×

ราคาน้ำมันดิบโลกดิ่งหนัก 8% กังวลเศรษฐกิจถดถอยฉุดดีมานด์ ด้านค่าเงินยูโรร่วงต่ำกว่าดอลลาร์ครั้งแรกในรอบ 20 ปี

14.07.2022
  • LOADING...
ราคาน้ำมันดิบโลก

ราคาน้ำมันโลกยังคงปรับตัวร่วงลงอย่างต่อเนื่อง หลังมีสัญญาณภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่งและเบอร์สองของโลกอย่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งสหรัฐฯ ก็คืออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับกว่า 9% ในเดือนมิถุนายน ขณะที่จีนก็ยังคงเผชิญกับการระบาดอีกระลอกของโรคโควิด จนต้องงัดมาตรการล็อกดาวน์ออกมาใช้ ส่งผลให้เหล่าเทรดเดอร์ทั้งหลายต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น หมดความอยากที่จะเดิมพันลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง

 

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสได้ปรับตัวลดลงไปแล้วมากกว่า 8% จนสู่ระดับต่ำกว่า 98 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ต่างกังวลว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะลดลง เพราะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และสถานกาณ์โควิดระบาดในจีน

 

ขณะเดียวกัน สภาพคล่องที่ลดลงก็ทำให้การเคลื่อนไหวของราคารุนแรงขึ้นเช่นกัน บรรดาผู้จัดการด้านการเงินทั้งหลายเริ่มกวดขันกับการซื้อขายน้ำมันในตลาดมากขึ้น โดยลดสถานะซื้อสุทธิในสัปดาห์ที่แล้วจนเหลือต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2020

 

Rebecca Babin ผู้ค้าพลังงานอาวุโสที่ CIBC Private Wealth Management กล่าวว่า ความผันผวนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งผลให้การซื้อน้ำมันเพื่อเก็งกำไรมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อีกทั้งการล่มสลายของสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ยังลดความอยากของนักลงทุนในตลาดน้ำมันดิบที่มีอุปทานจำกัดอยู่แล้วก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความกลัวว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หน่วยงานด้านพลังงานหลายแห่งทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความตึงตัวของอุปทานน้ำมันยังมีแนวโน้มแย่ลงอีก โดย Fatih Birol กรรมการบริหารของ IEA กล่าวว่า วิกฤตการณ์พลังงานโลกในขณะนี้ยังไม่เลวร้ายจนถึงขีดสุด ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ OPEC ที่ระบุว่า ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงปี 2023 ทางกลุ่มยังมองไม่เห็นสัญญาณคลายความตึงเครียดต่อสถานการณ์น้ำมันในปัจจุบัน

 

ในส่วนของสหรัฐฯ ด้วยข้อจำกัดด้านอุปทาน ทางการสหรัฐฯ จึงได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของการผลิตน้ำมันว่าจะลดลงตลอดทั้งปี 2023 เพราะอัตราเงินเฟ้ดฉุดดีมานด์ บวกกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

 

นับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะนักลงทุนต่างกังวลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการที่ Fed ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

 

โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนสิงหาคมปรับตัวลดลง 8.25 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 95.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในตลาดนิวยอร์ก ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนกันยายน ปรับตัวร่วงลง 7.61 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 99.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

 

นักวิเคราะห์ต่างจับตามองความเคลื่อนไหวในตลาดน้ำมันโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทริปเยือนภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยประธานาธิบดีไบเดนมีเป้าหมายเพื่อคุมราคาพลังงาน ไม่ให้พุ่งสูงจนกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมได้

 

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ได้ทำให้บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนทวีความกังวลเพิ่มมากขึ้น หลังจากเกิดภาวะ Inverted Yield Curve ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีอยู่เหนือระดับ 3% และสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 5 ปี และ 10 ปี ท่ามกลางความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญภาวะถดถอยจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังคงขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

โดยเมื่อวานนี้ (13 กรกฎาคม) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 3.012% ซึ่งสูงกว่าพันธบัตรอายุ 5 ปี ที่อยู่ที่ระดับ 2.981% และสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.923%

 

ทั้งนี้ ภาวะ Inverted Yield Curve ในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ คือการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ได้ว่าสหรัฐฯ มีแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยค่อนข้างชัดเจนแน่นอนแล้ว

 

ที่ผ่านมาภาวะ Inverted Yield Curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากการที่ Fed เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อจนเกิดภาวะถดถอย

 

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า Fed สาขาแอตแลนตา ได้เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัว 1.2% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.9%

 

ตัวเลขคาดการณ์ GDPNow บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวในไตรมาส 2 รุนแรงน้อยกว่าไตรมาส 1 ซึ่งหดตัว 1.6% แต่ก็แสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เข้าเกณฑ์การเกิดภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

 

ขณะเดียวกัน ตลาดจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมิถุนายนในวันพุธ (13 กรกฎาคม) ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าดัชนี CPI พุ่งขึ้น 8.8% สูงกว่าระดับ 8.6% ของเดือนพฤษภาคม

 

นอกจากนี้ในส่วนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน บรรดานักลงทุนต่างจับตามองไปที่ค่าเงินยูโรที่ปรับตัวอ่อนค่าลงแรงสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยล่าสุดในการซื้อขายเมื่อวานนี้ (13 กรกฎาคม) ค่าเงินยูโรปิดตลาดปรับตัวต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2002 คือ 1 ยูโร มีมูลค่าเท่ากับ 0.9998 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ทางการสหรัฐฯ เปิดตัวตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนมิถุนายน ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ สะท้อนได้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ได้ผลแม้แต่น้อย และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ Fed จำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอีก

 

ค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าหนักครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นความกลัวของนักลงทุนที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรป ซึ่งในขณะนี้ไม่ว่าจะมองไปข้างหน้าอย่างไรก็ยังคงมืดมนอยู่ แถมยังมีปัจจัยลบที่จะทำให้เงินเฟ้อยุโรปเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากความเป็นไปได้ที่ทางการรัสเซียจะหยุดส่งก๊าซมายังยุโรปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

 

ถามว่าทำไมการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติกจึงน่าสนใจ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เป็นเพราะทิศทางดังกล่าวทำให้เงินดอลลาร์น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุน

 

Stuart Cole หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระดับมหภาคของ Equiti Capital ในกรุงลอนดอน อธิบายว่า เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจของยุโรปในขณะนี้ ที่ต้องเผชิญทั้งแนวโน้มขาดแคลนพลังงานจนต้องใช้มาตรการปันส่วน ภาวะ Stagflation และภาวะ Recession ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ค่าเงินยุโรปจะอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง

 

Cole ระบุอีกว่า ปัจจัยข้างต้นจะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ยากขึ้น ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ กว้างขึ้น

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการนำเงินยูโรมาใช้อย่างเสรีในปี 1999 นักวิเคราะห์ชี้ว่า แทบจะนับครั้งได้ที่ค่าเงินยูโรร่วงลงอ่อนกว่าสกุลเงินดอลลาร์ โดยครั้งล่าสุดที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่ากว่าดอลลาร์ คือในช่วงปี 1999-2002 ซึ่งเป็นช่วงปรับตัวเปลี่ยนผ่านที่ครั้งนั้นปรับตัวอ่อนค่าลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.82 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร ในเดือนตุลาคม ปี 2000

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising