×

จับตา 13 วันอันตราย! กับ 4 เหตุการณ์สำคัญที่อาจกำหนดทิศทางตลาดหุ้นตลอดทั้งปีนี้

06.03.2023
  • LOADING...
ตลาดหุ้น

ในอีก 13 วันทำการของตลาดหุ้นที่จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม เป็นช่วงที่นักลงทุนทั่วโลกต้องเผชิญกับ 4 เหตุการณ์สำคัญ ซึ่งอาจกลายเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางของตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

 

ในวันอังคารนี้ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) มีกำหนดที่จะต้องแถลงนโยบายการเงินตามกำหนดทุกๆ 2 ปีที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ บน Capitol Hill 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


แน่นอนว่านักลงทุนกำลังจับตาดูว่า Fed จะส่งสัญญาณอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ดัชนี S&P 500 เพิ่งจะผ่านสัปดาห์ที่ดีที่สุดของเดือน โดยเฉพาะในช่วงท้ายสัปดาห์ก่อนที่ได้แรงหนุนจากการที่ Raphael Bostic ประธาน Fed สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า Fed อาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในฤดูร้อนนี้ 

 

ถัดมาในวันที่ 10 มีนาคม จะมีการประกาศตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ตามมาด้วยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันที่ 14 มีนาคม

 

หลังจากนั้น ในวันที่ 22 มีนาคม Fed จะแถลงผลการประชุมนโยบายการเงิน การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งถ้อยแถลงของ Powell ต่อสื่อ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่า Fed จะดำเนินการอย่างไรต่อไปในเรื่องอัตราดอกเบี้ย

 

จากข้อมูลสัญญา Forward ของ Citigroup ที่สะท้อนเกี่ยวกับความกังวลต่อความผันผวนสำหรับดัชนี CPI กลับมาอยู่ในระดับ 30 ขณะที่สัญญา Forward ของผลการประชุม Fed ขยับขึ้นมาใกล้กับระดับ 40 สะท้อนว่าเทรดเดอร์ต่างคาดการณ์ว่าจะเห็นความผันผวนของตลาดอย่างหนัก 

 

ทั้งนี้ สิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังจับตามองใน 4 เหตุการณ์สำคัญที่จะถึงนี้ ได้แก่ 

 

Powell แถลงต่อสภาครองเกรส

การแถลงของ Powell ต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐฯ ด้านการธนาคาร (US Senate Banking Committee) ในวันอังคาร และคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินของสหรัฐฯ (House Financial Services Committee) ในวันพุธ มีโอกาสจะเป็นคำบอกใบ้ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของเงินเฟ้อ แรงกดดันด้านค่าแรง และการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนประเมินได้ว่า Fed จะดำเนินการอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับการควบคุมเงินเฟ้อ

 

รายงานเกี่ยวกับการจ้างงาน

ตลาดแรงงานแข็งแกร่งอย่างมากในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเงินเฟ้อที่สำคัญ เพราะการเพิ่มขึ้นของค่าแรงจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น และเป็นความเสี่ยงต่อหุ้น และจะทำให้ Fed ไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป 

 

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 3.4% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนมกราคม ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะลดลงสู่ระดับ 215,000 ตำแหน่ง หลังจากที่เดือนก่อนตัวเลขสูงถึง 517,000 ตำแหน่ง แบบที่ตลาดไม่คาดคิดมาก่อน 

 

ตัวเลขเงินเฟ้อ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดัชนี CPI ถูกประเมินว่าน่าจะยังอยู่ในระดับสูงและอาจทำให้ Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป โดยตัวเลขเงินเฟ้อที่ตลาดประเมินอยู่ที่ 6% ลดลงเล็กน้อยจาก 6.4% เมื่อเดือนมกราคม ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งหักในส่วนของอาหารและพลังงาน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.4% จากเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 และเพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนมกราคม ขณะที่เป้าหมายเงินเฟ้อของ Fed ซึ่งไม่ได้มองแค่เรื่องของ CPI อยู่ที่ 2% 

 

การตัดสินใจของ Fed 

ปัจจุบันตลาดมองว่าอัตราดอกเบี้ยจะพีคที่ 5.4% ในเดือนกันยายน โดยจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 1% จากปัจจุบัน และแน่นอนว่าถ้อยแถลงของ Powell จะกระทบต่อ Sentiment ของตลาด 

 

Michael Antonelli นักกลยุทธ์ของ Baird กล่าวว่า “หากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในท้ายที่สุดขยับจาก 5% เป็น 5.5% จะเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้น แต่จะไม่ได้ทำให้ตลาดดิ่งหนักเหมือนกับปีก่อน ปีก่อนเราไม่รู้ว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร แต่มาปีนี้ผลลัพธ์ดูเหมือนจะเริ่มมองเห็นแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนชอบ” 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising