×

20 ปี Google Search เสิร์ชเอนจินที่เปลี่ยนโลกทั้งใบไปตลอดกาล

03.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 MINS READ
  • 27 กันยายนที่ผ่านมาคือวันครบรอบ 20 ปีการเปิดตัวเสิร์ชเอนจิน Google Search อย่างเป็นทางการ แม้ปัจจุบัน Google จะมีบริการหลากหลาย แต่เสิร์ชเอนจินก็ยังเป็นบริการอันดับ 1 ของบริษัทอยู่ดี โดยมียอดการใช้งานต่อวันสูงถึงระดับล้านล้านครั้ง
  • ความตั้งใจของสองคู่หู แลร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน ผู้ก่อตั้งเสิร์ชเอนจิน Google Search คือการจัดระเบียบคลังข้อมูลเว็บไซต์ขนาดมหาศาลให้เข้าถึงง่ายและใช้งานได้สะดวกที่สุด ‘ความง่าย’ จึงเป็นคอนเซปต์ที่ทำให้ Google พัฒนาฟีเจอร์และอินเทอร์เฟซต่างๆ ออกมาโดนใจผู้บริโภคทุกช่วงวัยได้เสมอ
  • Google Doodles คือเครื่องมือทำการตลาดที่ยอดเยี่ยมของบริษัท (เปลี่ยนกราฟิกโลโก้บนหน้าโฮมเพจตามวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญต่างๆ) ช่วยให้ผู้ใช้ในประเทศรู้สึกผูกพัน และไม่มอง Google เป็นบริษัทข้ามชาติ

27 กันยายน 1998 คือวันที่สองคู่หูอย่าง แลร์รี เพจ (Larry Page) และเซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin) นักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ร่วมกันก่อตั้งและเปิดตัวเสิร์ชเอนจิน Google Search ในวันแรกอย่างเป็นทางการ

 

‘From the garage to the Googleplex’ ไม่น่าเชื่อว่าโครงการเล็กๆ ที่ทำร่วมกันในโรงเก็บรถที่บ้านเพื่อจัดระเบียบคลังข้อมูลบนเว็บไซต์ให้เข้าถึงได้ง่าย ในเวลาต่อมาจะกลายมาเป็นเสิร์ชเอนจินยอดนิยมอันดับ 1 ของโลก การันตีด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 92.3% (สิงหาคม 2017 ถึงสิงหาคม 2018 ข้อมูลจาก Statcounter) แถมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เพิ่งบรรลุนิติภาวะ ฉลองวันเกิดครบ 20 ปีบริบูรณ์ไปหมาดๆ

 

มาวันนี้ แม้ Google ภายใต้การบริหารงานของบริษัท Alphabet จะมีนวัตกรรมเปลี่ยนโลกทยอยออกมาให้ทดลองใช้อยู่ตลอดเวลา ทั้ง YouTube, Google Maps, ระบบปฏิบัติการ Android, ฮาร์ดแวร์ Google Home, สมาร์ทโฟน Pixel หรือปัญญาประดิษฐ์ Deepmind ที่อยู่ในระหว่างการทดลองและพัฒนา แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังจดจำภาพลักษณ์ของ ‘อากู๋’ หรือ Google ในฐานะเสิร์ชเอนจินได้ดีเช่นเคย

 

THE STANDARD ชวนทุกคนมาร่วมมองการเปลี่ยนผ่านและการเติบโตตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของ Google ผ่านคำบอกเล่าจาก ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค Google ประเทศไทย เพื่อสรุปเคล็ดลับการครองใจผู้ใช้ด้วยฟีเจอร์ใหม่ๆ และทิศทางที่บริษัทจะดำเนินไปในอนาคตอันใกล้นี้

 

 

‘ง่ายที่สุด’ คำที่นิยามพัฒนาการ 2 ทศวรรษ Google Search ได้ครบถ้วน

จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจที่ทำให้ แลร์รี เพจ และเซอร์เกย์ บริน ตัดสินใจก่อตั้ง Google ขึ้นมาก็เพื่อจัดคลังข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ขนาดมหาศาลบนโลกใบนี้ให้เป็นระบบระเบียบ สามารถเข้าถึงได้ง่าย และสะดวกสบายที่สุดบนแพลตฟอร์มเพียงหนึ่งเดียว

 

ถ้าย้อนกลับไปในยุคบุกเบิกของอินเทอร์เน็ต ในวันนั้นผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจินไม่ได้มีเพียงหนึ่งเจ้า แต่เพราะ Google เข้าใจผู้ใช้ทะลุปรุโปร่งทั้งในแง่ของการพัฒนาประสิทธิภาพการค้นหาข้อมูล อินเทอร์เฟซง่ายๆ ไม่ซับซ้อน รวมถึงทำให้บริการในระบบนิเวศของตัวเองเป็นต่อคู่แข่งในหลายๆ ด้าน

 

มาวันนี้พวกเขาจึงกลายเป็นเครื่องมือค้นหายอดนิยมเบอร์ 1 ของโลกไปโดยปริยาย พร้อมให้บริการทั่วโลกในกว่า 190 ภาษา ส่วนที่ประเทศไทยก็ครองสัดส่วนของตลาดเสิร์ชเอนจินแบบกินเรียบที่ 98.98%

 

“วิสัยทัศน์ของ Google Search ตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัวคือจัดระเบียบข้อมูลที่มีอยู่มากมายบนโลกใบนี้ให้เข้าถึงได้ง่ายและมีประโยชน์” ศารณีย์เกริ่นนำก่อนจะเล่าต่อว่า “ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ภารกิจเราไม่เคยเปลี่ยน ในแง่ของการให้บริการเราก็พัฒนาอยู่ตลอดเวลา จากเดิมที่เคยรองรับแค่ภาษาอังกฤษ ปัจจุบันก็สามารถใช้งานได้มากกว่า 190 ภาษา เพื่อให้ผู้ใช้ใช้งานได้ง่ายที่สุด ไม่มีกำแพงด้านภาษามาขวางกั้น”

 

ศารณีย์บอกกับเราว่าในช่วงเวลาตลอด 20 ปีของการมีตัวตนในฐานะเสิร์ชเอนจิน Google ได้พัฒนาให้บริการของพวกเขาใช้งานได้ ‘ง่าย’ มากที่สุด ตัวอย่างเช่น การให้บริการหน้าเว็บไซต์เวอร์ชันภาษาไทยมาตั้งแต่ปี 2004 หรือ 6 ปีให้หลังจากวันที่เปิดตัวบริการเป็นครั้งแรก โดยในปัจจุบันบริษัทได้นำฟีเจอร์ต่างๆ ทั้งการค้นหาด้วยภาพ การป้อนคำสั่งเสียง รวมถึงจับแมชชีนเลิร์นนิงเข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อให้เครื่องมือค้นหาสมบูรณ์แบบที่สุด

 

 

“เรานำแมชชีนเลิร์นนิงเข้ามาประยุกต์กับเสิร์ชเอนจินในการใช้งานฟีเจอร์ ‘Auto Complete’ ถ้าจะอธิบายก็คือเวลาที่ต้องการพิมพ์ค้นหาข้อมูล พิมพ์แค่ 2-3 คำ ระบบก็จะสามารถประมวลผลเพื่อแนะนำ (คาดการณ์) คำที่ผู้ใช้ต้องการจะค้นหาได้ทันที ช่วยลดระยะเวลาในการพิมพ์ได้กว่า 25% ถ้าคำนวณแล้วทั่วโลกก็จะพบว่ามันสามารถย่นระยะเวลาในการพิมพ์ค้นหาได้ถึง 200 ปีเลยทีเดียว

 

“เรายังเพิ่มฟีเจอร์ ‘Knowledge Graph’ ช่วยเสริมการสืบค้นข้อมูล ถ้าเรื่องไหนหรือหัวข้อใดที่ถูกค้นหาบน Google บ่อย เราก็จะนำกราฟความรู้มาแสดงผลให้เห็นโดยไม่ต้องคลิกเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์โดยตรง ที่เราปล่อยฟีเจอร์ใหม่ๆ พวกนี้ออกมาก็เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป เนื่องจากคนในยุคสมัยนี้นิยมใช้ Google Search บนสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น”

 

สถิติที่น่าสนใจของ Google พบว่าปัจจุบัน Google Search คือบริการอันดับ 1 ของบริษัท มีจำนวนการใช้งานมากกว่าหลักล้านล้านครั้งต่อวัน สูงที่สุดในบรรดา 7 ผลิตภัณฑ์เรือธงของบริษัท ที่น่าสนใจกว่านั้นคือพฤติกรรมผู้ใช้ในวันนี้เกิน 50% ล้วนแล้วแต่เลือกใช้งานเสิร์ชเอนจินของพวกเขาบนสมาร์ทโฟนแซงหน้าแพลตฟอร์มเดสก์ท็อปเป็นที่เรียบร้อย

 

 

จากคลังข้อมูล ห้องสมุดค้นคว้าความรู้ออนไลน์ สู่เครื่องมืออำนวยความสะดวกของไลฟ์สไตล์

เราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้จัก Google ครั้งแรกจากการใช้งานเพื่อค้นคว้าหาข้อมูลประกอบการเรียนรู้ ศึกษาด้านต่างๆ เพื่อการทำงานในแต่ละแขนง เพราะการย่อโลกทั้งใบให้อยู่ในหน้าเว็บไซต์เพียงเว็บไซต์เดียวคือสิ่งที่ Google สามารถทำออกมาได้ดี

 

แต่ถ้ามองภาพรวมในวันนี้ ต้องยอมรับว่าการมีบริการอื่นๆ บนระบบนิเวศ เช่น YouTube, Google Maps, Google Drive หรือ Google Photo ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์การใช้ประโยชน์จาก Google เพื่อศึกษาหาความรู้ในอดีตมาเป็นการใช้งานเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ในแต่ละวันได้อย่างครบครัน

 

“จริงๆ แล้วการใช้ประโยชน์ของ Google Search เริ่มต้นจากฝั่งการศึกษาก่อน คนเห็นเราเป็นเครื่องมือแสวงหาความรู้ หรือมีคำถามที่ต้องการคำตอบ Google ก็จะช่วยให้เกิดการสืบหาความรู้แบบไร้พรมแดน แต่เพราะพฤติกรรมผู้ใช้ทุกวันนี้เปลี่ยนไป Google Search จึงถูกนำมาใช้กับไลฟ์สไตล์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ค้นหาร้านอาหารใกล้ตัว เช็กรอบหนัง หรือเช็กผลบอล


“ในภาคธุรกิจ Google Trends เองก็เป็นเครื่องมือฟรีท่ีผู้ประกอบการไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่สามารถประยุกต์ใช้กับการตลาดได้ เช่น บริษัทขายผลิตภัณฑ์ทำสีผมก็สามารถเข้ามาเสิร์ชเทรนด์สีผมที่กำลังเป็นที่สนใจของคนไทยในแต่ละช่วงเวลาเพื่อนำไปประยุกต์พัฒนาสินค้าของตัวเอง”

 

 

หัวหน้าฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค Google ประเทศไทย บอกเราว่า Google ให้ความสำคัญกับผู้ใช้มากที่สุด ดังน้ันสิ่งที่บริษัทของเธอจะไม่มองข้ามเด็ดขาดคือการทำความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้แต่ละคนแล้วปรับตัวตามให้ทัน ตัวอย่างเช่น โจทย์การทำงานในสมัยก่อนอาจจะเน้นตอบสนองผู้บริโภคด้านการศึกษาหาความรู้เป็นหลัก แต่วันนี้ภารกิจของ Google Search คือจะทำอย่างไรให้บริการเข้ามาอยู่ในไลฟ์สไตล์และชีวิตประจำวันของผู้ใช้แต่ละคนให้ได้

 

“คนไทยไม่ชอบพิมพ์อะไรยาวๆ ค่ะ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องพัฒนาให้ได้คือแม้ผู้ใช้จะไม่ได้พิมพ์เรื่องที่ต้องการค้นหามาทั้งประโยคเต็มๆ ก็ต้องเข้าใจล่วงหน้าให้ได้ว่าเขาต้องการค้นหาเรื่องอะไร ถ้าสนใจไลฟ์สไตล์ เราก็ต้องมีคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์มากขึ้น มีคอนเทนต์จากพาร์ตเนอร์ให้ได้ในจำนวนมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือเมื่อ Google Search ลิงก์กับ Google Maps คนก็จะเริ่มพิมพ์ค้นหาร้านอาหารในละแวกใกล้ตัวมากขึ้น มันคือการทำงานร่วมกันในระบบนิเวศของ Google เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้”

 

กราฟิก Google Doodles ครบรอบเหตุการณ์สำคัญและเทศกาลต่างๆ ในประเทศไทย

 

Google Doodles เครื่องมือการตลาดชั้นเยี่ยมที่เกิดจากอารมณ์ขันของผู้ก่อตั้งบริษัท!
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของ Google ที่จะลืมพูดถึงไม่ได้เป็นอันขาดคือการมี ‘Google Doodles’ หน้าโฮมเพจที่สวยงาม กราฟิกที่เล่นกับตัวโลโก้ Google แล้วสื่อถึงความเป็นไทยได้ในทุกๆ วัน หรือช่วงเวลาครบรอบเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เช่น วันลอยกระทง, วันเกิดปีที่ 224 ของสุนทรภู่ หรือวันเกิดปีที่ 86 ของรัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้ประพันธ์แบบเรียนภาษาไทย ‘มานะ มานี ปิติ ชูใจ’

 

แต่ถ้าย้อนกลับไปถึงจุดกำเนิดของ Google Doodles จริงๆ เชื่อไหมว่าก่อนจะมาเป็นหน้าโฮมเพจเสิร์ชเอนจินที่มีเอกลักษณ์เหมือนวันนี้ วัฒนธรรมการเฉลิมฉลองครบรอบวันสำคัญต่างๆ เริ่มต้นมาจาก ‘อารมณ์ขัน’ ของเซอร์เกย์ บริน ที่อยากบอกลูกทีมในบริษัทว่าตนกำลังจะลางานไปร่วมเทศกาล Burning Man ที่ทะเลทราย Black Rock!

 

Google Doodles จากเซอร์เกย์ บริน และกราฟิกหุ่นยักษ์ เอกลักษณ์ประจำเทศกาล Burning Man

 

ศารณีย์บอกว่า “จุดประสงค์ของ Google Doodles ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เดิมทีหน้าโฮมเพจ Google เป็นพื้นที่ที่คนเข้ามาเยอะมาก เป็นสินทรัพย์ที่เราสามารถเล่นอะไรได้เยอะแยะ แล้วการใส่ลูกเล่นต่างๆ บน Google ตามเทศกาลและวันสำคัญต่างๆ ที่เห็นกันในปัจจุบันเกิดขึ้นเพราะเราอยากสร้างความรู้สึกเกี่ยวข้องและสายสัมพันธ์กับคนในประเทศที่เราให้บริการ ให้ผู้ใช้รู้สึกใกล้ชิดกับเรา ไม่ได้มองเราเป็นแค่บริษัทข้ามชาติ และเพื่อระลึกถึงบุคคลสำคัญที่มีคุณูปการต่อประเทศ รวมถึงวันสำคัญต่างๆ ที่หลายคนอาจจะหลงลืมไปแล้ว

 

“Google Doodles ในไทยจีงมีแค่คอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเท่านั้น เช่น วันครบรอบวันเกิด 86 ปีของคุณรัชนี ศรีไพรวรรณ (11 มีนาคม) ผู้ประพันธ์แบบเรียนภาษาไทย ‘มานะ มานี ปิติ ชูใจ’ กราฟิกโลโก้ Google ก็จะกลายเป็นตัวละครจากแบบเรียนนั้น ส่วนอีกจุดประสงค์คือกระตุ้นให้คนที่เกิดคำถามหรือเกิดความสงสัยได้รับคำตอบและความรู้ในประเด็นต่างๆ เพิ่มเติม”

 

Google Doodles ครบรอบวันเกิด 86 ปีของรัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้ประพันธ์งานเขียนแบบเรียนภาษาไทย ‘มานะ มานี ปิติ ชูใจ’ (เสียชีวิต 15 เมษายน 2557)

 

จากมุกตลกของผู้ก่อตั้งบริษัท มาวันนี้ Google Doodles กลายเป็นเครื่องมือทำการตลาดและการสื่อสารกับผู้บริโภคชั้นดี นอกจากนี้กราฟิกที่เราเห็นในทุกๆ วันสำคัญต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของศิลปินต่างชาติจำนวนกว่า 30 คนที่ประจำการในออฟฟิศใหญ่ของ Google ที่เมาน์เทนวิว เคาน์ตีซานตาคลารา รัฐแคลิฟอร์เนียทั้งสิ้น โดยศารณีย์เล่าให้เราฟังว่ากระบวนการทำงานจะต้องวางแผนกันล่วงหน้าข้ามปีเลยทีเดียว

 

“เนื่องจากรูปหนึ่งจะมีคนเห็นเป็นหลักล้าน มันจึงต้องเป็นลายเส้นที่สื่อความเป็นตัวตนของ Google ได้ ทีมงานแต่ละประเทศก็จะต้องส่งบรีฟให้ทีมกราฟิกล่วงหน้าว่าในแต่ละปี แต่ละเดือน และแต่ละวันจะมีวันสำคัญวันไหนบ้างที่เราอยากเฉลิมฉลองด้วยหน้า Google Doodles ต้องคิดกันล่วงหน้าปีต่อปี หรือในกรณีฉุกเฉินอย่างวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เราก็ต้องรีบเปลี่ยนกราฟิกโลโก้ Google ให้เป็นสีขาวดำ”

 

 

‘Fake News’ ปัญหาที่ Google ให้ความสำคัญและต้องคอยตั้งรับไม่แพ้กัน

ปัญหาสำคัญไม่แพ้ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้คือการที่ Fake News หรือข่าวปลอมและเว็บไซต์ที่แพร่ข้อมูลหลอกลวง ไม่น่าเชื่อถือ ระบาดไปทั่วโลกออนไลน์ ทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียล้วนแล้วแต่ประสบวิกฤตนี้ ขณะที่ Google เองก็ต้องเผชิญปัญหาดังกล่าวและต้องปรับตัวเพื่อหาวิธีตั้งรับเช่นกัน

 

ต่อประเด็นนี้ สายใย สระกวี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรประจำ Google ประเทศไทย บอกกับ THE STANDARD ว่า Google ให้ความสำคัญกับการยับยั้งและสกัดกั้นข่าวปลอมมากจนยกระดับให้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับโลก (Global Scale) โดยต้นปีที่ผ่านมาบริษัทเพิ่งทุ่มเงินลงทุนไปมากกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับ Google ทั่วโลกเพื่อทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์องค์กรข่าวในการเทรนนักข่าวและองค์กรต่างๆ  

 

“Google ยังทำงานร่วมกับสำนักข่าวต่างๆ เช่น The New York Times และ Financial Times เพื่อร่วมกันช่วยยืนยันหรือรับรองความน่าเชื่อถือของลิงก์ข่าวต่างๆ เวลาที่เสิร์ชค้นหาข่าว” สายใยเล่าต่อว่า “ถ้าลิงก์ข่าวน่าเชื่อถือและได้รับการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลก็จะปรากฏข้อความ ‘Verified by Google Partners’ บนหน้า Google Search

 

“ที่ประเทศไทยเราก็เริ่มพูดคุยเพื่อหาความร่วมมือในทำนองนี้กับสำนักข่าวไทยแล้ว อาจจะยืนยันลิงก์ข่าวไม่ได้ทุกลิงก์ แต่จะเริ่มต้นจากข่าวใหญ่ๆ ที่มีผลกระทบต่อคนหมู่มากเป็นหลักก่อน โดยยังไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่แน่นอนว่า Google ตั้งใจจะดำเนินการโครงการนี้ให้ครอบคลุมทั่วทั้งโลกอยู่แล้ว อย่างตอนนี้เราก็มีทีม Google Publisher ประจำการในสิงคโปร์เพื่อเริ่มโครงการนี้ในเอเชีย เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

 

หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร Google ประเทศไทย บอกกับเราว่าเพราะองค์กรของเธอไม่เชื่อเรื่อง ‘การเซนเซอร์เนื้อหา’ (Censorship) แต่เคารพกฎหมายในแต่ละประเทศว่าอะไรที่ห้ามแสดงผล (ต้องมีหมายศาลตามกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายในแต่ละประเทศ) ดังนั้น Google จึงต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อช่วยยืนยันความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวและลิงก์ข่าวต่างๆ

 

“ปัจจุบันเราก็ทำงานร่วมกับภาครัฐบาล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินสายทั่วประเทศเพื่อให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต และการเช็กข้อมูลที่ถูกต้องก่อนกดแชร์ด้วย”

 

 

ทิศทางที่ Google Search จะมุ่งไปในภายภาคหน้า

การจะยืนอยู่บนจุดสูงสุดของยอดหอคอยผู้นำเสิร์ชเอนจินอันดับ 1 ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องนี้ใครๆ หรือ Google เองก็คงทราบดี ดังนั้นวิธีที่เขาจะยึดหัวหาดนี้ต่อไปให้ได้คือต้อง ‘ปรับตัว’ ให้เข้ากับยุคและสมัยอยู่ตลอดเวลา หมั่นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันสะดวกอยู่เสมอ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Google ตัดสินใจกลับมาบุกตลาดเสิร์ชเอนจินในประเทศจีนอีกครั้ง เพราะเห็นว่าสัดส่วนผู้ใช้ในแดนมังกรน่าสนใจและมีศักยภาพมากแค่ไหน (Google เคยให้บริการที่ประเทศจีนแล้ว แต่เพราะแนวทางการกลั่นกรองเนื้อหาจากรัฐบาลจึงทำให้บริษัทตัดสินใจยุติการให้บริการไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง)

 

เมื่อถามถึงทิศทางของ Google Search ในอนาคตอันใกล้นี้ ศารณีย์บอกว่าหน้าที่ของ Google คือทำให้เสิร์ชเอนจินฉลาดมากยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว และยังต้องสามารถให้ความมั่นใจกับผู้ใช้ในการช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้ทุกคน

 

“มันจะพัฒนาไปตามผู้บริโภคว่าเขาอยากรู้เรื่องอะไร ถ้าเราสามารถให้ข้อมูลเขาได้ก่อนที่เขาจะถามก็คงเป็นเรื่องที่ดี เรายังมองถึงความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวไปให้บริการบนแพลตฟอร์มอื่นๆ และหาวิธีนำ Auto Complete และแมชชีนเลิร์นนิงเข้ามาช่วยให้เสิร์ชเอนจินฉลาดมากยิ่งขึ้น เข้าถึงได้ง่ายที่สุดจากทุกแพลตฟอร์ม”

 

ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ตราบใดที่ผู้ประกอบการรู้ว่าผู้บริโภคของตัวเองเป็นใคร ชอบใช้สินค้าของตนเพราะอะไร แล้วสามารถประยุกต์ฟีเจอร์ใหม่ๆ ขึ้นมาอำนวยความสะดวกได้ตลอดเวลา สินค้าและผลิตภัณฑ์นั้นๆ ก็จะได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย เพราะสิ่งเหล่านี้คือกลยุทธ์ที่ Google Search ได้พิสูจน์มาแล้วด้วยตัวเองในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising