เทรนด์สุขภาพที่กำลังจะมาในปี 2018
คำกล่าวที่ว่า ‘การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ’ นั้นช่างแสนจริงแท้ เราทุกคนต่างมุ่งหวังสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่การจะนำมาให้ได้ซึ่งสิ่งนี้ เราจึงต้องพยายามดูแล เปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตบางอย่างเพื่อให้สุขภาพดี ซึ่งส่วนสำคัญ 2 ประการ ที่ขาดไม่ได้นั่นคือ การออกกำลังกาย และวิถีการกินอยู่
ปี 2018 ที่กำลังจะมาถึงนี้ หากคุณตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนใหม่ ผู้มีสุขภาพดีขึ้น นี่คือเทรนด์สุขภาพมาแรงที่น่าจับตามอง ซึ่งคุณอาจจะสามารถเลือกนำไปใช้ให้เห็นผลกับตัวเองได้อย่างไม่ยากเย็นนัก หากคุณตั้งใจจริง และ ต่อไปนี้คือ 6 เทรนด์ฟิตที่น่าจับตามอง
- โยคะแปลก ปี 2017 ที่กำลังจะผ่านไป เป็นปีแห่งโยคะแปลกก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น โยคะแพะ โยคะเบียร์ โยคะแบบเล่นกันเป็นคู่ จนถึง HIIT โยคะ และโยคะลอยน้ำบนแผ่นแพดเดิลบอร์ด ว่ากันว่าปีหน้าเทรนด์โยคะแปลก อาจจะยังคงมาแรงต่อไป
- การออกกำลังกายที่ผสมผสานการต่อยมวย ที่ผ่านมาคุณอาจเคยได้ยินเรื่องการออกกำลังกายที่เรียกว่า ‘Piloxing’ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ควบรวม Pilates และ Boxing ไว้ด้วยกันมาบ้างแล้ว คาดว่าในปีหน้าคลาสออกกำลังกาย ที่ผสมผสานการต่อยมวยเข้าไปน่าจะมาแรง ที่น่าจับตามองคือ ‘Boxerina’ ที่ผสมผสานเทคนิคการเต้นบัลเลต์และบาร์เอ็กเซอร์ไซส์เข้าด้วยกัน รวมทั้งการออกกำลังกายแบบ Virtual Boxing ที่ใช้ VR เข้ามาผสมผสาน ก็น่าจะมาแรงเช่นกัน
- เดินทรงตัวบนเชือก (Slacklining) หลายคนรู้จักกับกีฬาเอ็กซ์ตรีม ที่น่าหวาดเสียวชนิดนี้ในฐานะของการเดินทรงตัวไต่เชือก การเดินไต่เชือกแบบนี้มีประโยชน์หลายสถาน ทั้งช่วยในเรื่องการฝึกการทรงตัว แล้วยังช่วยบริหารกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวด้วย แค่มีเชือกหรือลวดสักเส้น แล้วหาที่ยึดปลายทั้ง สองข้าง ไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่หวาดเสียวสูงๆ ให้ตกลงมาแล้วบาดเจ็บก็ได้
- ออกกำลังกายในน้ำ (Water Workout) เนื่องจากน้ำนั้นมีข้อดีในการ ผ่อนคลาย ทั้งยังช่วยในการพยุงตัว จึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้มีอาการบาดเจ็บ หรือเซนซิทีฟตรงข้อต่ออย่างผู้สูงอายุ แต่ก็ใช่ว่าการออกกำลังในน้ำจะมีไว้เพื่อ ผู้สูงวัยเพียงอย่างเดียว ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็นคลาสออกกำลังกายในน้ำอย่าง Aquafit, Water Cycling, และ Aqua Salsa คาดว่าการออกกำลังกายด้วยน้ำ จะยังได้รับความนิยมต่อไปในปีหน้าแน่นอน
- มาราธอน ไตรกีฬา ที่ท้าทายสมรรถนะทางกายและพลังใจยังคงจะ ได้รับความนิยมต่อไป เราจะสังเกตเห็นได้ว่าช่วงปีหลังๆ เมืองไทยเรามีการจัดแข่งขันวิ่งมาราธอนและไตรกีฬาถี่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แถมยังมีการแข่งชาเลนจ์ใหม่ๆ อย่างการแข่ง Spatan Race ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ทั้งผู้คนที่ลงแข่งนิยมโพสต์รูปอวดโซเชียลเน็ตเวิร์ก แถมฟิตเนสบางแห่งยังเปิดคลาสโปรแกรมเตรียมตัวให้พร้อมกับการแข่งสปาตัน ทำให้เกิดกระแสนิยมกีฬาในกลุ่มนี้กันมากขึ้น และคาดว่าจะยิ่งได้รับความนิยมขึ้นอีกในปีหน้า
- ฟิตเนสโปรแกรมสำหรับผู้สูงอายุ อย่างที่เราทราบกันว่า หลายประเทศในโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นธุรกิจหลายอย่างจึงพุ่งเป้าไปที่ผู้สูงวัย รวมถึงธุรกิจเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกายด้วย ต่อไปเราอาจจะได้เห็นคลาสออกกำลังกายใหม่ๆ ที่คิดค้นมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะกันบ้าง และนี่ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะชวนผู้ใหญ่ที่เราเคารพรักไปออกกำลังกายให้สุขภาพดีไปด้วยกัน
เทรนด์อาหารสุขภาพที่จะมาแรงในปี 2018
วิถีการกินอยู่เป็นเรื่องใกล้ตัวและสำคัญต่อสุขภาพที่สุดอีกเรื่อง ประโยคที่ว่า “You are what you eat” ช่างเป็นจริงที่สุด แต่การรับประทานอาหารนั้นก็มีเทรนด์ซึ่งมีรายละเอียดให้เราได้ติดตาม เพื่อที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเราเอง สำหรับเทรนด์อาหารที่กำลังจะมาในปีหน้า ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) ได้เผยถึงผลการวิจัย และเทรนด์ในอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังจะมาถึงเอาไว้ดังนี้
ผลสำรวจพบว่า ปัจจุบันนี้มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางขึ้นไป ยอมใช้จ่ายเงินให้ผลิตภัณฑ์ ที่มีคุณภาพดี และจะพิจารณาซื้อสินค้าจากคุณภาพมากกว่าราคา โดยผู้บริโภคจำนวนมากถึง 89% ต้องการซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ, 84% ชื่นชอบอาหารที่หาซื้อได้ในท้องถิ่น, 84% ต้องการอาหารที่ไม่มีสารเคมี, 82% ชื่นชอบฉลาก Clean Label โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ระดับกลางนั้นมักจะพิจารณาซื้อสินค้าจากคุณภาพมากกว่าราคา และมักตัดสินใจซื้ออาหารที่มีกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่จะออกมาในอนาคต มุ่งไปที่การนำส่วนผสมจากพืชพรรณธรรมชาติ เช่น โปรตีนจากพืช สีผสมอาหารจากพืชผักผลไม้ ที่ให้ทั้งสีสันควบคู่คุณค่าอาหารที่จะช่วยดูแลสุขภาพไปพร้อมกัน อย่างขมิ้นชัน มะพร้าว ผักผลไม้ สีม่วง นอกจากนี้ สาหร่าย เห็ด และสมุนไพรต่างๆ ก็เป็นเทรนด์ของส่วนผสมที่น่าจับตามอง
วัตถุดิบท้องถิ่น แหล่งอาหารพื้นบ้านกำลังจะมาแรง เพราะนิยามของคำว่า Localisation นั้นหมายถึงความสดใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วย คุณประโยชน์จากธรรมชาติที่ดี ต่อสุขภาพ ส่งตรงจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค ใช้กำลังการผลิตในครัวเรือน ผลิตในปริมาณไม่มาก อยู่ไม่ไกลจาก พื้นที่นัก
ความโปร่งใส จริงใจต่อผู้บริโภค (Transparency) จะกลายเป็นสิ่งสำคัญในอนาคต ที่ผู้ผลิตจำเป็นต้องสื่อสารถึง เพราะผู้บริโภคสมัยใหม่อย่างเรามักจะมองหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ในทุกแง่มุม เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้ออาหาร ไม่ว่าจะเป็น ส่วนผสม สารประกอบ สำคัญ แหล่งผลิต กระบวนการเพาะปลูก ราคาที่ชัดเจน กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน การรับประกันสุขภาพ และสืบย้อนถึงที่มาได้ ไปจนถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดคือ กระบวนการที่ได้มาตรฐานและความสะอาด จะกลายเป็นปัจจัยที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ
อาหารยา เส้นแบ่งที่จางลงของ ยา อาหาร และอาหารเสริม เพราะยุคปัจจุบันมีนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ให้ คุณค่าทางโภชนาการ และยังใส่ส่วนผสมที่บำรุง ป้องกัน ตลอดจนถึงขั้นมีสรรพคุณรักษาโรคบางชนิด ในอนาคตโลกของเราก็จะยิ่งมี ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ ที่เป็น Nutraceutical อันเกิดจากการผสมระหว่างคำว่า Nutrition (โภชนาการ ซึ่งเน้นถึงอาหาร) กับคำว่า Pharmaceutical (ยา) เข้าด้วยกัน ผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องพิจารณาเลือก กันในรายละเอียดให้ดี
สมดุลแห่งความหวานกับสุขภาพ อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพให้ความใส่ใจกับสารให้ความหวาน ทางเลือกที่มาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น หญ้าหวาน เด็กซ์โตรส (Dextrose) คือ น้ำตาลกลูโคส (Glucose) ที่มีรูปแบบทางเคมี เป็น D-Glucose ซึ่งเป็นน้ำตาลที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ เช่น ในผลไม้ น้ำผึ้ง ฯลฯ โดยมีจุดประสงค์ช่วยลดความแปรปรวนของระดับน้ำตาลภายในร่างกาย และระดับพลังงานให้สมดุล ยิ่งขึ้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรา พบว่าผู้ใส่ใจสุขภาพจำนวน ไม่น้อยหันมาบริโภคธัญพืช ที่เปี่ยมไปด้วยคุณประโยชน์อย่างเมล็ดเจียและควินัวกันมากขึ้น จึงกลายเป็นใบเบิกทางให้แก่เมล็ดพันธุ์อื่นๆ นำมาซึ่งรสชาติ สัมผัสของธรรมชาติที่หลากหลาย ให้ประโยชน์ต่อร่างกายและมีโปรตีนสูง จนทำให้มี การมองหาธัญพืชที่มีประโยชน์ชนิดอื่นๆ เข้าสู่ตลาด นำมาต่อยอดในรูปแบบต่างๆ เช่น สกัดเป็นน้ำมัน เป็นผง ตลอดจนแปรรูปเพื่อแทนที่อาหารแบบเดิม เช่น เส้นสปาเกตตีทำจากถั่ว แป้งเด็กทำจากธัญพืช เส้นพาสต้าที่ทำจากควินัว หรือข้าวกล้องแจสเบอร์รี
สุขภาพที่ลงตัว ในยุคปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมาเลือกสรรอาหารและเครื่องดื่มที่ให้คุณค่าทาง โภชนาการและให้พลังงานอย่าง เต็มที่แทนอาหารไขมันต่ำ หรืองด อาหารแบบเดิม แต่ยังคงใส่ใจอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่าง ยืดหยุ่น เช่น อาหารในกลุ่ม Low FODMAP (อาหารที่ปลอดภัยสำหรับคนที่มีอาการลำไส้แปรปรวน มักจะมีน้ำตาลบางชนิดน้อย) รวมถึงผู้บริโภคยังต้องการอาหารที่ออกแบบมาเพื่อช่วยดูแลสุขภาพของแต่ละคน อย่างอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีปัญหากระดูกข้อต่อ เป็นต้น จนเราได้เห็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอาหารสำหรับผู้ป่วยโดยเฉพาะ