×

สรุปดีล TRUE-DTAC หลังจ่อรวมกิจการ ขยายโอกาสทางธุรกิจหรือผูกขาดผู้บริโภค

23.11.2021
  • LOADING...

กลายเป็นบิ๊กดีลระดับประวัติศาสตร์ไปเป็นที่เรียบร้อย หลังจาก TRUE และ DTAC จับมือศึกษาความเป็นไปได้ในการควบบริษัทและเตรียมจัดตั้งบริษัทใหม่ จนเกิดเป็นกระแสให้พูดถึงในแง่ต่างๆ รวมถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังจากทั้ง 2 ยักษ์แห่งวงการโทรคมนาคมผนึกกำลังกันแบบนี้

 

หลังการจับมือ สเตปต่อไปคืออะไร

หลังผ่านขั้นตอนในการทำ MOU เซ็นสัญญาศึกษาแผนควบบริษัทไปเมื่อวานนี้ (22 พฤศจิกายน) หลายคำถามที่ตามมาคือ สเตปต่อไปที่สองบริษัทต้องทำร่วมกันนับจากวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง

 

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งในกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ข้อมูลไว้ในรายการ THE STANDARD NOW ว่า ตอนนี้ทั้งสองบริษัทให้ข้อมูลไว้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยจะใช้เวลา 3 เดือนนับจากนี้ (ไตรมาสที่ 1 ของปี 2565) ทั้ง 2 บริษัทจะต้องไปเจรจากัน ทำความเข้าใจในรายละเอียดกันเอง และเมื่อเริ่มได้ข้อยุติจะเริ่มทำนิติกรรม เช่น ติดต่อกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), กสทช. หรือ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง ซึ่งต้องใช้เวลาในส่วนนี้ออกไปอีก 6 เดือน เท่ากับว่าทั้งสองบริษัทต้องใช้เวลาหลังจากนี้ต่อไปอย่างน้อยอีก 9 เดือน ขั้นตอนการควบรวมบริษัทถึงจะสำเร็จ

 

ส่วนประกาศจาก กสทช. ระบุชัดว่า ถ้าทั้งสองบริษัทต้องการจดนิติกรรม เช่น ควบบริษัท หรือยกเลิกบริษัทเดิม ต้องทำเรื่องแจ้ง กสทช. ก่อนอย่างน้อย 90 วัน ก่อนทำนิติกรรม เพื่อส่งรายงานเหตุผลของการควบรวมบริษัทคืออะไร ความจำเป็น ประโยชน์ รวมถึงโครงสร้างการบริหางานจะเป็นไปในทิศทางไหนต่อจากนี้ นี่จึงทำให้เห็นทั้งสองบริษัทยังมีเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะเข้ารายงานผลต่อ กสทช.

 

“โดยหลักแล้วสำนักงานจะบอกว่าเราจะไม่ห้ามการควบรวม แต่เราวิเคราะห์ผลกระทบแล้ว การควบรวมครั้งนี้มีผลกระทบอะไร ต้องออกข้อกำหนดเฉพาะเพื่อแก้ปัญหานั้น ดังนั้น กสทช. จะเสนอตั้งที่ปรึกษา 30 วัน และที่ปรึกษาจะต้องส่งรายงานมาเพื่อสังเคราะห์ วิเคราะห์ อีก 60 วันรวมเป็น 90 วัน ในส่วนนี้จะทำให้การควบรวมมีเงื่อนไขตามลำดับอยู่ในตัว ซึ่งทั้ง 2 บริษัทก็ยังสามารถไปลงทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ได้” นพ.ประวิทย์ กล่าว

 

ในอดีตเคยมีการควบรวมในลักษณะนี้หรือไม่?

นพ.ประวิทย์ ระบุว่า ส่วนตัวยังไม่แน่ใจในข้อกฎหมายว่าควรมีอำนาจยับยั้งการควบรวมหรือไม่ เพราะการออกมาตรการเฉพาะหรือเงื่อนไขต่างๆ เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นการควบรวมแล้วลดการแข่งขันในตลาด ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์คุณภาพต่ำ ก็ต้องไปออกมาตรการเฉพาะหน้า ทั้งที่ปัญหาเกิดจากการปล่อยให้รวมกัน เพราะถ้ารวมกันแล้วเป็นโทษ ควรจะห้ามรวม แต่ในส่วนนี้ทางสำนักงานยืนยันว่า อาจจะเป็นปัญหาทางข้อกฎหมาย ดังนั้นในส่วนนี้เบื้องต้นอย่างน้อยที่พอทำได้ คือการออกมาตรการเฉพาะ แต่ขั้นสูงที่จะต้องพิจารณาไม่ให้มีการควบรวม อาจจะต้องส่งต่อกันเพื่อพิจารณาเป็นลำดับต่อไป 

 

ส่วนกรณีที่ในอดีตเคยมีการควบรวมบริษัทแล้วถูกปัดตกหรือไม่นั้น นพ.ประวิทย์ บอกว่า จากกรณีที่ผ่านมายังไม่เคยเจอเหตุการณ์ รวมบริษัทในประเภทเดียวกัน เพราะยังไม่ค่อยเห็นประโยชน์ว่าทำไมจะต้องไปรวมบริษัทในประเภทเดียวกัน แต่หากเป็นบริษัทที่ต่างกัน เช่น ค่ายอินเทอร์เน็ตไปจับมือกับค่ายผลิตบริษัทมือถือ ในส่วนนี้ก็เข้าใจได้ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าที่ผ่านมา กสทช. ยังไม่เคยยับยั้งการรวมธุรกิจ 

 

แต่ครั้งนี้ข้อสังเกตคือทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ถ้าเป็นบริษัทรายเล็กรวมกันเพื่อไปสู้กับบริษัทใหญ่จะพอเห็นภาพและเหตุผล แต่พอเป็นรายใหญ่รวมกับรายใหญ่แบบนี้ ที่จะทำให้เหลือผู้ให้บริการเพียงสองราย ในส่วนนี้จะเห็นภาพลำบาก 

 

เปิดคำชี้แจงต่อ กสทช. ของ TRUE-DTAC และเหตุผลการควบรวม

ในเรื่องของเหตุผลการควบรวมครั้งนี้ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ คณะกรรมการ กสทช. ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ทางช่อง MCOT-HD30 ว่า ฝ่ายตัวแทนของ DTAC ได้ชี้แจงในวัตถุประสงค์เบื้องต้น การควบรวมธุรกิจครั้งนี้ ทำเพื่อต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจให้เน้นในเรื่องเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นการร่วมธุรกิจกับกลุ่ม TRUE และตอกย้ำว่าไม่ได้ถูกเทกโอเวอร์โดยกลุ่ม TRUE แต่เป็นการร่วมมือแบบ 50-50 ไม่มีฝ่ายใดกำหุ้นไว้มากกว่า 

 

นอกจากนี้เหตุผลการควบรวม มีการเปิดเผยในงานแถลงข่าวจับมือศึกษาแผนควบบริษัทกัน ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้เหตุผลว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคเข้ามาเสนอรูปแบบบริการดิจิทัลมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการพัฒนาการให้บริการเครือข่ายให้เป็นอัจฉริยะแล้ว ยังต้องเสริมศักยภาพและความรวดเร็วในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงข่ายการสื่อสารและส่งมอบเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ให้กับลูกค้า 

 

การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยโทรคมนาคม (Telecom) จะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชัน

 

และในฐานะบริษัทไทย ต้องการมุ่งมั่นปลดล็อกศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลของธุรกิจไทย นอกจากนี้หลังรวมกิจการจะตั้งกองทุนในงบ 200 ล้านบาท ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup) โดยการจัดตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและสตาร์ทอัพต่างประเทศที่ตั้งในประเทศไทย รวมถึงแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ โดยมุ่งหวังให้เป็นการขับเคลื่อนประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลาง ด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

 

เช่นเดียวกับ DTAC โดย ซิคเว่ เบรกเก้ ในฐานะประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทเลนอร์ บอกว่า บริษัทมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนโลกดิจิทัลในหลายประเทศทั่วเอเชีย ดังนั้นขณะที่บริษัทจึงมองหาโอกาสในการพัฒนาศักยภาพต่อไป ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจต่างคาดหวังบริการที่ล้ำสมัยและการเชื่อมต่อที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ในฐานะตัวแทนกลุ่มเทเลนอร์มีความเชื่อว่าบริษัทใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอด ยกระดับประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลได้ ด้วยการผนวกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับการบริการที่ดึงดูดลูกค้า พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม

 

กลุ่มเทเลนอร์จะใช้โอกาสนี้ออกจากตลาดประเทศไทย?

ส่วนประเด็นของกระแสข่าวที่ว่า กลุ่มเทเลเนอร์ (บริษัทแม่ของ DTAC) เล็งจะปลีกตัวออกจากตลาดในไทย เพราะก่อนหน้านี้ธุรกิจที่ประเทศอินเดียทางเทเลเนอร์ก็ประกาศขายกิจการ, ธุรกิจที่ประเทศมาเลเซีย เทเลเนอร์ก็ไปควบรวมกับบริษัท รวมถึงหลายธุรกิจในเอเชียเทเลเนอร์ก็ขายเกือบทั้งหมด เมื่อหันกลับมาที่ประเทศไทยแนวคิดในการรวบกับบริษัท TRUE จึงเป็นคำตอบกลายๆ หรือไม่ว่ากลุ่มเทเลเนอร์ต้องการโบกมือลาธุรกิจจริงๆ

 

โดยประเด็นนี้ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) ชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Secret Sauce: Executive Espresso EP.294 ว่า เดิมทีฝั่งกลุ่มเทเลเนอร์ทำสัญญาณในเรื่องขายธุรกิจไว้สักระยะหนึ่ง จากการขายหรือรวมหลายกิจการของบริษัทในเครือตัวเอง ดังนั้น การที่ DTAC จะเป็นเป้าหมายในการถูกขายหรือควบรวมจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบริษัทแม่ต้องมีกลยุทธ์ที่ใหญ่กว่านั้น และน่าจะรู้ว่าการอยู่ของ DTAC เป็น ‘Dump Pipe’ หรือรู้อยู่แล้วว่าธุรกิจส่วนนี้ไม่ใช่ธุรกิจที่จะเติบโตได้มากไปกว่านี้ เพราะทิ้งไว้นานอาจกลายเป็นปัญหาในอนาคต ดังที่ทราบว่าเทคโนโลยีโลกเปลี่ยนแปลงไปไวมาก โดยส่วนตัวจึงคิดว่าเทเลเนอร์ต้องการ Exit จากไทย

 

“ปัญหาอยู่ที่ว่าจะ Exit อย่างไร ธุรกิจตรงนี้ต้องมีคนซื้อและคนที่จะซื้อคงจะมองคล้ายๆ กัน ว่าซื้อไปแล้วจะเดินต่อไปอย่างไร จะทำอะไรต่อ เพราะมันมีแต่เรื่องเงิน เพราะธุรกิจที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ไม่น่าจะโตไปกว่านี้ คนไทยมีมือถือครบกันทุกคนแล้ว และโอกาสใช้เพิ่มก็ยาก เดี๋ยวนี้โปรโมชันต่างๆ มีเยอะมาก ตามความเข้าใจของผมคิดว่า เทเลเนอร์หาจังหวะอยู่นานแล้ว อีกอย่าง TRUE ก็คือคู่แข่งทางธุรกิจไม่ใช่เพื่อนที่จะมาเดินจับมือกันได้ง่าย แต่พอสำรวจหรือวิเคราะห์ความเป็นไปได้ คงรู้ว่า TRUE ก็อยากได้ เพราะเมื่อรวมร่างกันได้ สิ่งที่เรียกว่าขาดทุน หรือกำไรน้อยๆ มันจะเปลี่ยนภาพไปได้”

 

ดร.นิเวศน์ ยกตัวอย่างถึงวิธีการทางการตลาดให้ฟังต่อว่า ปัจจุบันธุรกิจโทรคมนาคมทั้ง 3 รายที่อยู่หน้าตลาดของไทยอย่าง AIS, DTAC และ TRUE กระจายเบอร์มือถือไปทั้งประเทศแล้ว ในองค์ประกอบของต้นทุน การลงทุนนั้นเท่ากัน หรือถ้าต่างก็ไม่ต่างกันเยอะ แต่แน่นอนว่าเจ้าที่มีเบอร์ลูกค้ามากกว่าจะเป็นเจ้าที่ได้เปรียบ ส่วนที่เหลือก็จะเป็นกลุ่มที่มีลูกค้าน้อยลงมา เมื่อลูกค้าน้อย รายได้ก็น้อยตาม แต่ตัวต้นทุนยังเท่าเดิม

 

ดังนั้นเจ้าที่มีฐานลูกค้าเยอะจะขึ้นเป็นยักษ์เบอร์หนึ่ง 1 ด้วยกำไรที่เยอะกว่า ส่วนยักษ์เบอร์ 2 จะเป็นกลุ่มที่เสมอตัว และเบอร์ 3 จะกลายเป็นยักษ์ที่ขาดทุนหรือไม่ขาดทุนก็ได้ แต่จะเริ่มมองเห็นความไม่คุ้มค่า ดังนั้นโดยธรรมชาติเบอร์ 2 และ 3 จะเหนื่อยกว่ามากในการเบียดสู้เบอร์ 1

 

อีกทั้งในบริบทแห่งความเป็นจริงที่เศรษฐกิจไม่โต ตลาดไม่โต มันทำให้รายได้ไม่คืบหน้า ในขณะที่รายจ่ายหรือต้นทุนยังเท่าเดิม การที่เบอร์ 2 และ 3 รวมพลังกัน มันจะทำให้กำไรเพิ่มขึ้น แม้ว่ารายจ่ายที่รวมกันช่วงแรกจะเยอะไม่ต่างกัน แต่เมื่อนานวันไปต้นทุนจะเป็นการใช้ร่วมกัน ช่วยเซฟต้นทุน อันนำไปสู่การสร้างกำไรที่มากขึ้น มันจึงเป็นการเปรียบภาพให้เห็นว่า จากเดิมที่ TRUE อาจจะขาดทุนเชิงการบริหารงาน แต่เมื่อจับมือกับ DTAC ก็จะทำให้ศักยภาพการกลับมาทำกำไรมองเห็นโอกาสที่ปลายอุโมงค์อีกครั้ง เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ Win-Win กับทั้ง 2 บริษัท

 

ส่องผลกระทบ-มาตรการป้องกันการผูกขาด

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้ง Cofact Thailand และอดีตกรรมการ กสทช. บอกว่า กิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่พิเศษ เป็นกิจการที่มีผู้แข่งขันในตลาดน้อย และเข้าข่ายผูกขาดโดยธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เดิมทีในประเทศไทยควรมีผู้ให้บริการมากกว่า 3 ราย เพราะหากย้อนไปตอนช่วงประมูลคลื่นความถี่ ภาพที่เห็นแทบจะไม่ถูกมองว่าเป็นการแข่งขันเลย ส่วนผู้บริโภคจะย้ายค่ายก็ทำไม่ได้ เพราะไม่รู้จะย้ายไปใน เมื่อผู้ให้บริการมีเพียง 3 ราย

 

ดังนั้นโดยหลักการหากเหลือผู้ให้บริการเหลือ 2 ราย จะเป็นเรื่องที่ไม่ดีมากๆ หลายคนอาจให้เหตุผลว่านี่คือการแข่งขันกันของ 2 ยักษ์ใหญ่ แต่มันจะทำให้การแข่งขันน้อยลง ความตื่นตัวของทั้ง 2 รายก็จะน้อยลง อำนาจในการต่อรองของผู้บริโภคก็มีน้อยลงและตามทฤษฎี ถ้าเกิดการฮั้วกันแอบไปตกลงกันหลังฉาก มันจะนำไปสู่การผูกขาดในตลาดเกือบสมบูรณ์ ฉะนั้นอีกหนึ่งทางออกที่ดี ควรมีการส่งเสริมให้มีหลายราย มากกว่าให้มีน้อยราย เพราะในมุมมองของประชาชนทั่วไป หากเลือกได้ก็ต้องการตัวเลือกในการเลือกใช้บริการที่มีคุณภาพหรือย้ายค่ายได้มากกว่านี้ 

 

ด้าน ดร.นิเวศน์ อธิบายถึงผลกระทบในมุมของภาคการตลาดว่า สิ่งนี้ (การรวมบริษัท) คือประเด็นที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพียงแต่หลายประเทศจะมีองค์การคอยควบคุม ที่จะคอยป้องกันไม่ให้บริษัทเหล่านี้มีอำนาจทางการตลาดสูงจนเกินไป ในส่วนของไทยก็มีที่เรียกว่า คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่จะทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้บริษัทใหญ่ตั้งราคากันเอง และที่สำคัญคือป้องกันไม่ให้มีใครใหญ่จนสามารถควบคุมตลาดเกินไป 

 

พร้อมยกตัวอย่างว่า เร็วๆ นี้ในต่างประเทศเองได้เกิดกรณีทำนองนี้คือ Facebook คือบริษัทที่มีขนาดใหญ่จนเกินไป และเสี่ยงต่อการคุมอำนาจตลาดแพลตฟอร์มออนไลน์ จนเป็นเหตุให้ทาง Facebook ต้องแตกบริษัทให้เล็กลง เพื่อให้คู่แข่งในตลาดเดียวกันสู้ได้ 

 

พอมองย้อนกลับมาที่เมืองไทย ความคิดที่จะให้แต่บริษัทใหญ่ให้เล็กลงยังไม่เคยเจอและไม่เคยเกิดขึ้น อย่างมากคือการทำให้ไม่เกิดการรวมกันจนใหญ่เกินไป และนำไปสู่การคุมตลาดในท้ายที่สุด อันนี้คืออำนาจหน้าที่ต้องทำของ กขค.

 

อีกส่วนที่ผลต่อการรับรับผิดชอบในกรณีนี้โดยตรงคือ กสทช. เพราะเป็นองค์กรที่ดูแลทุกสิ่งที่เกี่ยวกับคมนาคม และรับรู้ว่าขณะนี้บริษัทไหนกำลังรวมกับใครอยู่ ดังนั้นการรวบบริษัทต้องผ่าน 2 องค์กรนี้เป็นอย่างน้อย 

 

ขณะที่ นพ.ประวิทย์ อธิบายเสริมว่า การรวมบริษัทครั้งนี้ ภาพแรกที่เห็นอย่างชัดเจนคือทำให้การแข่งขันลดลง จะเกิดภาวะขาดการแข่งขันในตลาดจะเกิดการกระจุกตัวของตลาด ดังนั้นมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด ทาง กสทช. จะต้องเริ่มตั้งแต่ตอนพิจารณาในขั้นแรกว่าควรเห็นชอบให้เกิดการควบรวมกิจการหรือไม่ ก็ต้องย้อนกลับไปดูเหตุผล ศึกษาผู้ได้รับผลกระทบ เพราะถ้ารวมกันแล้วอุตสาหกรรมจะแย่ลง บวกกับมีอำนาจทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการหลังพิจารณาก็สามารถยับยั้งกับควบรวมได้ ซึ่งนี่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ขณะเดียวกันในความเป็นจริง ถ้าเราไม่มีอำนาจทางกฎหมายควบคุม ก็ต้องยอมให้บริษัทรวมกันไป แล้วจึงค่อยออกมาตรการเฉพาะมาตามลำดับ ซึ่งมันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 

 

อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจของการควบบริษัทครั้งนี้คือ การเปรียบในระดับสากลที่ ดร.นิเวศน์ อธิบายในภาพรวมว่า การรวมของ TRUE และ DTAC ต้องยอมรับว่า หากรวมได้จะใหญ่กว่า AIS เสียอีก และที่ย้ำกันบ่อยๆ คือ ผู้แข่งขันจะเป็นจาก 3 เหลือ 2 ราย หากเปรียบเทียบกับเมืองนอก หรือบางประเทศอาจจะถูกปัดตกและสั่งห้ามทำทันที 

 

“แต่ตัดมาที่ประเทศไทย จะมีการกำหนดเงื่อนไขเป็นลำดับ ไม่ได้ออกคำสั่งห้ามเท่าไรนัก แต่อนาคตก็ต้องห้ามได้ เพราะถ้าในอนาคต (TRUE-DTAC) เติบโตเหมือนหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป ก็ต้องแยกบริษัทให้เล็กลงด้วย เพราะต่อให้คุณจะอยู่เฉยๆ กินส่วนแบ่งทางการตลาดจนใหญ่โต และค้านว่าไม่ใช่ความผิดบริษัท แต่บริษัทเก่งพอที่จะทำกำไรเท่านี้ได้ ถ้าเป็นองค์กรของต่างประเทศจะค้านกลับทันที และสั่งให้กลับมาแตกบริษัทให้เล็กลงเพื่อรักษาสมดุลทางการตลาด

 

“ข้ามไปที่เมืองจีนก็กำลังเร่งเครื่องเรื่องนี้ ทาง สีจิ้นผิง ออกมาเปิดเผยว่า ต้องกำราบไม่ให้หลายบริษัทใหญ่เกินไป ซึ่งทำให้บริษัทยักษ์หลายเจ้าในจีนเริ่มเหนื่อย รวมถึง แจ็ค หม่า เองก็ตาม ฉะนั้นถ้าเคสนี้เกิดขึ้นในเมืองนอก ผมเชื่อว่าถูกตีตกชัวร์” ดร.นิเวศน์ กล่าว

 

สิ่งที่ประชาชนต้องจับตาให้ดีจากนี้คือ ท่าทีของสองบริษัท ต้องการอะไรกันแน่ TRUE ต้องการขยายโอกาสทางธุรกิจในเมืองไทย และ DTAC (ในการดูแลของกลุ่มเทเลเนอร์) ต้องการ Exit เพียงแต่ทำไม่ได้ หรืออำพรางให้เห็นว่ายังไม่ได้ Exit ด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ ‘เกม’ ที่ทุกคนต้องอ่านบรรทัดต่อบรรทัด เพราะมิชชันที่สำคัญที่สุดของสองบริษัทคือต้องการรวมกันให้สำเร็จ เพื่อต่อยอดไปสู่เป้าหมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจคมนาคมในหลากมิติ

 

นี่จึงเป็นอีกโจทย์สำหรับ TRUE และ DTAC ที่ต้องทำร่วมกัน และไม่ใช่เพียงแค่จากส่งข้อมูลอธิบายเหตุผลเพื่อฝ่ากระแสบนโต๊ะพิจารณาของ กขค. และ กสทช. แต่อีกส่วนสำคัญที่ฝ่าฟันต่อหลังจากนี้คือกระแสประชาชนในฐานะผู้บริโภค ที่หลายคนมองไปแล้วว่าหากดีลเกิดขึ้นจริงในอนาคต ตลาดโทรคมนาคมจะถูกผูกขาดอย่างเบ็ดเสร็จ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising