×

ทำไมชัยชนะของตาลีบันในคาบูลจึงถูกเปรียบกับเหตุการณ์ไซง่อนแตก

17.08.2021
  • LOADING...
Taliban victory

ภาพที่สหรัฐฯ อพยพคนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกจากสถานทูตในกรุงคาบูลในขณะที่เมืองหลวงปราการด่านสุดท้ายของรัฐบาลอัฟกานิสถานล่มสลายและตกอยู่ภายใต้การควบคุมของตาลีบันนั้นทำให้โซเชียลมีเดียนำเอาภาพเหตุการณ์นี้ไปเปรียบกับภาพถ่ายปี 1975 โดยช่างภาพ ฮัลเบิร์ต แวน เอส ซึ่งเป็นภาพที่ผู้คนขึ้นเฮลิคอปเตอร์บนดาดฟ้าอาคารในกรุงไซง่อน ซึ่งเป็นช่วงปลายของสงครามเวียดนาม ที่สหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เชิงสัญลักษณ์ในครั้งนั้น

 

ไม่เพียงแต่โซเชียลมีเดียเท่านั้น นักวิเคราะห์และนักการเมืองหลายคนทั้งจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่างก็เปรียบเหตุการณ์ไซง่อนแตกกับเหตุการณ์ตาลีบันยึดครองกรุงคาบูลเช่นกัน

 

ย้อนรอยไซง่อนแตก?

สงครามเวียดนามเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ ซึ่งมีพันธมิตรสำคัญอย่างสหรัฐฯ โดยสงครามกลางเมืองครั้งนั้นกินระยะเวลานานเกือบ 20 ปี ไม่ต่างจากสงครามกลางเมืองในอัฟกานิสถาน ซึ่งสหรัฐฯ สูญเสียชีวิตชาวอเมริกันมากมาย และสร้างความแตกแยกทางความคิดในหมู่ชาวอเมริกันที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

 

ส่วนวลีที่ว่า ‘ไซง่อนแตก’ หมายถึงเหตุการณ์ที่ไซง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ในขณะนั้นถูกยึดครองโดยกองทัพเวียดนามที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ ซึ่งรู้จักในชื่อเวียดกง เมื่อวันที่ 30 เมษายน ปี 1975 

 

ท่ามกลางฉากหลังของสงครามเย็น เวียดนามเหนือได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและพันธมิตรแนวร่วมคอมมิวนิสต์อื่นๆ ขณะที่เวียดนามใต้ได้รับการหนุนหลังโดยกองกำลังชาติตะวันตก ซึ่งมีทหารอเมริกันรวมอยู่ด้วยหลายแสนคน

 

หลังทำสงครามยืดเยื้อยาวนาน ท้ายที่สุดสหรัฐฯ ตัดสินใจถอนทหารออกจากเวียดนามใต้ในปี 1973 ซึ่งสองปีให้หลัง เวียดนามใต้ก็ได้ประกาศยอมแพ้ หลังกองทัพเวียดนามเหนือบุกยึดไซง่อนได้สำเร็จ ซึ่งต่อมาไซง่อนได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโฮจิมินห์ซิตี้ ตามชื่อของผู้นำเวียดนามเหนือ

 

ไม่ต่างจากคาบูล เมืองไซง่อนถูกยึดครองเร็วกว่าที่สหรัฐฯ คาดไว้มาก โดยสหรัฐฯ ได้ละทิ้งสถานทูตในไซง่อนและอพยพพลเมืองอเมริกัน รวมถึงชาวต่างชาติและชาวเวียดนามใต้ รวมกว่า 7,000 ชีวิต ด้วยเฮลิคอปเตอร์ ภายใต้ชื่อปฏิบัติการว่า ‘Operation Frequent Wind’

 

เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ยึดคาบูล ยุติธรรมหรือไม่?

ในช่วงปลายของสงคราม สงครามเวียดนามสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนในสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากสหรัฐฯ จะสูญเสียชาวอเมริกันไปกว่า 58,000 คนแล้ว ยังทำให้สหรัฐฯ เสียหายอย่างหนักและสูญเงินไปกับสงครามหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

สำหรับบางคนแล้ว การล่มสลายของไซง่อนถือเป็นความปราชัยและเพลี่ยงพล้ำของสหรัฐฯ ในเวทีโลก โดยหลายสิบปีหลังจากนั้น คำว่า ‘เวียดนามซินโดรม’ ได้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นศัพท์ในแวดวงการเมืองในสหรัฐฯ ที่หมายถึงความรังเกียจของประชาชนที่มีต่อการมีส่วนร่วมของทหารอเมริกันในต่างแดน

 

นักการเมืองจำนวนมากในสหรัฐฯ นำไซง่อนกับคาบูลมาเปรียบเทียบว่ามีความคล้ายคลึงกัน ยกตัวอย่างเช่น เอลิส สเตฟานิก ประธานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรของรีพับลิกัน ทวีตข้อความว่า “นี่คือไซง่อนของ โจ ไบเดน ความล้มเหลวอย่างย่อยยับในเวทีระดับนานาชาติที่จะไม่มีวันลืม”

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้ว พลเอก มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับการเปรียบเทียบดังกล่าว “ผมอาจจะผิดก็ได้ ใครจะรู้ คุณไม่สามารถทำนายอนาคตได้ แต่ตาลีบันไม่ใช่กองทัพเวียดนามเหนือ มันไม่ใช่สถานการณ์แบบนั้น”

 

นอกเหนือจากความพ่ายแพ้ในเชิงสัญลักษณ์แล้ว ทั้งสองเหตุการณ์มีความแตกต่างที่สำคัญคือ ไซง่อนแตกพ่ายหลังจากที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากเวียดนามแล้ว 2 ปี ส่วนการอพยพชาวอเมริกันในกรุงคาบูลเกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ เตรียมการที่จะออกจากอัฟกานิสถานอยู่แล้ว

 

สำหรับเหตุการณ์ปี 1975 นั้นมีผลกระทบในทางการเมืองต่อประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด อย่างจำกัด ขณะที่ไบเดนนั้นยังไม่ชัดเจนว่าจะได้รับผลกระทบเช่นไร แม้ว่าสงครามดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมในสหรัฐฯ ก็ตาม

 

ภาพ: Getty Images, Wakil KOHSAR / AFP 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising