×

วิทยาศาสตร์แห่งความ Toxic : ทำไมคนเราถึงขี้บ่นขี้เมาท์

19.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • มนุษย์ Toxic มีหลายแบบ เลยอยากชวนมาดูมนุษย์ Toxic 2 แบบยอดนิยม นั่นคือ Toxic แบบขี้บ่น ก่นด่า สบถ สาบาน ทัศนคติไม่ค่อยจะดี กับอีกแบบคือ Toxic ขี้เมาท์ขี้นินทา
  • การสบถสาบานแรงๆ จะไปกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เพราะฉะนั้นการพูดหยาบๆ แรงๆ จึงเป็นเหมือนการ ‘เกา’ สมองส่วนที่คันยุบๆ ยิบๆ อยู่ เป็นเหมือนการจัดการทางอารมณ์ของสมอง หรือเป็นการจัดการอารมณ์ทางกายภาพ
  • งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนบอกว่า การที่สาวๆ ชอบซุบซิบนินทาจับกลุ่มเมาท์กันนั้น แท้จริงแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกายของพวกเธออยู่ไม่น้อย นั่นคือ ทำให้อารมณ์ของพวกเธอดีขึ้น

คำฮิตใหม่ที่เอาไว้บ่นว่าคนอื่นคือคำว่า ‘Toxic’

 

คนที่มีความ Toxic หรือสภาพแวดล้อมที่ Toxic  หมายถึงอยู่แล้วไม่มีความสุข มีแต่ปัญหาโน่นนั่นนี่สารพัด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วความ Toxic มักมีจากการพูดจานี่แหละครับ

 

ที่จริงแล้วมนุษย์ Toxic มีหลายแบบ แต่ถ้าให้พูดถึงมนุษย์ Toxic ทุกแบบ คงต้องเขียนกันเป็นเล่มๆ เลยอยากชวนมาดูมนุษย์ Toxic 2 แบบยอดนิยม นั่นคือ Toxic แบบขี้บ่น ก่นด่า สบถ สาบาน ทัศนคติไม่ค่อยจะดี กับอีกแบบคือ Toxic ขี้เมาท์ขี้นินทา รวมไปถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความ Toxic เหล่านี้กัน

 

Toxic ขี้บ่น สบถ สาบาน

คนแบบนี้เวลาอยู่ใกล้ๆ บางทีจะรู้สึก Toxic จริงๆ เพราะแทบไม่มีอะไรในโลกนี้ดีงามเลย มีแต่สบถ สาบาน ใช้คำหยาบด่าโน่นนั่นนี่เต็มไปหมด คำที่หลุดออกมาจากปากมักจะเป็นคำในแง่ลบเสมอ โดยเฉพาะคำหยาบและคำสบถ สาบานทั้งหลายแหล่

 

แต่รู้ไหมครับ ว่าเคยมีงานวิจัยของ ริชาร์ด สตีเฟนส์ จากภาควิชาจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยคีล ของสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ The Journal of Pain ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ บอกว่า การบ่น ก่นด่า อะไรทำนองนี้ มันช่วยลดความเจ็บปวดได้

 

เราเชื่อกันมานานแล้วนะครับ ว่าการได้ปลดปล่อยระเบิดระบายอะไรออกมาแรงๆ นั้น จะทำให้เราคลายความเครียดลงไปได้ สตีเฟนส์ก็บอกแบบเดียวกัน เขาบอกว่า การสบถ สาบาน พูดหยาบคาย มีผลในทางการแพทย์แบบ Analgesia คือเป็นเหมือนยาแก้ปวด (ดูรายละเอียดได้ที่ www.jpain.org และ www.keele.ac.uk) โดยเขาให้ผู้เข้าทดลองเอามือวางบนน้ำแข็งจนเย็นเฉียบ แล้วก่นด่าออกมากับไม่ก่นด่าออกมา จากนั้นก็ดูกิจกรรมทางสมอง

 

เขาอธิบายว่า ภาษาโดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับสมองชั้นคอร์เทกซ์​ (Cortex)​ หรือเปลือกสมองของสมองซีกซ้าย แต่การสบถ สาบานแรงๆ นั้น จะไปกระตุ้นสมองส่วนที่ลึกกว่า คือสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ (ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลายส่วน) เพราะฉะนั้น การพูดหยาบๆ แรงๆ จึงเป็นเหมือนการ ‘เกา’ สมองส่วนที่คันยุบๆ ยิบๆ อยู่ คือกำลังเจ็บปวดกับเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วพูดโพล่งหยาบๆ ออกมา ก็จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในสมองได้ มันจึงเป็นเหมือนการจัดการทางอารมณ์ของสมอง หรือเป็นการจัดการอารมณ์ทางกายภาพ

 

แต่แน่นอน นี่เป็นคนละเรื่องกับการจัดการอารมณ์ในทางสังคม นั่นคือคนอื่นเขาอาจจะไม่ได้ ‘หายคัน’ ไปกับคุณด้วย แต่เหมือนเป็นการผลักความเจ็บปวดนั้นไปใส่สมองของคนอื่นแทน ทำให้เขาอยากจะสบถสาบานกลับใส่คุณแทน

 

อย่างไรก็ตาม อย่าคิดว่าการสบถ สาบานแรงๆ พวกนี้จะให้ประโยชน์เสมอไปนะครับ เพราะสตีเฟนส์บอกว่า ยิ่งทำบ่อยเท่าไร ผลที่ได้ (อันที่จะลดความเจ็บปวด) ก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น พวกที่ Toxic ทางวาจาเป็นประจำ อาจต้องพิจารณาตัวเองกันหน่อยนะครับ ก่อนที่จะไปบอกใครๆ ว่าจำเป็นต้องทำเพื่อผลทางการแพทย์

 

สตีเฟนส์บอกด้วยว่า งานวิจัยของเขาเสนอว่า การสบถ สาบานเป็นประโยชน์ เพราะช่วยให้เราแสดงอารมณ์รุนแรงออกมา แต่ทำบ่อย และทำในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานที่ล่อแหลมอันตราย ก็ไม่ใช่เรื่องดี

 

Toxic ขี้เมาท์

ใครๆ ก็เบื่อพวกขี้เมาท์ ชอบซุบซิบ นินทา แต่รู้ไหมครับ ว่าเคยมีงานวิจัย (น่าเสียดายที่เป็นงานวิจัยที่ทำเฉพาะในสาวๆ เท่านั้น) ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (ดูที่นี่) โดย สเตฟานี บราวน์ ซึ่งตีพิมพ์ผลงานร่วมกับคณะลงในวารสาร Hormones and Behavior

 

เธอบอกว่า การที่สาวๆ ชอบซุบซิบ นินทา จับกลุ่มเมาท์กันนั้น แท้จริงแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกายของพวกเธออยู่ไม่น้อย นั่นคือทำให้อารมณ์ของพวกเธอดีขึ้น

 

ที่อารมณ์ดีขึ้นนั้น ไม่ใช่แค่ได้พ่นพล่อยลับหลังคนอื่นเท่านั้นนะครับ แต่เพราะการเมาท์ (โดยเฉพาะเรื่องแซ่บๆ) ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายที่ชื่อ โปรเจสเทอโรน (Progesterone) เพิ่มปริมาณขึ้น ซึ่งฮอร์โมนนี้จะช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียดลงได้

 

บราวน์บอกว่า สิ่งที่เธอทำคือ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลไกทางชีววิทยากับพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ เพื่อทำความเข้าใจให้ลึกขึ้นว่า ทำไมคนที่มีชีวิตทางสังคมจึงมีความสุข หรือมีสุขภาวะที่ดี และมีชีวิตยืนยาวกว่าคนที่โดดเดี่ยว โดยการซุบซิบ นินทา เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยสร้างพันธะระหว่างคนในกลุ่มให้แน่นแฟ้น ด้วยการสร้าง ‘ศัตรูร่วม’ ขึ้นมา

 

โปรเจสเทอโรนเป็นฮอร์โมนที่ทำงานคล้ายๆ กับออกซิโตซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก แต่ออกซิโตซินวัดค่าได้ยาก ต้องวัดจากไขสันหลัง ซึ่งเป็นวิธีที่แพงและเจ็บ ส่วนโปรเจสเทอโรนวัดค่าได้ง่ายกว่ามาก แค่ตรวจตัวอย่างน้ำลายก็ใช้ได้แล้ว และโปรเจสเทอโรนก็สัมพันธ์กับออกซิโตซินด้วย

 

ในการทดลอง บราวน์ใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาหญิง 160 คน โดยวัดระดับของโปรเจสเทอโรนและฮอร์โมนความเครียดที่ชื่อ คอร์ติซอล (Cortisol) ในน้ำลาย ร่วมกับข้อมูลเกี่ยวกับรอบประจำเดือน และการใช้ยาคุมกำเนิดกับยาประเภทฮอร์โมนอื่นๆ

 

พบว่า ผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มที่ขี้เมาท์กว่า จะมีระดับของโปรเจสเทอโรนสูงกว่า จึงเป็นหลักฐานให้กับสมมติฐานในทางชีววิทยาวิวัฒนาการ ที่บอกว่า เมื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนแล้ว มนุษย์เราพัฒนาการนินทามาเป็นอาวุธ เพื่อช่วยควบคุมฝูง และการนินทานี่เองที่มีส่วนทำให้สมองของเราพัฒนามากขึ้น และอาจเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดภาษาขึ้นมาด้วย

 

เพราะฉะนั้นก็เลยเข้าใจได้นะครับ ว่าการซุบซิบ นินทา เมาท์แตกนั้น มีประโยชน์อย่างนี้นี่เอง และแม้มันจะ Toxic ต่อผู้ถูกนินทา แต่ถ้าพอทำใจได้ก็ต้องถือว่าได้บุญไม่น้อย

 

ภาพประกอบ: Pichamon W.

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X