×

Data Journalism: เจาะลึกฝุ่น PM2.5 ด้วยข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ฝุ่นมาจากไหน เรารู้อะไรบ้าง

02.02.2021
  • LOADING...
PM2.5 มาจากไหน ย้อนดูค่าฝุ่นกรุงเทพฯ 3 ปี เรารู้อะไรบ้าง

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • THE STANDARD ชวนเจาะลึกปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปี 2564 กับหลากหลายมุมมอง โดยโฟกัสกันที่ ‘ฝุ่นเมืองกรุง’ ที่ชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่างก็ได้รับผลกระทบมายาวนาน
  • แล้วสัดส่วนของฝุ่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มาจากแต่ละแหล่งกำเนิดนั้นเป็นอย่างไร ดูเหมือนคำตอบเรื่องนี้จากการศึกษาวิจัยอาจมีหลากหลาย นอกจากนี้สภาพการณ์ต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลาก็อาจทำให้สัดส่วนของฝุ่นจากแหล่งกำเนิดต่างๆ เปลี่ยนไปได้เช่นกัน
  • งานวิจัย ข้อมูล และความเห็นอันหลากหลายเกี่ยวกับการศึกษาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้แหล่งกำเนิดสำคัญๆ อาจอยู่ไม่ไกลจากที่เรารู้กันทุกวันนี้ ไอเสียรถดีเซล การเผาในที่โล่ง อุตสาหกรรม ฯลฯ​ แต่ก็ยังคงมีวิธีการและคำตอบใหม่ๆ ในการศึกษาเรื่องนี้ที่รอเราไปให้ถึง

ล่วงเลยกลางฤดูหนาวมาแล้วท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่เราก็ยังอยู่กับปัญหาขาประจำอย่างฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศที่เราหายใจอยู่ทุกวัน และเราก็พูดกันเรื่องนี้มานานเหลือเกิน คำถามสำคัญก็คือ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปถึงไหนแล้ว และคุณภาพอากาศที่เราพูดกันทุกวันนี้ดีขึ้นบ้างหรือไม่

 

THE STANDARD ชวนเจาะลึกปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปี 2564 กับหลากหลายมุมมอง โดยโฟกัสกันที่ ‘ฝุ่นเมืองกรุง’ ที่ชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่างก็ได้รับผลกระทบมายาวนาน

 

แต่ก่อนจะเริ่มเข้าเนื้อหาอย่างเป็นทางการ เราขอชวนชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล มาย้อนดูสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ใกล้บ้านท่านกันก่อน กราฟข้างล่างนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลปริมาณฝุ่น PM2.5 จากสถานีวัดของกรมควบคุมมลพิษจาก 3 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน โดยโฟกัสในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ที่ประมาณได้ว่าเป็นฤดูหนาว และมักจะเป็นช่วงวิกฤต PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

ลองพิจารณาดูว่าฝุ่นใกล้บ้านท่านเป็นอย่างไรบ้างในห้วงเวลาที่ผ่านมา

 

 

จะเห็นได้ว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 – มกราคม 2564 แม้ปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในจำนวนวันและสถานีวัดส่วนใหญ่จะไม่เกินค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทุกพื้นที่ที่เก็บข้อมูลได้ล้วนมีวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานเข้าสู่โซน ‘เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ’ และมี 7 สถานีวัดที่มีปริมาณฝุ่นในบางวันไปแตะระดับที่เรียกได้ว่า ‘มีผลกระทบต่อสุขภาพ’ ด้วย แบ่งเป็นสถานีวัดในกรุงเทพฯ 3 จุด สมุทรปราการ 3 จุด และสมุทรสาครอีก 1 จุด และส่วนใหญ่ในจำนวนนี้ก็ไปแตะระดับดังกล่าวอย่างน้อย 2 ครั้ง 

 

และสำหรับบางสถานีวัด สถานการณ์ที่ปริมาณฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในบางวันไปแตะระดับ ‘มีผลกระทบต่อสุขภาพ’ ยังเกิดขึ้นในทั้ง 3 ฤดูหนาว ได้แก่ ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กทม., ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กทม., ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ, ต.ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ และ ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร

 

อีกสิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ ‘ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง’ ที่ว่านี้เป็นค่าของประเทศไทย ซึ่งยังกำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ณ เวลาที่เรากำลังเขียนรายงานชิ้นนี้อยู่ (27 มกราคม 2564) และค่ามาตรฐานนี้เองที่มีเสียงจากนักวิชาการและภาคประชาสังคมส่วนหนึ่ง อาทิ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เรียกร้องให้ประเทศไทยปรับค่ามาตรฐานให้เข้มงวดมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเร่งรัดแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5

 

PM2.5 กทม

 

ความคืบหน้าล่าสุดปรากฏว่า มีการจัดการประชุมรับฟังความเห็นโดยกรมควบคุมมลพิษ เกี่ยวกับร่างประกาศเพื่อปรับค่ามาตรฐาน 24 ชั่วโมงดังกล่าวจาก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และปรับค่ามาตรฐานรายปีจาก 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้เป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายชั่วคราวระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก จากเดิมที่ค่ามาตรฐานของประเทศไทยเป็นไปตามเป้าหมายชั่วคราวระยะที่ 2 เท่านั้น

 

ดังนั้นเราจึงทำกราฟขึ้นมาอีกหนึ่งโหมดเพื่อแสดงให้เห็นว่า หากค่ามาตรฐานถูกปรับลดเป็น 37 ไมโครกรัมได้จริง สถานการณ์ฝุ่นใกล้บ้านท่านเทียบกับค่ามาตรฐานนั้นจะเป็นอย่างไร (ผู้อ่านสามารถย้อนขึ้นไปคลิกลูกศรมุมซ้ายบนของกราฟเพื่อสลับเส้นค่ามาตรฐาน โดยเลือกสถานที่ให้ตรงกันระหว่างกราฟ 2 แบบอีกครั้ง)

 

นอกจากนี้เราคงได้เห็นธรรมชาติของฝุ่นอย่างชัดเจนว่า แนวโน้มปริมาณ PM2.5 จะเพิ่มสูงขึ้นและลดลงเป็นช่วงๆ แต่ละช่วงก็จะมีปริมาณฝุ่นเฉลี่ยมาก-น้อยต่างกันออกไป

 

แล้วปัจจัยต่างๆ ส่งผลมากน้อยอย่างไรต่อฝุ่น จากนี้เราจะเริ่มย้อนดูการศึกษาในเรื่องนี้กัน

 

ว่าด้วย ‘ลม ฟ้า ฝน’ บนปัญหาฝุ่นจิ๋ว

 

เราขอเริ่มต้นด้วยการสำรวจ ‘ปัจจัยที่สนับสนุนการสะสมตัวของฝุ่น’ ซึ่งเรา ‘ควบคุมไม่ได้’ กันก่อน ถ้าพูดโดยทั่วไปก็ได้แก่ สภาพภูมิประเทศ และสภาพทางอุตุนิยมวิทยา

 

แต่ถ้าเจาะลงมาที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เราอาจจะพอทราบว่าในช่วงฤดูหนาว ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของประเทศ ระดับความต่างของความกดอากาศระหว่างพื้นที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้น นำมาซึ่งอากาศเย็นหรือหนาว แต่บางช่วงความกดอากาศสูงนี้ก็มีกำลังอ่อนลง ระดับความต่างของความกดอากาศก็น้อยลง ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือก็อ่อนกำลังลงด้วย หรือเกิด ‘ลมสงบ’

 

ซึ่งเมื่อประกอบกับอีกปัจจัยคือปรากฏการณ์ผกผันกลับของอุณหภูมิ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Temperature Inversion หมายถึงการมีชั้นอากาศที่อุ่นกว่ามาแทรกอยู่ตรงกลางระหว่างชั้นอากาศเย็น (ซึ่งต่างจากภาวะปกติที่อากาศจะเย็นลงเรื่อยๆ เมื่อความสูงจากพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้น หรืออาจเปรียบได้ว่า ‘ยิ่งสูงยิ่งหนาว’) การแทรกของชั้นอากาศอุ่นในรูปแบบนี้ทำให้ฝุ่นควันไม่สามารถลอยผ่านชั้นอากาศอุ่นนี้ขึ้นไปได้ การระบายในแนวดิ่งไม่ดี หรือที่เราอาจจะเคยได้ยินว่าเป็น ‘ฝาชีครอบ’ และทำให้ค่าความสูงของชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้ผิวโลกที่เรียกกันว่า Planetary Boundary Layer (PBL) ถูกกดให้ต่ำลงด้วย

 

 

ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และโฆษกของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) อธิบายปรากฏการณ์ Temperature Inversion เพิ่มเติมว่า ชั้นอากาศที่อุ่นกว่าและแทรกอยู่นี้อาจจะเป็นมวลอากาศอุ่นที่พัดเข้ามาจากทิศทางใดทิศทางหนึ่ง หรือมวลอากาศอุ่นที่เกิดจากการคายความร้อนในเวลากลางคืนจากอาคารหรือสิ่งก่อสร้าง ซึ่งยกตัวขึ้นไปได้ถึงแค่ระดับหนึ่งและอาจจะถูกบล็อกจากมวลอากาศเย็นที่อยู่เหนือกว่าก็ได้ อีกด้านหนึ่ง องศาของดวงอาทิตย์ในฤดูหนาวก็ทำให้อากาศในชั้นผิวโลกใต้สุดนั้นเย็นกว่า จึงเกิดเป็นลักษณะคล้าย ‘ขนมชั้น’ ที่มีชั้นอากาศอุ่นอยู่ตรงกลาง

 

สองปัจจัยเกี่ยวกับลมที่กล่าวมานี้เมื่อส่งผลรวมกันก็จะส่งผลต่อการระบายฝุ่น PM2.5 ว่าจะระบายได้ดีหรือไม่ ซึ่งสามารถบอกได้ในรูปค่าค่าหนึ่งที่เรียกว่า ‘ดัชนีชี้วัดการระบาย’ (Ventilation Index) เป็นการคูณกันระหว่างความเร็วลม ณ พื้นที่ราบ กับระดับความสูงของ PBL ถ้ามีปัจจัยใดดี การระบายฝุ่นก็จะดี แต่ถ้าดีทั้งสองปัจจัย การระบายฝุ่นก็จะดีมาก

 

“ถ้ายังจำได้มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ชั้น PBL ความจริงต่ำมาก แต่โชคดีที่เราได้อานิสงส์ว่าลมที่พัดในแนวราบมันแรงมาก เพราะฉะนั้นเมื่อลมยังพัดได้อยู่ การระบายในแนวราบมันยังเป็นไปได้ดี แม้การระบายในแนวดิ่งจะไม่ดี แต่การระบายในแนวราบดี ฝุ่น PM2.5 ก็เลยไม่มาก” ศ.ดร.ศิวัช สรุป

 

ส่วนฝนจะแก้ฝุ่น PM2.5 ได้หรือไม่ เขายืนยันกับเราว่า “ต้องตกเยอะ และต้องตกทั่วฟ้า ถึงจะช่วย ถ้าตกเป็นหย่อมๆ เช่น ขับเครื่องบินไปฉีดเป็นจุดๆ อาจจะไม่ช่วยอะไรมาก”

 

แล้วกับแหล่งกำเนิดที่ควบคุมได้ เรารู้อะไรไปถึงไหนบ้าง

 

ว่ากันด้วยเรื่องปัจจัยสนับสนุนที่ได้ยินกันบ่อยๆ ไปแล้ว ทีนี้มาว่ากันเรื่องแหล่งกำเนิดฝุ่นที่ ‘ควบคุมได้’ ซึ่งหลักๆ ก็มาจากมนุษย์อย่างเรากันบ้าง 

 

นี่อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่คุณจะได้ยินประโยคในทำนองที่ว่า “ฝุ่น PM2.5 มีแหล่งกำเนิดมาจากการขนส่งทางถนน การเผาในที่โล่ง หรือโรงงานอุตสาหกรรม” แต่ถ้าถามต่อไปว่า แล้วสัดส่วนของฝุ่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มาจากแต่ละแหล่งกำเนิดนั้นเป็นอย่างไร ดูเหมือนคำตอบเรื่องนี้จากการศึกษาวิจัยอาจมีหลากหลาย นอกจากนี้สภาพการณ์ต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลาก็อาจทำให้สัดส่วนของฝุ่นจากแหล่งกำเนิดต่างๆ เปลี่ยนไปได้เช่นกัน

 

PM2.5 กทม

 

ศิวพร รังสิยานนท์ รองโฆษก ศกพ. อธิบายถึงการศึกษาเรื่องแหล่งกำเนิดฝุ่นที่มีการศึกษาในสองลักษณะ ได้แก่ การจัดทำบัญชีการระบายสารมลพิษ (Emission Inventory) ซึ่งเปรียบเสมือนการตอบคำถามว่า ‘เมืองนั้นๆ ผลิต PM2.5 มาจากแหล่งไหน เท่าใด’ ซึ่งจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับการปล่อยฝุ่นจากแหล่งกำเนิดแต่ละชนิดก่อน เช่น รถรุ่นหนึ่งปล่อยฝุ่นเท่าใด โรงงานแห่งหนึ่งปล่อยฝุ่นเท่าใด แล้วคูณด้วยจำนวนแหล่งกำเนิดชนิดนั้นๆ ก่อนจะนำมารวมกันเป็นบัญชี และบัญชีที่ว่านี้ต้องมีการปรับปรุงข้อมูลล่าสุดอยู่เสมอทุกๆ 5 ปี ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือการจำแนกแหล่งกำเนิดฝุ่น  (Source Apportionment) โดยการเก็บตัวอย่างฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศของเมืองที่จะศึกษา ในฐานะ ‘ผู้รับฝุ่น’ เพื่อไปวิเคราะห์องค์ประกอบของฝุ่นตัวอย่าง จากนั้นนำผลไปเทียบกับองค์ประกอบของฝุ่นละอองที่ระบายออกมาจากแหล่งกำเนิดต่างๆ เพื่อทำให้เรารู้ว่าฝุ่นในพื้นที่นั้นมี ‘ที่มา’ จากที่ไหนในสัดส่วนเท่าใด ซึ่งที่มาของฝุ่นดังกล่าวอาจจะมาจากเมืองอื่นๆ ก็ได้

 

เมื่อเราสืบค้นข้อมูลย้อนกลับไปก็พบว่า การศึกษาเหล่านี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว แต่ในที่นี้จะขอหยิบยกมาเฉพาะบางการศึกษาที่ย้อนหลังไปไม่นานนัก ได้แก่ ผลการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2560 ซึ่งใช้วิธีการจำแนกแหล่งกำเนิดฝุ่น  (Source Apportionment) เก็บตัวอย่างฝุ่นจากดาดฟ้าอาคารสองแห่งในกรุงเทพฯ และปทุมธานีในฤดูฝนและฤดูแล้ง 

 

ปรากฏว่าไอเสียรถดีเซลเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 อันดับ 1 ในฤดูฝน แต่ทว่าในฤดูแล้ง ‘การเผาชีวมวล’ แซงหน้าขึ้นเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นอันดับ 1 แทนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ฝุ่นที่เข้ามาใน กทม. และปริมณฑล อีกส่วนหนึ่งยังเป็น ‘ฝุ่นทุติยภูมิ’ ซึ่งเกิดขึ้นเองจากการรวมตัวของก๊าซมลพิษจนเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก และอีกส่วนหนึ่งก็คือฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมและดิน

 

 

อีกหนึ่งปีถัดมา (2561) ก็มีงานวิจัยของ AIT อีกครั้ง ในครั้งนี้ศึกษาโดยวิธีการทำบัญชีการระบายสารมลพิษ ซึ่งผลระบุว่า แหล่งที่มีการปล่อยฝุ่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มากที่สุดคือภาคการขนส่งทางถนน คิดเป็นร้อยละ 72.5 ตามมาด้วยโรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง และสาเหตุอื่นๆ 

 

ปีเดียวกันนี้ยังมีงานวิจัยของ รศ.ดร.สาวิตรี การีเวทย์ และคณะ ซึ่งใช้วิธีเดียวกันออกมาอีก และได้ผลออกมาคล้ายกันคือ แหล่งที่ปล่อยฝุ่นมากที่สุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ การขนส่งทางถนนเช่นกัน ที่ร้อยละ 50.79 อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่าการทำบัญชีการระบายสารมลพิษจะศึกษาเฉพาะแหล่งกำเนิดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้นจึงไม่ได้รวมไปถึงการเผาชีวมวลที่โล่งจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคกลางรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งอาจจะมีฝุ่นลอยเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้

 

 

กระทั่งเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา THE STANDARD ยังได้พูดคุยกับ รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้นำทีมวิจัยของสถาบันที่ได้เผยแพร่บทความชิ้นใหม่ในวารสาร Atmospheric Environment ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำของโลกด้านสิ่งแวดล้อม บทความนี้เป็นการวิเคราะห์ผลโดยใช้ปัจจัยด้านลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน ฤดูกาล การเผาในที่โล่ง และปัจจัยด้านการจราจร มาสร้างแบบจำลองทางสถิติที่เรียกว่า Land-Use Regression Model (LUR) เพื่อดูความสัมพันธ์ของปัจจัยเหล่านี้ต่อระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในเขตกรุงเทพฯ โดยข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาเป็นข้อมูลจากปี 2562 ปรากฏว่าคำตอบของพวกเขาต่างออกไปอีก โดยระบุว่า แม้การจราจรจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อ PM2.5 แต่ก็ยังมีผลน้อยกว่าปัจจัยด้านสภาพอากาศและการเผาชีวมวลในที่โล่ง รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ยังระบุด้วยว่า จากการศึกษานี้ การเผาในระยะ 500 กิโลเมตรรอบกรุงเทพฯ นั้นมีผลต่อระดับ PM2.5 ในกรุงเทพฯ เมื่อสภาพอากาศเข้าเงื่อนไข

 

PM2.5 กทม

 

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่เกิดในการศึกษาวิจัย ซึ่งอาจจะมีการศึกษาอื่นๆ นอกเหนือไปจากนี้อีก ทว่าอีกด้านหนึ่งภาคประชาชนก็ยังตั้งคำถามและมีความเห็นเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดฝุ่นที่ต่างออกไป 

 

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกกับเราผ่านการสัมภาษณ์ว่า จากประสบการณ์การทำงานในเรื่องมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการลงพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร ที่คณะของเธอพบและได้รับทราบปัญหาสารโลหะหนักอย่างตะกั่วที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมสูง ตลอดจนการพบสารไดออกซินในปริมาณสูงผ่านการวิเคราะห์ฝุ่นที่จับอยู่ที่ไข่ไก่ของไก่ที่คุ้ยเขี่ยตามธรรมชาติในพื้นที่ (ไดออกซินเป็นสารพิษที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ การหล่อหลอมในอุตสาหกรรมต่างๆ) ไปจนถึงข้อมูลที่ว่าในพื้นที่มีอุตสาหกรรมรีไซเคิลในทุกขนาด ซึ่งบางโรงงานอาจไม่มีระบบการบำบัดมลพิษทางอากาศที่เหมาะสม ทำให้เธอเชื่อมั่นว่าภาคอุตสาหกรรมน่าจะต้องมีส่วนกับฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มากกว่าที่เห็นผ่านผลการศึกษาในปัจจุบัน

 

เพ็ญโฉมยังเชื่อมโยงไปถึงปัญหาที่ประเทศไทยขาดกฎหมายทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) ทำให้ข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจน

 

‘ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราอยากรู้’

 

จากผลลัพธ์ในการศึกษาและความเห็นต่างๆ ที่หลากหลาย เราตามมาพูดคุยกับ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เขาเปิดเผยว่า ล่าสุดก็มีการศึกษาเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดฝุ่นที่กำลังดำเนินการอยู่อีก อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าทุกวันนี้เราสามารถแยกแยะแหล่งกำเนิดฝุ่นเฉพาะช่วงเวลาได้แล้วจากการใช้แบบจำลอง โดยนำข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับภูมิอากาศและการลอยตัวของหมอกควันเข้ามาใช้เพื่อดูการกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 ทำให้รู้ได้ว่าฝุ่นที่เกิดขึ้นในแต่ละบริเวณน่าจะเกิดจากสาเหตุใด เช่น ฝุ่นที่ก่อตัวในกรุงเทพมหานครก็จะเกิดจากภาคการจราจร แต่หากก่อตัวในพื้นที่ปริมณฑลและมีจุดความร้อนเข้าเกี่ยวข้อง ก็จะเกิดจากการเผาในที่โล่ง

 

เขายังนำตัวอย่างของภาพที่ได้จากการใช้แบบจำลองเพื่อดูการกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 มาแสดงให้เราดู เป็นภาพระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2563 ที่แสดงให้เห็นว่าที่มาของฝุ่นในห้วงเวลานั้นมาจากการจราจรเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นฝุ่นที่ก่อตัวในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง แต่ก็มีการเผาในที่โล่งในพื้นที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน

 

ภาพที่ได้จากการใช้แบบจำลองเพื่อดูการกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 ช่วงบ่ายวันที่ 13 ถึงเช้าวันที่ 14 ธันวาคม 2563)

 

การกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 ช่วงบ่ายวันที่ 13 ถึงเช้าวันที่ 14 ธันวาคม 2563)

 

ถึงกระนั้นอธิบดีกรมควบคุมมลพิษก็ยังยอมรับว่าเรายัง ‘ขาดความรู้อยู่อีกมาก’ เกี่ยวกับเรื่องแหล่งกำเนิดฝุ่นจิ๋ว เขาบอกว่า ภาครัฐพยายามหาเครือข่ายมาช่วยเหลือ เช่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ และยืนยันกับเราว่า ‘มีงบให้’

 

“ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราอยากจะรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณ PM2.5 ที่ปล่อยมาจากภาคการจราจรมันมากน้อยแค่ไหน จากดีเซล จากเบนซิน มันต่างกันแค่ไหน ดัชนีของรถติด รถติดมันก็จะมีดัชนีของค่ารถติดของเขา ดัชนีที่เท่าไรที่รถติดแล้วมันจะส่งผล มันมีความสัมพันธ์อย่างไรกับ PM2.5 แล้วก็แยกเป็นรายพื้นที่ ลงไปถึงในระดับพื้นที่ เป็นถนน เป็นเส้น ฉะนั้นถ้าเรามีโชว์เหมือน Google Map แต่เป็น PM2.5 เป็นการพยากรณ์รายพื้นที่ลงไปละเอียดขนาดนั้น ตรงนี้จะช่วยประชาชนได้เยอะ เราอยากจะให้สถาบันการศึกษาเข้ามาช่วยเรามาก” เขาระบุ

 

และไม่เพียงเท่านั้น ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ อาจารย์จากนิด้าและโฆษก ศกพ. ที่เรากล่าวถึงไปก่อนหน้ายังบอกว่า ถ้าเราให้นิยามคำว่า PM2.5 ว่าเป็น ‘อนุภาคใดๆ’ ที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน นั่นหมายถึงละอองน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนก็อาจจะถือเป็น PM2.5 ตามนิยามนี้ หรือแม้กระทั่งป่าเองก็มีบทบาทในการปล่อย PM2.5 ตามนิยามนี้ (นอกไปจากการดักจับ PM2.5) เช่นกัน เพียงแต่องค์ประกอบทางเคมีของ PM2.5 ที่ถูกปล่อยจากป่ามีความเป็นพิษน้อยกว่า PM2.5 จากแหล่งกำเนิดอื่นที่เรารู้กันอยู่มาก เขาจึงบอกว่า อยากให้สนใจ ‘สิ่งที่อยู่ในฝุ่น’ ที่ก่ออันตรายต่อร่างกาย อาทิ สารก่อมะเร็ง หรือโลหะหนัก มากกว่า

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัย ข้อมูล และความเห็นอันหลากหลายเกี่ยวกับการศึกษาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้แหล่งกำเนิดสำคัญๆ อาจอยู่ไม่ไกลจากที่เรารู้กันทุกวันนี้ ไอเสียรถดีเซล การเผาในที่โล่ง อุตสาหกรรม ฯลฯ แต่ก็ยังคงมีวิธีการและคำตอบใหม่ๆ ในการศึกษาเรื่องนี้ที่รอเราไปให้ถึง

 

แล้วเราจะมาเจาะเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่นจากแหล่งกำเนิดกันต่อในตอนถัดไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • รายงานโครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษ (2561) http://infofile.pcd.go.th/air/PM2.5.pdf 
  • รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน (PM2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา (2563) https://www.senate.go.th/document/Ext24700/24700356_0003.PDF
  • บทความเรื่อง ‘Land use regression modeling for fine particulate matters in Bangkok, Thailand, using time-variant predictors: Effects of seasonal factors, open biomass burning, and traffic-related factors’ โดยกลุ่มนักวิจัย สถาบันการขนส่ง CUTI จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2563) https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S135223102030858X?dgcid=author 
  • กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ http://air4thai.pcd.go.th/webV2/
  • FINAL REPORT Research project on “A Study in Urban Air Pollution Improvement in Asia” By Prof. Nguyen Thi Kim Oanh Asian Institute of Technology (AIT) and the project team https://www.jica.go.jp/jica-ri/publication/booksandreports/l75nbg00000kjwkk-att/Final_report.pdf 
FYI

หมายเหตุ:

  • ผู้เขียนขอขอบพระคุณ รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับข้อมูลและความรู้ที่ได้ใช้ในการนำเสนอรายงานข่าวชิ้นนี้ส่วนหนึ่งด้วย
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising