×

มาห์ซา อามินี คือใคร ทำไมการตายของเธอเป็นชนวนให้ผู้หญิงอิหร่านจำนวนมากเผาฮิญาบ-ตัดผมประท้วง

22.09.2022
  • LOADING...

กลายเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนแถบตะวันออกกลางตลอดช่วงเกือบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากผู้หญิงอิหร่านจำนวนมากออกมาร่วมชุมนุมประท้วงในหลายเมืองสำคัญทั่วประเทศ บางรายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ทั้งเผาฮิญาบ ตัดผมประท้วง ส่งเสียงเพื่อแสดงจุดยืนว่าพวกเธอจะไม่ทนอยู่ภายใต้สังคมที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงดังเช่นที่เคยเป็นมา

 

ชนวนเหตุสำคัญที่ปลุกกระแสความคับแค้นใจที่ถูกกดทับสิทธิในเรือนกายและการแต่งกายของพวกเธอในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของหญิงสาวชาวเคิร์ดรายหนึ่งที่ชื่อว่า ‘มาห์ซา อามินี’ 

 

มาห์ซา อามินีคือใคร?

 

มาห์ซา อามินี เป็นหญิงสาวชาวเคิร์ดวัยเพียง 22 ปี จากเมืองซาเกซ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน เธอเสียชีวิตที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 กันยายน) หลังจากมีอาการโคม่าอยู่นาน 3 วัน

 

เธอเดินทางมายังกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน พร้อมกับครอบครัวของเธอ ก่อนที่เธอจะถูกจับกุมโดย ‘ตำรวจศีลธรรม’ (Morality Police) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จะคอยตรวจตราและคุมเข้มเกี่ยวกับการแต่งกายของประชาชน โดยเฉพาะกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการแต่งกายของผู้หญิง อาทิ การบังคับผู้หญิงสวมใส่ฮิญาบขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 กันยายน)

 

โดยตำรวจศีลธรรมอ้างว่า อามินีถูกจับกุมเนื่องจากละเมิดกฎหมายการบังคับให้ผู้หญิงสวมฮิญาบคลุมเส้นผมขณะที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ นอกจากนี้อามินียังไม่ได้สวมชุดที่ปกคลุมท่อนแขนและขาอย่างเหมาะสม ก่อนที่เธอจะล้มตัวลงบริเวณหน้าศูนย์การศึกษาแห่งหนึ่งภายหลังการจับกุม มีบางรายงานอ้างว่าเธอถูกฟาดเข้าที่ศีรษะด้วยกระบอง และถูกจับกดใส่รถยนต์คันหนึ่งในละแวกนั้น ซึ่งเรื่องนี้กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบค้นหาความจริง

 

หลายฝ่ายเชื่อว่ามีการใช้กำลังในทางมิชอบกับอามินี ในขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุ เธอเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลัน และยืนยันว่าไม่มีการทำร้ายร่างกายหรือใช้ความรุนแรงกับเธอภายหลังการจับกุมแต่อย่างใด ทางด้านครอบครัวของอามินีเผยว่า เธอมีสภาพร่างกายที่แข็งแรงดีมาก ไม่มีสัญญาณเจ็บป่วยมาก่อนแต่อย่างใด

 

ความตายปลุกกระแสความไม่พอใจ

 

“ผู้หญิง ชีวิต เสรีภาพ”

“เผด็จการจงพินาศ”

“พวกเราคือลูกหลานของศึกสงคราม จงออกมาสู้ พวกเราจะสู้กลับ”

“ไม่สวมผ้าคลุมศีรษะ เราต้องการเสรีภาพและความเท่าเทียม”

 

นี่คือตัวอย่างข้อความที่อยู่บนแผ่นป้ายในขบวนประท้วง

 

การเสียชีวิตของอามินีผลักดันให้เกิดการชุมนุมประท้วงตามเมืองต่างๆ ในอิหร่าน รวมถึงโลกออนไลน์ เพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้กับบรรดาผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในรัฐศาสนา ก่อนที่จะรวมตัวกับกระแสความไม่พอใจรัฐในมิติต่างๆ โดยเฉพาะความข้นแค้นทางเศรษฐกิจที่ถูกบรรดาชาติตะวันตกดำเนินมาตรการคว่ำบาตร จากกรณีเดินหน้าโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

 

นับเป็นหนึ่งในเหตุชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของอิหร่าน นับตั้งแต่เหตุประท้วงรัฐบาล หลังค่าก๊าซและเชื้อเพลิงปรับตัวพุ่งสูงขึ้นเมื่อปี 2019 ซึ่งในครั้งนี้บางพื้นที่บานปลายกลายเป็นเหตุปะทะกันกับเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคง โดย BBC รายงานว่าขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตจากเหตุประท้วงในครั้งนี้แล้วอย่างน้อย 9 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กชายวัยเพียง 16 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธควบคุมสถานการณ์ 

 

ก่อนที่กระแสความไม่พอใจนี้จะนำไปสู่การเดินขบวนสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในโลกมุสลิม เช่น การเดินขบวนในอิสตันบูล ตุรกี รวมถึงกรุงเบรุต เลบานอน และรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 

 

ท่าทีของฝ่ายต่างๆ ต่ออามินีและเหตุประท้วงที่เกิดขึ้น

 

ด้านโฆษกส่วนตัวของ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เผยว่า ท่านผู้นำรู้สึกเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าความเศร้าเสียใจของครอบครัวอามินีคือความเศร้าเสียใจของอยาตอลเลาะห์ด้วยเช่นกัน 

 

ขณะที่ ฮุสเซน ราฮิมี ผู้บัญชาการตำรวจอิหร่าน ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าอามินีเสียชีวิตจากการใช้กำลังโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยยืนยันว่าทางเจ้าหน้าที่ได้ทำทุกวิถีทางที่จะรักษาชีวิตอามินีแล้ว อามินีไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด การตายของเธอเป็นเพียงโชคไม่ดี ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

 

ส่วนทางด้านโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่อยู่ระหว่างการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 77 (UNGA77) ณ มหานครนิวยอร์ก ได้แสดงความเห็นต่อเหตุประท้วงที่เกิดขึ้นในอิหร่านขณะนี้ว่า พลเมืองอเมริกันยืนเคียงข้างบรรดาผู้หญิงอิหร่านที่กล้าหาญ ผู้ซึ่งกำลังออกมาร่วมขบวนประท้วงในขณะนี้ เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเธอ

 

ทางด้านมุสลิมนิกายชีอะห์รายหนึ่งให้ความเห็นว่า การกล่าวหาดังกล่าว ‘สองมาตรฐาน’ เพราะบรรดาชาติตะวันตกเองก็เคยละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ต่างกัน พร้อมอ้างถึงการค้นพบหลุมศพขนาดใหญ่ของบรรดาชนพื้นเมืองในแคนาดา รวมถึงการปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์อย่างไม่เป็นธรรม

 

ภาพ: Ozan Kose / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising