×

กินอย่างไรไม่ให้ไมเกรนถามหา บอกลาอาหารชักนำการปวดไมเกรน

02.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • แม้สิ่งกระตุ้นไมเกรนจะแตกต่างไปในแต่ละคน แต่ก็มีอาหารบางประเภทที่หลายคนกินแล้วทำให้ไมเกรนขึ้น เช่น กล้วย ไวน์แดง กาแฟ ชีส ฯลฯ
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินก็ช่วยได้ เช่น การแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ ระหว่างวัน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ไม่หิวจัด เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไมเกรนขึ้นหัวทุกครั้งเวลาท้องร้อง
  • การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก็เป็นอีกวิธี หลัง American Migraine Foundation แนะนำว่า น้ำหนักตัวที่มากเกินยิ่งทำให้การปวดไมเกรนแย่ลง

เมื่อพูดถึงไมเกรน ใครที่เป็นโรคนี้ย่อมรู้ดีว่า ไมเกรนเปรียบเสมือนโรคเวรโรคกรรม ที่รักษาอย่างไรก็ไม่หายขาด แถมอาการปวดแต่ละครั้งก็รุนแรงเสียจนบางทีอยากจะวิ่งเอาหัวชนกำแพง เพราะมีตั้งแต่ปวดหัวตุบๆ ข้างเดียวอย่างรุนแรง หรือปวดบีบรัดไปทั้งศีรษะลามมาเบ้าตาหรือขมับ บางคนมีอาการเสริมอย่างตาพร่า เห็นแสงวิบวับ คลื่นไส้ อยากจะอาเจียน หนักลงมาถึงคอ บ่า ไหล่ ซึ่งอาจเลยเถิดไปถึงอาการชาที่แขน ขา ซึ่งระยะเวลาการเกิดก็ยาวนานหลายชั่วโมง หลายคนอาจทุกข์ทรมานนานข้ามคืน นำมาซึ่งผลเสียในชีวิตประจำวัน เพราะผู้ปวดจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย กลายเป็นอีกหนึ่งวันที่ไร้ประสิทธิภาพไปโดยปริยาย

 

แม้ไมเกรนจะเป็นโรคที่อยู่คู่มนุษยชาติมานานกว่า 2,500 ปีนับตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ย้อนไป 300 ปีก่อนคริสตกาล บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตกอย่าง ฮิปพอคราทีส (Hippocrates) ยังเคยลงบันทึกถึงอาการของโรคนี้ ซึ่งคำว่า Migraine ก็มาจากภาษากรีก Hemicrania ที่แปลว่า ครึ่งศีรษะ แต่ปัจจุบันเรากลับไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของไมเกรนได้เลย หนึ่งในทฤษฎีที่น่าเชื่อถือมากที่สุดนั้นเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารสื่อประสาทอย่างเซโรโทนิน ที่ส่งผลให้เส้นเลือดบริเวณนั้นหดตัว ทำให้สมองเกิดภาวะขาดออกซิเจน หากปล่อยไว้นานอาจทำให้สมองขาดเลือดได้ แต่พบได้ไม่บ่อยครั้ง  

 

แนวทางการรักษา เริ่มตั้งแต่ทนให้หาย หรือกินยาบรรเทาอาการปวด แต่หากไม่อยากพึ่งหยูกยาบ่อยๆ สิ่งที่เราทำได้คือ ลดจำนวนความถี่ของการเกิด ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ไมเกรนกำเริบ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีสิ่งกระตุ้นแตกต่างกันไป เช่น แสงแดดจ้า เสียงอื้ออึง กลิ่นฉุนรุนแรง (แม้แต่กลิ่นน้ำหอมก็ไม่เว้น) ช่วงมีประจำเดือน ความเครียด รวมถึงพฤติกรรมการกินและอาหารบางประเภทที่สามารถกระตุ้นไมเกรนได้ดี

   

ไม่อยากปวดไมเกรน อาหารเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยง

การกินอาหารที่เป็นประโยชน์สามารถป้องกันการเกิดไมเกรน เช่น ผักและผลไม้สด เนื่องจากไม่มีวัตถุกันเสียและโมโนโซเดียมกลูตาเมตที่หลายคนแพ้ แต่ควรระวังผลไม้บางชนิดที่อาจกระตุ้นการเกิดไมเกรน เพราะทำให้ร่างกายหลั่งฮีสตามีน (Histamine Release) เช่น กล้วย หรือผลไม้ตระกูลส้มอย่าง เกรปฟรุต ราสป์เบอร์รี ฯลฯ  

 

 

เทคนิคปรับพฤติกรรมการกินต้านไมเกรน

นอกเหนือจากการหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภทแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินก็ช่วยได้ เช่น การแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ ระหว่างวัน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ไม่หิวจัด เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไมเกรนขึ้นหัวทุกครั้งเวลาท้องร้อง รวมถึงการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หลัง American Migraine Foundation แนะนำว่า น้ำหนักตัวที่มากเกินไปยิ่งทำให้การปวดไมเกรนแย่ลง รวมถึงเทคนิคที่แพทย์มักแนะนำให้ทำ คือการจดบันทึกพฤติกรรมการกินและอาหารที่เอาเข้าปาก เพื่อเช็กว่า อาหารประเภทไหนบ้างที่กินแล้วออกอาการ ต่อไปจะได้ไม่ต้องกินอีก เช่น คุณอาจกำหนดไว้เลยว่า ภายใน 2 สัปดาห์จะงดอาหารที่มีส่วมผสมของไวน์และชีสโดยเด็ดขาด แต่ขอฝากไว้หน่อยว่า ระยะเวลาการเกิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนกินปั๊บไมเกรนมาปุ๊บ ในขณะที่บางคนกว่าจะออกอาการต้องรอให้ผ่านพ้น 24 ชั่วโมงหลังการกิน ทางที่ดีหากปวดเรื้อรังหรือถี่ขึ้นเรื่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้วางแนวทางการรักษา ควบคู่กับปรับพฤติกรรมการกิน เพื่อให้คุณพิชิตไมเกรนได้สำเร็จ (หรืออย่างน้อยก็ปวดนานทีมีหน)

 

ภาพประกอบ: Thiencharas W.

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising