×

TU – ถอนการลงทุนใน Red Lobster

18.01.2024
  • LOADING...
TU

เกิดอะไรขึ้น:

 

เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการของ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ได้มีมติประกาศ: 

 

  1. แผนถอนการลงทุนใน Red Lobster (ร้านอาหารในสหรัฐอเมริกา)
  2. โครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารทางการเงิน TU เห็นควรถอนการลงทุนใน Red Lobster 

 

ซึ่ง TU ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยและเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Red Lobster ตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบ และค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบต่อบริษัทและธุรกิจ Red Lobster ในระยะถัดไป ซึ่งมีความต้องการใช้เงินสูง ไม่สอดคล้องกับแผนการจัดสรรเงินลงทุนของบริษัท 

 

โดยในระหว่างการศึกษาช่องทางที่เป็นไปได้ในการถอนการลงทุนนี้ TU จะบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียวจำนวน 1.85 หมื่นล้านบาทใน 4Q66 โครงการซื้อหุ้นคืน TU มีแผนซื้อหุ้นคืนในวงเงินไม่เกิน 3.6 พันล้านบาท จำนวนหุ้นซื้อคืนไม่เกิน 200 ล้านหุ้น (4.3% ของหุ้นทั้งหมด) โดยมีกำหนดระยะเวลาการซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 30 มิถุนายน 2567

 

สำหรับผลกระทบต่อผลประกอบการใน 4Q66 จะส่งผลลบ แต่จะส่งผลบวกตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ด้วยหลักการบัญชีที่ยึดหลักความระมัดระวังของ TU ในการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน Red Lobster ให้กลายเป็นศูนย์ ณ สิ้น 4Q66 TU จึงจะไม่มีการบันทึกผลการดำเนินงาน (ส่วนแบ่งขาดทุน รายได้อื่น และรายได้ / ค่าใช้จ่ายภาษี) และภาระผูกพันที่เกี่ยวข้องจาก Red Lobster ตั้งแต่ 1Q67 เป็นต้นไป 

 

โดยจากการทำธุรกรรมครั้งนี้ แม้ว่า TU จะบันทึกค่าใช้จ่ายด้อยค่าครั้งเดียวจำนวน 1.85 หมื่นล้านบาทใน 4Q66 แต่ InnovestX Research คาดว่ากำไรของ TU จะปรับตัวดีขึ้น ~300 ล้านบาทในปี 2567 เนื่องจากจะไม่มีการบันทึกขาดทุนสุทธิจาก Red Lobster อัตราส่วน Net DE ของ TU จะเพิ่มขึ้นจาก 0.65 เท่า สู่ 0.84 เท่า แต่ยังต่ำกว่า Debt Covenant ที่ 2 เท่า ในขณะที่อัตราส่วน Interest Coverage Ratio ของ TU จะเพิ่มขึ้นเกิน 3 เท่า (สูงกว่า Debt Covenant จากหุ้นกู้ 2 ชุด มูลค่า 6.1 พันล้านบาท) และไม่สามารถจ่ายเงินปันผลปี 2566 ได้ (อ้างอิง Debt Covenant จากหุ้นกู้ 5 ชุด มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท) 

 

ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้และมุมมองของ TU ที่ว่า การบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดจะไม่กระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท TU จะขออนุมัติยกเว้นเงื่อนไข Debt Covenant จากผู้ถือหุ้นกู้ก่อนประกาศผลประกอบการในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ TU ยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่เบิกใช้จำนวน 2.9 หมื่นล้านบาท (บริษัทประเมินต้นทุนทางการเงินระดับเดียวกับปัจจุบัน) เพื่อใช้รองรับการไถ่ถอนหุ้นกู้ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นกู้ไม่อนุมัติ

 

กระทบอย่างไร:

 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น TU ไม่เปลี่ยนแปลง ทรงตัวที่ระดับ 15.00 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลง 0.75% อยู่ที่ระดับ 1,380.65 จุด 

 

แนวโน้มผลประกอบการปี 2567:

 

InnovestX Research ปรับประมาณการผลประกอบการปี 2566 ของ TU ลดลงสู่ขาดทุนสุทธิ 1.38 หมื่นล้านบาท (จากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 4.6 พันล้านบาท) เพื่อสะท้อนค่าใช้จ่ายด้อยค่าจาก Red Lobster จำนวน 1.85 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 เพิ่มขึ้น 12% สู่ 5.7 พันล้านบาท เพื่อสะท้อนว่าไม่มีการบันทึกขาดทุนสุทธิจาก Red Lobster ประมาณปีละ 300 ล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นที่กว้างขึ้น เนื่องจากราคาปลาทูน่าท้องแถบ (Spot Price) ที่ลดลงใน 4Q66 จะส่งผลทำให้ต้นทุนวัตถุดิบที่แท้จริงของ TU ลดลงใน 1H67 

 

ทั้งนี้ 1Q67 คาดว่ากำไรปกติจะเพิ่มขึ้น YoY จากมาร์จิ้นธุรกิจอาหารทะเลที่ดีขึ้น (ต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าลดลง) และไม่มีการบันทึกขาดทุนจาก Red Lobster 

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ปรับคำแนะนำ Tactical Call สำหรับ TU ขึ้นจาก ‘NEUTRAL’ สู่ ‘OUTPERFORM’ ด้วยราคาเป้าหมายกลางปี 2567 ที่ปรับใหม่เป็น 17.50 บาทต่อหุ้น (จาก 16 บาท) อ้างอิง P/E 16 เท่า (P/E เฉลี่ย 10 ปี)

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ แรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการแข็งค่าของเงินบาท 

 

ปัจจัยเสี่ยงด้าน ESG ที่สำคัญ ได้แก่ การบริหารจัดการพลังงาน ของเสีย และน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (E) และนโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงาน (S)

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising