ตลอดปี 2566 มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย หลายเหตุการณ์ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่อีกหลายเหตุการณ์ยังคงวนเวียนและต่อเนื่อง หรืออาจลากยาวข้ามไปปีหน้า
ในจำนวนหลายหมื่นภาพถ่ายจากช่างภาพของ THE STANDARD ที่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดปี 2566 ตามไทม์ไลน์ นี่คือ 100 ภาพที่คัดสรรมาบอกเล่าแก่ผู้อ่าน เพื่อย้อนทวนความทรงจำเป็นบทเรียนรวมถึงมองภาพในอนาคตไปพร้อมๆ กัน
1.
วันที่ 3 มกราคม 2566: ป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อปิดไฟชั่วคราว หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ถึงการใช้งบประมาณจำนวนถึง 33 ล้านบาทในการเปลี่ยนป้ายชื่อ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เป็น ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งมองว่าอาจมีมูลค่าสูงเกินกว่าปกติหรือไม่
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
อ่านข่าว: https://thestandard.co/lights-off-bang-sue-grand-station/
2.
วันที่ 4 มกราคม 2566: รูปภาพของ จีซู, เจนนี่, โรเซ่ และ ลิซ่า วง BLACKPINK ถูกติดประดับอยู่ที่ตัวอาคารสนามศุภชลาศัยและพื้นที่โดยรอบ ภายใต้การดูแลของกรมพลศึกษา ก่อนงานคอนเสิร์ต BLACKPINK WORLD TOUR [BORN PINK] BANGKOK 2023 แสดงระหว่างวันที่ 7-8 มกราคม 2566
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/blackpink-in-bangkok/
3.
วันที่ 7 มกราคม 2566: NewJeans เกิร์ลกรุ๊ปจากประเทศเกาหลีใต้ เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเข้าร่วมงาน Golden Disc Awards หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า GDA ที่ถูกจัดขึ้นทุกปีเพื่อมอบรางวัลให้กับผลงานและศิลปินในวงการ K-Pop ซึ่งในแต่ละปี GDA ก็จะเปลี่ยนสถานที่ในการประกาศรางวัลไปเรื่อยๆ เช่น ญี่ปุ่น, มาเลเซีย หรือจีน และในปีนี้ทางผู้จัดก็ได้ปักหมุดสำคัญ ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ประเทศไทย
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/newjeans-stray-kids-ive-gda/
4.
วันที่ 9 มกราคม 2566: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น ได้ลงนามสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเป็นทางการ พร้อมสวมเสื้อพรรครวมไทยสร้างชาติ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเปิดตัวบนเวทีตอนหนึ่งว่า “วันนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ทุกคนคงคุ้นเคยเพราะตนอยู่มาหลายปี คงจำหน้ากันได้ วันนี้อยากบอกว่า ตนลบภาพลักษณ์ของเราไม่ได้ เป็นทหารมาทั้งชีวิต แต่พยายามปรับตัวมาตลอด”
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/prayuth-becomes-a-politician/
5.
วันที่ 12 มกราคม 2566: เครื่องบินขับไล่ Gripen ของกองทัพอากาศ ซ้อมการแสดงการบิน (Air Show) ที่โรงเรียนการบิน กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ก่อนที่จะแสดงจริงในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/air-force-childrens-day-66/
6.
วันที่ 14 มกราคม 2566: วง Paper Planes โชว์เพลง ทรงอย่างแบด (Bad Boy) ที่เวทีโลมา ในงานวันเด็กของซาฟารีเวิลด์ ซึ่งก่อนหน้านี้วง Paper Planes ได้โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ว่า “พวกเราตั้งใจอยากจะไปเซอร์ไพรส์เจอน้องๆ สักหนึ่งที่ (ในช่วงว่างที่วงมีจำกัดมาก) เพื่อไปร้องเพลงกับน้องๆ และขอบคุณที่รักเพลงของพวกเรา เราเลยคุยกับทีมงานและวางแผนติดต่อซาฟารีเวิลด์ไปเอง เพราะเราเคยเห็นคลิปน้องๆ ร้องเพลงของพวกเราจากที่นี่เป็นที่แรกๆ”
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/paper-planes-children-day/
7.
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566: บรรยากาศช่วงเช้าบริเวณสะพานกรุงเทพถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จนมองไม่เห็นยอดตึกที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ขณะที่ AirVisual เว็บไซต์สำรวจคุณภาพอากาศทั่วโลกแบบเรียลไทม์ รายงานว่า ช่วงเวลา 09.00 น. กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก เป็นรองเพียงมหานครมุมไบ ประเทศอินเดีย และเมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน โดยมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 198 US AQI มีสถานะสีแดง อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อทุกคน
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/bkk-top-3-worst-air-pm25/
8.
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566: การแสดงศิลปะไหว้ครูมวยไทยของกำลังพลกองทัพบกจำนวน 3,660 นาย ร่วมแสดงและถ่ายทอดความภาคภูมิใจในศิลปะของชาติเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ และบันทึกสถิติโลก (Guinness World Records) ภายในงานเฟสติวัลมวยไทย ประจำปี 2566 (Amazing Muay Thai Festival 2023) จัดโดยกองทัพบก, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และกระทรวงวัฒนธรรม ที่อุทยานราชภักดิ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/guinness-muay-thai-festival-2023/
9.
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566: คู่รักหญิงจุมพิตกันระหว่างการจดแจ้งชีวิตคู่แก่คู่รัก LGBTQIA+ เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิการแสดงออกของคู่รักทุกเพศ ทุกสถานะ โดยสถิติผู้มาจดแจ้งในแต่ละปีจะถูกบันทึกเป็นข้อมูลสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อไป
กิจกรรมนี้จัดโดยสำนักงานเขตดุสิตร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเนื่องในวันวาเลนไทน์ ภายใต้ชื่องาน ‘ปดิวรัดา…ด้วยรักภักดีนิรันดร์’
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/lgbtqia-celebrate-valentine/
10.
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566: ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย รวมตัวกันแสดงจุดยืนคัดค้านการย้ายสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยจากที่ตั้งเดิม พร้อมยื่นหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก หลังเกิดกรณีข้อพิพาทปัญหาที่ดินและมีรายงานว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ในคดีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องให้ทางวิทยาเขตอุเทนถวายย้ายออกจากที่ตั้งเดิม
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
อ่านข่าว: https://thestandard.co/objection-relocation-rmutto-uthen/
11.
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566: ภาพขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังลับฟ้าวางซ้อนด้านหลังกับเกตุดอกบัวตูมขององค์พระพุทธธรรมกายเทพมงคล พระพุทธรูปสำริด ปางสมาธิ ของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/before-sunset-photographer-awaited-moment/
12.
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566: ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ฟอกสบู่ล้างหน้าระหว่างทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์บริเวณด้านหน้ากระทรวงคมนาคม โดยกล่าวถึงกรณีที่พบการทุจริตในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยชูวิทย์ระบุว่า มีการรับเงินทอนจำนวน 3 หมื่นล้านบาท มีข้อมูลและหลักฐานที่ชัดเจน แต่เนื่องจากในวันนี้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ติดภารกิจราชการต่างจังหวัด จึงได้มอบหมายให้ สุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. มารับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแทน
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/chuwit-head-mot-orange-line-train/
13.
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566: ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรมทางการเมือง เดินทางจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อทำกิจกรรม ‘นอนปักหลักอดอาหารหน้าศาลฎีกา’ ที่บริเวณด้านหน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน บริเวณที่จัดกิจกรรมมีการตั้งเต็นท์สำหรับพักค้างคืนชั่วคราว โดยภายในมีเครื่องปรับอากาศเคลื่อนที่พร้อมที่นอนเตรียมเอาไว้ พร้อมแผงรั้วเหล็กล้อมบริเวณเต็นท์ ส่วนด้านหน้าเต็นท์มีกระดานเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ระบุหัวข้อว่า ‘คุณเห็นด้วยหรือไม่ที่ศาลต้องคืนชีวิต-คืนสิทธิ์ประกันตัวให้ประชาชน’
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/tawan-bam-supreme-court-starving-protest/
14.
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566: ภาพถ่ายนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองที่แสดงถึง ‘ความเสรี’ ที่ส่งผ่านกฎระเบียบทรงผม การแสดงออกตามเพศวิถีที่พวกเขาต้องการภายใต้สถานภาพนักเรียนมัธยม
วรพงษ์ เถาว์ชาลี รองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง กล่าวว่า กฎระเบียบเรื่องการเสรีทรงผมเริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว นับตั้งแต่วันที่โรงเรียนประกาศใช้กฎนี้ก็เริ่มผ่อนปรนเรื่อยมา นักเรียนไว้ทรงผมหลากหลายกันมาตั้งแต่นั้น แต่กว่าที่โรงเรียนจะตัดสินใจเรื่องนี้ล้วนมีขั้นตอน มีการหารือ ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจตามกระแสสังคม
“การให้เสรีทรงผมกับนักเรียนไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราเน้นเรื่องผู้เรียนเป็นสำคัญ เราพยายามเข้าใจถึงจิตใจของนักเรียน เราอยากหาวิธีที่จะทำให้นักเรียนมีความสุขในขณะที่เขาอยู่ในสถานะนักเรียนภายใต้การดูแลของเรา” วรพงษ์กล่าว
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/mtt-school-freedom-hairstyle/
15.
วันที่ 4 มีนาคม 2566: เป็นวันแรกที่กรุงเทพมหานครเปิดให้สวนรถไฟเป็น Pet Park อย่างเป็นทางการ โดยสวนรถไฟมีขนาดพื้นที่ 2 ไร่ มีทางเข้าโดยเฉพาะ ไม่กระทบกับเลนจักรยาน
Pet Park ไม่ได้จำกัดแค่สุนัข สามารถนำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้ามาใช้บริการได้ ซึ่งขยายจาก Dog Park เดิม และเป็น 1 ในนโยบาย 216 ข้อของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. อีกด้วย
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/pet-park-at-rot-fai-park/
16.
วันที่ 8 มีนาคม 2566: เครื่องบิน F-35 จอดอยู่บนดาดฟ้าของเรือ USS Makin Island (LHD-8) ซึ่งจอดเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยเรือ USS Makin Island (LHD-8) ที่เข้ามาเทียบท่าในครั้งนี้มีส่วนร่วมสำคัญในการปล่อยยานพาหนะสะเทินน้ำสะเทินบกของการฝึกคอบราโกลด์ 2023 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 10 มีนาคม โดยมีทหารจาก 30 ประเทศเข้าร่วมกว่า 7,394 นาย
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/uss-makin-island-atmosphere/
17.
วันที่ 15 มีนาคม 2566: วันที่สองของเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมพร้อมที่จะบุกเข้าห้องพักของพันตำรวจโทอายุ 51 ปี สังกัดศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเกิดอาการคลุ้มคลั่งยิงปืนหลายนัดภายในบ้านพักในซอยจีระมะกร เขตสายไหม กรุงเทพฯ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/compilation-of-police-crazy/
18.
วันที่ 21 มีนาคม 2566: ประชาชนต่อแถวขณะที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ทำกิจกรรมคัดค้านนโยบายกัญชาเสรีและรณรงค์ไม่ให้เลือกพรรคที่สนับสนุนนโยบายนี้ โดยนำสติกเกอร์ที่เป็นรูปชูวิทย์เขียนว่า ‘Hey No Corruption’ เข็มกลัด และเสื้อ มาแจกให้กับประชาชนที่บริเวณปากซอยละลายทรัพย์ ถนนสีลม โดยชูวิทย์ ได้พูดใส่โทรโข่งระบุว่า ไม่ต้องการนโยบายกัญชาเสรี หากชาวสีลมเห็นด้วยกับตนก็ให้มาเอาของแจก
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/chuwit-visit-silom-opposes-cannabis/
19.
วันที่ 25 มีนาคม 2566: กลุ่มนักเต้นสวิงกำลังเต้นอย่างสุดเหวี่ยง ซึ่งกิจกรรมนี้นับเป็นครั้งแรกที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ได้เปิดพื้นที่ให้มีการเต้นรำท่ามกลางบรรยากาศคลาสสิก สำหรับงานเต้นสวิงครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมนำร่องในกรุงเทพมหานครภายใต้โครงการ ‘UNFOLDING BANGKOK เปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานคร’ ใน 3 ธีมหลัก ได้แก่ Hidden Temple ท่องวัดลับ, Living Old Building ย้อนรอยอาคารประวัติศาสตร์ และ Greeting Benjakitti เที่ยวสวนป่ากลางเมือง
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
อ่านข่าว: https://thestandard.co/hua-lamphong-swing-dance-club/
20.
วันที่ 30 มีนาคม 2566: สืบเนื่องจากเหตุไฟไหม้ป่าเขาชะพลู ตำบลพรหมณี อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม และลุกลามต่อเนื่องผ่านเขาแก้วและเขาแหลม ทำให้ไฟป่าลามถึงช่วงกลางของเขาตะแบกเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร
สำหรับเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานนี้เกิดจากฟ้าผ่าลงบนเขาชะพลูทางด้านทิศตะวันออก จากนั้นไฟลามไปทิศตะวันตกจนถึงเขาแหลมและต่อเนื่องกันเรื่อยมา
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/nakhon-nayok-bushfire/
21.
วันที่ 30 มีนาคม 2566: เฮลิคอปเตอร์ KA-32 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดับไฟไหม้ป่าเขาตะแบก ซึ่งเป็นเขาที่อยู่ต่อจากเขาแหลม สืบเนื่องจากเหตุไฟไหม้ป่าเขาชะพลู ตำบลพรหมณี อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม และลุกลามต่อเนื่องผ่านเขาแก้วและเขาแหลม
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/nakhon-nayok-forest-fire-300366/
22.
วันที่ 30 มีนาคม 2566: พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่ว่าจะเป็น สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค, วิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค, ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค และ สกลธี ภัททิยกุล หัวหน้าทีมดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกันเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร สส. จำนวน 492 คนทั่วประเทศ ที่บางกอกอารีนา หนองจอก
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/pprp-launch-492-mps/
23.
วันที่ 3 เมษายน 2566: บรรยากาศกองเชียร์ของพรรคการเมืองต่างๆ ในวันเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นวันแรก โดยใช้พื้นที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 เป็นสถานที่รับสมัคร บรรยากาศการรับสมัครเป็นไปอย่างคึกคัก หัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคต่างนำทัพเหล่าผู้สมัครมาสมัครด้วยตัวเอง เช่น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/atmosphere-candidates-registration/
24.
วันที่ 5 เมษายน 2566: เศรษฐา ทวีสิน กล่าวปราศรัยถึงรายละเอียดโครงการ Digital Wallet หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะเติมเงินเข้าไปในกระเป๋าดิจิทัลให้ประชาชนจำนวน 10,000 บาท ระหว่างงานเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคเพื่อไทย 3 คนอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย แพทองธาร ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ ที่ธันเดอร์โดมสเตเดียม เมืองทองธานี
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/sretta-paetongtarn-chaikasem/
25.
วันที่ 13 เมษายน 2566: กลุ่มวัยรุ่นกำลังบิดเครื่องมอเตอร์ไซค์ด้วยเสียงที่แผดดัง ระหว่างการเล่นสาดน้ำเทศกาลสงกรานต์ 2566 ที่วงเวียนน้ำพุ อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/songkran-mahachai-130466/
26.
วันที่ 14 เมษายน 2566: นักท่องเที่ยวต่างชาติสนุกสนานกับการเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์วันที่สองบริเวณถนนสีลม สำหรับย่านสีลมถือเป็นอีกหนึ่งจุดหมายของการเล่นน้ำสงกรานต์ของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ จากทั่วโลกซึ่งรู้จักสีลมเป็นอย่างดี
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/silom-songkran/
27.
วันที่ 15 เมษายน 2566: นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงจ้างรถบรรทุกน้ำของเอกชนในราคา 10,000 บาท เพื่อนำมาเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2566 บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แยกราชประสงค์ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาร่วมสนุกกันเป็นจำนวนมาก
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/songkran-central-world-150466/
28.
วันที่ 20 เมษายน 2566: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมด้วยแกนนำพรรค ร่วมเตะตะกร้อกับประชาชนที่มาออกกำลังกาย โดยโชว์ลีลาการเตะและโหม่งลูกตะกร้อ ที่สวนลุมพินี
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/prayuth-campaign-lumpini-park/
29.
วันที่ 3 พฤษภาคม 2566: ตู้เก็บอุปกรณ์สำหรับใช้ในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับวันที่ 7 พฤษภาคม เช่น บัตรลงคะแนน สายรัดกล่องเก็บบัตรลงคะแนน ฯลฯ ถูกเทปปิดผนึกไว้ พร้อมเจ้าหน้าที่เขตและตำรวจเซ็นกำกับ ภายในห้องจัดเก็บของสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ โดยมีกล้องวงจรปิดคอยจับภาพเพื่อรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบและบันทึกภาพได้แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่เฝ้าบริเวณทางเข้า-ออกด้วย
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/pre-election-check/
30.
วันที่ 4 พฤษภาคม 2566: พรรคก้าวไกลจัดเวทีปราศรัยใหญ่ ‘นนทบุรีตรงไป ก้าวไกลตรงมา’ ที่ตลาดนกฮูก นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยผู้สมัคร สส. บัญชีรายชื่อ ได้แก่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, วรรณวิภา ไม้สน, วาโย อัศวรุ่งเรือง, กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี, สุเทพ อู่อ้น และ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ โดยเวทีปราศรัยนี้เป็นอีกครั้งที่มีประชาชนเข้าร่วมอย่างล้นหลามเต็มพื้นที่ สะท้อน ‘ปรากฏการณ์ก้าวไกล’ ที่พรรคก้าวไกลและพิธาได้รับความนิยมพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง
ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
อ่านข่าว: https://thestandard.co/nonthaburi-move-forward-party/
31.
วันที่ 7 พฤษภาคม 2566: ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตยกมือไหว้พร้อมกล่าว สาธุ ขอให้ได้สมใจหวัง ก่อนที่จะหย่อนบัตรเลือกตั้ง ที่หน่วยเลือกตั้งเซ็นทรัล พระราม 2
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/central-rama-2-advance-election/
32.
วันที่ 7 พฤษภาคม 2566: เจ้าหน้าที่ใช้เข่งเพื่อใส่อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเลือกตั้งล่วงหน้าหลังจากปิดรับลงคะแนนเลือกตั้ง ที่หน่วยเลือกตั้งรอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยมียอดลงทะเบียนประชาชนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่หน่วยเลือกตั้งสยามพารากอนจำนวนทั้งสิ้น 40,801 คน เดินทางมาใช้สิทธิ 38,590 คน คิดเป็น 94.58%
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/advance-election-070566-2/
33.
วันที่ 10 พฤษภาคม 2566: แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว หลังเกิดเหตุความวุ่นวายภายในพื้นที่ สน.สำราญราษฎร์ จากการที่กลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองรวมตัวเพื่อทวงถามต่อผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์ กรณีพนักงานสอบสวนมีการเข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับ หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชนวัย 15 ปี ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โบราณสถาน
ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
อ่านข่าว: https://thestandard.co/tawan-appointment-100566/
34.
วันที่ 12 พฤษภาคม 2566: ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลแต่งกายสร้างสีสันในวันปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายภายใต้แคมเปญ ‘คำตอบสุดท้าย กาก้าวไกลทั้งแผ่นดิน’ โดยผู้สนับสนุนจำนวนมากต้องรับชมผ่านจอ LCD ที่ติดตั้งเอาไว้ด้านนอกอาคาร เนื่องจากภายในอาคารกีฬาเวสน์ 1 มีผู้เข้าร่วมด้านในเต็มการรองรับของอาคาร ไม่สามารถรองรับประชาชนเพิ่มได้อีก
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
อ่านข่าว: https://thestandard.co/pita-ended-the-speech-of-the-mfp/
35.
วันที่ 14 พฤษภาคม 2566: ผู้ป่วยไอซียูวัย 72 ปี เดินทางจากโรงพยาบาลวิชัยยุทธมาใช้สิทธิที่เต็นท์ภายในสถานีดับเพลิงและกู้ภัยดุสิต เขตดุสิต ภายใต้การดูแลของญาติ แพทย์ และกรรมการประจำหน่วย ที่อำนวยความสะดวกอย่างใกล้ชิด ก่อนจะให้เจ้าตัวกาบัตรเลือกตั้งและหย่อนบัตรด้วยตนเอง เจ้าตัวเปิดเผยว่า แม้ร่างกายจะเจ็บป่วย แต่ต้องการทำหน้าที่คนไทยที่ดีโดยการออกมาเลือกตั้ง ไม่อยากเสียสิทธิ ซึ่งตนเองได้แจ้งความจำนงกับแพทย์ผู้รักษาไว้ว่าอยากเลือกตั้ง จึงขออนุญาตมา
ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
อ่านข่าว: https://thestandard.co/election-day-2566-3/
36.
วันที่ 15 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสท่าให้ช่างภาพ THE STANDARD ถ่ายภาพ ก่อนการแถลงข่าวที่พรรคก้าวไกล หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ สรุปว่าพรรคก้าวไกลได้จำนวน สส. เป็นอันดับ 1 จึงขอประกาศว่า พรรคก้าวไกลพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
โดยพิธากล่าวว่า ตนพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน และพร้อมฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เชื่อว่าความคิดเห็นที่แตกต่างจะทำให้ตนเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีขึ้น พร้อมเคารพ ให้เกียรติ และต่อยอดจากการต่อสู้ของทุกฝ่ายที่ผ่านมา เพื่อประชาธิปไตย และพร้อมคืนศรัทธาให้ระบอบประชาธิปไตยและระบบรัฐสภา คืนความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพให้กับการเมืองไทยและผู้แทนราษฎรทุกคน
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/pita-ready-to-form-government/
37.
วันที่ 15 พฤษภาคม 2566: ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลยืนฟัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมด้วยสมาชิกพรรคก้าวไกล ขอบคุณประชาชนบริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ภายหลังการทราบผลคะแนนการเลือกตั้ง 2566 พรรคก้าวไกลสามารถคว้าชัยชนะ ครองเสียงประชาชนมาเป็นลำดับที่ 1 และแถลงประกาศจัดตั้งรัฐบาลที่คาดว่ามีทั้งหมด 6 พรรคการเมืองเข้าร่วม
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/pita-move-forward-party-caravan/
38.
วันที่ 17 พฤษภาคม 2566: การพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 310 เสียง ที่ร้านอาหารบริเวณถนนสุโขทัย โดยนัดหมายพูดคุยกันในเวลา 16.00 น. จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.45 น. หลังการพูดคุยเสร็จสิ้นจึงลงมาจับมือโชว์สื่อมวลชน จากนั้นกลับขึ้นไปเพื่อร่วมรับประทานอาหารอีกครั้ง โดยมีบรรยากาศชื่นมื่นเช่นเดียวกับตอนพูดคุยจัดตั้งรัฐบาล
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/6-parties-dinner-17052566-2/
39.
วันที่ 21 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค เดินทางขอบคุณประชาชนบริเวณหน้าห้างแพชชั่น จังหวัดระยอง พร้อมปราศรัยสั้นๆ ว่า “ผมบอกคุณแล้วว่าเราทำได้ เราชนะแล้วยกจังหวัด” จากนั้นแนะนำตัวกับประชาชนว่า “ผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกฯ คนต่อไป ขอขอบคุณชาวระยองจากใจจริง และขอบอกกับทุกคนว่า ถึงแม้การเลือกตั้งจะจบไป แต่การเดินทางของพวกเราเพิ่งเริ่มต้นขึ้น และขอใช้ความไว้วางใจทุกคะแนนในการทำให้ระยองการเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคตไปด้วยกัน
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/pita-move-forward-rayong-21052566/
40.
วันที่ 22 พฤษภาคม 2566: พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ร่วมกันแถลงร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล ที่โรงแรมคอนราด โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้แถลงถึงรายละเอียดบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีรายละเอียด 23 ข้อ และ 5 แนวทางการปฏิบัติ จากนั้นได้เปิดให้สื่อมวลชนซักถามทุกข้อสงสัย ทั้งจุดยืนเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, นโยบายกัญชาเสรี, ท่าทีการโหวตนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา และการทำรัฐประหาร
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/move-forward-gov-standpoints/
41.
วันที่ 24 พฤษภาคม 2566: กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) รวมตัวบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือร้องขอให้หยุดแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย บั่นทอน 3 สถาบันหลักของชาติ
อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่ม ศปปส. กล่าวถึงการยื่นหนังสือครั้งนี้ โดยระบุว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ซูซาน ไวลด์ ยื่นข้อเรียกร้องกับทางสภา 10 ข้อ โดยมี 2 ข้อที่แทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย การมาเรียกร้องวันนี้ ศปปส. จะไม่ยอมให้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือประเทศหนึ่งประเทศใด มาทำลายอธิปไตยหรือมาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยเด็ดขาด โดยเฉพาะเรื่องของสถาบัน
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/us-embassy-protest-24052566/
42.
วันที่ 30 พฤษภาคม 2566: “เน้นย้ำนะครับ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรา (พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล) จะอยู่ด้วยกันตลอดไป เพื่อเป็นรัฐบาลของพี่น้องประชาชนให้ได้ครับ” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวตอนหนึ่งภายหลังการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล ที่พรรคประชาชาติ
นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงกระแสข่าวการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลอีกด้วยว่า จากนี้จะไม่มีดีลตั้งรัฐบาลลับ จะมีเพียงการดีลรักในการตั้งรัฐบาลเท่านั้น
ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
อ่านข่าว: https://thestandard.co/coalition-parties-formed-7-working-groups/
43.
วันที่ 4 มิถุนายน 2566: ผู้เข้าร่วมงาน Bangkok Pride 2023 เดินขบวนพาเหรดพร้อมกับธงสีรุ้งที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยมีความยาว 144.8 เมตร ขบวนเริ่มตั้งแต่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ การจัดงานปีนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘BEYOND…GENDER’ ไม่ใช่เพียงการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ แต่ยังมีวาระขับเคลื่อนสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม ครอบคลุมความหลากหลายใน 4 มิติสำคัญ คือ การรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition), สมรสเท่าเทียม (Marriage Equality), สิทธิของ Sex Workers (Sex Workers Rights) และสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQIA+ (Equal Right to Health)
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/bangkok-pride-parade-2023-3/
44.
วันที่ 4 มิถุนายน 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และ แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมเดินขบวนพาเหรดในงาน Bangkok Pride 2023 ที่จัดตั้งแต่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากนี้ยังมีพรรคการเมืองอื่นๆ รวมถึงบรรดาคนการเมืองที่ออกมาแสดงจุดยืนจำนวนมาก
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/paetongtarn-pita-bangkok-pride-month/
45.
วันที่ 19 มิถุนายน 2566: หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชนวัย 15 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เดินทางมาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โดยยังคงสวมชุดไพรเวตเพื่อไปเรียนหนังสือ หลังจากต้องปีนรั้วและหน้าต่างเข้าไปเรียนภายในโรงเรียนมา 3 วันแล้ว เนื่องจากทางโรงเรียนปิดประตูรั้วไม่ให้หยกเข้าเรียน ขณะที่ก่อนเข้าโรงเรียนหยกได้อ่านคำแถลงที่ต้องการสื่อสาร ซึ่งมีรายละเอียดระบุว่า อยากจะชี้แจงการมอบตัวที่เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ยืนยันว่าเสร็จสมบูรณ์ เพราะว่าสิทธิของนักเรียนต้องมาก่อน ส่วนตัวได้จ่ายค่าเทอมและเข้าเรียนเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว โดยในเดือนหน้าจะมีการสอบ แต่ทางโรงเรียนให้ออก
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/yok-continues-to-confirm-her-right-to-school/
46.
วันที่ 23 มิถุนายน 2566: เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบโรงเรียนราชวินิตมัธยม หลังเกิดเหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิดในระหว่างการซ้อมเผชิญเหตุภายในโรงเรียน ทำให้มีนักเรียนเสียชีวิต 1 คน สำหรับถังดับเพลิงในที่เกิดเหตุ เบื้องต้นได้ตรวจสอบข้อมูลกับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งได้รับรายงานว่า ตามมาตรฐานระเบียบการดูแลรักษาจะมีการตรวจทุกๆ 5 ปี ซึ่งการตรวจจะเป็นการฉีดแรงดันน้ำเข้าไปเพื่อตรวจสอบ แต่สำหรับชุดถังดับเพลิงที่นำมาสาธิตนั้นจะต้องไปตรวจสอบประวัติว่าได้มาตรฐานก่อนนำมาสาธิตหรือไม่
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
อ่านข่าว: https://thestandard.co/officer-finding-fire-extinguisher-exploded-cause/
47.
วันที่ 26 มิถุนายน 2566: เจ้าหน้าที่ตัดสายสื่อสารบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าโรบินสัน บางรัก ถนนเจริญกรุง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยการไฟฟ้านครหลวง, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และผู้ประกอบการโทรคมนาคม ร่วมโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยการไฟฟ้านครหลวงมีแผนนำสายไฟฟ้าลงดินกว่า 230 กิโลเมตรจากระยะทางทั้งกรุงเทพฯ มากกว่า 2,000 กิโลเมตร ส่วนสายสื่อสารก็จะถูกจัดระเบียบตามลงไปด้วย
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/bangkok-accelerate-organizationcommunication-lines/
48.
วันที่ 2 กรกฎาคม 2566: อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และคณะ เดินทางมาที่พรรคก้าวไกล ระหว่างที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาลกำลังประชุมหารือกัน เพื่อยื่นหนังสือถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อขอทราบจุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อแนวคิดการเปลี่ยนแปลงวันชาติ เมื่อกลุ่ม ศปปส. เดินทางมาถึง ได้เกิดวิวาทะขึ้นกับกองเชียร์ที่มาปักหลักอยู่ที่พรรคก้าวไกล โดยกองเชียร์ได้ส่งเสียงและไล่ให้กลุ่ม ศปปส. ออกจากพื้นที่
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/anon-mfp-pita-rangsiman-national-day/
49.
วันที่ 2 กรกฎาคม 2566: นักวอลเลย์บอลทีมชาติไทยเข้าสวมกอดกันหลังจบเกมการแข่งขันวอลเลย์บอลเนชันส์ลีก ‘VNL 2023’ สัปดาห์ที่ 3 (กลุ่มที่ 6) นัดที่ 4 ที่สนามอินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก ทีมชาติไทย (อันดับ 15 ของโลก) พ่ายให้กับบราซิล (อันดับ 3 ของโลก) 0-3 เซ็ต แม้จะไม่สามารถคว้าชัยชนะมาฝากแฟนๆ ได้แม้แต่แมตช์เดียว แต่พวกเธอได้ต่อสู้กับทีมชั้นนำของโลกอย่างสุดกำลังและความสามารถ ซึ่งแฟนๆ ได้ปรบมือและส่งเสียงเชียร์ดังกึกก้องสนามอินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก ให้พวกเธอกลับไป
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/vnl-2023-week-3/
50.
วันที่ 2 กรกฎาคม 2566: พลายศักดิ์สุรินทร์เดินทางถึงสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) จังหวัดลำปาง หลังจากที่เดินทางมาด้วยเครื่องบิน Ilyushin IL-76 จากสนามบินที่ประเทศศรีลังกามาลงที่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ในภารกิจเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์กลับสู่มาตุภูมิ โดยพลายศักดิ์สุรินทร์ได้ไปทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีที่ประเทศศรีลังกาตั้งแต่ปี 2544
ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ
อ่านข่าว: https://thestandard.co/plaisak-surin-arrived-in-thailand/
51.
วันที่ 3 กรกฎาคม 2566: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินกลับ ภายหลังจากทรงเปิดประชุมรัฐสภาที่ห้องประชุมอาคารรัฐสภา ถนนสามเสน ในการนี้ทรงมีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกของสัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/king-and-queen-waving-to-people/
52.
วันที่ 8 กรกฎาคม 2566: ป้ายไวนิลระบุข้อความว่า ‘หมดศรัทธาพรรคเพื่อไทย’ ติดอยู่ด้านหน้าร้าน ‘คุณเล็ก’ ขายเสื้อผ้าพื้นเมือง บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าบุรีสแควร์ ถนนท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของร้านเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมา กล่าวว่า ต้องการระบายความอัดอั้นตันใจต่อพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมา กระทั่งหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น รู้สึกดีใจที่พรรคก้าวไกลจะได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว แต่พรรคเพื่อไทยกลับเป็นผู้กวนน้ำให้ขุ่น ทำให้ไม่ราบรื่น โดยเฉพาะเรื่องการต่อรองหรือการตั้งเงื่อนไขในเรื่องตำแหน่งประธานรัฐสภา
ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ
อ่านข่าว: https://thestandard.co/pheu-thai-fc-lose-faith-in-party/
53.
วันที่ 11 กรกฎาคม 2566: สภาพของรถยนต์ที่ถูกโครงสะพานหล่นทับ หลังเกิดเหตุสะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมาบริเวณถนนหลวงแพ่ง เมื่อวันที่10 กรกฎาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 12 ราย
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/on-nut-lat-krabang-bridge/
54.
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566: ทีมวิ่งผลัด 4×100 เมตรชายไทย ที่ประกอบไปด้วย ไฟเตอร์-ณฐวรรธ เอี่ยมอุดม (ไม้ 1), ต้า-สรอรรถ ดาบบัง (ไม้ 2), เฉาก๊วย-ชยุตม์ คงประสิทธิ์ (ไม้ 3) และ บิว-ภูริพล บุญสอน (ไม้ 4) วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 1 ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชียที่สนามศุภชลาศัย คว้าเหรียญทองพร้อมทุบสถิติกรีฑาชิงแชมป์เอเชียและประเทศไทย
ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย
อ่านข่าว: https://thestandard.co/asian-athletics-championships-2023-thailand-relay-race-champion/
55.
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566: กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา รับความเคารพจากเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ชุดตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิด วัตถุต้องสงสัย หรือ EOD เข้าตรวจความปลอดภัยของห้องประชุมรัฐสภา ก่อนที่จะมีการประชุมร่วมกันระหว่าง สส. และ สว. ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าพรรคเพื่อไทย และ 8 พรรคร่วม จะเสนอชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้รัฐสภาโหวตเห็นชอบ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-13072023-7/
56.
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566: ชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จังหวัดอุทัยธานี ขึ้นอภิปรายก่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรก ถึงแถลงการณ์จุดยืนของพรรคภูมิใจไทยว่าไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมทั้งเรียกร้องไปยังพรรคร่วมรัฐบาล และขอเรียกร้องพรรคร่วมรัฐบาลร่วมแสดงจุดยืนเรื่องมาตรา 112 ด้วย ชาดากล่าวอีกว่า พิธาอ้างว่าต้องทำเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเจตนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ตนเองและพรรคภูมิใจไทยไม่เชื่อ และเป็นสิทธิของพรรคภูมิใจไทยที่ขอไม่เชื่อ เนื่องจากพฤติกรรมมีความชัดเจนมาโดยตลอด พร้อมตั้งข้อคำถามไปถึง 7 พรรคร่วมรัฐบาลว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-13072023-15/
57.
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566: รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล แสดงอาการออกทางหน้าตาระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้มี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงผู้เดียว โดยไม่มีสมาชิกพรรคการเมืองอื่นเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขึ้นมาแข่ง
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-13072023-15/
58.
วันที่ 15 กรกฎาคม 2566: เอกาเทรินา โวโรนินา แสดงความดีใจหลังคว้าเหรียญทองสัตตกรีฑา ด้วยคะแนนรวม 6,098 แต้ม ในการแข่งขันสัตตกรีฑา รายการแข่งขันกรีฑาชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ครั้งที่ 25 (25th Asian Athletics Championships 2023) ที่สนามศุภชลาศัย
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/ekaterina-voronina-gold-medalist/
59.
วันที่ 18 กรกฎาคม 2566: สว. กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ รับดอกไม้จากมวลชนที่มาให้กำลังใจด้านหน้าอาคารรัฐสภา นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ โดยมีการยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง สว. เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ ก่อนที่ในวันที่ 19 กรกฎาคม จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 สำหรับกลุ่มที่มาให้กำลังใจ เช่น กลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน, ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน และกองทัพธรรม
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/people-give-senate-flowers-to-vote-no-for-pita/
60.
วันที่ 19 กรกฎาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินออกจากห้องประชุมรัฐสภา พร้อมชูกำปั้น ท่ามกลาง สส. พรรคก้าวไกลทั้งหมดที่ลุกขึ้นยืนปรบมือให้ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องกรณีหุ้น ITV ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และมีมติตามเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2 เสียง) มีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันนี้ไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-19072023-27/
61.
วันที่ 19 กรกฎาคม 2566: กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมด้วยเครือข่าย นัดมวลชนจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยใช้ชื่อว่า ‘19 กรกฎา วันฌาปนกิจ สว.’ ผู้ชุมนุมได้ทำการวางดอกไม้จันทน์และเผาโลงศพเชิงสัญลักษณ์ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสั่งให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยุติปฏิบัติหน้าที่ สส. หลังถูกร้องกรณีถือหุ้น ITV ด้วยมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
อ่านข่าว: https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-19072023-24/
62.
วันที่ 22 กรกฎาคม 2566: อนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หัวเราะร่าระหว่างการนั่งพูดคุยกันอย่างสนุกสนานกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภายหลังการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย ที่ร้าน ThinkLab Creative Space and Cafe โดยร่วมรับประทาน ‘ช็อกโกแลตมินต์’ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตประจำพรรคเพื่อไทย โดยอนุทินกล่าวชมว่ารสชาติอร่อยดี ให้คะแนน 11 เต็ม 10
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/anutin-chocolate-mint-drink/
63.
วันที่ 22 กรกฎาคม 2566: พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะนั่งอยู่ที่ร้าน ThinkLab Creative Space and Cafe เพื่อร่วมรับประทาน ‘ช็อกโกแลตมินต์’ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตประจำพรรคเพื่อไทย หลังการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคเพื่อไทย ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตและหาทางออกของประเทศร่วมกัน
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/ruam-thai-sang-chart-discusses-with-pheu-thai-3/
64.
วันที่ 23 กรกฎาคม 2566: กลุ่มทะลุวัง นำโดย ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, หยก เยาวชนอายุ 15 ปี และ สายน้ำ-นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ สาดแป้งเป็นสัญลักษณ์ภายในที่ทำการพรรคเพื่อไทย คัดค้านไม่ให้จับมือกับระบอบเผด็จการ ย้ำเตือนอย่าผิดคำพูดประชาชน ระหว่างการหารือกันของแกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ พร้อมประกาศว่าถ้ามีการยืนยันว่าจับมือกันตั้งรัฐบาลก็จะกลับมาทันที ไม่คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนจุดยืนได้เร็วขนาดนี้
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/thaluwang-invaded-pheu-thai-office-3/
65.
วันที่ 28 กรกฎาคม 2566: ประชาชนใส่เสื้อสีเหลืองเฝ้ารอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช 2566 และมีพระชนมายุครบ 71 พรรษา มีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และพร้อมใจกันถวายบังคม 3 ครั้ง ช่วงหนึ่งได้ร่วมกันตะโกนแสดงพลัง “อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี”
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/yellow-shirts-await-king-queen/
66.
วันที่ 29 กรกฎาคม 2566: กลุ่มมวลชนนำโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด จัดกิจกรรม #พร้อม2 ด้วยการเดินเท้าจากอโศกสู่ราชประสงค์ เพื่อทำการแปรอักษรเป็นตัว ‘ห’ สื่อถึง ‘การเห็นหัวประชาชน’ พร้อมอ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งมีใจความว่า “ขอให้สมาชิกวุฒิสภาเห็นหัวประชาชน อย่าเห็นแก่ตัว”
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/prom-2-asoke-to-ratchaprasong/
67.
วันที่ 2 สิงหาคม 2566: ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลถ่ายรูปกำแพงที่ทำการพรรคเพื่อไทยที่เลอะจากการสาดสีของกลุ่มทะลุวัง ในกิจกรรม ‘CAR MOB แห่มาลัยวิวาห์ ยื่นรายชื่อประชาชน คล้องใจ 8 พรรคการเมือง’ จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป้าหมายหลักคือการส่งรายชื่อที่ได้รวบรวมจากประชาชนส่งไปยัง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อส่งสัญญาณให้ร่วมรับรู้ว่าประชาชนทุกคนมุ่งหวังที่จะเห็นรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ 8 พรรคร่วมที่ลงนาม MOU ร่วมกัน และอยากจะฝากถึง 8 พรรคร่วมให้เข้มแข็งเข้าไว้ อย่าให้เงื่อนไขของวุฒิสมาชิกมาเป็นประเด็นทำให้พรรคร่วมต้องแตกหัก และมุ่งหวังให้ทั้ง 8 พรรคจับมือกันสามัคคีต่อไปจนกว่าสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้จะหมดวาระในอีก 10 เดือนข้างหน้า
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/masses-parade-to-pheu-thai-party/
68.
วันที่ 10 สิงหาคม 2566: ท่านอ้น-วัชเรศร วิวัชรวงศ์ เดินทางมาที่วัดยานนาวา เพื่อทำบุญถวายน้ำดื่มและข้าวสารแก่พระภิกษุ ทำบุญปล่อยปลาจำนวน 1,000 ตัว และเข้าถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยท่านอ้นเดินทางกลับไทยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม หลังพำนักอยู่ในต่างประเทศมาตลอดกว่า 27 ปี
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/vacharaesorn-wat-yannawa/
69.
วันที่ 13 สิงหาคม 2566: ผู้ชุมนุมใช้ถาดติดกาวดักหนูปาใส่ป้ายที่ทำการพรรคภูมิใจไทย โดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำจัดกิจกรรมชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบ ‘เราจะไปไล่หนูท่อ หมอเก๊ พ่อค้ากัญชาเถื่อน แล้วไปดัดสันหลังเพื่อนรว๊ากส์ ที่หักเหลี่ยมกันหน้าด้านๆ’ มีจุดประสงค์เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ขับไล่ และส่งเสียงสะท้อนความไม่พอใจไปยังกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลล่าสุดซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/carmob-bhumjaithai-13082566/
70.
วันที่ 13 สิงหาคม 2566: ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยทำการฉีกเสื้อแดง นปช. ในกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ มวลชนได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์หน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย อาทิ ปาแก้วที่ระลึกให้แตก, ฉีกเสื้อสีแดงสมัย นปช. ปี 2553, ฉีกปฏิทินปี 2563 ซึ่งมีภาพใบหน้าของอดีตนายกรัฐมนตรี ทั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ทักษิณ ชินวัตร และกล่าวว่าคนเสื้อแดงมันเจ็บใจ เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กล่าวปราศรัยช่วงหนึ่งว่า พรรคเพื่อไทยได้ทำการปลูกต้นไม้แห่งประชาธิปไตยในพวกเรา ในต้นกล้าอย่างพวกเรา อีกทั้งพี่น้อง ลุงป้า น้าอา ที่เป็นคนเสื้อแดง นปช. ก็ได้ร่วมปลูกฝังต้นกล้าอย่างพวกตนขึ้นมา แต่พอวันนี้พวกเราโตขึ้น พวกคุณก็คิดหักหลังและถอนต้นกล้าอย่างเรา
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/red-shirt-people-head-phue-thai/
71.
วันที่ 14 สิงหาคม 2566: ท่านอ้น-วัชเรศร วิวัชรวงศ์ และ ท่านอ่อง-นพ.จักรีวัชร วิวัชรวงศ์ เดินทางมาที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเพื่อเดินทางกลับนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังจากที่ทั้งสองคนเดินทางมาที่ประเทศไทยได้ระยะหนึ่ง และได้ทำกิจกรรมต่างๆ มากมายในรอบ 27 ปี โดยออกเดินทางจากประเทศไทยในเวลา 02.50 น. ของวันที่ 15 สิงหาคม ท่านอ้นเปิดใจกับสื่อมวลชนก่อนเดินทางกลับว่า ขอบคุณมากเลยที่มาส่งพวกเรา ต้องขอโทษที่เดินทางมาดึก ทุกคนที่มารออาจจะง่วง สัปดาห์นี้ค่อนข้างยุ่งเหยิง เราก็มาแค่ไม่กี่วัน ส่วนตัวมา 7-8 วัน น้องได้มา 3-4 วัน เป็นสัปดาห์ที่ผ่านไปค่อนข้างเร็ว มีหลายอย่างที่เราอยากจะทำ อยากจะดู ที่เมืองไทย มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ใจเราต้องการอยากจะเติมให้เต็ม แต่เวลาก็น้อยเกินไป
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/vacharaesorn-and-chakriwat-heading-back-nyc/
72.
วันที่ 16 สิงหาคม 2566: ประชาชนกำลังสัมผัสที่ปลายปีกเพื่อขอพรกับรูปปั้นครูกายแก้วที่ตั้งบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว การตั้งรูปปั้นครูกายแก้วทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/people-ask-for-blessings-from-kru-kai-kaew/
73.
วันที่ 21 สิงหาคม 2566: แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และ พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาว ร้องไห้ด้วยความปลื้มใจระหว่างที่กลุ่มมวลชนเสื้อแดงร้องเพลงอวยพรวันเกิดในวันที่แพทองธารมีอายุครบ 37 ปี รวมทั้งมวลชนร่วมแสดงความยินดีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศด้วย ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/red-shirts-happy-birthday-paethongthan/
74.
วันที่ 22 สิงหาคม 2566: ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยเครื่องบินส่วนตัว หลังใช้ชีวิตในต่างประเทศถึง 17 ปี นับแต่ถูกรัฐประหารในปี 2549 ถือเป็นการกลับประเทศไทยตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อผ่านขั้นตอนในการตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ทักษิณได้เดินทางมาที่อาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล โดยมี พานทองแท้ ชินวัตร, พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ และ แพทองธาร ชินวัตร เดินออกมาพร้อมกันด้วย จากนั้นทักษิณได้ก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมพระราชินี ก่อนจะเดินเข้ามาทักทายกับบรรดาแกนนำและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ที่มาให้การต้อนรับ
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/pictures-of-thaksin-stepping-on-the-thailand/
75.
วันที่ 22 สิงหาคม 2566: สส. พรรคเพื่อไทยร่วมกันถ่ายภาพหลังจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ร่วมกันโหวตให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย จากจำนวนสมาชิกผู้ลงมติทั้งสิ้น 747 คน มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 498 คน และสมาชิกวุฒิสภา 249 คน โดยมีผู้ให้ความเห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง ทำให้ ‘เศรษฐา’ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-22082023-18/
76.
วันที่ 22 สิงหาคม 2566: เศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรี พบมวลชนที่มาให้กำลังใจพรรคเพื่อไทย ภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยเศรษฐากล่าวว่า วันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ คนที่ 30 ผมอยากขอขอบคุณประชาชนคนไทยทุกคน พรรคร่วมรัฐบาล สส. และ สว. ทุกท่านที่ร่วมในการโหวตในวันนี้ ผมพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด จะลืมความเหน็ดเหนื่อยที่ผ่านมา ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยทุกคน
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
อ่านข่าว: https://thestandard.co/srettha-thavisin-thanks-the-people/
77.
วันที่ 24 สิงหาคม 2566: เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เข้าหารือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ที่ทำเนียบรัฐบาล ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะเยี่ยมชมภายในตึกไทยคู่ฟ้าและตึกภักดีบดินทร์ โดย พล.อ. ประยุทธ์ ได้มอบแจกันดอกไม้สีม่วงเหลืองแสดงความยินดีที่เศรษฐาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ คนที่ 30 ของไทย พร้อมนำชมและเดินมาส่งเศรษฐาขึ้นรถยนต์
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/srettha-talks-prayut-24082566/
78.
วันที่ 2 กันยายน 2566: ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค สมาชิกกลุ่มแคร์ จัดกิจกรรม Letter to Freedom จดหมายสู่อิสรภาพ ‘Freedom to Be, Freedom to Act’ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง หลังเคยทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ (X) ประกาศว่า “ถ้าเพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐ ผมจะยอมให้เอาขี้ปาหัว” สำหรับกิจกรรมนี้จะเปิดให้มีเวลาในการปาอุจจาระ 11 นาที และทีมงานจะเป็นผู้เตรียมอุปกรณ์ไว้ให้ โดยใช้สถานที่ Mirror Art (มูลนิธิกระจกเงา)
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/letter-to-freedom-duang-duangrit/
79.
วันที่ 11 กันยายน 2566: ที่รัฐสภา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงห้องประชุมรัฐสภา พร้อมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีและทดสอบไมโครโฟน เพื่อแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมีการประชุม 2 วัน คือวันที่ 11-12 กันยายน ทั้งนี้ ถ้อยแถลงนโยบายต่อรัฐสภาคือสาระสำคัญในการวางกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/parliament-policy-110966-5/
80.
วันที่ 26 กันยายน 2566: เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย อยู่ในสภาวะตกใจและไม่พอใจกับคะแนนของการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเทควันโด เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ในรุ่น 49 กิโลกรัมหญิง ในยกที่ 3 เมื่อ กั๊วจิง นักกีฬาจากจีน ได้คะแนนพุ่งไปถึง 23-0 แต้ม ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วินาที จนต้องหยุดการแข่งขัน ก่อนที่ฝ่ายจัดการแข่งขันจะยอมรับว่าเกิดข้อผิดพลาด และทำการปรับคะแนนกลับลงมาเหลือให้นักกีฬาจีนนำ 6-0 แต้ม ก่อนที่เทนนิสจะบุกเข้าใส่ และเป็นฝ่ายชนะไปได้ 12-9 คะแนน เอาชนะไปได้ 2-1 ยก คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์สมัยที่ 2 ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งสุดท้ายของเธอ ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน
ภาพ: ดิษยุตม์ ธนบุญชัย
อ่านข่าว: https://thestandard.co/asian-games-2023-25092023-12/
81.
วันที่ 3 ตุลาคม 2566: เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี แพทองธาร ชินวัตร รองประธาน เดินคู่ลงมาจากตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อมายังตึกสันติไมตรี โดยนายกรัฐมนตรีสวมสูทลายผ้าขาวม้าสีสันสดใส ซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์ชาวไทย พร้อมเปิดเผยว่าตนชอบสีสดใสอยู่แล้ว ขณะที่แพทองธารได้นำผ้าขาวม้ามาผูกที่เอว เช่นเดียวกับคณะทำงานและรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมวันนี้ พร้อมระบุว่าตื่นเต้น เพราะไม่ได้เข้าทำเนียบมาเป็น 17 ปีแล้ว
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/srettha-paethongtarn-03102023/
82.
วันที่ 3 ตุลาคม 2566: รถมูลนิธิกู้ภัยนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากพื้นที่ หลังเกิดเหตุยิงภายในศูนย์การค้าพารากอน โดยเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้ จากการตรวจสอบพบประวัติรักษาจิตเวชอยู่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เรื่องสอบปากคำขอยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเยาวชน ทั้งนี้ ได้นำตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเพื่อสอบปากคำพร้อมสหวิชาชีพ เช่นเดียวกับรายละเอียดที่เกี่ยวกับผู้ก่อเหตุยังไม่ขอเปิดเผย
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/torsak-summarizes-shooting-incident-in-paragon/
83.
วันที่ 5 ตุลาคม 2566: เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักแห่งหนึ่งในเขตทุ่งครุ เพื่อสืบหาความเชื่อมโยงกับคดีเยาวชนอายุ 14 ปีที่ก่อเหตุยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอน หลังมีรายงานว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นสถานที่ผลิตและดัดแปลงอาวุธปืนบีบีกันและแบลงค์กัน พร้อมจับกุม วีระยุทธ์ อายุ 41 ปี และตรวจยึดอุปกรณ์สำหรับผลิตอาวุธปืนรวม 48 รายการ ตำรวจสืบสวนนครบาล 8 ได้ขยายผลการจับกุมผู้ขายอาวุธปืนผ่านช่องทางออนไลน์มานานกว่า 2 เดือน จนพบว่าสถานที่นี้เป็นที่ผลิตปืนแบลงค์กันและลำกล้อง รวมถึงแมกกาซีนบรรจุกระสุน ผลการตรวจค้นพบชุดกันเสียง อุปกรณ์การไลฟ์ และกล่องทดสอบการยิงปืน
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/police-raid-production-site-bb-gun-blank-gun/
84.
วันที่ 11 ตุลาคม 2566: ภาพบรรยากาศท้องฟ้าเปิดโล่งในช่วงยามเย็นบริเวณเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งบนท้องฟ้าจะเห็นก้อนเมฆที่ลอยผสมผสานกับสีของพื้นฟ้าที่เป็นโทนพาสเทล
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/looking-at-the-clouds-on-a-clear-day/
85.
วันที่ 12 ตุลาคม 2566: แม่เข้ากอดลูกชายที่เป็นหนึ่งในแรงงานไทยกลุ่มแรกซึ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศอิสราเอล หลังจากเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ผู้ที่เดินทางกลับมาในวันนี้รวมทั้งสิ้น 41 คน เป็น 15 คนที่ลงทะเบียนกับรัฐบาล และ 26 คนที่จ่ายเงินค่าตั๋วเดินทางกลับเอง
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/thai-workers-returned-to-thailand/
86.
วันที่ 15 ตุลาคม 2566: ครอบครัวสวมกอดแรงงานไทยรายหนึ่งหลังจากเดินทางถึงโรงแรม SC Park ซึ่งมีแรงงานจำนวน 90 ชีวิต ออกเดินทางจากอิสราเอลเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในวันที่ 14 ตุลาคม โดยเปลี่ยนเครื่องที่นครดูไบ เพื่อโดยสารต่อจากนครดูไบมาลงยังสนามบินอู่ตะเภา
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/israel-thai-workers-batch-3-arrive/
87.
วันที่ 21 ตุลาคม 2566: กลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์รวมตัวกันหน้าสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล อาคารโอเชี่ยน ทาวเวอร์ 2 เพื่อแสดงพลังหยุดการเหยียดเชื้อชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฉนวนกาซา และได้ประณามสิ่งที่อิสราเอลก่อขึ้นต่อชาวปาเลสไตน์ตลอด 75 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชาวปาเลสไตน์ รวมถึงกลุ่มเสียงปาเลสไตน์ได้ยืนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตในสงครามเป็นเวลา 1 นาที โดยกลุ่ม PSC Thailand ขอประณามการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมดังกล่าว ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ยังขอประณามการโจมตีฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่องของอิสราเอล โดยอ้างว่าโจมตีฮามาส ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่การโจมตีด้วยอาวุธหนักและทางอากาศจะไม่ก่อเหตุอันทำให้พลเรือนชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากทั้งเด็กและคนชราต้องได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/pro-palestinian-21102566/
88.
วันที่ 21 ตุลาคม 2566: ผู้ที่มาพักผ่อนหย่อนใจแต่งกายเป็นตัวละครจากเรื่อง One Piece ภายในสวนเบญจกิติ โดยกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการปั่นจักรยานน้ำและพายเรือคายัคฟรี รอบละ 1 ชั่วโมง โดยจะเปิดให้ปั่นจักรยานน้ำและพายเรือคายัคได้ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. ส่วนสวนเบญจกิตินั้นเปิดตั้งแต่เวลา 05.00-21.00 น.
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
อ่านข่าว: https://thestandard.co/forget-the-old-benchakitti-park/
89.
วันที่ 24 ตุลาคม 2566: สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และสมาคมชาวยิวแห่งประเทศไทย จัดงานแสดงความสามัคคีของชาวอิสราเอลในประเทศไทย ณ โรงแรม Rembrandt โดยมีทั้งชาวอิสราเอลและชาวไทย พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยและเอกอัครราชทูตจากหลายประเทศไปร่วมงาน ภายในงานมีการฉายภาพของชาวอิสราเอลหลายคนที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป พร้อมทั้งแสดงข้อความเรียกร้องให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันทั้งหมดในทันที
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/israelis-in-thailand-24102023/
90.
วันที่ 29 ตุลาคม 2566: เฌอปราง อารีย์กุล ในงาน Depart’Cher Cherprang BNK48’s Graduation Concert หรือคอนเสิร์ตจบการศึกษาของเฌอปราง ที่จัดขึ้น ณ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี โดยมีแฟนคลับร่วมเก็บเกี่ยวความทรงจำไปพร้อมกับเธอในฐานะสมาชิกวง BNK48 เป็นครั้งสุดท้ายกันอย่างเนืองแน่น ก่อนที่เธอจะออกเดินทางสู่เส้นทางใหม่ในบทบาทชิไฮนิน (ผู้จัดการวง) เต็มตัว
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/departcher-cherprang-bnk48s-graduation-concert-moments/
91.
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566: นักศึกษาศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย นัดรวมตัวทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ยืนยันจะไม่ย้ายออก ย้ำไม่ได้ขัดแย้งกับจุฬาฯ เพราะเป็นพี่น้องรั้วเดียวกัน แต่อยากหารือเพื่อหาทางออก ขณะที่ ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กล่าวว่า อุเทนถวายควรเป็นสถาบันก่อสร้างหลักของประเทศไทย เป็นมรดก เป็นสิ่งที่ใครก็ซื้อเวลา 90 กว่าปีไปไม่ได้
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/uthenthawai-gathered/
92.
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566: เกิดเหตุรถบรรทุก 10 ล้อ ซึ่งบรรทุกดินเหนียวสำหรับสร้างสิ่งปลูกสร้าง ตกลงไปในหลุมจากพื้นถนนบริเวณด้านหน้าซอยสุขุมวิท 64/1 ที่เกิดทรุดตัวลงกะทันหัน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่พร้อม วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขตพระโขนง เพื่อตรวจสอบเหตุที่เกิดขึ้น ชัชชาติเปิดเผยในการลงพื้นที่ว่า ผิวจราจรที่มีการทรุดตัวเป็นด้านบนของบ่อที่เป็นโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งเวลากลางวันจะปิด และจะเปิดเพื่อทำงานในเวลา 22.00-05.00 น. โดยฝาปิดจะเป็นแผ่นคอนกรีตหล่อวางปิดเป็นพื้นถนน ซึ่งจะเป็นคนละรูปแบบกับที่เกิดเหตุที่มักกะสัน
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/road-covering-collapses-under-truc/
93.
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566: นักเรียนโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์วางดอกไม้ไว้อาลัยแก่การสูญเสียและระลึกถึง ‘ครูเจี๊ยบ’ จากเหตุคนร้ายก่อเหตุไล่ยิงกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย แต่ปรากฏว่ากระสุนพลาดไปโดนครูเจี๊ยบ ครูสอนคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ที่เดินไปกดเงินหน้าตู้ธนาคารบนถนนสุนทรโกษา เขตคลองเตย เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีก 1 คน
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/shc-parent-student-mourn-flower-to-sirada-sinprasert/
94.
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566: กราฟฟิตี้รูปหน้า อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปรากฏคำว่า Soft Power อยู่บนหน้าผาก ที่บริเวณผนังกำแพงของร้านศรีสุกิจ ซอยช้างเผือก 6 ทางเข้าวัดกู่เต้า ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่สร้างผลงานนี้คือศิลปินแนวสตรีทอาร์ตที่ใช้ชื่อว่า Lucky Leg ใช้เทคนิคการพ่นเป็นสีเนกาทีฟ หากต้องการชมภาพอีกมิติต้องใช้โปรแกรมตกแต่งภาพปรับให้เป็นสีเหมือนจริง
ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ
อ่านข่าว: https://thestandard.co/graffiti-paetongtarn-chiang-mai/
95.
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566: แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอันดับ 1 Miss Universe 2023 ตัวแทนสาวไทยเข้าร่วมการประกวดนางงามจักรวาลครั้งที่ 72 ที่กรุงซานซัลวาดอร์ สาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์ นั่งรถ Rolls-Royce เปิดประทุนที่ใช้ในการแห่เฉลิมฉลองตำแหน่งจากท้องฟ้าจำลองไปยังอุทยานเบญจสิริ ถนนสุขุมวิท โดยมีแฟนนางงามจำนวนมากมายืนรอและส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
อ่านข่าว: https://thestandard.co/anntonia-porsild-26112023-4/
96.
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566: การลอยกระทงดิจิทัลผ่าน Projection Mapping ที่กรุงเทพมหานครจัดให้ประชาชนในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ โดยความพิเศษของกระทงที่ลอยบนผืนผ้าใบโปรเจกเตอร์ในคลองโอ่งอ่าง บริเวณสะพานบพิตรพิมุข คือทุกคนสามารถระบายสีให้กับกระทงดิจิทัลของตัวเองบนรูปกระทงที่จัดเตรียมไว้ให้ พร้อมทั้งเขียนชื่อ เขียนคำขอพร แล้วสแกนภาพฉายเป็นแสงไฟ ลอยลงไปยังคลองโอ่งอ่างได้ทันที กิจกรรมนี้เป็นความตั้งใจของกรุงเทพมหานครที่อยากออกแบบแนวทางการอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมของไทยถ่ายทอดออกมาในรูปแบบใหม่ที่ดีต่อโลก ด้วยการลดขยะในแม่น้ำลำคลองของเทศกาลนี้
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/loy-krathong-digital/
97.
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566: เจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อมเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยาในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2566 บริเวณใต้สะพานพระปกเกล้า โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดเก็บกระทงตามแผนการปฏิบัติงาน เพื่อไม่ให้ขยะตกค้างในแหล่งน้ำ โดยแบ่งพื้นที่การจัดเก็บกระทงดังนี้ สำนักงานเขตจัดเก็บกระทงในสวนสาธารณะและพื้นที่จัดงานในพื้นที่เขต, สำนักการระบายน้ำจัดเก็บกระทงในคูคลองและบึงรับน้ำ, สำนักสิ่งแวดล้อมจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงสะพานพระราม 9 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/bangkok-collect-krathong-garbage/
98.
วันที่ 1 ธันวาคม 2566: เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานของจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเก็บซากกระทงที่ติดค้างอยู่บริเวณด้านหน้าประตูระบายน้ำท่าวังตาล ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตามโครงการเมืองสะอาด คนในชาติมีสุข เพื่อคืนน้ำใสให้แม่น้ำปิง โดยขยะมูลฝอยและซากกระทงที่เกิดขึ้นในช่วงประเพณียี่เป็ง 2566 ในแม่น้ำปิง พบว่ามีกระทงน้ำหนักประมาณ 33 ตัน คิดเป็นจำนวนกระทงกว่า 52,000 ใบ เมื่อเทียบกับปี 2565 มีจำนวน 30 ตัน แต่วัสดุที่ใช้ทำกระทงส่วนใหญ่เป็นวัสดุธรรมชาติมากถึงร้อยละ 95 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการเก็บกระทงแล้วเสร็จภายใน 2-3 วัน
ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ
อ่านข่าว: https://thestandard.co/collecting-krathongs-from-yi-peng-fest/
99.
วันที่ 1 ธันวาคม 2566: เจ้าหน้าที่ตำรวจอรินทราช 26 ประจำการเฝ้าระวังเหตุทะเลาะวิวาทของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และบุคคลที่ไม่หวังดี ในช่วงที่มีการฉายภาพยนตร์ 4KINGS2 ที่บริเวณสกายวอล์กปทุมวัน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 (บกน.6) เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) ยืนรักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณใกล้เคียงเช่นกัน
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/police-4-kings-2-pathumwan-skywalk/
100.
วันที่ 5 ธันวาคม 2566: รถจักรยานยนต์นับร้อยคันที่มีผู้ขับขี่หลากหลายวัย แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นวัยรุ่นทั้งชายและหญิง ได้รวมตัวกันบริเวณถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และรอบๆ ถนนราชดำเนิน เพื่อมาดูไฟประดับบริเวณดังกล่าว ทำให้การจราจรติดขัดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามที่ประจำการอยู่ในพื้นที่ได้เข้าระงับเหตุ โดยขอความร่วมมือให้แยกย้ายกลับบ้าน และจับกุมรถจักรยานยนต์ที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนและไม่พกเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของตัวรถ หรือไม่ติดกระจกมองข้างได้อย่างน้อย 4 คัน โดยในวันที่ 5 ธันวาคมของปีที่ผ่านมา มีการนัดหมายในลักษณะนี้ และในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ตำรวจจึงได้วางกำลังป้องกันเหตุตั้งแต่ช่วงค่ำ
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อ่านข่าว: https://thestandard.co/motorcycle-gathering-at-ratchadamnoen/