คนไทยทำงานสัปดาห์ละ 50.9 ชั่วโมง เกินค่าเฉลี่ยโลก เสี่ยงเครียด เจอสารพัดโรคฮิต โรงพยาบาลวิมุตเปิด 4 คลินิกเฉพาะทางรับเทรนด์ 4 กลุ่มโรคยอดฮิต คลินิกปวดศีรษะ, คลินิกกรดไหลย้อนและท้องผูก, คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ และคลินิกโรคจมูกและไซนัส เน้นจับกลุ่มลูกค้าวัยทำงาน
“ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะวัยทำงานที่เป็นกำลังในการขับเคลื่อนประเทศ หากสังเกตจะเห็นว่าสังคมการทำงานในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงต่างจากอดีต ทั้งการแข่งขันกับบริษัทในไทยและต่างชาติ จนทำให้หลายคนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ละเลยสัญญาณที่ร่างกายแสดงออกมา กว่าจะรู้ตัวก็ป่วยหนักไปแล้ว” นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุตกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สอดรับกับข้อมูลของสถาบันวิจัยจีเอฟเค พบว่า คนไทยมีชั่วโมงการทำงานสูงถึงสัปดาห์ละ 50.9 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่สัปดาห์ละ 40-44 ชั่วโมง โดยตัวเลขชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินค่าเฉลี่ยของคนไทย สะท้อนถึงความเสี่ยงในการล้มป่วยด้วยโรคฮิตของคนวัยทำงานหลายโรค ที่มาจากไลฟ์สไตล์พักผ่อนน้อยและออกกำลังกายไม่เพียงพอ กินอาหารไม่เหมาะสม ความเครียด ฝุ่นและมลภาวะ รวมถึงการนั่งจ้องหน้าจอเป็นเวลานานติดต่อกัน
เช่นเดียวกับสถิติโรคปวดศีรษะ โดยผลสำรวจองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า ความชุกของโรคปวดศีรษะมีมากถึง 40% หมายความว่า ประชากรโลกราว 7 พันล้านคน มีคนปวดศีรษะถึง 3.1 พันล้านคน และในจำนวนดังกล่าวเป็นโรคไมเกรนประมาณ 1 พันล้านคน โดย 15% ของผู้ปวดศีรษะรายงานว่าเป็นการปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการอักเสบติดเชื้อ เนื้องอกในสมอง หรือมีเลือดออกในสมอง และสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตหรือพิการได้ หากไม่รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย
จากเทรนด์ดังกล่าวจึงได้เปิด 4 คลินิกเฉพาะทาง ได้แก่ คลินิกปวดศีรษะ, คลินิกกรดไหลย้อนและท้องผูก, คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ และคลินิกโรคจมูกและไซนัส ด้วยการชูจุดแข็งการรักษาตั้งแต่ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู จากทีมแพทย์เฉพาะทาง รักษาด้วยนวัตกรรมและเครื่องมือที่ทันสมัย เน้นเจาะกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งถือเป็นการเดินหน้าตามทิศทางใหม่ที่โรงพยาบาลได้เคยประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้
อีกทั้งการเปิดคลินิกเฉพาะทางจะมาช่วยผลักดันรายได้รวมของโรงพยาบาลวิมุตในปี 2567 ที่ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 1,300 ล้านบาท เติบโต 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น โดยปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยนอกเริ่มขยายตัวดีขึ้น แต่ยังอยู่ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ลดลง ประกอบกับการแข่งขันของโรงพยาบาลเอกชนที่เพิ่มขึ้น