×

นักวิทยาศาสตร์พบหนอนดึกดำบรรพ์อายุ 46,000 ปี ยังคงมีชีวิต

โดย Mr.Vop
30.07.2023
  • LOADING...

ทีมนักวิจัยจากสถาบันสัตววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคโลญในเยอรมนี นำโดย อนาสตาเซีย ชาทิโลวิช พบหนอนดึกดำบรรพ์จำศีลอยู่ลึกลงไปถึง 40 เมตรในชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) ใกล้ฝั่งแม่น้ำคลอยมา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเขตไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย และเมื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการคำนวณอายุสิ่งแวดล้อมโดยเทคนิคเรดิโอคาร์บอน พบว่า มันมีอายุเก่าแก่ถึง 46,000 ปี และที่สำคัญคือหนอนนี้ยังคงมีชีวิต!

 

การมีชีวิตรอดของสิ่งมีชีวิตโบราณนี้ทำได้โดยการที่มันพาตัวเองเข้าสู่กระบวนการจำศีลที่เรียกว่า คริปโทไบโอซิส นั่นคือการลดกิจกรรมต่างๆ ภายในร่างกายและการตอบสนองอื่นๆ ลงจนไม่สามารถวัดค่าได้ ถือเป็นกระบวนการที่ทำให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นสามารถทนทานต่ออุณหภูมิ ความดัน ความแล้ง ความเป็นกรดด่าง และอื่นๆ ที่เลวร้าย จนทำให้มันสามารถผ่านวันเวลาอันยาวนานท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายสุดขั้วมาได้โดยไม่ตาย การศึกษาที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยมาโนอาในฮาวาย พบว่า กระบวนการคริปโทไบโอซิสเป็นรูปแบบการรักษาชีวิตที่พบได้ในสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น ไรทะเลอาร์ทีเมีย หรือทาร์ดิเกรด ที่รู้จักกันดีว่า ‘หมีน้ำ’ หรือยีสต์และสปอร์ของพืชบางสายพันธุ์ 

 

“ที่เราระบุว่ามันมีชีวิต เพราะหลังจากเราฟื้นฟูสภาพของมัน มันก็เริ่มมีการเคลื่อนไหว เริ่มกินอาหาร นั่นคือแบคทีเรียที่เราใส่ไว้ในจานเพาะเชื้อ จากนั้นมันก็เริ่มแพร่พันธุ์ให้เราเห็น” ฟิลิปป์ ชิฟเฟอร์ นักชีววิทยาวิวัฒนาการแห่งมหาวิทยาลัยโคโลญ หนึ่งในทีมงานกล่าว

 

มันมีลักษณะบางอย่างคล้ายกับ Caenorhabditis elegans ซึ่งก็เป็นหนอนนีมาโทดาชนิดอาศัยอยู่ใต้ดินตามเขตอบอุ่นในยุคปัจจุบันที่นักชีววิทยาที่รู้จักกันดี และมักนำมาใช้ในห้องทดลอง เพื่องานวิจัยทางด้านอณูชีววิทยาและชีววิทยาการเจริญ โดยทั้งคู่จะผลิตน้ำตาลทรีฮาโลสออกมา เพื่อรักษาน้ำในร่างกายและป้องกันเนื้อเยื่อจากการแข็งตัวในอุณหภูมิต่ำ

 

 

อันที่จริงแล้วหนอนดึกดำบรรพ์นี้ถูกพบตั้งแต่ปี 2018 พร้อมกับหนอนสปีชีส์อื่นที่เรารู้จักแล้ว เช่น Panagrolaimus detritophagus หรือ Plectus parvus โดยทั้งหมดที่พบเป็นหนอนเพศเมีย แต่การคำนวณอายุสิ่งแวดล้อมที่จุดค้นพบในครั้งนั้นระบุไว้เพียง 42,000 ปี จวบจนทีมงานของมหาวิทยาลัยโคโลญได้เข้ามาตรวจสอบอีกครั้งในปี 2023 และพบว่า การคำนวณอายุน่าจะต้องบวกไปอีก 4,000 ปี รวมทั้งได้พบหนอนตามบทความนี้ปรากฏในกลุ่มด้วย ทีมงานพบว่า มันเป็นสปีชีส์ใหม่ในสกุล Panagrolaimus ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน มีลักษณะเป็นหนอนนีมาโทดาชนิดดำรงชีพโดยอิสระ (Free-Living-Nematodes) ทีมงานตั้งชื่อหนอนนี้ว่า Panagrolaimus kolymaensis ตามชื่อแม่น้ำใกล้แหล่งที่ค้นพบ

 

อีกด้านหนึ่งของการค้นพบครั้งนี้ก็มีความเห็นแย้งเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ความเห็นของ ไบรอน อดัมส์ นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบริกแฮมยังในยูทาห์ ที่ออกมาบอกว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ใช้เทคนิคคำนวณอายุจากวัสดุแวดล้อม จึงอาจไม่ใช่อายุของตัวหนอนโดยตรง อีกทั้งทีมงานก็ไม่ได้เน้นไปที่การยืนยันว่าหนอนนี้ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งปนเปื้อนบนพื้นผิวที่เกิดขึ้นภายหลัง” 

 

ภาพ: Alexei V. Tchesunov and Anastasia Shatilovich / Institute of Physicochemical and Biological Problems in Soil Science RAS

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising