×

คอนเทนต์ไทยฮอต! เพราะอะไรบริการวิดีโอสตรีมมิงจึงหันมาสร้างคอนเทนต์ไทย?

19.10.2023
  • LOADING...
วิดีโอสตรีมมิงคอนเทนต์ไทย

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเรียกได้เป็นยุคเปลี่ยนผ่านของหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะวงการสื่อ ที่เราได้เห็นสื่อแบบดั้งเดิมเริ่มล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่สื่อทรงอิทธิพลอย่างโทรทัศน์ที่เริ่มมีข่าวลดต้นทุนการผลิตลง และดูเหมือนบริการสตรีมมิงจะกลายเป็นของสามัญประจำบ้านเข้ามาแทนที่ จนเกิดปรากฏการณ์สร้างคอนเทนต์ไทยในแทบทุกแพลตฟอร์มสตรีมมิงเพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้น

 

ในปี 2565 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรเกือบ 700 ล้านคน มีจำนวนผู้ชมวิดีโอสตรีมมิง หรือ Over-The-Top (OTT) มากกว่า 200 ล้านคน เฉลี่ยในการเข้าชมประมาณ 48.6 ชั่วโมงต่อเดือนต่อคน และผู้ชมทั้งหมดมีการชมคอนเทนต์ประมาณ 97 พันล้านชั่วโมงต่อเดือน โดยคาดการณ์กันว่าปี 2566 อุตสาหกรรม OTT จะมีมูลค่าประมาณ 3.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 14% เลยทีเดียว แน่นอนว่านี่คือตลาดที่หอมหวาน ขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันสูงเช่นกัน จึงทำให้ OTT หลายเจ้าหันมาผลิต Original Content ของตัวเองเพื่อกำหนดทิศทางคอนเทนต์แบบที่หาดูที่อื่นไม่ได้แน่นอน

 

วิดีโอสตรีมมิงคอนเทนต์ไทย

HUNGER คนหิว เกมกระหาย

ภาพ: Netflix

 

ข้อดีอย่างแรกของการทำ Original Content คือการได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ขยายไปสู่กิจกรรมทางการตลาดและการหารายได้ในทางอื่นด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Disney ที่พัฒนาคอนเทนต์ของตัวเองไปสู่ของที่ระลึกและธีมพาร์ก สร้างรายได้มหาศาล สิ่งนี้คือสิ่งที่ Netflix เคยฝันถึง และเพิ่งประสบความสำเร็จจาก Squid Game (2021) ที่ตอนนี้แตกไลน์ไปเป็น Squid Game The Challenge รายการเรียลิตี้โชว์ เงินรางวัลสูงสุดในประวัติศาสตร์ถึง 165 ล้านบาท และกำลังจะสตรีมมิงในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ รวมทั้งกำลังจะเปิดร้านค้าปลีกภายใต้ชื่อ ‘Netflix House’ ที่ขายอาหาร เสื้อผ้า ไปจนถึงลองฝ่าด่านใน Squid Game ที่สหรัฐอเมริกาในปี 2025 ก่อนขยายไปทั่วโลก

 

อย่างต่อมาคือการสร้าง Original Content ท้องถิ่น คือการเข้าสู่ตลาดระดับแมสได้มากยิ่งขึ้น และยังมีโอกาสขยายไปสู่สมาชิกในประเทศอื่นๆ ได้อีกด้วย ตัวอย่างความสำเร็จของคอนเทนต์ไทยในระดับโลกที่เห็นชัดๆ ก็คือซีรีส์เรื่อง เด็กใหม่ ทาง Netflix ที่ติดอันดับผู้ชมมากที่สุดในหลายประเทศ แม้จะเคยเป๋ๆ ไปกับซีรีส์เรื่อง เคว้ง แต่ในที่สุดโปรเจกต์ ‘ทีไทย ทีมันส์’ ของ Netflix ที่เปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้วก็เล็งเข้าเป้าอยู่หลายเรื่อง อย่างเช่นซีรีส์ DELETE ที่ขึ้นอันดับสูงสุดที่อันดับ 6 บนชาร์ต Netflix Top 10 ในหมวดรายการทีวีภาษาต่างประเทศ และติด Netflix Top 10 ในอีก 29 ประเทศทั่วโลก, HUNGER คนหิว เกมกระหาย ติดอันดับ 1 จาก 53 ประเทศทั่วโลกในหมวดหมู่ภาพยนตร์ Netflix บนเว็บไซต์ FlixPatrol เป็นต้น

 

วิดีโอสตรีมมิงคอนเทนต์ไทย 

CHUANG ASIA

ภาพ: WeTV

 

ขณะที่ WeTV ผลิตคอนเทนต์ไทยมาแล้ว 15 เรื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ออริจินัลซีรีส์เรื่อง เมียหลวง ได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยการครองอันดับ 1 ในหลายพื้นที่ ทั้งไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยซีรีส์ ค่อยๆ รัก Step By Step และกำลังจะมีโปรเจกต์ปิดท้ายปลายปีกับ เด็กฝึกหน้าใส เติมหัวใจนายหญิง (Intern In My Heart) ว่าด้วยเรื่องราวรักต่างวัยของดีไซเนอร์สาวใหญ่ (คริส หอวัง) กับเด็กฝึกงานสุดหล่อ (บลู-พงศ์ทิวัตถ์ ตั้งวันเจริญ) ออกอากาศพร้อมกันกับประเทศจีน ส่วนในปีหน้าก็กำลังจะมีรายการ CHUANG ASIA รายการไอดอลเซอร์ไวเวอร์ชื่อดังจาก Tencent Video ที่ได้ แจ็คสัน หวัง มารับหน้าที่ Lead Mentor ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

 

ทางด้านของ Viu ก็เจาะกลุ่มตลาดระดับแมสมานานแล้วด้วยซีรีส์พากย์เสียงท้องถิ่นทั้งภาษาอีสานและภาษาเหนือ โดยในปีนี้เปิดไลน์อัพซีรีส์ออริจินัลไทยอย่าง Love Me Again อีกครั้ง ฉันรักเธอ, Return Man ยอดรัก นักทวงคืน, Get Rich เปิด | โรงเรียน | ปล้น และที่กำลังจะตามมาคือ SHADOW เงา / ล่า / ตาย รวมทั้ง Close Friend โคตรแฟน 3 Soju Bomb! ที่ใช้นักแสดงรุ่นใหม่ในสังกัดของ Viu จากโปรเจกต์ Viu Talent มาร่วมแสดง และที่น่าตื่นเต้นคือการประกาศรีเมกซีรีส์ Reborn Rich ในเวอร์ชันไทย

 

วิดีโอสตรีมมิงคอนเทนต์ไทย

My Undercover Chef มือปราบกระทะรั่ว

ภาพ: Prime Video

 

ขณะที่ HBO GO เปิดตัว MarkKim + Chef รายการที่ติดตาม หมาก-ปริญ สุภารัตน์ และ คิมเบอร์ลี่ แอน โวลเทมัส คู่รักซูเปอร์สตาร์ ไปเรียนรู้การทำอาหารกับเหล่าเซเลบริตี้เชฟชื่อดังของไทยจำนวน 10 ตอนไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และเพิ่งเปิดตัวซีรีส์เรียลิตี้ Deane’s Dynasty ของ ลิเดีย และ แมทธิว ดีน กับเรื่องราวดราม่าและชีวิตครอบครัวของพวกเขา

 

ทางด้าน Prime Video ก็สร้างความฮือฮาด้วยการปล่อยภาพแรกของ Congrats My Ex! ลุ้นรักป่วน ก๊วนแฟนเก่า การร่วมงานกันระหว่าง ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี และ เบลล่า-ราณี แคมเปน พร้อมกับเปิดโปรเจกต์ ‘แกะกล่องไทยบันเทิง’ สตรีมคอนเทนต์ไทย 13 รายการ ตลอด 13 สัปดาห์ ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ ละคร และคอนเสิร์ต โดยเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง Kitty the Killer ไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

วิดีโอสตรีมมิงคอนเทนต์ไทย

The Office Games ร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศ

ภาพ: Prime Video

 

ที่น่าสนใจคือในจำนวนนี้มีผลงานของ BEC Studio บริษัทโปรดักชันในเครือช่อง 3 ที่หันมาผลิตผลงานแบบ Exclusive ป้อนให้กับแพลตฟอร์ม คือละครเรื่อง The Office Games ร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศ สะท้อนชีวิตมนุษย์ออฟฟิศที่พยายามดิ้นรนไปสู่ความสำเร็จ นำแสดงโดย มิ้นต์-ชาลิดา วิจิตรวงศ์ทอง และ นนกุล-ชานน สันตินธรกุล และละคร My Undercover Chef มือปราบกระทะรั่ว เรื่องราวของมือปราบหัวร้อนที่ถูกพักงาน จึงแฝงตัวเป็นเด็กเสิร์ฟเพื่อจับนักค้ายาเสพติดแต่จับพลัดจับผลูต้องพัฒนาชุมชนเป็นย่าน Street Food นำแสดงโดย เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี และ เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ นับเป็นการเดินเกมตามแผนธุรกิจใหม่ตามที่ประกาศว่าจะหารายได้ทางอื่นนอกเหนือจากสถานีโทรทัศน์อีกด้วย

 

ว่ากันตามจริง เรื่องโปรดักชันด้านบันเทิงของไทยถือว่าดีในภูมิภาคเอเชีย อาจจะมีปัญหาเรื่องบทและการตอบรับของคนดูในท้องถิ่นอยู่บ้าง เพราะหากอยากได้งานยอดนิยมระดับแมสก็อาจจะลดความซับซ้อนของบทลง แต่เมื่อการเข้ามาแข่งขันเรื่องคอนเทนต์ไทยของแพลตฟอร์มต่างๆ สิ่งที่น่าจะได้เห็นต่อไปในอนาคตคือผลงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น เฉพาะกลุ่มมากขึ้น ก็น่าจะสร้างมิติใหม่ให้วงการบันเทิงไทยได้ไม่น้อยทีเดียว ติดอยู่เรื่องเดียวคือทุกคนมีเวลาแค่ 24 ชั่วโมง…แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปดูหมดกันล่ะเนี่ย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising