×

จากบริษัทอเมริกันพลิกผันสู่บริษัทญี่ปุ่น: ชีวิตล้มลุกของอาณาจักร 7-Eleven และบทเรียนวิชาการจัดการจาก ‘มาซาโตชิ อิโตะ’

22.04.2023
  • LOADING...
อาณาจักร 7-Eleven

HIGHLIGHTS

  • การจากไปของ ‘มาซาโตชิ อิโตะ’ ที่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้เรื่องราวของแบรนด์ค้าปลีกอย่าง 7-Eleven ถูกกล่าวขานถึงอีกครั้ง บทความส่วนใหญ่ไฮไลต์ที่ประสบการณ์ในวงการค้าปลีกของอิโตะที่ได้ก่อตั้งเครือข่ายร้านขายของชำซึ่งกลายเป็นรากฐานของอาณาจักรค้าปลีกที่มีมูลค่ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยไม่ได้เน้นที่เรื่องราวชีวิตพลิกผันของ 7-Eleven ซึ่งเป็นที่มาของหลายบทเรียนด้านการจัดการที่มืออาชีพทั่วโลกได้เรียนรู้ในวันนี้
  • เสน่ห์ของการเล่าเรื่อง 7-Eleven คือการเกิดขึ้นมาในฐานะบริษัทอเมริกันแล้วถูกเปลี่ยนแปลงเป็นบริษัทญี่ปุ่น การล้มแล้วลุกทำให้ 7-Eleven ได้ชื่อว่าเป็นกรณีศึกษาชั้นยอดที่พิสูจน์ได้ว่าการบริหารสไตล์ญี่ปุ่นของอิโตะนั้นทรงพลัง จนทำให้ยอดขายในสหรัฐอเมริกาเพียงแห่งเดียวเคยพุ่งกระฉูดแตะ 6.80 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีในช่วงก่อนโควิด
  • บทเรียนวิชาการจัดการที่ มาซาโตชิ อิโตะ มอบไว้ให้โลกผ่านการบริหาร 7-Eleven นั้นมีหลายบท แต่หนึ่งในบทที่โดดเด่นที่สุดคือ ‘การต่อสู้ยกแรกที่ต้องชนะให้ได้คือการต่อสู้กับตัวเอง’ เพราะ 7-Eleven ต้องเอาชนะแบบแผนการค้าปลีกดั้งเดิม รวมถึงต้องก้าวข้ามข้อจำกัดในการรับรู้ของผู้คนหรือชุมชนที่มีอคติ กลายเป็นความสำเร็จที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์ ความอ่อนน้อมถ่อมตน การเคารพความหลากหลาย และการยอมรับอย่างเป็นกลางของผู้นำองค์กร ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ธุรกิจปัจจุบันควรเรียนรู้และสะสมไว้อย่างต่อเนื่อง

7-Eleven เป็นแบรนด์ระดับโลกที่โดดเด่นแต่เริ่มต้นอย่างสมถะในปี 1927 เมื่อจอห์น เจฟเฟอร์สัน กรีน พนักงานของบริษัท Dallas Southland Ice Company ได้เสนอไอเดียกับหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทคือ โจ ซี. ทอมป์สัน ด้วยแนวคิดขยายการค้าปลีกน้ำแข็ง ผ่านธุรกิจที่จะขายสินค้าอื่นคู่ไปด้วยให้หลากหลายมากขึ้น

 

แม้บริษัทน้ำแข็ง Southland Ice Company จะประสบภาวะล้มละลายในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ช่วงปี 1932 แต่บริษัทสามารถฟื้นตัวจากการล้มครั้งแรกขึ้นมาได้ด้วยการกู้ยืมทุนผ่านพันธบัตรบริษัทและนักลงทุน โดยสามารถขายผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลายมากขึ้น และมีการจัดหาน้ำแข็งให้กับกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ในที่สุด Southland Ice Company ได้สปินออฟบริษัท Southland Corporation โดยก่อตั้งขึ้นในปี 1945 มีการขยายสาขาและเพิ่มเวลาให้ร้านค้าเปิดให้บริการนานขึ้นทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-23.00 น. ทำให้เกิดชื่อแบรนด์ว่า 7-Eleven

 

เวลานั้นธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยรูปแบบแฟรนไชส์ในช่วงปี 1964 จนมีการเปิดสาขาในระดับโลกที่แคนาดาในปี 1969 ซึ่งร้านค้าที่เปิดขายตลอด 24 ชั่วโมงนั้นมีการขายน้ำมันสำหรับรถด้วย

 

ในปี 1972 Southland Corporation ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก

 

 

ตัดภาพมาที่กลุ่ม Ito-Yokado ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากร้านเสื้อผ้า Yokado ของ โตชิโร โยชิกาวา ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น น่าเสียดายที่ร้านแรกถูกไฟไหม้ในสงคราม จนต้องตัดสินใจสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ และย้ายไปที่คิตะเซ็นจูในปี 1945

 

จังหวะนี้เอง ฝั่ง ‘อิโตะ’ หลานชายของโยชิกาวาก็ได้ศึกษารูปแบบธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาและยุโรปในช่วงทศวรรษที่ 1960 และนำความรู้กลับมาเพื่อสร้างซูเปอร์สโตร์ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในญี่ปุ่น โดยบริษัท Ito-Yokado Co. Ltd. ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 และจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในปี 1972 ซึ่งสะท้อนถึงธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้นภายใต้ร่มเงาของบริษัท 

 

และแล้วก็ถึงช่วงเวลาลมเปลี่ยนทิศของ 7-Eleven เพราะ Southland Corporation เกิดปั่นป่วนสุดขีดหลังจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาเกือบ 15 ปี ด้วยนโยบายของครอบครัวทอมป์สันที่ใช้เส้นทางเพิ่มทุนผ่านการกู้ยืมจำนวนมาก Southland Corp. จึงได้ประกาศข้อเสนอซื้อหุ้นในราคาพรีเมียมที่ดึงดูดให้นักลงทุนสนใจอย่างมากในปี 1987 แต่แล้วก็ต้องเผชิญกับการล้มละลายในที่สุด

 

วิกฤตของ Southland Corp. ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเกิดเหตุแบล็กมันเดย์ (Black Monday) วันจันทร์ทมิฬในปี 1987 ที่นักลงทุนพากันขายหุ้นเพื่อหนีตายในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท จนดัชนีดาวโจนส์เกิดการปรับตัวลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 

 

ความผิดพลาดของตลาดหุ้นนี้ทำให้เกิดสถานการณ์โคม่าที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก จนการกู้ยืมเงินแบบเลเวอเรจฉุดให้ Southland Corporation ต้องอยู่ภายใต้หนี้สินจำนวนมาก บีบคั้นให้บริษัทต้องยื่นขอล้มละลายในปี 1990

 

หลังจากตลาดหุ้นพังครืนในปี 1987 ธุรกิจจำนวนมากในสหรัฐอเมริการวมถึง 7-Eleven ต่างประสบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน 7-Eleven ที่ญี่ปุ่นกลับทำธุรกิจแฟรนไชส์ได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งในแง่การดำเนินงานและเงินสดสำรองตลอดหลายปี 

 

โดยภายในปี 1988 ยอดขายของ Ito-Yokado นั้นทะลุหลักหนึ่งล้านล้านเยน (มากกว่า 2.5 แสนล้านบาท) สถานะนี้ทำให้ช่วงหลังจาก Southland Corporation ยื่นขอล้มละลายในเดือนตุลาคม 1990 แฟรนไชส์สัญชาติญี่ปุ่น Seven-Eleven Japan ในเครือ Ito-Yokado จึงได้เข้าถือหุ้นบริษัทมากกว่า 70% โดยครอบครัวทอมป์สันยังคงถือหุ้น 5% 

 

เวลานี้เองที่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นได้นำสุดยอดวิชาการบริหารมาปรับใช้และทำให้ธุรกิจ 7-Eleven ในสหรัฐฯ ทำกำไรได้ เป็นการพลิกฟื้นให้ธุรกิจ 7-Eleven ในสหรัฐอเมริกาสามารถลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ก่อนที่ปี 1999 บริษัท Southland Corporation จะเปลี่ยนชื่อเป็น 7-Eleven Inc. ในที่สุด

 

 

ปฏิกิริยาหลากหลาย

การเข้าถือหุ้น Southland Corp. ของ Ito-Yokado นั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะปฏิกิริยาในช่วงแรก (ยุคปี 1990) นั้นไม่ได้มีแต่เชิงบวก เนื่องจากการที่ทุนญี่ปุ่นเข้ามาครอบครองแบรนด์สัญลักษณ์ของสังคมอเมริกันนั้นไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดี 

 

อย่างไรก็ตาม สื่ออเมริกันต่างยกย่องว่าความสำเร็จของ Ito-Yokado และ 7-Eleven ในสหรัฐฯ นั้นมาจากหลายปัจจัย ทั้งเงินสดสำรองมูลค่าสูงที่สะท้อนถึงสายป่านที่ยาวพอ และยังมีอัตราส่วนสินทรัพย์ต่อหนี้สินที่สูงในระดับสุขภาพดี การคาดการณ์ที่แม่นยำ ประสิทธิภาพการดำเนินงาน การจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีประสิทธิภาพหลังการควบรวมกิจการ และการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ตรงนี้ต้องยกความดีให้กับความเฉียบแหลมทางธุรกิจของอิโตะที่ได้รับอิทธิพลจากมิตรภาพของอิโตะกับ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการผู้ล่วงลับไปแล้ว และเคยยกให้อิโตะเป็น ‘ผู้ประกอบการและนักสร้างธุรกิจที่โดดเด่นคนหนึ่งของโลก’

 

ความโดดเด่นของอิโตะเกิดได้เพราะการมองเห็นกลุ่มตลาดที่ชัดเจน เห็นได้จากบทสัมภาษณ์ในวารสารการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (The Journal of Japanese Trade and Industry) ที่อิโตะกล่าวไว้ในปี 1988 ว่าหลังจากเดินทางไปสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในช่วงปี 1960 อิโตะรู้สึก ‘ช็อกทางวัฒนธรรม’ เพราะผู้คนในสหรัฐอเมริกาดูเหมือนจะร่ำรวยไปหมดเสียทุกคน 

 

ซึ่งแตกต่างจากญี่ปุ่นที่กำลังฟื้นตัวจากผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้น อิโตะจึงเริ่มตระหนักถึงความใหญ่ หรือที่อิโตะใช้คำว่า ‘ขนาดที่แท้จริง’ ของสังคมผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา และพยายามหาเทคนิคการจัดจำหน่ายที่ทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้

 

 

บทเรียนจาก ‘อิโตะ’

บทสัมภาษณ์ของอิโตะในช่วงเวลานั้นสะท้อนว่าความสามารถในการประเมินสถานการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลนั้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยอิโตะบอกว่าจากที่ได้สัมผัสตลาดอเมริกัน อิโตะก็นึกขึ้นได้ว่าผู้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันจะยังคงมีความต้องการโดยพื้นฐานเหมือนกัน ซึ่งหลังจากที่สมมติเอาว่ามนุษยชาติต่างมีการพัฒนาเหมือนกัน อิโตะจึงคิดว่าระบบการจัดจำหน่ายของญี่ปุ่นจะมีพัฒนาการเป็นเหมือนของอเมริกามากขึ้นเมื่อสังคมผู้บริโภคของญี่ปุ่นเติบโตขึ้น

 

มุมมองน่าสนใจจากบทสัมภาษณ์ของอิโตะยังมีหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคืออิโตะมองว่าการค้าปลีกเป็นส่วนติดต่อระหว่างภาคการผลิตและการบริโภค ดังนั้น การค้าปลีกจะเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานที่ดีให้ภาคการผลิตได้ และแทนที่จะมัวแต่คิดว่าต้องทำอย่างไรจึงจะขายสินค้าที่ผลิตออกมาแล้วได้ องค์กรจำเป็นต้องตอบให้ได้ว่าลูกค้าคือใคร และลูกค้าเหล่านั้นต้องการอะไร

 

อิโตะยังเป็นคนที่มองเห็นช่องโหว่ในระบบเดิม ในบทสัมภาษณ์มีการวิจารณ์ว่า การยึดติดกับวิธีการกระจายสินค้าแบบดั้งเดิมจะทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถตอบโจทย์การเติบโตของยุคแห่งการบริโภคนิยมได้ ขณะเดียวกัน อิโตะยังมองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความเท่าเทียมกัน ซึ่งบางครั้งก็มักมาจากการเสียสละผลประโยชน์อื่นด้วย

 

ในเวลานั้น อิโตะยังบอกตรงไปตรงมาว่าบริษัทในยุโรปและอเมริกาที่พยายามส่งออกสินค้าไปยังประเทศญี่ปุ่นนั้นควรผลิตตามความต้องการเฉพาะของตลาดญี่ปุ่น โดยเฉพาะการผลิตคู่มือที่คนญี่ปุ่นสามารถอ่านได้

 

แนวคิดเหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของสิ่งที่ มาซาโตชิ อิโตะ ทำไว้ในชีวิตอัศจรรย์ของอาณาจักร 7-Eleven เพราะยังมีรากฐานใหญ่อย่างการมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมและส่งมอบสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ในเวลาและสถานที่ที่ลูกค้าต้องการอย่างต่อเนื่อง 

 

ฐานใหญ่นี้เองที่ทำให้ 7-Eleven เป็นแบรนด์ที่จำหน่ายทุกอย่างตั้งแต่โยเกิร์ตไปจนถึงอาหารสำเร็จรูปรวมถึงยารักษาโรค และกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมร้านสะดวกซื้อของโลกที่เรารู้จักในทุกวันนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising