เยนอ่อนค่าหนักสุดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง เหตุตลาดผิดหวัง หลัง BOJ ไร้สัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ ด้านนักวิเคราะห์มอง ยากแตะระดับ 23 บาทต่อ 100 เยน เหตุ BOJ มีโอกาสเคลื่อนไหวในไตรมาส 3 ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐจ่อหมดรอบแข็งค่า
ตามข้อมูลจาก Trading Economics แสดงให้เห็นว่า วันนี้ (2 พฤษภาคม) เงินเยนอ่อน เมื่อเทียบกับบาทอ่อนค่าไปแตะ 24.79 บาทต่อ 100 เยน หนักสุดนับตั้งแต่ปี 1997 ซึ่งเป็นช่วงเกิดวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยตอนนั้นอยู่ที่ราว 24.70 ต่อ 100 เยน
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่าปัจจัยที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าหนักในวันนี้ สืบเนื่องมาจากช่วงสัปดาห์ที่แล้วธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ติดลบ) ไว้เหมือนเดิม และไม่ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (YCC) สวนทางกับตลาดที่คาดหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้าง
นอกจากนี้ BOJ ยังไม่ได้ส่งสัญญาณการเปลี่ยนนโยบายที่ชัดเจน ตลาดจึงมองว่า BOJ จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง เงินเยนจึงอ่อน ท่ามกลางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 พฤษภาคม) ตามเวลาประเทศไทย หลังข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้
โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าอย่างหนักเมื่อเทียบกับบาทวันนี้ (2 พฤษภาคม) ก็มาจากการอ่อนค่าของเงินเยนเป็นหลัก เนื่องจากบาทค่อนข้างเคลื่อนไหว Sideway
เงินเยนมีโอกาสอ่อนค่าอีกหรือไม่?
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เงินเยนเมื่อเทียบบาทมีโอกาสอ่อนค่าอีกหรือไม่ พูนมองว่า เวลาเงินเยนอ่อนเยอะๆ เงินบาทมักเอาไม่อยู่เหมือนกัน เนื่องจากจะอ่อนตามไปด้วย ดังนั้นตัวเลข 23 บาทต่อ 100 เยนอาจไม่ถึง
โดยหากดูผลประชุมล่าสุดของ BOJ มีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อขึ้น นับเป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่งแล้วว่า BOJ เริ่มกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ขณะที่แถลงการณ์ก็ย้ำว่าสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายได้ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจเป็นการปูทางไปสู่การดำเนินการบางอย่างในการประชุมครั้งต่อไปก็ได้
แต่หากการประชุมครั้งต่อไปของ BOJ ในวันที่ 15-16 มิถุนายน และ 27-28 กรกฎาคม BOJ ไม่ดำเนินการใดๆ เหมือนเดิม เงินเยนอาจจะอ่อนค่าอีกได้ อย่างไรก็ตาม เงินเยนเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ อาจมีปัจจัยจากเงินดอลลาร์สหรัฐเองที่กำลังจะจบรอบการแข็งค่าแล้ว เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในสัปดาห์นี้ แล้วส่งสัญญาณไม่ขึ้นต่อ ดอลลาร์สหรัฐอาจค่อยๆ อ่อนค่าลงได้
ปัจจัยอื่นที่ต้องจับตา
นอกจากนี้ พูนยังชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมามีปัจจัยที่ทำให้เงินเยนแข็งค่าคือ การไหลเข้าของ Fund Flow สอดคล้องกับตลาดหุ้นญี่ปุ่นในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นม้ามืด เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลประกอบการ (Earnings) ของบริษัทญี่ปุ่น และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น การส่งเงินของนักลงทุนและบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่นที่ไปลงทุนในต่างประเทศกลับประเทศในจังหวะที่เกิดความผันผวนก็ทำให้เยนแข็งค่าขึ้นได้ นอกจากนี้ ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตา
“จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าเวลาที่ผู้คนกังวลเรื่องปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ แม้การเจรจาจะจบลงได้ทุกครั้ง แต่ช่วงที่การเจรจายังไม่จบผู้คนก็มักจะไปถือเงินเยน ฟรังก์สวิส และทองคำ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Heven)” พูนกล่าว พร้อมระบุอีกว่า “ผมอาจจะมองต่างจากตลาด เนื่องจากตลาดมองว่า BOJ ไม่ขยับอะไรเลยในปีนี้ แต่ผมมองว่าโอกาสที่ BOJ ขยับจะมาช่วงไตรมาส 3 อาจจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยหรือ YCC ก็ได้ โดยประเมินไว้ ณ สิ้นปี เยนน่าจะอยู่ที่ราว 125 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ”
สำหรับคนที่ต้องซื้อเยน ทั้งนักท่องเที่ยว บริษัทเอกชน ผู้นำเข้า พูนระบุว่า การซื้อเงินเยนในระดับนี้ถือว่า ‘ถูก’ โดยสามารถทยอยซื้อปิดความเสี่ยงได้ หรือนักลงทุนที่ต้องการซื้อสินทรัพย์ในญี่ปุ่นตอนนี้ก็ถือว่าได้อัตราที่ดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ญี่ปุ่นไม่ต้องการนักท่องเที่ยวอีกต่อไป? ราคาตั๋ว JR Pass จะปรับราคาขึ้นรวดเดียวเกือบ 70% ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป
- จากบริษัทอเมริกันพลิกผันสู่บริษัทญี่ปุ่น: ชีวิตล้มลุกของอาณาจักร 7-Eleven และบทเรียนวิชาการจัดการจาก ‘มาซาโตชิ อิโตะ’
- ตั๋วเครื่องบินราคาถูกหายากขึ้น แต่นักท่องเที่ยวก็ไม่หวั่น! ทำยอดจองสายการบินกลับมาโตกระฉูด โดยเฉพาะวันหยุดยาว