×

สรุปภาพรวมสงครามยูเครน หลังรัสเซียเปิดฉากบุกมาแล้ว 6 เดือน เกิดอะไรขึ้นบ้าง?

25.08.2022
  • LOADING...
สงครามยูเครน

ผ่านมาแล้ว 6 เดือน หลังจากที่รัสเซียตัดสินใจทำสงครามบุกยูเครน โดยอ้างว่าเป็นปฏิบัติการพิเศษทางทหาร และการตอบโต้เพื่อปกป้องความมั่นคงของตนจากการขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกและ NATO

 

จนถึงวันนี้ยังมองไม่เห็นวี่แววว่าสงครามนี้จะจบลงได้เมื่อไรและอย่างไร แต่สิ่งที่แน่ชัดคือความสูญเสียระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ที่ยังคงเพิ่มมากขึ้น

 

THE STANDARD ได้สรุปภาพรวมของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ถือได้ว่าเป็นสงครามใหญ่ที่สุดของโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ชนวนความตึงเครียดที่นำมาซึ่งสงคราม จนถึงสถานการณ์คืบหน้าล่าสุด และผลกระทบมากมายที่เกิดขึ้น

 

ประวัติศาสตร์การรุกรานยูเครนของรัสเซียก่อนเกิดสงคราม

ก่อนที่รัสเซียจะเปิดฉากสงครามบุกยูเครนเต็มรูปแบบ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ ก่อตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหนึ่งในจุดแตกหักสำคัญเกิดขึ้นเมื่อปี 2014 หลังรัสเซียผนวกรวมแคว้นไครเมีย ซึ่งเป็นดินแดนในคาบสมุทรไครเมียทางใต้ของยูเครนไปเป็นของตนเอง ขณะที่หลายพื้นที่ของภูมิภาคดอนบาสก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังกบฏฝักใฝ่รัสเซีย

 

ชนวนความตึงเครียดเริ่มต้นจากในปี 2013 โดย วิกเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดียูเครนในขณะนั้น ตัดสินใจระงับความพยายามเจรจาการค้าและความร่วมมือกับสหภาพยุโรป ในขณะที่หันไปสนับสนุนการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัฐบาลมอสโก ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการประท้วงใหญ่ในกรุงเคียฟนานหลายเดือน ก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายเป็นความรุนแรง และมีการลงมติในสภาเพื่อถอดถอนยานูโควิชในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2014

 

สถานการณ์ตึงเครียดต่อเนื่อง โดยช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ กลุ่มติดอาวุธสนับสนุนรัสเซียบุกเข้ายึดอาคารสถานที่ราชการในไครเมีย จากนั้นในเดือนมีนาคม 2014 รัสเซียจึงได้ผนวกรวมไครเมีย จากนั้นในเดือนถัดมา กลุ่มกบฏฝักใฝ่รัสเซียในภูมิภาคดอนบาสได้บุกยึดอาคารรัฐบาลทั้งในแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ ซึ่งเป็น 2 แคว้นหลักของภูมิภาค และเรียกร้องเอกราช ทำให้การสู้รบระหว่างกองทัพยูเครนกับกลุ่มกบฏดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

 

ฉากโหมโรงของสงครามในยูเครนครั้งนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อรัสเซียเริ่มสะสมกองกำลังทหารที่บริเวณแนวชายแดนยูเครนตั้งแต่ช่วงปี 2021 ซึ่งภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงปลายปี แสดงให้เห็นว่ามีทหารรัสเซียกว่า 1 แสนนาย พร้อมด้วยรถถังและรถหุ้มเกราะประจำการใกล้ชายแดนยูเครน

 

ขณะที่ความพยายามเจรจาทางการทูตเริ่มขึ้นช่วงต้นปี 2022 ท่ามกลางบรรยากาศอันตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ซึ่งมีการเรียกร้องให้ชาติตะวันตกรับประกันว่าจะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO

 

กระทั่งในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัสเซียได้ประกาศรับรองแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ให้เป็นรัฐอิสระ ก่อนส่งทหารของตนไปประจำการ เพื่อปฏิบัติภารกิจ ‘รักษาสันติภาพ’

 

วันแรกของสงคราม

รัสเซียตัดสินใจเปิดฉากนำกำลังทหารบุกข้ามชายแดนเข้าสู่ยูเครนเต็มรูปแบบในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หลังการกล่าวสุนทรพจน์ผ่านโทรทัศน์ของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ประกาศเริ่มต้น ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ โดยกองทัพรัสเซียเปิดแนวรบพร้อมกันจากหลายด้าน

 

จากทางเหนือ – กองทัพรัสเซียเคลื่อนพลจากเบลารุส มุ่งตรงไปยังกรุงเคียฟ

 

จากทางตะวันออกเฉียงเหนือ – กองทัพรัสเซียเคลื่อนพลจากฝั่งรัสเซีย มุ่งหน้าไปทางตะวันตกเข้าสู่กรุงเคียฟ

 

จากทางตะวันออก – กองทัพรัสเซียเคลื่อนพลจากภูมิภาคดอนบาส มุ่งหน้าไปยังเมืองคาร์คีฟ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ

 

จากทางใต้ – กองทัพรัสเซียเคลื่อนพลจากไครเมีย มุ่งหน้าไปทางตะวันตกสู่เมืองโอเดสซา มุ่งหน้าไปทางเหนือสู่เมืองซาปอริซเซีย และมุ่งหน้าไปทางตะวันออกสู่เมืองมาริอูโปล

 

ไม่กี่ชั่วโมงหลังรัสเซียเปิดฉากสงคราม เสียงระเบิดและเสียงปืนดังสนั่นทั่วประเทศ กระสุนปืนใหญ่และขีปนาวุธของรัสเซียกระหน่ำโจมตีใส่เป้าหมาย ทำให้รัฐบาลเคียฟประกาศกฎอัยการศึกและยืนยันว่าจะปกป้องตนเอง

 

สงครามครบ 1 เดือน รัสเซียรุกคืบรวดเร็ว

ในช่วงสัปดาห์แรกของการบุก กองทัพรัสเซียเดินหน้ารุกคืบกดดันยูเครน เพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายสำคัญคือเมืองใหญ่สุดของประเทศ ทั้งกรุงเคียฟ คาร์คีฟ และเคอร์ซอน แต่ก็ต้องเผชิญการต่อต้านอย่างเข้มแข็งจากกองทัพยูเครน

 

เมืองเคอร์ซอนทางตอนใต้ เป็นเมืองสำคัญแห่งแรกที่ล่มสลายและตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม หรือสัปดาห์แรกหลังสงคราม

 

จากนั้นในช่วงไล่เลี่ยกัน ทหารรัสเซียได้บุกยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเกิดการปะทะขึ้น ซึ่งทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับชัยชนะบางจุดอย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่วันหลังเริ่มสงคราม แต่กองทัพรัสเซียก็ยังไม่สามารถบุกเข้าควบคุม ‘หัวใจหลัก’ คือกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนได้ เนื่องจากเผชิญกับอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะอุปสรรคด้านการขนส่ง ซึ่งไม่สามารถลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิง กระสุนและอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงวัสดุต่างๆ ได้ เพราะถนนหลายสายถูกตัดขาด ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นขบวนรถของกองทัพรัสเซียยาวกว่า 40 กิโลเมตร จอดค้างอยู่บริเวณรอบนอกของกรุงเคียฟ

 

การก่ออาชญากรรมสงครามใน ‘บูชา’

โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญชาวโลกปรากฏขึ้นที่เมือง ‘บูชา’ เมืองเล็กๆ ชานกรุงเคียฟ ซึ่งกลายเป็นฐานที่มั่นทางยุทธศาสตร์ของทัพรัสเซีย

 

โดยหลังการถอนกำลังทหารออกจากเมือง บรรดาชาวเมืองที่หลบหนีไป ได้กลับมาบ้านของตน และต้องตกตะลึงเมื่อพบกับร่างของชาวเมืองผู้บริสุทธิ์ที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งถือเป็นการก่ออาชญากรรมสงครามที่เลวร้าย

 

ไม่กี่วันหลังทหารรัสเซียออกไปจากบูชา กลุ่มเจ้าหน้าที่ขององค์การ Human Rights Watch (HRW) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และพบหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ถึงการสังหาร การทรมาน การประหารชีวิต และการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงการก่ออาชญากรรมสงคราม

 

ริชาร์ด เวียร์ นักวิจัยด้านวิกฤตและความขัดแย้งของ HRW กล่าวว่า “หลักฐานบ่งชี้ว่ากองกำลังรัสเซียที่เข้าควบคุมเมืองบูชาได้แสดงให้เห็นถึงการดูถูกและละเลยชีวิตของพลเรือนและหลักการพื้นฐานที่สุดของกฎการทำสงคราม”

 

สงครามระยะที่ 2

ภายหลังความล้มเหลวของรัสเซียในการบุกยึดกรุงเคียฟ และการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ตอนเหนือของยูเครน กองทัพรัสเซียได้มุ่งเป้าไปยังภูมิภาคดอนบาส และผลักดันการยึดเมืองมาริอูโปล ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในสงครามระยะที่ 2

 

ช่วงปลายเดือนเมษายน รัฐบาลเครมลินได้เผยแพร่ 4 เป้าหมายหลัก ตามที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุ ได้แก่

 

  1. ยึดครองดอนบาส
  2. สร้างฉนวนทางบก จากดอนบาสไปยังไครเมีย
  3. ปิดกั้นท่าเรือยูเครนในทะเลดำ
  4. ควบคุมพื้นที่ตอนใต้ของยูเครน เพื่อสร้างเส้นทางไปยังทรานส์นิสเตรีย (Transnistria) ดินแดนใต้อิทธิพลรัสเซียที่แยกตัวจากมอลโดวาและมีพรมแดนติดกับทางตะวันตกของยูเครน

 

การปิดล้อมและการล่มสลายของ ‘มาริอูโปล’

มาริอูโปล ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญในทะเลดำ ถูกรัสเซียปิดล้อมและพยายามบุกยึดครองอย่างหนักตั้งแต่ช่วงต้นของสงคราม แต่ต้องเผชิญการต่อต้านอย่างหนักจากกองทัพยูเครนและกองกำลังท้องถิ่น

 

กระทั่งเดือนมีนาคม รัสเซียสามารถยึดครองมาริอูโปลได้บางส่วน และยังพยายามบุกโจมตีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปรากฏเหตุโจมตีสะเทือนขวัญหลายครั้ง อาทิ การทิ้งระเบิดโจมตีโรงพยาบาลเด็กและการโจมตีโรงละครที่เป็นค่ายพักพิงของชาวเมือง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

 

โดยรัฐบาลเครมลินมองเมืองท่าแห่งนี้ว่าเป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างแผ่นดินทางใต้ของยูเครนกับคาบสมุทรไครเมีย และยังเป็นส่วนสำคัญในแผนการควบคุมเศรษฐกิจยูเครนไว้ในกำมือ เนื่องจากท่าเรือของมาริอูโปลเป็นฮับส่งออกสำคัญของข้าวโพด เหล็ก และถ่านหิน

 

ขณะที่โรงงานเหล็ก Azovstal ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานเหล็กที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป กลายเป็นศูนย์กลางการสู้รบในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม โดยความซับซ้อนของอุโมงค์ใต้ดินในโรงงานเหล็กแห่งนี้ทำให้ถูกใช้เป็นที่พักพิงของกองทัพยูเครนและชาวเมือง ซึ่งคาดว่าหลบซ่อนอยู่กว่า 1,000 คน

 

ในวันที่ 21 เมษายน ปูตินได้สั่งการให้กองทัพรัสเซียปิดตายโรงงาน ทำให้กองทัพยูเครนต้องหลบอยู่นานกว่า 80 วัน กระทั่งช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ทหารยูเครนประมาณ 1,700 นาย ประกาศยอมจำนน ซึ่งในจำนวนนี้อย่างน้อย 1,000 นาย ถูกส่งไปยังดินแดนใต้การควบคุมของรัสเซีย และถือเป็นการล่มสลายอย่างสมบูรณ์ของมาริอูโปล

 

สงครามถึงทางตัน

ถึงแม้ว่ารัสเซียจะปรับทิศทางของสงครามไปมุ่งเน้นทางตะวันออกของยูเครนแล้วก็ตาม แต่การรุกคืบยึดพื้นที่ต่างๆ ของทัพรัสเซียก็ดูเหมือนจะแทบไม่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม แม้ว่ารัสเซียจะอ้างชัยชนะในการยึดเมืองลิซิชานสก์ (Lysychansk) และแคว้นลูฮันสก์ได้ในเดือนกรกฎาคม

 

การต่อสู้ส่วนใหญ่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมากระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกและทางใต้ของยูเครน บริเวณรอบๆ เมืองคาร์คีฟ เซเวโรโดเนตสก์ อิซยุม มิโคลาอิฟ เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย ซึ่งการสู้รบที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในซาปอริซเซีย กำลังก่อให้เกิดความกังวลอย่างยิ่งต่อภัยพิบัติทางนิวเคลียร์

 

ด้านกองทัพยูเครนพยายามที่จะยึดพื้นที่ในเคอร์ซอนคืน ขณะที่กองทัพรัสเซียตอนนี้กำลังมุ่งเป้าไปที่การยึดแคว้นโดเนตสก์ ซึ่งหากสำเร็จจะถือเป็นการยึดครอง 2 แคว้นหลักในภูมิภาคดอนบาส หลังจากที่ประกาศรับรองเอกราชของ 2 แคว้นนี้ไปแล้ว

 

การระเบิดทั่วไครเมีย

สถานการณ์ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สำคัญที่หลายฝ่ายจับตามองคือเหตุระเบิดภายในแคว้นไครเมีย ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่เหตุระเบิดที่ฐานทัพอากาศของรัสเซีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 14 คน และภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นเครื่องบินรบหลายลำถูกทำลาย ขณะที่ฐานทัพได้รับความเสียหายหนัก

 

กองทัพยูเครนไม่ออกตัวรับผิดชอบในการก่อเหตุระเบิดดังกล่าว ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าหากยูเครนออกมาอ้างว่าอยู่เบื้องหลังการระเบิด อาจจะทำให้กลายเป็นชนวนสำคัญในการขยายตัวของสงคราม

 

ชาติตะวันตกเสริมกำลังรบยูเครนต่อเนื่อง

สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรหลายสิบประเทศ เดินหน้าส่งอาวุธและให้การสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน เพื่อใช้ในการต่อต้านรัสเซียอย่างต่อเนื่อง

 

จนถึงวินาทีนี้ รัฐบาลวอชิงตันได้ทุ่มงบให้ความช่วยเหลือยูเครนรวมแล้วกว่า 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อวันพุธ (24 สิงหาคม) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังประกาศแพ็กเกจช่วยเหลือรอบล่าสุด วงเงินกว่า 3 พันล้านดอลลาร์

 

ขณะที่การสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ เช่น รถหุ้มเกราะจากออสเตรเลีย 88 คัน โดรนจู่โจมจากตุรกี 80 ลำ ขณะที่อังกฤษ นอกจากจัดส่งอาวุธ ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2015 ยังช่วยฝึกฝนการรบให้แก่ทหารยูเครน รวมแล้วกว่า 22,000 นาย

 

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จากชาติตะวันตกให้แก่ยูเครน ทำให้แนวโน้มของสงคราม ‘ไม่ง่าย’ และยูเครนไม่ใช่ ‘หมูในอวย’ อย่างที่หลายฝ่ายคาดคิด แต่ยังเป็นการยากที่จะคาดเดาบทสรุปของสงครามนี้

 

ความสูญเสียจากสงคราม

ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างมีรายงานความสูญเสียด้านกำลังทหาร แต่ยังเป็นเรื่องยากที่จะระบุตัวเลขชัดเจน

 

โดย พล.อ. วาเลรี ซาลุชนี (Valeriy Zaluzhny) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดยูเครน เผยในช่วงสัปดาห์นี้ว่า กองทัพยูเครนสูญเสียกำลังทหารราว 9,000 นาย

 

ขณะที่กองทัพยูเครนยังอ้างว่ามีทหารรัสเซียถูกสังหารหรือบาดเจ็บราว 45,200 นาย ซึ่งความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่แคว้นโดเนตสก์และมิโคลาอิฟ

 

ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights: UNHCR) เปิดเผยเอกสารระบุว่า มีพลเรือนในยูเครนเสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้ไปเกือบ 5,600 คน แต่เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงจะสูงกว่านี้มาก

 

ส่วนฝ่ายรัสเซียแทบไม่เปิดเผยข้อมูลความสูญเสียของกำลังทหาร โดยในช่วงสัปดาห์แรกของสงคราม มีรายงานจากเจ้าหน้าที่รัสเซียระบุว่า มีทหารรัสเซีย 1,351 นาย ที่เสียชีวิตในสงคราม แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ

 

ขณะที่กองทัพรัสเซียประเมินความสูญเสียของฝ่ายยูเครน คาดว่ามีทหารยูเครนเสียชีวิตราว 14,000 นาย และไม่สามารถร่วมรบได้อีกกว่า 16,000 นาย

 

iStories สำนักข่าวอิสระของรัสเซียเผยว่า มีการนับจำนวนทหารรัสเซียที่เสียชีวิตจากสงคราม โดยอ้างอิงข้อมูลโอเพนซอร์ส คาดว่ามีทหารรัสเซียเสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 5,000 นาย ซึ่งตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้มาก

 

วิกฤตผู้อพยพครั้งใหญ่

นับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากสงครามในยูเครน ส่งผลให้ประชาชนยูเครนกว่า 1 ใน 3 หรือมากกว่า 13 ล้านคน จากทั้งหมดกว่า 43 ล้านคน ต้องอพยพทิ้งบ้านเรือนหรือหนีการสู้รบข้ามชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

 

ข้อมูลจาก UNHCR พบว่า ประชาชนยูเครนเกือบ 6.7 ล้านคน พลัดถิ่นไปยังประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป โดยโปแลนด์นั้นเปิดพื้นที่รับผู้อพยพมากที่สุดกว่า 5.4 ล้านคน ขณะที่ประชาชนที่พลัดถิ่นภายในยูเครนมีกว่า 6.6 ล้านคน

 

ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิง เนื่องจากรัฐบาลเคียฟมีคำสั่งห้ามชายอายุตั้งแต่ 18-60 ปี เดินทางออกนอกประเทศ

 

ขณะที่เด็กๆ ชาวยูเครนเกือบ 5 แสนคน ได้รับการดูแลและเข้าเรียนในประเทศต่างๆ ของสหภาพยุโรป

 

ภาพ: Satellite Image (c) 2022 Maxar Technologies / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising