×

Work from Home หรือ Work from Hell คะ ทำไมยุ่งกว่าเดิม

02.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read

 

  • สาเหตุที่ทำให้การทำงานที่บ้านยุ่งกว่าเดิมก็คือ นี่ไม่ใช่สภาวะปกติ แต่เพราะมันเกิดวิกฤต จึงทำให้พนักงานต้องทำงานที่บ้านเพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่แค่วิกฤตที่เกิดกับเราบริษัทเดียว แต่เป็นวิกฤตที่สะเทือนกันหมด และส่งผลมาถึงเราด้วย เพราะฉะนั้น เมื่ออยู่ในสภาวะวิกฤต เราจะคาดหวังว่า เราจะทำงานกันแบบธรรมดาไม่ได้ มันคือวิกฤต เราก็ต้องทำงานแบบไม่ธรรมดา ซึ่งนั่นแปลว่า เราจะยุ่งกว่าเดิมมาก เพราะเรากำลังทำงานแข่งขันกับความพังพินาศที่จะเข้ามาว่าใครจะมีพลังมากกว่ากัน

 

  • สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ วิกฤตแบบนี้เป็นโอกาสสำคัญให้คุณได้แสดงฝีมือครับ ปัญหามันจะเข้ามาเยอะมากให้เราแก้ไขอย่างรวดเร็ว อย่างที่ผมบอกครับว่า ทุกอย่างต้องใช้เวลาปรับตัวและเรียนรู้ ต่อไปคุณอาจจะพบว่า จริงๆ แล้วกระบวนหลายอย่างที่เราเคยใช้เวลานานมาก่อน พอมีวิกฤตเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการทำงานแล้ว เราก็สามารถทำให้มันเสร็จอย่างรวดเร็วได้นี่นา แล้วความเร็วแบบใหม่นี้อาจจะกลายเป็น ‘New Normal’ 
  • วิกฤตแบบนี้ถ้าเราแสดงศักยภาพเต็มที่ ผมคิดว่า คนก็ต้องเห็นว่าใครทำอะไรบ้างและใครไม่ทำอะไรเลย ตรงนี้แหละครับมันคือโอกาสให้คุณได้ทำให้องค์กรเห็นว่า คุณมีคุณค่าต่อองค์กร มีคุณอยู่แล้วองค์กรดีขึ้น คุณก็อยู่ในจุดที่ปลอดภัยขึ้น องค์กรรอด คุณก็รอด และพาคนอื่นรอดไปด้วย 

Q: ตอนนี้ทำงานจากที่บ้านค่ะเพื่อความปลอดภัย ปรากฏว่า งานยุ่งกว่าเดิมอีกค่ะ แทบไม่ได้พักเลย เหนื่อยมากค่ะ รู้สึกว่าตัวเองต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา ทำไมทำงานอยู่ที่บ้านแล้วยุ่งกว่าตอนอยู่ที่ออฟฟิศอีกคะ

 

A: ตอนนี้ใครงานยุ่งอยู่ขอให้ดีใจไว้นะครับว่ายังมีงานทำ เพราะมีอีกหลายคนมากที่ตกงานไปแล้ว และอยากทำงานมากๆ ส่วนคนที่ไม่ยุ่งเลยและว่างก็อย่าดีใจไปว่าสบายจัง ผมคิดว่า ถ้าตอนนี้ใครมีงานอยู่แล้วว่าง ควรต้องรู้สถานการณ์แล้วว่า สถานะของเราอาจจะไม่มั่นคงก็ได้ เพราะอย่าลืมนะครับว่า ถ้าตอนนี้เราอยู่ในจุดที่ไม่มีค่าต่อองค์กร เมื่อบริษัทเรารอดไปถึงจุดที่สถานการณ์กลับไปเป็นปกติ (สาธุ!) เราอาจจะกลายเป็นตัวเลือกแรกที่บริษัทจะไม่เก็บไว้ก็ได้ เพราะพิสูจน์แล้วว่า เราไม่มีประโยชน์ต่อองค์กร เพราะฉะนั้น ณ ตอนนี้ยังมีงานทำแล้วยุ่ง นี่คือโอกาสทองของคุณ แต่ถ้าไม่ยุ่ง รีบทำให้ตัวเองยุ่ง รีบทำให้ตัวเองมีคุณค่าต่อองค์กรทันทีเลยครับ

 

กลับมาเรื่องที่คุณถามมาว่า ทำไมทำงานที่บ้านแล้วยุ่งกว่าเดิม ผมคิดว่า มนุษย์ออฟฟิศอย่างเราที่เคยชินกับการทำงานที่แยกกันระหว่างบ้านและที่ทำงาน พอถูกสถานการณ์จัดสรรให้ต้องทำงานที่บ้านก็คงต้องใช้เวลาปรับตัวหน่อย หลายๆ ที่ก็เพิ่งประกาศให้พนักงานทำงานที่บ้านเมื่อไม่นานมานี้ ผมว่า หลายคนก็คงยังไม่เข้าที่เข้าทางกันเท่าไร ทั้งด้วยตัวบุคคลและระบบการทำงานที่อาจจะไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการทำงานนอกสถานที่อย่างเต็มรูปแบบขนาดนี้มาก่อน (ซึ่งก็เข้าใจได้นะครับว่าใครจะคิดมาก่อน แต่ก็อีกนั่นแหละครับ นี่คือบทเรียนว่า เราต้องคิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้) กว่าจะตั้งหลักกันได้ทั้งทีมก็คงมึนหน่อย มีอะไรต้องทำเยอะ ผมคิดว่าช่วงเปลี่ยนผ่านแบบนี้แหละครับที่มันยุ่งมาก แต่พอเราเริ่มเข้าที่เข้าทางกัน มันก็จะดีขึ้น คุณจะเริ่มรู้ว่าทำอะไรแล้วเวิร์กหรือไม่เวิร์ก เหมือนทุกเรื่องในชีวิตครับ มันแค่ต้องการเวลาในการปรับตัวและเรียนรู้

 

อีกสาเหตุที่ทำให้การทำงานที่บ้านยุ่งกว่าเดิมก็คือ นี่ไม่ใช่สภาวะปกติ แต่เพราะมันเกิดวิกฤต จึงทำให้พนักงานต้องทำงานที่บ้านเพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่แค่วิกฤตที่เกิดกับเราบริษัทเดียว แต่เป็นวิกฤตที่สะเทือนกันหมด และส่งผลมาถึงเราด้วย เพราะฉะนั้น เมื่ออยู่ในสภาวะวิกฤต เราจะคาดหวังว่า เราจะทำงานกันแบบธรรมดาไม่ได้ มันคือวิกฤต เราก็ต้องทำงานแบบไม่ธรรมดา ซึ่งนั่นแปลว่า เราจะยุ่งกว่าเดิมมาก เพราะเรากำลังทำงานแข่งขันกับความพังพินาศที่จะเข้ามาว่าใครจะมีพลังมากกว่ากัน นี่คือช่วงเวลาที่เราต้องใช้เซลล์สมองทุกเซลล์ ศักยภาพทั้งหมดที่มีในการหาทางรับมือกับวิกฤต เพราะฉะนั้น เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์วิกฤต เราจะทำงานเหมือนอยู่ในสถานการณ์ปกติไม่ได้ เอาวิธีการทำงานแบบปกติไปใช้กับสถานการณ์วิกฤตก็ไม่ทันเวลาพอดี 

 

สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ วิกฤตแบบนี้เป็นโอกาสสำคัญให้คุณได้แสดงฝีมือครับ ปัญหามันจะเข้ามาเยอะมากให้เราแก้ไขอย่างรวดเร็ว อย่างที่ผมบอกครับว่า ทุกอย่างต้องใช้เวลาปรับตัวและเรียนรู้ ต่อไปคุณอาจจะพบว่า จริงๆ แล้วกระบวนหลายอย่างที่เราเคยใช้เวลานานมาก่อน พอมีวิกฤตเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการทำงานแล้ว เราก็สามารถทำให้มันเสร็จอย่างรวดเร็วได้นี่นา แล้วความเร็วแบบใหม่นี้อาจจะกลายเป็น ‘New Normal’ หรือกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการทำงานที่พวกคุณรู้สึกว่ามันธรรมด๊าธรรมดาก็ได้ ไม่ได้รู้สึกว่าเร็วด่วนสปีดนรกแบบตอนนี้แล้ว อีกอย่างที่ผมอยากให้เห็นความสำคัญก็คือ ยิ่งมีวิกฤตแบบนี้ มันคือช่วงเวลาที่ทำให้ทีมผูกพันกันมากขึ้น ทีมของคุณจะสนิทกันมากกว่าเดิมเยอะ ใครเป็นอย่างไรเราได้เห็นหมด และเพราะผ่านความลำบากมาด้วยกันนี่แหละ มันทำให้ทีมเก่งขึ้นไปด้วย และเปิดโอกาสให้ได้แบ่งปันกำลังใจให้กันและกันได้ ถ้าอยากได้ทีมที่แข็งแกร่ง วิกฤตแบบนี้คือเวลาแห่งการสร้างทีมเลยครับ

 

วิกฤตแบบนี้ ถ้าเราแสดงศักยภาพเต็มที่ ผมคิดว่า คนก็ต้องเห็นว่าใครทำอะไรบ้างและใครไม่ทำอะไรเลย ตรงนี้แหละครับมันคือโอกาสให้คุณได้ทำให้องค์กรเห็นว่าคุณมีคุณค่าต่อองค์กร มีคุณอยู่แล้วองค์กรดีขึ้น คุณก็อยู่ในจุดที่ปลอดภัยขึ้น องค์กรรอด คุณก็รอด และพาคนอื่นรอดไปด้วย 

 

ถ้าลองมองแบบนี้แล้ว คุณจะเห็นว่า การยุ่งในเวลาวิกฤตแบบนี้เป็นสิ่งที่ดีมากๆ และเต็มไปด้วยโอกาส สิ่งที่ผมอยากจะฝากก็คือ เข้าใจว่าทุกคนจะยุ่งกันมาก และด้วยความอยากให้งานสำเร็จ อาจจะมีการกระทบกระทั่งกัน บี้งานกันในเวลาที่ไม่ปกติ ขอให้อย่าลืมที่จะดูแลจิตใจกันและกัน เพราะที่สุดแล้ว เราคือมนุษย์ เราต้องการการดูแลความรู้สึก เราต้องการรู้ว่าเรามีคนห่วงหาอาทร เราต้องการรู้ว่า เรามีความหมาย เพราะฉะนั้น เครียดแค่ไหนก็อย่าลืมพูดกันดีๆ แบ่งปันความรู้สึกดีๆ กันบ้าง ถามไถ่ทุกข์สุขกันหน่อย ที่สำคัญขอบคุณกันและกันบ้าง คนทำงานด้วยกันจะได้มีกำลังใจครับ ห่วงแต่เรื่องงานอย่างเดียว เอาแต่งานให้รอดอย่างเดียว แต่ไม่ห่วงคนทำงาน คนทำงานไม่รอด งานก็ไม่รอดนะครับ

 

มองในแง่ดี เมื่อก่อนเราเสียเวลาไปกับการเดินทางไปที่ทำงานหลายชั่วโมง ตอนนี้เราไม่ต้องเสียเวลาแบบนั้นแล้ว ตื่นมาก็แทบจะพร้อมทำงานได้เลยด้วยซ้ำ แต่ผมจะฝากไว้ก็คือ ต่อให้เราทำงานที่บ้าน เราต้องแยกให้ออกว่าเวลาไหนต้องโฟกัสอะไร เมื่อต้องทำงานก็โฟกัสที่งาน แต่เมื่อถึงเวลาต้องพักผ่อน เป็นเวลาส่วนตัว ให้พยายามฝึกตัดความคิดในหัวของเราที่จะคิดเรื่องงานให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้น บ้านจะมีแต่เรื่องงาน ไม่มีเรื่องส่วนตัวของเราเลย ก่อนนอนฝึกให้หลับลงโดยไม่เอาเรื่องงานมาคิดให้ได้ อย่าลืมนะครับว่า ศึกนี้ต้องรบกันอีกนาน ให้สมองพักผ่อนบ้าง ตื่นมาตอนเช้าจะได้สดใสพร้อมลุยต่อ แต่ถ้าเอาเรื่องงานเก็บไปคิดตอนก่อนนอนด้วย อีกวันตื่นมาเบลอแน่นอนครับ แล้วจะเอาสมองที่ไหนไปลุยงานได้ต่อ

 

ยุ่งแค่ไหนก็ตาม ดูแลเรื่องงานแล้ว อย่าลืมดูแลคนทำงานรอบตัว และดูแลตัวเองด้วยนะครับทุกคน

 

ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)

 

ภาพ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising