×

ความเย้ายวนของเศรษฐกิจอินเดีย ไทยเหยียบคันเร่งบุกตลาด

03.03.2024
  • LOADING...

“เศรษฐกิจอินเดียกำลังเนื้อหอม” 

 

ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในช่วงต้นของการสัมภาษณ์พิเศษระหว่างเยือนกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ด้วยอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในโลก และกำลังไล่ตามเบอร์ 2 ของโลกอย่างจีน ชนิดที่จีนก็ต้องคอยระวังหลัง

 

มีการคาดการณ์ว่า มูลค่า GDP ของอินเดียจะแตะระดับ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 จาก 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน

 

และหากไม่มีอะไรผิดพลาด อินเดียจะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2027 และมีโอกาสขยับเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกแทนที่จีนภายใน 5 ปีข้างหน้า แต่มีข้อแม้ว่า อินเดียต้องรักษาระดับการเติบโตที่ 8% ไว้ให้ได้ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร ทว่า นักวิเคราะห์จาก Barclays มองว่า อินเดียสามารถเติบโตอย่างน้อย 6% ต่อปีได้สบายๆ แต่การจะไปถึง 8% ได้นั้น ภาคเอกชนในอินเดียต้องเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้น

 

การผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดียทำให้ดุลอำนาจเริ่มย้ายจากตะวันตกสู่ตะวันออก เราเข้าสู่ ‘ศตวรรษเอเชีย’ ที่อินโด-แปซิฟิกกลายมาเป็นภูมิภาคที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และผู้คนก็เริ่มพูดถึงอินเดียกันมากขึ้น

 

ด้วยรากฐานความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่มั่นคงในช่วงหลัง ไม่มีปัญหาขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างกัน และมีทิศทางความสัมพันธ์ดีขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น กลายเป็นข้อได้เปรียบสำหรับไทยในการยกระดับการค้าและการลงทุนกับดินแดนภารตะ

 

ในเวทีปาฐกถาหัวข้อ ‘How Can Thailand & India Be Strategic Partners?’ (ไทยและอินเดียจะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ได้อย่างไร) ที่ Indian Council of World Affairs ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ตอกย้ำว่า อินเดียเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับไทย และไทยก็มีความพร้อมที่จะยกระดับการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมทุกมิติกับอินเดีย

 

หลังการปฏิรูปและเปิดตลาดมากขึ้น อินเดียให้ความสำคัญและเข้าหาอาเซียนมากขึ้น จากปี 1991 ที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนาราสิมฮา ราว ได้ประกาศนโยบาย ‘Look East’ สู่นโยบาย ‘Act East’ ที่ประกาศโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี หลังเข้ารับตำแหน่งในปี 2014 และจากปี 1995 ที่อินเดียเป็น ‘คู่เจรจา’ (Full Dialogue Partner) ได้ยกระดับเป็น ‘หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์’ (Strategic Partner) ในปี 2012 จะเห็นได้ว่า ไทยและอินเดียมีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม การค้าและการลงทุนระหว่างกันยังคงมีอุปสรรคอยู่ 

 

1.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คือตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอินเดียเมื่อปี 2023

 

แต่ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยอมรับว่า “ยังไม่บรรลุศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น”  

 

แปลว่ายังมีโอกาสอีกมากที่ไทยจะสามารถไขว่คว้าได้จากตลาดอินเดีย หนึ่งในจุดหมายการค้าและการลงทุนที่ทั่วโลกหมายปองอยู่ในเวลานี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมายังคงติดปัญหาทางเทคนิค ขณะที่การเจรจาการค้าเสรี (FTA) ในกรอบ BIMSTEC (ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ) ที่มีไทยและอินเดียเป็นสมาชิกอยู่ด้วยนั้น ถือว่ายังคืบหน้าไม่มาก แม้ว่าจะมีความพยายามเจรจากันมานานกว่า 20 รอบแล้วก็ตาม เนื่องจากยังติดขัดประเด็นละเอียดอ่อนเกี่ยวกับสินค้าและข้อพิพาทต่างๆ ระหว่างคู่เจรจา

 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่รองนายกฯ ใช้โอกาสการเยือนอินเดียเพื่อร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-อินเดียครั้งที่ 10 (JC) ระหว่างวันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนสิ่งที่เรียกว่า ‘การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก’ 

 

สองฝ่ายได้กำหนดกรอบเป้าหมายร่วมกันว่าจะดันการค้าไปให้ถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.24 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2027

 

อย่างไรก็ตาม รองนายกฯ ยอมรับว่า ไทยและอินเดียยังมีอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งในที่ประชุมรอบนี้ก็มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกัน โดยฝั่งไทยมีสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อ เพื่อทำให้สินค้าของอินเดียเข้าสู่ตลาดไทยได้มากขึ้น ขณะเดียวกันสินค้าของไทยก็ต้องไปขายที่อินเดียได้มากขึ้นเช่นกัน 

 

แม้ว่าไทยและอินเดียจะเปิด FTA มา 20 ปีแล้ว แต่มีสินค้าที่อยู่ในกรอบข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันเพียง 82 รายการเท่านั้น ซึ่งนับว่ายังน้อยมาก โดยรองนายกฯ ได้ย้ำกับ สุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย ถึงโอกาสทางการค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นหากมีการขยาย FTA ระหว่างกัน 

 

ส่วน FTA ในกรอบ BIMSTEC นั้น ในงานแถลงความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม BIMSTEC ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หรือ 1 วันหลังจากรองนายกฯ เดินทางกลับจากอินเดีย เชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยว่า ยังอยู่ในระหว่างหารือรายละเอียด และจะมีความพยายามผลักดันเรื่องนี้ในที่ประชุมระดับผู้นำ ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมหรือหลังจากนั้น ซึ่งเราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะคืบหน้าเพียงใด

 

นอกจาก FTA แล้ว สิ่งที่ไทยกำลังโฟกัสเป็นพิเศษคือ การลงทุนในอินเดียเพิ่มด้วย โดยรองนายกฯ เผยว่า เอกชนไทยสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ เทคโนโลยี และเซ็กเตอร์พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่ปัจจุบันก็ลงทุนไปมากแล้วและมีแนวโน้มที่จะอัดเม็ดเงินเพิ่มเข้าไปอีก นอกจากนี้ยังมีความสนใจที่จะลงทุนในด้านไฮโดรเจนสีเขียวด้วย 

 

เพื่อรองรับการค้าและการลงทุนที่กำลังขยายตัว รัฐบาลไทยที่เดินสายโปรโมตโครงการแลนด์บริดจ์กับหลายประเทศไปก่อนหน้านี้ ก็มีความพยายามเชิญชวนอินเดียมาร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน โดยไทยหวังว่าเมกะโปรเจกต์ที่เชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จะเป็นสะพานเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นสองมหาสมุทรที่เชื่อมอินโด-แปซิฟิกเป็นหนึ่งเดียว และกลายเป็น ‘One Strategic Space’ ในมุมมองของสีหศักดิ์ที่ย้ำเรื่องนี้บนเวทีปาฐกถาในนิวเดลี

 

ไม่เพียงแต่การเชื่อมต่อทางทะเลเท่านั้น แต่ยังมีการเชื่อมต่อทางบกในโครงการทางหลวง 3 ฝ่าย (Trilateral Highway) ที่เชื่อมจากไทยผ่านเมียนมาและไปสุดที่อินเดีย ซึ่งในการประชุมกับสุพรหมณยัม รองนายกฯ เผยว่า ทั้งสองฝ่ายมีการอัปเดตเรื่องนี้ โดยต่างฝ่ายต่างดำเนินการในเรื่องถนนหนทางในฝั่งของตนเรียบร้อยแล้ว แต่ยังติดแค่เส้นทางในเมียนมา ซึ่งเวลานี้กำลังติดหล่มสถานการณ์ความไม่สงบภายใน ทำให้โครงการนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์และยังไม่แน่ชัดว่าสถานการณ์จะสงบเมื่อใด

 

การให้ฟรีวีซ่าแก่อินเดียก็เป็นอีกความพยายามของไทยในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากอินเดีย ด้วยตัวเลขปีที่แล้วที่คนอินเดียมาเยือนไทยมากถึง 1.6 ล้านคน จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีก ขณะที่รองนายกฯ เผยว่า มีการหารือกับอินเดียเพื่อให้พิจารณามอบฟรีวีซ่าแก่คนไทยเช่นกัน ถึงแม้อินเดียจะให้ e-Visa แก่ไทยอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีขั้นตอนที่ไม่สะดวก ขณะที่ฟรีวีซ่าจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทยและอินเดียให้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น

 

ปัจจุบันเศรษฐกิจอินเดียกลายมาเป็นตลาดที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุน และกลายเป็นทางเลือกสำคัญไม่แพ้จีน ในยามที่เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณชะลอตัว ภาคการบริโภคอ่อนแอลง และเกิดวิกฤตหมักหมมในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ตลาดหุ้นอินเดียมาแรงสวนทางตลาดหุ้นจีน โดยสามารถทำนิวไฮต่อเนื่องในช่วงปลายปีที่แล้ว ด้วยมูลค่าบริษัทที่จดทะเบียนทะลุ 4 ล้านล้านดอลลาร์ และมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดอินเดียจะโตอีกกว่าเท่าตัวเป็น 10 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030

 

ทริปเยือนอินเดียของรองนายกฯ และผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ รอบนี้ จึงสะท้อนความพยายามเดินเกมรุกของรัฐบาลไทย แม้จะยังไม่มีข้อตกลงสำคัญเกิดขึ้น แต่ก็กรุยทางสำหรับการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นำที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ในระหว่างการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ซึ่งต้องรอความชัดเจนหลังการเลือกตั้งในอินเดียผ่านพ้นไปก่อน แต่แน่นอนว่า India Gate พร้อมต้อนรับโอกาสมากมายที่กำลังจะมาถึง   

 

ภาพ: Mayank Makhija / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising