×

สงครามยูเครน: ความท้าทายของสงครามฤดูหนาว

20.11.2023
  • LOADING...
สงครามยูเครน

“เราไม่สามารถคาดหวังอะไรได้เลยจากชนบท (ของรัสเซีย) ดังนั้นเราต้องเตรียมทุกอย่างไปกับเรา”

Emperor Napoleon 

(ข้อสังเกตต่อการเตรียมทัพบุกรัสเซีย)

 

“เรามาถึงจุดสิ้นสุดของทรัพยากร ทั้งในเรื่องของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ (และ) เรากำลังเผชิญกับอันตรายของฤดูหนาวอันยาวนาน (ในรัสเซีย)”

Eduard Wagner 

The Quartermaster General of the German Army (1941)

 

นักการทหารทุกคนรู้ดีจากบทเรียนในประวัติศาสตร์สงครามว่า การรบในฤดูหนาวของยุโรปนั้น ปัจจัยด้านอากาศเป็นสิ่งที่โหดร้ายเป็นอย่างยิ่ง และเป็นปัจจัยที่ละเลยไม่ได้ในทางทหาร ซึ่งในวันนี้ฤดูหนาวกำลังกลับมาเยือนสนามรบที่ยูเครนอีกครั้ง…อุณหภูมิของฤดูหนาวในยูเครนจะเฉลี่ยอยู่ประมาณ -4.8 ถึง 2 องศาเซลเซียส แต่ในบางวันที่อากาศเลวร้ายอุณหภูมิอาจลดลงถึง -20 องศาเซลเซียส

 

ดังนั้นการมาของฤดูหนาวในช่วงปลายปี 2023 ทำให้กองทัพยูเครนและรัสเซียต้องเตรียมการที่จะเข้าสู่สงครามในเฟสใหม่ที่มีลักษณะเป็น ‘สงครามฤดูหนาว’ (Winter War) เพราะด้วยตัวเลขของอุณหภูมิเช่นนี้ ฤดูหนาวจึงไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อกำลังพลเท่านั้น หากยังส่งผลต่อระบบอาวุธต่างๆ อีกด้วย อันทำให้การรักษาขีดความสามารถทางทหารของรัฐคู่สงครามในภาวะอากาศเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย 

 

สงครามฤดูหนาวในประวัติศาสตร์

 

หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ทหารในบริบทของการทำสงครามในยุโรปแล้ว สงครามฤดูหนาวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลเป็นเงื่อนไขที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางภูมิศาสตร์ แต่สำหรับความขัดแย้งของรัฐแล้วสงครามไม่เคยเลือกฤดูกาล ฉะนั้นนักการทหารของยุโรปจึงต้องปรับตัวที่จะทำการรบในฤดูหนาวให้ได้ อย่างน้อยจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์การรบตั้งแต่ยุคของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมาแล้ว 

 

บทเรียนความโหดร้ายของสงครามฤดูหนาวในประวัติศาสตร์ทหารนั้นไม่มีอะไรเกินกว่าการบุกรัสเซียของนโปเลียนในปี 1812 (การรบครั้งสำคัญคือ The Battle of Borodino, 1812) แม้ฝรั่งเศสจะยึดมอสโกได้ แต่สงครามกลับจบลงด้วยหายนะใหญ่ของกองทัพฝรั่งเศส 

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้เรามักจะเริ่มต้นประเด็นนี้ด้วยความเชื่อแบบผิดๆ ว่า นโปเลียนไม่ได้ตระเตรียมกองทัพฝรั่งเศสให้มีความพร้อมสำหรับการรบในรัสเซียที่มีปัจจัยความหนาวเย็นของอากาศเป็นเรื่องสำคัญ จนเสมือนหนึ่งนโปเลียนไม่มีความรู้และไม่ตระหนักถึงปัจจัยด้านอากาศ

 

ทว่าที่จริงแล้วนโปเลียนตระหนักอย่างมากถึงปัญหาและความยากลำบากที่รออยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภูมิประเทศ ปัญหาของการเคลื่อนทัพบนเส้นทางคมนาคมที่ยากลำบาก และปัญหาพื้นที่ที่ประชากรอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจาย ซึ่งจะทำให้กองทัพฝรั่งเศสไม่สามารถแสวงหาการสนับสนุนจากในพื้นที่ได้เลย ฉะนั้นจึงได้จัดขบวนเกวียนสนับสนุนด้านอาหารและอาวุธให้มีความพร้อม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมทัพขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะกองทัพฝรั่งเศสในครั้งนี้มีกำลังพลมากถึง 615,000 นาย

 

นอกจากนี้ นโปเลียนเคยมีประสบการณ์การรบในยุโรปตะวันออกมาก่อน (The Polish Campaign, 1807) และทั้งยังอ่านบันทึกการสงครามของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 12 แห่งสวีเดน (Charles XII of Sweden) ซึ่งเปิดการบุกรัสเซียในปี 1708 มาก่อน แต่ก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้จากปัจจัยของอากาศหนาว โดยเฉพาะในช่วงปี 1708-1709 นั้น ยุโรปเผชิญกับฤดูหนาวที่รุนแรงที่สุด การบุกรัสเซียในครั้งนั้น อากาศในฤดูหนาวกลายจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความพ่ายแพ้แก่กองทัพสวีเดน

 

แน่นอนว่าบทเรียนเช่นนี้ทำให้นโปเลียนตระหนักอย่างมากถึงความโหดร้ายของฤดูหนาวในรัสเซีย พระองค์ไม่ได้ละเลยปัญหาเช่นนี้ ดังนั้นแผนการบุกจึงเริ่มในฤดูร้อน และคาดหวังว่าสงครามจะจบในฤดูร้อนนั้น แม้พระองค์จะยึดมอสโกได้ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจถอนตัวออก กระนั้นก็ไม่ทันกับการมาของฤดูหนาว อันทำให้การถอยทัพออกจากรัสเซียประสบปัญหาอย่างมาก

 

การถอยครั้งนี้กลายเป็นความพ่ายแพ้ใหญ่ของกองทัพฝรั่งเศส และเห็นบทเรียนสำคัญของสงครามฤดูหนาวคือ อาการหิมะกัด (Frostbite) ความขาดแคลนอาหาร การขาดความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ ความเหนื่อยล้าของทหารที่ต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่เลวร้าย และความเจ็บป่วยในหมู่ทหาร อันนำไปสู่ความสูญเสียของกำลังพล การหนีทัพ และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ใหญ่

 

ในอีกเกือบ 130 ปีถัดมา ประวัติศาสตร์หวนกลับมาซ้ำรอยใหญ่อีกครั้งในปี 1941 ฮิตเลอร์วางแผนบุกสหภาพโซเวียต (The Operation Barbarossa) ไม่ต่างจากที่นโปเลียนเคยทำมาแล้ว จะว่าฮิตเลอร์และผู้นำทหารของเยอรมนีในขณะนั้นไม่ตระหนักถึงปัจจัยของอากาศในฤดูหนาวย่อมเป็นไปไม่ได้เลย พวกเขาตระหนักดีว่าการยุทธ์ในโซเวียตที่นานเกินไปจนถึงการมาของฤดูหนาวจะเป็นหายนะใหญ่เช่นที่กองทัพฝรั่งเศสเคยเผชิญมาแล้วในปี 1812 

 

ในการนี้ดูเหมือนกองบัญชาการใหญ่ของเยอรมนี (The German High Command) จะซ้ำรอยทางความคิดว่ากองทัพนาซีจะทำการรบให้ได้รับชัยชนะก่อนการมาของฤดูหนาว และทั้งไม่ได้เตรียมการที่จะทำการรบยาว ผลจากการวางแผนเช่นนี้ทำให้ขาดการเตรียมการในด้านต่างๆ เช่น เครื่องแบบฤดูหนาว ยานพาหนะที่จะใช้ในภูมิประเทศที่มีหิมะปกคลุม ตลอดถึงระบบอาวุธที่จะใช้ในฤดูหนาว ดังนั้นเมื่อฤดูหนาวมาถึงในปี 1941 กองทัพเยอรมนีจึงประสบความสูญเสียอย่างหนักไม่ต่างจากกองทัพนโปเลียนในสงครามครั้งก่อน 

 

ชัยชนะในฤดูหนาวเช่นนี้จึงถือกันว่ากองทัพรัสเซียมีนายพลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ‘นายพลฤดูหนาว’ หรือ ‘General Winter’ ที่รบชนะมาแล้วใน 3 สงครามใหญ่ โดยมีชัยเหนือกองทัพสวีเดน (1708), ฝรั่งเศส (1812)  และเยอรมนี (1941) 

 

การรบในฤดูหนาว

 

บทเรียนของสงครามจากประวัติศาสตร์ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงขีดความสามารถของกองทัพยูเครนในฤดูหนาว 2024 แม้ยูเครนจะผ่านฤดูหนาวมาแล้วในปีที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ เซเลนสกี ประกาศชัดว่า กองทัพยูเครนพร้อมที่จะทำการรบต่อไปแม้จะเป็นในฤดูหนาวก็ตาม พร้อมกันนี้รัสเซียเองได้ประกาศถึงความพร้อมในการทำสงครามฤดูหนาวเช่นกัน และมีการตรวจความพร้อมรบ อันเป็นสัญญาณของคู่สงครามที่ตระเตรียมการสำหรับสงครามฤดูหนาว

 

ดังได้กล่าวไปแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลย่อมมีผลโดยตรงต่อขีดความสามารถในการยุทธ์ เช่น ภูมิประเทศในฤดูหนาวที่ปกคลุมด้วยหิมะย่อมเป็นอุปสรรคโดยตรงต่อความสามารถของยานยนต์ทหาร และสภาพของภูมิอากาศเช่นนี้ย่อมต้องการการพรางตัวในอีกแบบหนึ่ง หรือต้องการเครื่องแบบทหารอีกชุดที่จะช่วยการพรางตัวในหิมะและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายของทหาร อีกทั้งสภาวะอากาศที่หนาวเย็นและอาจจะชื้นแฉะจากหิมะนั้น ทำให้เกิดความหดหู่ ซึ่งอากาศเช่นนี้จะกระทบกับขวัญกำลังใจของทหาร ฉะนั้นประเด็นในเรื่องจิตวิทยาสนามรบอันเป็นผลของสภาพทางจิตใจของกำลังพลจึงถือเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญต่อประสิทธิภาพในการรบ (Battle Effectiveness) ที่ไม่อาจละเลยได้

 

ในอีกด้านของสงครามฤดูหนาว ความยากลำบากของรัฐบาลยูเครนไม่ใช่เพียงปัญหาอากาศเท่านั้น หากยังต้องป้องกันการโจมตีของรัสเซียที่มุ่งทำลายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เพราะความขาดแคลนกระแสไฟฟ้านอกจากจะกระทบกับชีวิตของประชาชนแล้ว ยังกระทบกับปฏิบัติการทางทหารอีกด้วย เช่น ปัญหาของระบบสื่อสาร ปัญหาไฟฟ้าสำหรับโรงพยาบาลสนาม เป็นต้น ดังนั้นความต้องการระบบป้องกันทางอากาศ รวมถึงเครื่องบินรบแบบ F-16 จึงมีความจำเป็นในการป้องกันการโจมตีทางอากาศของรัสเซียต่อเป้าหมายดังกล่าว 

 

แต่กระนั้นคู่สงครามทั้งสองฝ่ายอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของเขตหนาว จึงตระหนักดีถึงความโหดร้ายของสงครามฤดูหนาว และต่างก็ตระเตรียมถึงการเตรียมทำสงครามในเงื่อนไขของอากาศเช่นนี้ แต่กองทัพยูเครนเชื่อว่าพวกเขามีความได้เปรียบมากกว่า เพราะการไม่ยึดติดอยู่กับระบบอาวุธหนักที่มักจะประสบปัญหาการเคลื่อนย้ายในฤดูหนาว เช่น รถถัง หรือปืนใหญ่ลากจูง แต่กองทัพยูเครนจะใช้การ ‘เดินทาง’ ในการเคลื่อนกำลัง จึงทำให้ไม่ถูกจำกัดกับพื้นที่ที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ 

 

อีกทั้งเงื่อนไขของฤดูหนาวจะเป็นอุปสรรคโดยตรงต่อการเคลื่อนที่ทางทหาร ซึ่งการเคลื่อนที่นี้เป็นหัวใจของการยุทธ์ในทุกสงคราม ฉะนั้นอากาศในฤดูหนาวจึงอาจทำให้เกิด ‘การปิดพื้นที่’ ที่กำลังทหารอาจถูกตรึงอยู่ในแนวรบ และทั้งยังส่งผลอย่างมากกับขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ทางทหารต่างๆ เช่น ความเสื่อมของแบตเตอรี่ ความแม่นยำของกระสุน หรือระบบหล่อลื่นของยานยนต์ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการใช้โดรนก็อาจได้รับผลกระทบจากอากาศหนาวเช่นกัน หรือกล่าวในหลักการสงครามก็คือ ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศจะมีผลโดยตรงต่อการยุทธ์ในแต่ละสมรภูมิ

 

ความแปรปรวนในฤดูหนาว

 

กระทรวงกลาโหมรัสเซียตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างมาก ‘หลักนิยมของสงครามฤดูหนาว’ (Doctrine of Winter Warfare) จึงเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่ปรากฏในวารสารทางทหารของกองทัพรัสเซีย และหลักนิยมของสงครามนี้มีการถกแถลงอย่างกว้างขวางในวงการทหารรัสเซีย รวมทั้งในหลายปีที่ผ่านมากองทัพรัสเซียได้จัดการฝึกทางทหารในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวอย่างรุนแรง เช่น การฝึกในภูมิประเทศแบบอาร์กติก แต่ในความเป็นจริงแล้วอากาศในยูเครนเองไม่ได้หนาวจัดในแบบอาร์กติก แต่การเตรียมการเช่นนี้สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงการเตรียมความพร้อมของกองทัพรัสเซียสำหรับสงครามฤดูหนาวที่กำลังจะเกิดในสนามรบที่ยูเครน ซึ่งรัสเซียหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการรบในฤดูหนาว (Winter Battles) จะเป็นโอกาสของความได้เปรียบสำหรับกองทัพรัสเซีย ทั้งยังจะอาศัยเงื่อนไขของอากาศในฤดูหนาวเป็นปัจจัยในการยันการรุกกลับ (Counteroffensive) ของยูเครน

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญมากกว่าเงื่อนไขของอากาศในการสงครามคือ ‘เจตนารมณ์ทางการเมือง’ (Political Will) พร้อมกับความพร้อมของทรัพยากรที่จะใช้ในการสงคราม ซึ่งสำหรับยูเครนแล้วความขาดแคลนที่สำคัญคือการต้องได้รับความสนับสนุนจากตะวันตกในเรื่องของยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ทางทหาร โดยเฉพาะเครื่องกระสุนที่ใช้เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน สำหรับรัสเซียแล้วความขาดแคลนที่สำคัญคือกำลังพล ซึ่งกองทัพรัสเซียประสบความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ซึ่งประมาณการโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาจนถึงเดือนสิงหาคม 2023 ว่ากองทัพรัสเซียประสบความสูญเสียกว่า 120,000 นายในสนามรบที่ยูเครน

 

ทางด้านยูเครนพยายามปรับตัวเพื่อขจัดข้อจำกัดทางทหารเช่นนี้ด้วยการทำการรบด้วย ‘ชุดปฏิบัติการขนาดเล็ก’ (Small-unit Operations) โดยไม่พึ่งอาวุธหนักมากนัก เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการรบ เพราะความเลวร้ายของอากาศในฤดูหนาวอาจจำกัดการเคลื่อนไหวทางทหารได้ อันอาจทำให้เกิดสภาวะของ ‘การตรึงกำลัง’ และทำให้แนวรบถูกตรึงอยู่กับที่ รัฐตะวันตกซึ่งเป็นผู้ให้ความสนับสนุนด้านอาวุธอาจต้องการเห็นการรุกที่คืบหน้ามากขึ้น และต้องการเห็นความสำเร็จทางทหารเช่นในช่วงของการรุกกลับของกองทัพยูเครนในช่วงก่อนปลายปี 2022 เพราะการรุกกลับในปี 2023 ดูจะคืบหน้าไปได้น้อยมาก

 

ดังนั้นสงครามฤดูหนาวในยูเครนจึงไม่ใช่แต่เพียงการรบในสภาวะอากาศที่โหดร้ายเท่านั้น หากผลลัพธ์ของสงครามยังมีนัยสำคัญที่ขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของรัฐคู่สงครามที่จะฝ่าฟันความหนาวเย็นของอากาศ ความขาดแคลนยุทโธปกรณ์และกระสุน ความสูญเสียของกำลังพลที่สังคมต้องแบกรับ รวมถึงความสนับสนุนจากรัฐภายนอกที่จะต้องให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเส้นของแนวรบอาจจะไม่ได้ขยับไปไหน เพราะอีกส่วนหนึ่งอากาศได้ ‘ปิดตาย’ พื้นที่การรบไปอย่างที่กองทัพของทั้งสองฝ่ายอาจทำอะไรกันไม่ได้มากนัก และส่งผลให้แนวรบไม่เกิดการขยับตัว

 

สุดท้ายแล้วปัจจัยสำคัญของสงครามยังคงได้แก่ ‘ขวัญกำลังใจ’ ยิ่งในสงครามที่เกิดท่ามกลางความโหดร้ายของฤดูกาลแล้ว ขวัญกำลังใจของคนในสังคมและทหารในสนามรบเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะต้องฝ่าฟันไปให้ได้ เช่นเดียวกับการที่จะต้องพาสังคมผ่านฤดูหนาวไปให้ได้ด้วยความมุ่งมั่นของ ‘เจตนารมณ์ทางการเมือง’ ของรัฐ เพราะหากปราศจากซึ่งสิ่งนี้แล้วสงครามอาจจะไม่มีความหมายอะไร

 

ฉะนั้นสงครามฤดูหนาวในยูเครนจึงเป็นการทดสอบ ‘เจตนารมณ์ทางการเมือง’ ของรัฐคู่สงครามอีกครั้งในปี 2024 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising