×

ประมวลความเห็น กสทช. เสียงข้างน้อย สภาองค์กรของผู้บริโภคและนักวิชาการ หลังมติรับทราบควบรวม TRUE-DTAC

โดย THE STANDARD TEAM
21.10.2022
  • LOADING...
TRUE-DTAC

หลังจากที่วานนี้ (20 ตุลาคม) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้พิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC

 

ใช้เวลาในการประชุมประมาณ 11 ชั่วโมง และในที่สุดที่ประชุม กสทช. จึงได้มีมติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ส่วนเสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น ไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ และที่ประชุม กสทช. โดยกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม โดยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ไม่ได้มีการให้สัมภาษณ์หรือแถลงข่าวสื่อมวลชนที่ติดตามผลการประชุมที่สำนักงาน กสทช. แต่อย่างใด มีเพียงจดหมายข่าวที่นำมาแจกให้แก่สื่อมวลชน

 

มติ 2 ต่อ 2 งดออกเสียง 1 คน แต่ประธานออกเสียงเบิลเพื่อชี้ขาดมติ

 

โดยคณะกรรมการ กสทช. ทั้งหมด 5 คนลงมติดังนี้

 

กรรมการ กสทช. 2 คน มีมติเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามประกาศ โดยรับทราบการรวมธุรกิจและเมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ โดยผู้ลงมติ 2 คน คือ

 

  1. ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
  2. ต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

มีมติเห็นว่ากรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันและให้พิจารณาดำเนินการพิจารณาตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดย กสทช. อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ของประกาศดังกล่าว โดยผู้ลงมติ 2 คน คือ

 

  1. ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์
  2. รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. ด้านอื่นๆ

 

ขณะที่ พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ของดออกเสียง โดยบันทึกเหตุผลว่าเนื่องจากยังมีประเด็นปัญหาการตีความในแง่กฎหมายจึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจน จึงของดออกเสียง โดยจะขอทำบันทึกในภายหลัง

 

แต่เนื่องจากการลงมติที่ประชุมดังกล่าวข้างต้นมีคะแนนเสียงเท่ากัน ดังนั้นประธานที่ประชุมได้ใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

 

1 ใน 5 กรรมการ กสทช. อธิบายเหตุผลลงมติไม่เห็นชอบ

 

ในเวลาต่อมา ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการ กสทช. เสียงข้างน้อย ที่ลงมติไม่เห็นชอบในการควบรวมครั้งนี้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า

 

ในทางกฎหมาย การตัดสินใจสงวนความเห็นที่จะรับทราบการรวมธุรกิจและยืนยันที่จะไม่อนุญาต เพราะเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแง่การลดหรือจำกัดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ศ.ดร.พิรงรองระบุถึงเหตุผล 7 ข้อหลักที่ลงมติไม่เห็นชอบดังนี้

 

  1. เมื่อรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC แล้ว จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ (NewCo) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN)

 

ดังนั้นทั้ง TUC และ DTN จะกลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีความความสัมพันธ์กันทางนโยบาย หรืออำนาจสั่งการเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ที่ไม่มีการแข่งขันระหว่างกันตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ ก่อนการรวมธุรกิจ TUC มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 31.99 และ DTN มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 17.41 ภายหลังการรวมธุรกิจ NewCo จะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 49.40 และทำให้ในตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย หรือเกิดสภาวะ Duopoly

 

  1. SCF Associates Ltd. ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันและนโยบายการสื่อสารระดับโลก สรุปว่า จากการศึกษาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคมากกว่าข้อดีที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ทั้งหมดในบริบทของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย เช่น การสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) รายใหม่, การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดค้าส่ง, การร่วมใช้คลื่น (Roaming) และการโอนคลื่นความถี่ (Spectrum Transfer) เป็นต้น

 

ในบริบทของเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องลดช่องว่างทางดิจิทัลอย่างประเทศไทย โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์ที่คนใช้มากที่สุดเพื่อเชื่อมต่อออนไลน์ การรวมธุรกิจซึ่งจะนำไปสู่การกระจุกตัวของตลาดและโอกาสที่ค่าบริการจะสูงขึ้น จึงไม่สมควรอนุญาต ด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนาประเทศที่ต้องพึ่งพิงตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการแข่งขันสูงและเป็นตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจ

 

  1. การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจภายใต้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะต่างๆ ที่บังคับผู้ขอรวมธุรกิจนั้น ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้ และอาจเป็นไปได้ยากในภายหลังจากการควบรวม โดยในส่วนของ กสทช. ก็จะต้องใช้อำนาจทางกฎหมายและทรัพยากรในการกำกับดูแลอย่างมาก โดยไม่อาจคาดหมายได้ว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้เช่นเดียวกับที่เคยมีอยู่ก่อนการควบรวมหรือไม่

 

  1. ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะ จากเอกสารประกอบการขอรวมธุรกิจยังไม่ชัดเจนและเพียงพอ

 

  1. การรวมธุรกิจมีโอกาสนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40, 60, 61 และ 75 และขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 ที่ต้องเพิ่มระดับการแข่งขันของการประกอบกิจการโทรคมนาคม

 

  1. การให้รวมธุรกิจจะส่งผลกระทบกว้างขวางและต่อเนื่องในระยะยาว อีกทั้งยังหวนคืนไม่ได้ เพราะตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยอยู่ในภาวะอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ยาก เช่น กรณีการรวมธุรกิจของเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ ตามรายงานของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะหวนคืนจากภาวะผูกขาดโดยผู้ประกอบการหนึ่งหรือสองรายไปสู่สภาพการแข่งขันก่อนการรวมธุรกิจ

 

  1. หนึ่งในผู้ขอรวมธุรกิจมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจครบวงจร (Conglomerate) รายใหญ่ ซึ่งครอบครองตลาดสินค้าและบริการในระดับค้าปลีกและค้าส่งของทั้งประเทศ จึงมีโอกาสที่จะขยายตลาดโดยใช้กลยุทธ์ขายบริการแบบเหมารวม ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการรายอื่น

 

สภาองค์กรของผู้บริโภคแสดงความผิดหวังกับมติ กสทช.

ทันทีที่มีมติ กสทช. เผยแพร่สู่สาธาณะ สภาองค์กรของผู้บริโภคแสดงความผิดหวังกับ กสทช. ที่ไม่ใช้อำนาจตัวเอง เตรียมขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กรณี กสทช. อนุญาตการควบรวม TRUE-DTAC พร้อมร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เหตุกรรมการ กสทช. ‘ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ’ ในการพิจารณาการควบรวมกิจการประเภทเดียวกันในครั้งนี้

 

โดยเฉพาะประธาน กสทช. ที่มาจากด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ถือว่าน่าผิดหวังเป็นที่สุดสำหรับผู้บริโภค

 

“เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ว่า กสทช. ไม่มีอำนาจ เนื่องจากประธานได้ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ และได้รับการยืนยันมาแล้วว่าเป็นอำนาจของ กสทช. เพราะฉะนั้นสภาองค์กรของผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเดินหน้าฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้คุ้มครองฉุกเฉินเพื่อยับยั้งการควบรวมในครั้งนี้ นอกจากนั้นก็จะเดินหน้าร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการกับ กสทช. ที่อนุญาตให้ควบรวมในครั้งนี้ด้วย”

 

‘รับทราบ’ vs. ‘ไม่อนุญาต’ กสทช. ตัดเขี้ยวเล็บตัวเองในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ?

ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการอำนวยการ The101.world อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า หลายคนเข้าใจว่า กสทช. 5 คน ลงมติ ‘เห็นชอบ’ หรือ ‘ไม่เห็นชอบ’ ให้มีการควบรวม แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เสียง ‘เห็นชอบ’ ชนะเสียง ‘ไม่เห็นชอบ’ แต่ในที่ประชุม ประธาน กสทช. คือ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ และ ต่อพงศ์ เสลานนท์ ซึ่งพยายามผลักดันว่า กสทช. มีอำนาจเพียงแค่ ‘รับทราบ’ ดีลควบรวม TRUE-DTAC เท่านั้น ไม่มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่แต่อย่างใด

 

ปกป้องระบุต่อว่า ท่าทีดังกล่าวสวนทางกับความเห็นของนักวิชาการด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ และองค์กรกฎหมายอย่างกฤษฎีกา หรือกระทั่งศาลปกครอง ที่ย้ำว่า กสทช. มีอำนาจตามกฎหมาย

 

“ในความจริงนั้น อำนาจและหน้าที่ของ กสทช. เขียนไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.กสทช. ตลอดจนประกาศของ กสทช. ที่ให้อำนาจกำกับดูแลโดยมีมาตรการป้องกันไม่ให้แสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม ตลอดจนป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน”

 

กฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่อย่างเป็นรูปธรรมคือ ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ที่ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจน ข้อ 5 ของประกาศนี้ กำหนดให้การรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมที่ก่อให้เกิดนิติบุคคลใหม่เช่นนี้ จะต้องรายงานต่อ กสทช.

 

ต่อด้วยข้อ 9 ในประกาศฉบับเดียวกัน ระบุว่า การรายงานนั้นให้ถือเป็นการ ‘ขออนุญาต’ ตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

 

ต้องตามต่อไปดูข้อ 8 ของประกาศฉบับ พ.ศ. 2549 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะในทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน จะทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเสียก่อน ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการถือครองธุรกิจนี้อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการสามารถสั่งห้ามการถือครองกิจการได้

 

นอกจากนี้ ประกาศฉบับ พ.ศ. 2549 และประกาศฉบับ พ.ศ. 2561 ให้อำนาจ กสทช. ในการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะสำหรับการควบรวม โดยที่ประกาศ พ.ศ. 2561 ให้เกณฑ์ไว้ว่าสามารถทำได้เมื่อ

 

  1. ดัชนีการกระจุกตัวหลังการควบรวมสูงกว่า 2,500 จุด
  2. มีการเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 จุด
  3. รายใหม่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  4. มีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

“ดังนั้น กสทช. สามารถให้อนุญาต อนุญาตอย่างมีเงื่อนไข หรือไม่อนุญาตตามการพิจารณาผลกระทบต่อการแข่งขัน ไม่ได้เป็นแค่ผู้รับแจ้งรายงาน แต่มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมแน่นอน”

 

ทว่าในที่ประชุมนัดประวัติศาสตร์ 11 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กสทช. 2 คน คือ นพ.สรณ และ ต่อพงศ์ ยืนยันว่า กสทช. ไม่มีอำนาจ ทำได้แค่ ‘รับทราบ’ รายงาน โดยอ้างถึงข้อ 8 ของประกาศฉบับ พ.ศ. 2549 ที่ระบุว่า ‘การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะในทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน จะทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเสียก่อน ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการถือครองธุรกิจนี้อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการสามารถสั่งห้ามการถือครองกิจการได้’

 

ซึ่งในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน กสทช. ที่ 51/2565 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ส่งให้สื่อมวลชนหลังประชุม เขียนว่า ‘ที่ประชุมเสียงข้างมาก (ประธาน กสทช. และ กสทช. ต่อพงศ์) มีมติเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศฉบับปี 2549 และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดยรับทราบการรวมธุรกิจ’

 

“กล่าวคือ ถ้าเข้าข่ายเป็นการเข้าถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมได้ แต่เมื่อไม่ใช่การถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ดังนั้น กสทช. จึงทำได้แค่ ‘รับทราบ’ คำถามคือ TRUE-DTAC ไม่ใช่ธุรกิจประเภทเดียวกันตรงไหน?”

 

และในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ที่สรุปมติ กสทช. เขาใช้ถ้อยคำแบบต่อว่า “จากนั้นที่ประชุม กสทช. จึงได้มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมธุรกิจ… ส่วนเสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น ไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ

 

“สังเกตจุดยืนที่แตกต่างกันของ กสทช. สองฝั่งนะครับ ฝั่งเสียงข้างมาก นพ.สรณ และ ต่อพงศ์ ใช้คำว่า ‘รับทราบ’ การควบรวมธุรกิจ แต่ฝั่งเสียงข้างน้อย ศ.ดร.พิรงรอง และ รศ.ดร.ศุภัช ใช้คำว่า ‘ไม่อนุญาต’ การรวมธุรกิจ เพราะตีความเรื่องอำนาจ กสทช. ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

“สำหรับผม เรื่องนี้หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าการเห็นชอบให้ควบรวมด้วยซ้ำไป กสทช. สองคน คนหนึ่งเป็นประธานเสียด้วย กำลังสร้างหลักใหม่ว่า กสทช. ไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่เป็นเหตุผลในการดำรงอยู่ของ กสทช. ด้วยซ้ำ กสทช. กำลังตัดเขี้ยวเล็บตามกฎหมายของตัวเองในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ”

 

นอกจากนี้ปกป้องยังได้โพสต์ข้อความเพิ่มเติมระบุว่า เราจะสรุปว่า กสทช. เสียงข้างมากไฟเขียวการควบรวมได้หรือไม่ ในเมื่อมี กสทช. 2 เสียงจาก 5 เสียงเท่านั้นที่มีมติ ‘รับทราบ’ รายงานการควบรวม ซึ่งส่งผลเสมือนอนุญาตให้ควบรวมได้ คะแนน 2 เสียงจาก 5 เสียง จะตีความว่าคะแนนเท่ากัน (คือ 2:2 แบบไม่นับงดออกเสียง) จนต้องให้ประธานชี้ขาดได้อย่างไร ในเมื่อฝ่ายสนับสนุนยังไม่ได้เสียงข้างมาก

 

“กสทช. ที่งดออกเสียง ไม่ได้แปลว่าเขาเห็นด้วยว่า กสทช. ควรทำเพียงแค่รับทราบรายงาน ซึ่งส่งผลเสมือนอนุญาตให้ควบรวมได้ เมื่อได้เสียงแค่ 2 เสียงจาก 5 เสียง มติที่ว่า กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณา ทำได้เพียงรับทราบรายงานเท่านั้นก็ควรจะตกไปตั้งแต่ต้นหรือไม่ เพราะไม่ได้เสียงถึงกึ่งหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องให้ประธานชี้ขาด ยังไม่ต้องพูดถึงว่าที่ประชุมเอาคำถาม 2 เรื่องที่อยู่คนละฐานคิดกัน การตั้งมติให้ลงคะแนนแบบนี้มีปัญหาหรือไม่ การสรุปมติจากผลคะแนนมีปัญหาหรือไม่”

 

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เหมือนกับว่าเรากำลังจะสรุปผลการประชุมเพื่อให้ดีลควบรวมเดินหน้าต่อไป ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือมี กสทช. 2 คนจาก 5 คนมีความเห็นว่า กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ ทำได้เพียงแค่รับทราบรายงานที่ผู้ควบรวมแจ้งเพื่อทราบมา ทำได้เต็มที่แค่กำหนดเงื่อนไขการควบรวม

 

“แล้วทำไมความเห็น 2 ใน 5 ถึงกลายเป็นเสียงข้างมากที่ทำให้ดีลเดินหน้าต่อไปได้ สิ่งที่เกิดขึ้นชวนให้ตั้งคำถามกับกระบวนการต่างๆ และตรรกะของเกมการลงคะแนนที่ดูขัดกับสามัญสำนึก ทั้งที่ดีลนี้คือบทท้าทายที่สำคัญที่สุดตั้งแต่มี กสทช. มา และส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคมเศรษฐกิจไทยมหาศาล”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising