×

เกิดอะไรขึ้นในกาซา สรุปเหตุขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จากความไม่สงบในเยรูซาเลม สู่การสู้รบในกาซาที่อาจบานปลายเป็นสงครามใหญ่

13.05.2021
  • LOADING...
เกิดอะไรขึ้นในกาซา สรุปเหตุขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จากความไม่สงบในเยรูซาเลม สู่การสู้รบในกาซาที่อาจบานปลายเป็นสงครามใหญ่

สถานการณ์สู้รบในฉนวนกาซาทวีความรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี หลังกองทัพอิสราเอลส่งฝูงบินรบระดมโจมตีทางอากาศต่อเนื่องตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อตอบโต้กองกำลังติดอาวุธฮามาสที่ยิงจรวดโจมตีข้ามชายแดนนับพันลูกตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา

 

ความคืบหน้าล่าสุดในวันนี้ (13 พฤษภาคม) ซึ่งตรงกับวันอีฎิ้ลฟิตริ (Eid al-Fitr) หรือวันเฉลิมฉลองการออกศีลอดของชาวมุสลิม กลายเป็นวันแห่งความวิปโยคของชาวปาเลสไตน์ในกาซา ที่ 99% นับถือศาสนาอิสลาม 

 

จำนวนผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลเพิ่มเป็น 69 ราย ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขแห่งกาซา ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 17 ราย และผู้หญิง 8 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 390 ราย

 

ขณะที่กลุ่มฮามาสยังคงเดินหน้ายิงจรวดข้ามชายแดนไปยังอิสราเอล ส่งผลให้พลเรือนอิสราเอลเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 6 ราย โดยกองทัพอิสราเอลเผยว่ากลุ่มฮามาสยิงจรวดโจมตีหลายพื้นที่ของอิสราเอลรวมแล้วกว่า 1,500 ลูก ขณะที่ฮาเซม กัสเซม โฆษกกลุ่มฮามาส ประกาศว่าทางกลุ่มจะเดินหน้าปกป้องชาวปาเลสไตน์ และเตรียมขยายการตอบโต้อิสราเอลในหลายรูปแบบมากขึ้น

 

ซึ่งจนถึงตอนนี้ การสู้รบระหว่าง 2 ฝ่ายยังคงดำเนินไปและไม่มีท่าทีว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้โดยง่าย ท่ามกลางการจับตามองและเรียกร้องจากนานาชาติให้ทั้งสองฝ่ายยุติการขยายความรุนแรง โดยสหประชาชาติ (UN) กังวลว่าความขัดแย้งครั้งนี้เสี่ยงนำไปสู่ ‘สงครามเต็มรูปแบบ’

 

ชนวนสู่การปะทะกัน

  • ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง อธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกาซาว่า ต้นเหตุความขัดแย้งที่ปะทุล่าสุด เกิดขึ้นย้อนไปตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังศาลแขวงเยรูซาเลมตัดสินให้ครอบครัวชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 12 ครอบครัวในย่าน Sheikh Jarrah แถบเยรูซาเลมตะวันออก ที่อยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล ย้ายออกไปจากบ้านที่อยู่อาศัยของตัวเอง และมอบบ้านเหล่านั้นให้กับครอบครัวชาวยิวที่ชนะคดี ในคำสั่งระบุให้ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 50 คน ย้ายออกภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 
  • ศาลแขวงยังไม่รับคำร้องอุทธรณ์ของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการประท้วงตั้งแต่เดือนมีนาคม กระทั่งกลางเดือนเมษายน ในวันเริ่มต้นเดือนรอมฎอน เกิดการปะทะระหว่างชาวปาเลสไตน์กับตำรวจอิสราเอลที่นำรั้วกั้นไปตั้งบริเวณประตูดามัสกัสในเขตเมืองเก่า เพื่อห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมรวมตัวกันในบริเวณมัสยิดอัลอักซอ หลังการรับประทานอาหารมื้อเย็นภายหลังถือศีลอด ที่เรียกว่า ‘อิฟตาร์ (Iftar)’ โดยระบุเหตุผลเพื่อป้องกันความปลอดภัย
  • วันครบกำหนดเส้นตายที่ต้องย้ายออกในวันที่ 2 พฤษภาคม กองกำลังอิสราเอลได้เข้าจู่โจมบ้านเรือนเหล่านั้นใน Shiekh Jarrah และบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้าน มีการใช้แก๊สน้ำตาโยนเข้าไปในบ้านเพื่อให้คนที่อยู่ข้างในออกมาทั้งที่มีผู้สูงอายุด้วย ในขณะเดียวกันชาวยิวที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ได้ทำร้ายเจ้าของบ้านที่ประท้วงการใช้กำลังขับไล่ ผลจากเหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวปาเลสไตน์จำนวนมาก เพราะกองกำลังของอิสราเอลเข้าขับไล่ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เพิ่งจะถูกร้องไปที่ศาลสูงสุด (Supreme Court) และอยู่ระหว่างพิจารณา 
  • 4 พฤษภาคม เริ่มมีการรวมตัวของชาวปาเลสไตน์จำนวนมากที่บริเวณทางเข้ามัสยิดอัลอักซอเพื่อทำพิธีละหมาดยามค่ำคืน แต่ถูกทางการอิสราเอลปิดกั้นการเข้ามัสยิด จนสร้างความไม่พอใจและเกิดการประท้วง ขณะที่ศาลสูงอิสราเอลมีกำหนดพิจารณาคดีไล่ที่ชาวปาเลสไตน์ในวันที่ 10 พฤษภาคม และตัดสินคดีในช่วงกลางเดือน ทำให้ในวันที่ 6 พฤษภาคม ชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอลฝ่ายซ้ายออกมาชุมนุมประท้วงใหญ่ เพื่อต่อต้านการไล่ที่ เนื่องจากมองว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบลุกลามไปทั่วชุมชนปาเลสไตน์ 
  • สถานการณ์ประท้วงลุกลามเป็นความรุนแรงในวันถัดมา โดยที่การประท้วงยังคงดำเนินต่อเนื่องใกล้กับมัสยิดอัลอักซอ ทำให้อิสราเอลตัดสินใจสลายการชุมนุม โดยยิงแก๊สน้ำตา ยิงกระสุนโลหะหุ้มยางเข้าไปในมัสยิดขณะที่มีการละหมาดในวันศุกร์ ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 300 ราย และก่อให้เกิดกระแสประณามจากนานาชาติ ก่อนที่ศาลสูงอิสราเอลจะตัดสินใจเลื่อนการตัดสินคดีออกไปอีก 30 วัน เพื่อลดความตึงเครียด

 

สงครามนองเลือด

  • 10 พฤษภาคม กลุ่มฮามาสตัดสินใจยิงจรวดกว่า 200 ลูกโจมตีข้ามแดนไปยังอิสราเอลเพื่อตอบโต้การสลายผู้ชุมนุม โดยจรวดหลายลูกตกในที่ชุมชนและโรงเรียน ก่อนที่กองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF) จะดำเนินการตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยการส่งฝูงบินรบโจมตีทางอากาศกว่า 130 ครั้งในเมืองกาซา ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มฮามาส 
  • 11 พฤษภาคม หลังประกาศเตือนอพยพ เครื่องบินรบอิสราเอลโจมตีเป้าหมายอาคารพักอาศัย 13 ชั้นในกาซา ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานข่าวกรองของฮามาส จนอาคารพังถล่ม กองทัพอิสราเอลชี้แจงการโจมตีว่าเพื่อตอบโต้ที่กลุ่มฮามาสยิงจรวดโจมตี โดยพุ่งเป้าที่กรุงเทลอาวีฟและเมืองใกล้เคียง ทำให้พลเรือนหลายคนเสียชีวิต
  • การโจมตีของทั้งสองฝ่ายดำเนินไปอย่างดุเดือดตลอด 4 วันที่ผ่านมา อาคารหลายหลังและสถานีตำรวจทุกแห่งในกาซาถูกอิสราเอลโจมตี กระทรวงสาธารณสุขกาซาเปิดเผยว่ามีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้ว 69 ราย บาดเจ็บกว่า 390 ราย นับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มการโจมตีทางอากาศ ขณะที่พลเรือนอิสราเอลเสียชีวิตจากการโจมตีของฮามาส 6 ราย 

 

ความสนใจของประชาคมโลก

  • คดีไล่ที่ชาวปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมตะวันออกกลายเป็นที่สนใจของนานาชาติ โดยมีจุดเริ่มต้นย้อนไปตั้งแต่ก่อนสงครามในปี 1948 จากการที่ศาลชั้นต้นอิสราเอลตัดสินให้พื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นชุมชนชาวปาเลสไตน์ ตกเป็นของชาวยิว 
  • คำตัดสินล่าสุดของศาลก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์ถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเยรูซาเลมตะวันออก ขณะที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ กล่าวกับทางการอิสราเอลเมื่อวันอาทิตย์ (9 พฤษภาคม) โดยแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านของพวกเขาในย่าน Sheikh Jarrah เช่นเดียวกับอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ที่แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ความรุนแรงและการไล่ที่ชาวปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมตะวันออก

 

เมืองหลวงของยิว-ปาเลสไตน์

  • อิสราเอลมองกรุงเยรูซาเลม ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบของภูเขายูดาห์ ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งความเป็นปึกแผ่นอันเป็นนิรันดร์และแบ่งแยกไม่ได้ โดยเข้ายึดครองเยรูซาเลม ซึ่งรวมถึงพื้นที่เมืองเก่า ตลอดจนเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาในช่วงสงครามตะวันออกกลางปี 1967
  • ขณะที่ปาเลสไตน์ต้องการดินแดนดังกล่าวเพื่อตั้งประเทศของตนเองในอนาคต โดยมีเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวง แต่ฝ่ายอิสราเอลกลับผนวกรวมเยรูซาเลมตะวันออกเป็นดินแดนของตน แม้ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
  • เยรูซาเลมได้รับการขนานนามเป็น ‘นครศักดิ์สิทธิ์’ ของศาสนาทั้งสามในกลุ่มศาสนาอับราฮัม ได้แก่ ศาสนายูดาห์, ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ภายในเมืองมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม 2 แห่ง ได้แก่ โดมแห่งศิลา และมัสยิดอัลอักซอ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดลำดับ 3 ของศาสนาอิสลาม ขณะที่ชาวคริสต์เชื่อว่าเยรูซาเลมเป็นดินแดนที่พระเยซูเทศนาคำสั่งสอน สิ้นพระชนม์ และฟื้นคืนพระชนม์

 

ภาพ: Ahmed Zakot / SOPA Images / LightRocket via Getty Images 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising