็นครูสอนดำน้ำ จีบฝรั่งไปเรื่อยเปื่อย ทำไร่ ทำนา ใช้ร่างกายหนักๆ ไม่ต้องใช้ความคิดมาก มีรูทีนของชีวิต กำหนดมาเลยว่าเข้างานเวลานี้

 

น่าหมั่นไส้จริงๆ ด้วย

ใช่ไหม (หัวเราะ) คนฟังจะคิดว่า ใช่สิ มึงมีเงิน มึงมีชื่อเสียง โอกาสมึงครบหมดแล้วนี่ เลยมาพูดว่าอยากให้ชีวิตสมถะ แต่ของผมน่าจะพอพูดได้อยู่บ้าง เพราะผมมีนิสัยแบบนี้ตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว อาชีพที่ทำอยู่มันขัดแย้งกับนิสัยของผมมาแต่ไหนแต่ไร ผมไม่ได้มีความฝันอยากมาอยู่ตรงนี้ ยอมรับมาตลอดว่าผมมาอยู่ตรงนี้ได้เพราะโชคชะตากับปมในใจล้วนๆ

 

เป็นโชคชะตาที่ให้โอกาสเด็กเลวคนหนึ่งได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ กับปมในใจที่คิดว่าตัวเองยังดีไม่พอ ยังเก่งไม่พอ ไม่สมควรกับสิ่งที่สังคมให้มา ก็เลยพยายามเรียนรู้ อ่านหนังสือนั่นนี่ พัฒนาตัวเองทุกอย่าง มันคือความทะเยอทะยานเพื่อที่จะพิสูจน์ตรงนี้ให้ได้ แต่เนเจอร์ของผมมันไม่ใช่อะไรเลย นอกจากเด็กเงียบๆ ที่ชอบนั่งอยู่คนเดียวเหมือนเดิม

 

 

มีคนเคยบอกว่าช่วงอายุ 30-40 ปี คือช่วงเวลาที่กลมกล่อมที่สุดสำหรับผู้ชาย ตอนนี้คุณอายุ 36 ปี ผ่านมาแล้วครึ่งทาง มีความรู้สึกกับความคิดนี้อย่างไรบ้าง

เป็นไปได้นะ ไม่รู้ว่ากลมกล่อมหรือเปล่า แต่รู้สึกสบายใจกับตัวเองแล้วก็เพลินกับการใช้ชีวิตขึ้นมาก กล้าออกไปทำท่าประหลาดๆ ได้ทั้งที่ไม่เคยกล้าทำมาก่อนนี่ก็น่าจะเพลินมากแล้วแหละ (หัวเราะ) ตอนนี้มันดีขึ้นเยอะ ไม่ใช่ว่าฉลาดหรือเก่งขึ้นนะ แต่รู้สึกว่าผมใช้ชีวิตละเอียดขึ้นกับทุกๆ อย่างที่ทำ พอละเอียดแล้วเราจะเห็นสัดส่วนที่เคยให้น้ำหนักไม่ถูกว่าอันนี้เป็นผลของอันนี้ เรื่องนี้นั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องโน้น อ้าว อารมณ์ของเรามันไม่ได้เกี่ยวข้องกับอันนี้ดีกว่า งั้นแยกมันออกมา พอทำแบบนี้ได้แล้วชีวิตมันง่ายและสบายขึ้นเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าถามตอนนี้ผมค่อนข้างแฮปปี้และเพลินกับการใช้ชีวิตช่วงนี้มากเลย

 

เคยคิดไว้บ้างไหมว่าภาพของอนันดาในช่วงอายุ 40 และ 50 ปีจะเป็นแบบไหน

ไม่เคยคิดนะ ผมไม่เคยกลัวเวลาอายุมากขึ้น ผมกลับชอบการที่เราโตขึ้นด้วยซ้ำไป ผมยินดีที่จะเพิ่มคุณวุฒิของเราให้เหมาะสมกับวัยวุฒิในแต่ละช่วง เพราะฉะนั้นเลยคิดไม่ออกว่าอยากเห็นภาพตัวเองเป็นแบบไหน แต่พอนึกออกว่าไม่อยากโตเป็นผู้ชายที่มีอายุแล้วแต่ยังพยายามทำตัวเป็นเด็กอยู่ อันนี้เคยกลัวอยู่พักหนึ่งเหมือนกันนะ เพราะผมก็ไม่ได้เป็นคนวางภาพชีวิตว่าจะต้องแต่งงานนู่นนี่นั่น พอเป็นแบบนี้เลยกลัวว่าถ้าพออายุ 50 แล้วยังไม่มีใคร เราอาจจะเป็นคุณลุงที่ยังทำตัววัยรุ่นแล้วหลีสาวไปเรื่อยๆ อยู่ ถ้าเป็นแบบนั้นคงแย่เหมือนกัน

FYI
  • อนันดาสามารถจัดการความรู้สึกในหลายเรื่องได้ดีมากขึ้น เหลือเพียงอย่างเดียวที่เขาไม่สามารถจัดการความรู้สึกได้คืออาการหัวเสียเมื่อเจอการจราจรที่ติดขัด เพราะเขารู้สึกว่านั่นคือช่วงเวลาที่คนเราเอาลมหายใจไปเผาทิ้งมากที่สุดแล้ว
  • ในปี พ.ศ. 2547 อนันดาได้ร่วมมือกับ เจี๊ยบ-นภัสริญญ์ พรหมพิลา (ผู้จัดการส่วนตัว) ก่อตั้งบริษัท เฮโล โปรดักชั่น จำกัด โดยอนันดารับตำแหน่งเป็นโปรดิวเซอร์ด้วยตัวเอง ผลงานเด่นคือการซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ชื่อดังจากเกาหลีมาสร้างเป็นเวอร์ชันไทย เช่น Autumn In My Heart, Full House, Kiss Me, Princess Hour ฯลฯ
  • นอกจากเรื่อง ขุนพันธ์ 2 อนันดากำลังจะมีผลงานอีกเรื่องคือ 7 Days เรารักกันจันทร์-อาทิตย์ ที่กำลังจะเข้าฉายในวันที่ 19 กรกฎาคม
  • ส่วนเรื่อง ขุนพันธ์ 2 ที่จะได้ชมฝีมือการแสดงของอนันดากันแบบเต็มๆ จะเริ่มเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในวันที่ 9 สิงหาคม
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X