×

เงินเฟ้ออังกฤษเดือน เม.ย. ลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 10% เป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน หลังราคาพลังงานปรับตัวลดลง

24.05.2023
  • LOADING...
เงินเฟ้ออังกฤษ

เงินเฟ้อในเดือนเมษายนของอังกฤษปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 10% เป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน (นับจากเดือนสิงหาคมปี 2022) โดยเป็นผลจากราคาพลังงานที่ลดต่ำลงและการรุกรานยูเครนของรัสเซียที่เริ่มมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานน้อยลง

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงจากระดับ 10.1% ในเดือนมีนาคม แต่ยังสูงกว่าการคาดการณ์เฉลี่ยของนักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าว Reuters ที่ 8.2%

 

รายงานของ ONS ระบุว่า ค่าไฟฟ้าและก๊าซมีส่วนสำคัญในการปรับลดลงของเงินเฟ้อในเดือนเมษายน โดยราคาค่าไฟฟ้าและก๊าซในเดือนที่ผ่านมาปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันราคาไฟฟ้าและก๊าซยังคงมีสัดส่วนคิดเป็น 1.01% ของอัตราเงินเฟ้อโดยรวม 

 

ด้านราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์พบว่ายังคงปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนเมษายน สร้างแรงกดดันเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อสำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีเริ่มปรับลดลงเล็กน้อยจาก 19.2% มาอยู่ที่ 19.1% เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาสแรก

 

Suren Thiru ผู้อำนวยการของ Institute of Chartered Accountants ในอังกฤษและเวลส์ เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่กลับมาเป็นตัวเลขหลักเดียวอีกครั้งสะท้อนถึงความคืบหน้าของการดูแลเสถียรภาพด้านราคาของอังกฤษ โดยเขาคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงฤดูร้อนตามราคาพลังงานที่มีแนวโน้มลดลง

 

“ตลาดแรงงานที่เริ่มลดความร้อนแรงลง ภาษีที่สูงขึ้น และผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้อุปสงค์ของผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง ซึ่งอาจเงินเฟ้อในช่วงหลังจากนี้ของอังกฤษลดลงเร็วกว่าที่ธนาคารกลางคาดการณ์ไว้” Thiru กล่าว

 

Richard Carter หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดพันธบัตรของ Quilter Cheviot กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ปรับลดลงบ่งชี้ว่าธนาคารกลางของอังกฤษเดินมาถูกทางแล้ว อย่างไรก็ดี หนทางการต่อสู้กับเงินเฟ้อของอังกฤษยังอีกยาวไกล เมื่อพิจารณาจากค่าแรงในตลาดและเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับสูง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising