×

เมื่อ ‘ซอฟต์โลน’ ภาครัฐยังไม่มา ‘ธุรกิจสายการบิน’ จึงแก้ปัญหาด้วยการ ‘ลดเงินเดือนพนักงาน’ มีตั้งแต่ 10% ไปจนถึงไม่จ่ายเลย ให้ไปพึ่งประกันสังคมแทน

05.08.2021
  • LOADING...
สายการบิน

ความล้มเหลวในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดในประเทศไทย ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ต้องออกคำสั่งขยายระยะเวลามาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีก 14 วัน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 2 สิงหาคม 2564 โดยจะประเมินอีกครั้งในวันที่ 18 สิงหาคม หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นอาจจะขยายต่อไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 และยังมีการขยายพื้นที่สีแดงเข้มเพิ่มเป็น 29 จังหวัดจากเดิม 13 จังหวัด เพื่อจำกัดการเดินทาง ออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00-04.00 น.

 

จากคำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจสายการบินของไทย ที่ให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศต้องประกาศยกเลิกการให้บริการเป็นการชั่วคราว เนื่องจากฐานปฏิบัติการบินหลักของสายการบินไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ล้วนตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มที่ถูกประกาศเคอร์ฟิวจำกัดเวลาการเดินทาง ซ้ำเติมฐานะสายการบินให้ย่ำแย่ลงไปอีก ขณะที่มาตรการขอความช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อรักษาสภาพการจ้างงานพนักงานจำนวน 2 หมื่นคนจนถึงสิ้นปี 2564 วงเงิน 5,000 ล้านบาท จากกระทรวงการคลังของ 7 สายการบิน คือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, สายการบินไทยสมายล์, สายการบินนกแอร์, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท ภายใต้สมาคมสายการบินประเทศไทย ก็ยังไม่ได้รับการเหลียวแล แม้ว่าจะยื่นข้อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563

 

ล่าสุดสายการบินต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ช่วยเหลือตัวเองเพื่อประคองธุรกิจและต่อชีวิตพนักงานให้ไปต่อได้ ในช่วงที่รอคอยความหวังว่ารัฐบาลอาจจะประกาศผ่อนคลายมาตรการปลดล็อกดาวน์ในเร็วๆ นี้ ด้วยการยอมถอยสุดซอย ประกาศหยุดบินชั่วคราว สั่งพักงานพนักงาน 1 เดือน พร้อมกับงัดมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรช่วงที่หยุดบินออกมาใช้แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ มาดูกันว่าแต่ละสายการบินหาทางรอดอย่างไร

 

สายการบินไทยแอร์เอเชีย ประกาศปิดกิจการชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม 2564 ขอเลื่อนเเละเเบ่งจ่ายเงินเดือนพนักงานทั้งหมด  สำหรับเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม โดยในเดือนกรกฎาคมผู้บริหารระดับสูงและพนักงานระดับผู้จัดการจะถูกเลื่อนการจ่ายเงินเดือนไปเป็นเดือนกันยายน ส่วนพนักงานระดับปฏิบัติการจะถูกปรับลดเงินเดือนเหลือ 50% และเลื่อนการจ่าย 50% ที่เหลือไปในเดือนกันยายน ส่วนพนักงานที่ไม่ได้ปฏิบัติงานถูกเลื่อนการจ่ายเงิน 25% ไปในเดือนกันยายน

 

ส่วนในเดือนสิงหาคมให้พนักงานหยุดปฏิบัติงาน 100% โดยจะงดการจ่ายเงินเดือนทั้งหมด เพื่อให้พนักงานเข้าสู่เงื่อนไขได้รับสิทธิจากมาตรการเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด 9 ประเภทกิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งจะทำให้พนักงานมีสิทธิได้รับเงินเยียวยา 2 ส่วนจากประกันสังคม คือ เงินชดเชย 50% ของค่าจ้าง สูงสุด 7,500 บาท และเงินชดเชยเพิ่มเติมอีก 2,500 บาทต่อคน หวังให้เป็นเงินประทังชีวิตให้กับพนักงานในช่วง 1 เดือน

 

ด้านสายการบินนกแอร์ วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า นกแอร์จำเป็นต้องประกาศหยุดทำการบินชั่วคราวเช่นกัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้พนักงานเข้าสู่เงื่อนไขได้รับสิทธิจากมาตรการเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 เช่นเดียวกัน โดยคาดหวังว่าในเดือนกันยายนนกแอร์จะกลับมาทำการบินและจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ตามปกติ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดคลี่คลาย

 

สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ อัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ออกมาสื่อสารกับพนักงานชัดเจนว่า สายการบินจำเป็นต้องหยุดบินชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป จากเหตุสุดวิสัยตามมาตรการของรัฐที่สั่งห้ามบินพื้นที่สีแดงเข้ม   

 

โดยในเดือนสิงหาคมได้ประกาศให้พนักงานระดับปฏิบัติการหยุดปฏิบัติหน้าที่ 100 % เพื่อให้พนักงานเข้าสู่เงื่อนไขได้รับสิทธิจากมาตรการเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 เช่นเดียวกัน ส่วนพนักงานระดับบริหารนั้น สายการบินได้ประกาศปรับลดเงินเดือนในเดือนสิงหาคมลงเฉลี่ย 10-60% ลดหลั่นตามระดับ โดยพนักงานระดับสูงจะถูกปรับลดเงินเดือนมากกว่าระดับที่ต่ำกว่า 

 

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ตัดสินใจประกาศหยุดทำการบินชั่วคราวถึงวันที่ 10 สิงหาคมเช่นกัน ยกเว้นเที่ยวบินเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-สมุย ที่รองรับผู้โดยสารที่ต่อเครื่องมาจากต่างประเทศ และเส้นทางระหว่างสมุย-ภูเก็ต ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการนำร่องเปิดประเทศ (Sandbox) ของภาครัฐ  

 

แต่ยังมีการจ่ายเงินเดือนพนักงานตามปกติในช่วงที่หยุดทำการบิน และยังคงใช้มาตรการลดค่าใช้จ่ายองค์กรตามมาตรการเดิมที่ประกาศใช้มาต้นปี 2563 เช่น ขอความร่วมมือจากผู้บริหารและพนักงานในการลางานโดยไม่รับค่าจ้างจำนวน 10-30 วัน ปรับลดเงินเดือนของผู้บริหาร 50% เป็นต้น 

 

สายการบินไทยสมายล์ ได้ประกาศหยุดทำการบินชั่วคราวทุกเส้นทางเช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 3-19 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่มีมาตรการหยุดจ่ายเงินในเดือนสิงหาคมเหมือนสายการบินอื่นๆ โดยยังคงใช้มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเดิมของสายการบินที่ออกมาบังคับใช้เมื่อปีก่อน คือมีการปรับลดเงินเดือนพนักงานที่มีเงินเดือนเกินกว่า 3 หมื่นบาทในอัตรา 10-60% ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2563 และจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2564

  

ขณะที่สายการบินไทย ซึ่งอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ ปัจจุบันไม่ได้ทำการบินเส้นทางในประเทศอยู่แล้ว ได้ใช้ยาแรงบรรเทาภาระต้นทุนธุรกิจไปก่อนหน้านี้แล้ว ด้วยการประกาศให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนค่าจ้าง เป็นระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 1 ปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2565

 

มาตรการหยุดบินและการหยุดจ่ายเงินเดือนพนักงานชั่วคราวของแต่ละสายการบินในขณะนี้ อาจช่วยพยุงให้สายการบินยังไม่ต้องปิดกิจการ และยังไม่ต้องทำการปลดพนักงานในอุตสาหกรรมกว่า 2 หมื่นชีวิตได้ แต่ก็เป็นแค่ช่วงสั้นเพียง 1 เดือนเท่านั้น 

 

แต่ในระยะยาวหากรัฐบาลยังคงมาตรการล็อกดาวน์ออกไปเรื่อยๆ คงได้เห็นสายการบินต้องล้มหายตายจากไปไม่มากก็น้อย ซึ่งก่อนหน้านี้สมาคมสายการบินประเทศไทยออกมาประกาศว่า ถ้าล็อกดาวน์เกิน 3 เดือน สายการบินสัญชาติไทยไทยคงสูญพันธ์กันไปบ้างแน่นอน

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising