×

บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พุ่ง ส่อสะเทือนพันธบัตรไทย กูรูแนะจับตาหุ้นแบงก์-ประกันรับอานิสงส์

14.10.2021
  • LOADING...
Bond Yield

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเผย บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ขึ้นแรง จากปัญหาเงินเฟ้อสูง ราคาพลังงานโลกพุ่ง และอัตราดอกเบี้ยเริ่มกลับสู่ขาขึ้น
  • ประเมินแนวโน้มดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้ 1,650 จุด เหตุเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาฟื้นตัว แม้รัฐบาลเตรียมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว
  • กำไรบริษัทจดทะเบียนปรับตัวลดลง โดยเวลานี้การซื้อขายยังอยู่บนความกังวลกับความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯ เศรษฐกิจปีนี้โต 6% เมื่อเทียบจากปีที่แล้วที่ยังติดลบ โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีกระทบมากที่สุด
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยาระบุ บอนด์ยีลด์ขึ้นแรง ขณะที่พันธบัตรระยะยาวของไทยโดนหางเลขไปด้วย ประเมินกลุ่มแบงก์-ประกัน รับอานิสงส์ ส่วนกลุ่มเทคโนโลยีโดนผลกระทบเต็ม 

แม้ว่าช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) รัฐบาลสหรัฐฯ จะพักฐานลงมาบ้าง แต่ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นอย่างร้อนแรงจนสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนไปทั่วโลก โดยเป็นผลจากการที่ธนาคารสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณลดขนาดของมาตรการ QE ที่ชัดเจนมากขึ้น 

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เหตุผลหลักของบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้มาจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน พลังงานที่ปรับขึ้นไปทั่วโลก บวกกับการณรงค์ให้ใช้พลังงานสะอาด จึงทำให้ราคาแก๊สเพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่กลับสู่ภาวะขาขึ้นทั่วโลก จึงทำให้พันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ กระชากขึ้นไปเร็ว 

 

นอกจากนี้ ซัพพลายเชนต่างๆ เช่นในจีนเริ่มประสบปัญหาในเรื่องการผลิตที่อาจผลิตได้น้อยกว่าคาด เพราะราคาพลังงานอยู่ในช่วงขาขึ้น เลยทำให้เกิดความกังวลว่าซัพพลายต่างๆ อาจช็อตไปในช่วงที่ทั่วโลกกำลังฟื้นตัวอยู่พอดี บวกกับการเปิดประเทศของต่างประเทศมีการกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น จึงกลายเป็นว่าดีมานด์มา แต่ว่าซัพพลายมาไม่ทัน ฉะนั้นแล้วยังต้องดูต่อไปว่าซัพพลายในช่วงนี้จะเป็นปัญหาชั่วคราวหรือถาวร แม้ Fed จะออกมาพูดว่าเป็นปัญหาแค่ชั่วคราวก็ตาม 

 

ทั้งนี้ เมื่อต่างประเทศประสบกับปัญหาเงินเฟ้อสูง ของแพง เพราะต้นทุนสูง บวกกับยอดขายที่ไม่ดีขึ้น จึงทำให้บริษัทจดทะเบียนมีกำไรลดลง เพราะปกติเมื่อเศรษฐกิจดีจะนำมาสู่เงินเฟ้อที่สูงขึ้น ก็จะเป็นตัวผลักดันชดเชยให้ได้รับผลกำไรที่ดีขึ้นได้ แต่ ณ เวลานี้การซื้อขายยังอยู่บนความกังวลกับความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯ เศรษฐกิจปีนี้โตเพิ่ม 6% เมื่อเทียบจากปีที่แล้วที่ยังติดลบ ซึ่งหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจะได้รับผลกระทบจากปัญหาบอนด์ยีลด์มากที่สุด

 

และหากย้อนกลับมาดูบ้านเรา ถึงปัญหาบอนด์ยีลด์ยังคงห่างไกลกับความกังวล เนื่องจากประเทศไทยปีนี้มีการเติบโตด้านเศรษฐกิจช้าอยู่ในระดับ 0.5-0.6% เท่านั้น บวกกับเรายังไม่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ และอาจเป็นผลดีที่นักลงทุนต่างชาติไหลเข้ากลับสู่บ้านเราได้อีกครั้ง 

 

ไพบูลย์คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ 1,650 จุด ไม่น่าที่จะไปถึง 1,700 จุด เนื่องจากเศรษฐกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดยเฉพาะการท่องเที่ยว แม้ว่าจะมีการเปิดประเทศแล้วก็ตาม ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวเองยังคงไม่ได้รีบกลับมาในเร็วๆ นี้ น่าจะเป็นปีหน้าที่จะเห็นภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น

 

“กลุ่มประกันส่วนใหญ่จะเข้าไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ถ้าบริษัทนั้นได้รับผลตอบแทนที่เข้าไปลงทุนสูง แปลว่าจะกำไร แต่ช่วงที่ผ่านมาก็ยังคงประสบกับปัญหาเรื่องประกันโควิด ยังคงต้องดูกันต่อไป ขณะเดียวกันกลุ่มแบงก์ของไทยต้องแยกออกไปอีกว่าจะเป็นดอกเบี้ยระยะยาวหรือดอกเบี้ยระยะสั้น แต่ในต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นการอ้างอิงดอกเบี้ยพันธบัตร ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยปล่อยสินเชื่อ ส่วนใหญ่จะอ้างบอนด์ยีลด์ แต่ของบ้านเราจะอ้างอิงกับดอกเบี้ยแบงก์ชาติมากกว่า ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ที่ 0.5%”

 

ขณะที่ วิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า บอนด์ยีลด์ปีนี้ปรับตัวขึ้นมา 2 รอบ ซึ่งตอนช่วงต้นปีอยู่ที่ 1.7% ขณะที่รอบนี้อยู่ที่ 1.6% สาเหตุเศรษฐกิจฟื้นตัวเกิดจากซัพพลายเชน บวกกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ก็เลยทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์กันเอาไว้   

 

และสิ่งนี้ที่มักเกิดขึ้นในช่วงนี้ บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะสั้นยังคงอยู่ที่เดิม เนื่องจาก Fed ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย และหากย้อนกลับไปดู บ้านเราก็จะโดนหางเลขแต่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง สำหรับตัวพันธบัตรระยะยาวก็จะเด้งขึ้นเช่นกันแต่ไม่มาก เนื่องจากบ้านเราไม่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ส่วนผลกระทบน่าจะเป็นฝั่งของทางภาครัฐเองที่ต้องมีการกู้ธนาคารแพงขึ้น

 

“บอนด์ยีลด์บ้านเราน่าจะขึ้นไม่มากเท่าสหรัฐฯ เพราะเศรษฐกิจเราฟื้นช้ากว่า อีกทั้งปีหน้า GDP คาดว่าอยู่ที่ 3% เงินเฟ้ออยู่ที่ 1-2% พอเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ตัวบอนด์ยีลด์และเงินเฟ้อก็จะมาต่ำๆ คงไม่ขึ้นแรง และต้องรอดูด้วยว่าจากการที่นายกรัฐมนตรีประกาศเปิดเมืองจะเป็นผลดีแค่ไหน เปิดแล้วจะคึกคักหรือไม่ ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดก็ได้”

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจโลกชะลอจากจุดร้อนแรง การลงทุนในตลาดหุ้นยังเป็นกลยุทธ์ที่คาดว่าให้ผลตอบแทนที่ดี ยังอยู่ในแนวโน้มที่สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดสูงสุดไปเมื่อช่วงไตรมาส 2 โดยยังคงมองว่า ไตรมาส 4/64 และไตรมาส 1/65 ในระยะสั้นอาจมีการปรับฐาน แต่ในทิศทางระยะปานกลางยังไปในทางที่ดี จากการที่ดัชนีหุ้นไทยนั้นปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างเร็วในระยะสั้น

 

ดังนั้น ในระยะนี้อาจมีการปรับฐานได้ ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นการปรับฐานในระยะสั้น ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจไทยนั้นน่าจะเริ่มได้รับปัจจัยบวกจากการค่อยๆ ฟื้นตัวของภาคบริการ ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตก็น่าจะได้รับแรงผลักดันจากการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยในเรื่องของการจ้างงานเพิ่มในระบบ ภายใต้มุมมองนี้เราเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังสามารถที่จะปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปี SET จะอยู่ที่ 1,700จุด แต่ก็ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิดกับปัจจัยการเมืองทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งยังมีแนวโน้มที่อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดได้

 

สำหรับกลุ่มที่น่าสนใจที่อาจจะได้รับอานิสงส์จากการบอนด์ยีลด์ปรับตัวเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นกลุ่มธนาคารและกลุ่มประกันที่จะได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมองว่าราคาได้มีการปรับขึ้นมาเยอะแล้ว ส่วนกลุ่มประกันเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์โดยตรง เพราะว่าอัตราผลตอบแทนบอนด์ยีลด์พุ่งขึ้นสูงก็จะทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในต่างประเทศจะได้รับผลกระทบนี้  

 

แม้ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่พุ่งสูงขึ้นสักเท่าไร อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังประสบกับปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหลักในขณะนี้

 

Bond Yield

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising