×

6 เรื่องควรรู้และข้อปฏิบัติจำเป็นเมื่อหลงทางในถ้ำ

25.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ก่อนสำรวจถ้ำ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานหรือญาติสนิทมิตรสหายไว้ก่อน แจ้งว่าจะเข้าไปสำรวจอย่างไร จำนวนกี่คน และคาดว่าจะใช้เวลาเท่าไรในการสำรวจ หรือจะกลับออกมาเมื่อไร เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคนอื่นๆ ที่อยู่ภายนอกได้ทราบว่ามีคนอยู่ข้างในสถานที่นั้น
  • หากตัวเปียกน้ำ ควรรีบหาที่สูงที่พอจะมีแสงสว่างหรือออกซิเจน และพยายามทำตัวให้แห้งเข้าไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการ Hypothermia หรือภาวะตัวเย็นเกิน
  • หากอยู่ในบริเวณที่พอจะสามารถเดินได้ แห้ง และไม่มีน้ำท่วม ควรจุดเทียนและยื่นออกไปให้ห่างตัวประมาณ 30 วินาที เพราะถ้าหนทางไหนที่มีอากาศหรือออกซิเจน เปลวเทียนอาจจะขยับไปในทิศทางนั้น

จากเหตุการณ์ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันในสังคมวงกว้าง ในเรื่องปฏิบัติการการช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนทีม ‘หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย’ รวมจำนวน 13 คน และโค้ช ซึ่งหายไประหว่างท่องเที่ยวบริเวณถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ในวนอุทยานขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ทาง THE STANDARD ได้รวบรวมและอัปเดตความเคลื่อนไหวโดยสามารถอ่านได้ที่นี่

 

แต่หากเกิดเป็นคุณที่ประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าว คุณจะทำอย่างไร

 

เรารวบรวม 6 วิธีการเอาตัวรอดและข้อควรรู้ก่อนเดินสำรวจถ้ำมาให้คุณจดไว้เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง

 

Photo: giphy.com

 

เตรียมตัวให้พร้อม รอบด้านสถานที่

การท่องเที่ยวถ้ำถือเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่ค่อนข้างอันตราย ไหนจะทั้งความมืด หรือปริมาณน้ำใต้ดินที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยเฉพาะในกรณีของ #ถ้ำหลวง นี้ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เราทราบกันจากเนื้อข่าว กล่าวคือเป็นถ้ำที่มีธารน้ำไหลและมีความลึก ดังนั้นการค้นคว้าข้อมูลเส้นทางก่อนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และด้วยการจัดการของอุทยานในประเทศไทยที่ยังไม่ดีพอในเรื่องของไฟฟ้าและความสว่าง ดังนั้นยิ่งต้องเตรียมตัวให้มาก โดยอาจต้องวางแผนเวลาสำหรับเดินทางไป-กลับ การเตรียมไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง หรือเทียนไข เตรียมอาหารและน้ำดื่มให้เพียงพอ หรือทบทวนการปฐมพยาบาลง่ายๆ เช่นการห้ามเลือด หรือการผายปอด เผื่อเกิดกรณีไม่คาดฝันจากอุบัติเหตุ

 

Photo: giphy.com

 

อย่าแยกทาง อย่าแตกแถว มาร์กทุกจุด

ในกรณีที่ไม่คุ้นเคยเส้นทาง แนะนำว่าอย่าลงไปท่องเที่ยวด้วยตัวเองเป็นอันขาด ควรมีเพื่อนหรือไกด์นำทางที่รู้เส้นทางของถ้ำได้เป็นอย่างดี แต่หากเกิดหลงทางในถ้ำจริงๆ สิ่งที่ควรทำคือใจเย็นเข้าไว้ และค่อยๆ ตั้งสติ ด้วยการเดินสำรวจเพื่อหาทางออกหรือค้นหาทางเดิมที่คุณเข้ามา ดังนั้นก่อนเข้าไปยังบริเวณที่ซับซ้อนและคุณไม่มั่นใจ คุณอาจจะทำสัญลักษณ์ด้วยก้อนหิน สติกเกอร์สะท้อนแสง ชอล์ก หรืออะไรก็ตามที่พอจะทำให้คุณจดจำทางได้ เพื่อความปลอดภัย หรือหากดูหนังบ่อยๆ การผูกเชือกกับตัวเองและค่อยๆ ทิ้งทางเชือกไว้จากปากทางออกถ้ำก็เป็นวิธีที่จะทำให้คุณไม่ต้องกังวลหากหาทางออกไม่เจอ

 

Photo: giphy.com

 

วิธีการหาทางออกที่ควรรู้

หากอยู่ในบริเวณที่พอจะสามารถเดินได้ แห้ง และไม่มีน้ำท่วม ควรลองจุดเทียนและยื่นเทียนออกไปให้ห่างตัวประมาณ 30 วินาที ไม่ใช่เรื่องไสยศาสตร์แต่มันคือวิทยาศาสตร์ล้วนๆ เพราะถ้าหนทางไหนที่มีอากาศหรือออกซิเจน เปลวเทียนของคุณก็อาจจะขยับไปในทิศทางนั้น และคุณควรลองเดินไปสำรวจเส้นทางนั้นก่อน อย่างน้อยก็เพื่อการหาออกซิเจนไว้สำหรับหายใจ

 

ถ้ำภูผาเพชร จังหวัดสตูล

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

ทำตัวให้อุ่นและแห้งเข้าไว้

เรื่องนี้คุณอาจเตรียมตัวเองตั้งแต่ก่อนเข้าถ้ำได้เลย ด้วยการเลือกเสื้อผ้าที่ไม่ซับน้ำอย่างเช่นเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าโพลีเอสเตอร์ หรือผ้าร่ม เพื่อให้อาภรณ์ของคุณไม่ซับน้ำ หากเกิดกรณีเช่น น้ำป่าไหลหลาก หรือธารน้ำในถ้ำเกิดท่วมสูงขึ้นมา รวมไปถึงเตรียมผ้าห่มอุ่นๆ หรือเสื้อผ้าหนาๆ ไว้ยามฉุกเฉิน เพราะอุณหภูมิภายในถ้ำนั้นคาดเดาไม่ได้ หากเปียกน้ำ จงรีบหาที่สูงที่พอจะมีแสงสว่างหรือออกซิเจน และพยายามทำตัวให้แห้งเข้าไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการ Hypothermia หรือภาวะตัวเย็นเกิน ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียความร้อนอย่างรวดเร็วจนมีอุณหภูมิต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้

 

ถ้ำเลสเตโกดอน จังหวัดสตูล

Photo: อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

คลานต่ำถ้าไร้ไฟ ทำตัวให้ช้าไว้ที่สุด

ในกรณีที่ไฟฉายถ่านหมดหรือไม่มีแสงสว่างใดๆ สิ่งที่ควรทำคือการคลานให้ต่ำที่สุดระหว่างที่กำลังคลำหาทางออก และควรไปอย่างเนิบช้าเพื่อใช้ออกซิเจนให้น้อยที่สุด รวมไปถึงเป็นการระแวดระวังแง่งหิน หรือบริเวณเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ ถ้าขณะคุณคลานต่ำแล้วรู้สึกหายใจไม่ออกจากการสูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป ควรจะค่อยๆ ลุกขึ้นเพื่อหาบริเวณที่พอจะมีอากาศเพื่อความปลอดภัยของคุณ

 

ส่งสัญญาณความช่วยเหลือ

ก่อนเข้าไปสำรวจถ้ำ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานหรือญาติสนิทมิตรสหายเอาไว้ก่อน ซึ่งควรแจ้งว่าจะเข้าไปสำรวจอย่างไร จำนวนกี่คน และคาดว่าจะใช้เวลาเท่าไรในการสำรวจ หรือจะกลับออกมาเมื่อไร เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคนอื่นๆ ที่อยู่ภายนอกได้ทราบว่ามีคนอยู่ข้างในสถานที่นั้น แต่ถ้าสุดวิสัยจริงๆ และติดอยู่ภายใน หากพอจะมีสัญญาณโทรศัพท์คุณก็รีบส่งข้อความขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ญาติๆ ของคุณ แต่ทางที่ดีที่สุดคุณควรแจ้งบุคคลที่อยู่ข้างนอกไว้ก่อนเป็นการดีที่สุด

 

อย่างไรเราเองก็ขอให้กลุ่มคนที่ติดอยู่ในถ้ำและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ #ถ้ำหลวง ต่างปลอดภัยกันอย่างถ้วนหน้า และหากคุณผู้อ่านมีโอกาสได้เข้าไปท่องเที่ยวถ้ำ ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด รวมถึงศึกษาวิธีการจัดการอย่างรอบด้าน และท่องเที่ยวด้วยความไม่ประมาทเสมอ

 

ภาพประกอบ: Chatchai Choeichit

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising