×

EXCLUSIVE: World Bank เชื่อ ราว 10 ปีไทยจะขึ้นเป็น ‘ประเทศรายได้สูง’ คาด GDP ปีนี้กลับสู่ระดับศักยภาพ

03.03.2024
  • LOADING...
ประเทศรายได้สูง

World Bank ประเมินว่า ไทยมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่หนทางดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความพยายามมหาศาลและต้องเกิดการปฏิรูปในหลายส่วน นอกจากนี้ยังแนะรัฐบาลและแบงก์ชาติให้ทำงานร่วมกัน และตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลประกอบ

 

เศรษฐกิจไทยจ่อกลับไปเติบโตในระดับศักยภาพปีนี้

 

Ayhan Kose รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการ The Prospects Group ของธนาคารโลก (World Bank) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD WEALTH ว่า GDP ไทยในปีนี้ (2567) จะกลับไปเติบโตในระดับศักยภาพ หรือราว 3% หลังจากเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาตั้งแต่ปี 2562 หรือตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด

 

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า GDP ไทยในปี 2566 ขยายตัวราว 1.9% เท่านั้น นับเป็นการขยายตัวที่ไม่เต็มระดับศักยภาพที่หลายหน่วยงานรวมถึง World Bank ประเมินไว้ว่าจะอยู่ที่ราว 3% เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

 

ไทยจะโตระดับศักยภาพหรือสูงกว่าได้อย่างไร

 

เพื่อให้ไทยกลับไปโตแตะระดับศักยภาพ (Potential GDP Growth) อย่างยั่งยืน หรือสูงขึ้น Ayhan Kose แนะนำว่า ไทยควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังนี้

 

  • เร่งเพิ่มการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนภาคเทคโนโลยี และเปลี่ยนเศรษฐกิจไปสู่ภาคดิจิทัลมากขึ้น
  • ลดขนาดเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sector) เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล และเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เนื่องจากนโยบายการคลัง ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ รัฐบาลจำเป็นต้องค้นหาวิธีเพิ่มรายได้และทำให้การใช้จ่ายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • จัดการกับความท้าทายทางประชากรศาสตร์ (Demographic Challenges) ซึ่งรวมไปถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) โดยหนึ่งในข้อแนะนำเบื้องต้นเพื่อจัดการกับความท้าทายนี้คือ การเพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรีและผู้สูงอายุในตลาดแรงงาน รวมไปถึงกำลังแรงงาน (Labour Force) ปัจจุบันให้เข้ากับเศรษฐกิจใหม่ (New Economy)

 

‘ไทย’ กับเส้นทางสู่การเป็นประเทศรายได้สูง 

 

Ayhan Kose กล่าวอีกว่า ไทยมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงในช่วงปลายๆ ทศวรรษที่ 2030 หรืออาจเกิดขึ้นเร็วกว่านั้นหากไทยมีนโยบายที่ครอบคลุมและน่าเชื่อถือ 

 

แต่ก็เตือนว่า การออกจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปสู่ประเทศรายได้สูงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการเปลี่ยนโครงสร้างรายได้ประเทศ ‘ต้องใช้ความพยายามมหาศาล’

 

“ไม่มีประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วประเทศใดก้าวขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วได้ในชั่วข้ามคืน และสิ่งสำคัญคือ รัฐบาลและหน่วยงานด้านการเงินต้องพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการปฏิรูปโครงสร้าง เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตในแง่ใดได้บ้าง”

 

นอกจากนี้ “เมื่อพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดำเนินการปฏิรูปการคลัง การปฏิรูปด้านการเงิน การปฏิรูปโครงสร้าง และความท้าทายด้านประชากร จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทย” Ayhan Kose กล่าว

 

มุมมองต่อประเด็นระหว่างรัฐบาลและแบงก์ชาติ

 

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ฝั่งรัฐบาลไทยซึ่งรวมไปถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมากดดันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากต้องการให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อพยุงเศรษฐกิจ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นต่างเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมทั้งแนะนำให้รัฐบาลปรับโครงการดังกล่าวให้เฉพาะกลุ่ม (Targeted) เป็นต้น

 

Ayhan Kose กล่าวถึงการแทรกแซงทางนโยบาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกว่า เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป เนื่องจากรัฐบาลและธนาคารกลางต่างมีหน้าที่และบทบาทของตัวเอง

 

อย่างไรก็ดี Ayhan Kose แนะนำให้ทางการไทยคำนึงถึงข้อดีและข้อเสียของการแทรกแซงทางนโยบาย รวมไปถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ผลกระทบด้านงบประมาณ หรือผลกระทบด้านเสถียรภาพทางราคา

 

“หวังว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะทำงานร่วมกัน ประเมินและตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลประกอบเป็นส่วนใหญ่”

 

ฟังสัมภาษณ์แบบเต็มๆ ได้ที่

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising