×

วิทยาศาสตร์ของการมีอายุ 30s

02.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การศึกษาบางชิ้นบอกว่าวัย 35 ปีถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดหรือเป็น best age ของมนุษย์กันเลยทีเดียว โดยคนเราจะไม่ได้มีความสุขอย่างแท้จริงหรอก จนกว่าจะอายุถึง 33 ปี
  • สามสิบยังแจ๋ว เป็นเพลงที่สอดคล้องกับผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้น อย่างงานของนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส David Buss ก็บอกไว้ว่า ผู้หญิงในวัยสามสิบจนถึงต้นสี่สิบจะเป็นวัยที่มีความต้องการทางเพศและการมีเซ็กซ์สูงกว่าผู้หญิงวัยอื่นทั้งปวง
  • ในเรื่องของหน้าที่การงาน เขาบอกว่าในวัยยี่สิบคนจะอยู่ในโหมดเพิ่งเรียนจบ ยังไม่มีงานทำ กำลังหางานทำหรือกำลังเลือกเส้นทางการทำงาน (career path) กันอยู่ แต่พอมาถึงวัยสามสิบต้องถือว่าเป็นช่วง ‘ไฮไลต์’ ของอาชีพเลยทีเดียว ในรายงานของ National Bureau of Economic Research ของเคมบริดจ์บอกว่าผลงานประดิษฐ์คิดค้นและการทำงานในระดับที่ได้รางวัลโนเบลนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อคนทำงานนั้นๆ อยู่ในช่วงครึ่งหลังของวัยสามสิบ

     คุณรู้สึกอย่างไรกับวัยสามสิบบ้างครับ

     คงเป็นการเหมารวมมากเกินไป ถ้าจะบอกว่าวัยสามสิบเป็นวัยที่ดีที่สุดหรือแย่ที่สุด เพราะแต่ละคนคงมีประสบการณ์และการรับรู้ที่แตกต่างกันไป

     อย่างไรก็ตามการศึกษาบางชิ้นก็บอกว่าวัย 35 ปีถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดหรือเป็น best age ของมนุษย์กันเลยทีเดียวนะครับ โดยคนเราจะไม่ได้มีความสุขอย่างแท้จริงหรอกจนกว่าจะอายุถึง 33 ปี

     ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

     มีการสำรวจของ Aviva ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่ของอังกฤษ เขาพยายามไปดูว่า เอ๊ะ! คนวัยไหนหนอถึงจะมีชีวิตที่มีความสุขมากที่สุด สิบหกปีเมื่อกำลังแรกแย้มหรือเปล่า หรือว่ายี่สิบเอ็ดปีเมื่อได้ออกจากบ้านไปเผชิญโลกกว้าง

     จากการสำรวจคนอังกฤษกว่า 2,000 คนที่มีวัยแตกต่างหลากหลาย เขาพบว่าค่าเฉลี่ยช่วงชีวิตที่ดีที่สุดออกมาอยู่ที่ 35 ปี

     อ้าว! แล้วคนที่อายุน้อยๆ จะรู้ได้ยังไงว่า 35 ปีเป็นชีวิตที่มีความสุข?

     เขาบอกว่าถ้าเป็นกลุ่มคนที่อายุ 18-24 ปี จะ ‘คาดการณ์’ ว่าช่วงชีวิตของตัวเองที่น่าจะมีความสุขที่สุดอยู่ที่ 27 ปี ส่วนคนวัยเลย 65 ปีไปแล้วจะตอบว่าอยู่ที่ 44 ปี ทว่าเมื่อนำค่าของทุกกลุ่มมาเฉลี่ยกันพบว่าตัวเลขจะอยู่ที่ 35 ปี

     เขาบอกว่าวัย 35 ปีนี้คนจำนวนมากบรรลุถึงหลักหมายที่ตั้งเอาไว้หลายอย่าง เช่น เริ่มซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้แล้ว มีคู่ชีวิตแล้ว หรือมีลูกคนแรกแล้ว แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังเหลือเวลาในชีวิตอีกตั้งมากมาย โดยเฉพาะในหน้าที่การงานที่เชื่อกันว่าจะยังอยู่ในระดับพีกไปจนถึงอายุ 39 แล้วค่อยๆ รามือลดแรงลงมาเมื่ออายุขึ้นเลขสี่

     Aviva ยังพบอีกด้วยนะครับว่า วัย 35 ปีคือกลุ่มวัยที่มีรายได้สูงสุด คือถ้าเป็นคนในวัย 25-34 ปี หรือ 35-44 ปี พบว่าสองกลุ่มหลังรายได้จะน้อยกว่าคนที่อยู่ในวัย 35 ปีอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว

     แต่ก่อนจะถึง 35 ปีเราก็ต้องผ่านวัย 33 ปีมาก่อนใช่ไหมครับ นักจิตวิทยาอย่าง Donna Dawson ที่ทำวิจัยสำรวจความรู้สึกของคนอังกฤษให้กับ Friends Reunited ซึ่งเป็นเครือข่ายสังคมแห่งหนึ่งบอกว่าคนราว 70% ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีบอกว่าพวกเขาไม่เคยมีความสุขแท้จริงเลยจนกระทั่งถึงอายุ 33 ปี

     แม้พระเยซูจะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนในวัย 33 ปี แต่ผลการสำรวจก็บอกเราว่า 33 ปีคือวัยที่มนุษย์สลัดความไร้เดียงสาแบบเด็กทิ้งไปพร้อมกับความบ้าระห่ำแบบวัยรุ่น คือคนวัยเท่านี้จะไม่ไร้เดียงสาและบ้าระห่ำแล้ว แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังไม่ได้สูญเสียพลังงานและความกระตือรือร้นแบบวัยเยาว์ไปด้วย

     นอกจากการสำรวจต่างๆ แล้ว นักประสาทวิทยาอย่าง Jay Giedd ก็บอกด้วยว่า สมองของคนวัยสามสิบนั้นไม่เหมือนคนวัยอื่นๆ เพราะเป็นวัยที่สมองของเราทำงานได้ดีที่สุด

     ในวัยสามสิบสมองส่วนซีรีเบลลัมซึ่งเชื่อมโยงกับวิธีคิดของเราโดยตรงนั้น จะเติบโตมาถึงจุดที่แข็งแกร่งที่สุด คุณ Jay Giedd บอกว่าสมองของเราจะ prune away คือตัดทิ้งสิ่งที่สมองไม่ได้ใช้งานหรือไม่จำเป็นต่อชีวิตของเรา ทว่าสร้างความแข็งแรงให้กับการเชื่อมต่อของระบบประสาทส่วนอื่นๆ ที่เหลือ

     เขาบอกว่าตั้งแต่อายุ 18 ปีถึง 30 ปีคนเราจะค่อยๆ เติบโตขึ้นมาพร้อมกับมีความเป็นอินโทรเวิร์ตมากขึ้นเรื่อยๆ เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ น้อยลงเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นร่วมกับประสบการณ์เปลี่ยนชีวิตทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในวัยยี่สิบ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตมหาวิทยาลัย รักครั้งแรก งานแรก หรือการเดินทางต่างๆ แล้วมันจะกลายเป็นภาพประทับที่ค้างแข็งอยู่ในตัวเรา กลายเป็นอัตลักษณ์ของเรา ซึ่งในช่วงแรกๆ อาจมีความขัดแย้งต่างๆ อยู่ แต่พอถึงวัยสามสิบแล้วเราจะเริ่ม ‘สบาย’ (comfortable) กับตัวตนที่เราเป็น

     วัยสามสิบจึงเป็นวัยแห่งการ ‘ยอมรับ’ ว่าตัวเราเป็นอย่างไร ทำให้เรามั่นคง จึงไปสอดรับกับผลสำรวจที่บอกว่าคนเราจะรู้สึก ‘เป็นสุข’ ได้ดีที่สุดก็เมื่ออายุ 33 ปี (หรือ 35 ปีในการสำรวจแรก)

     แต่แค่นั้นยังไม่พอ เพราะนอกจากเรื่องตัวตนและการทำงานของสมองแล้ว คนวัยสามสิบยัง ‘พีก’ เรื่อง ‘เซ็กซ์’ อีกด้วยนะครับ-โดยเฉพาะกับสาวๆ

     เพลงอย่าง-สามสิบยังแจ๋ว, เป็นเพลงที่สอดคล้องกับผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้น อย่างงานของนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส David Buss ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Personality and Individual Differences ก็บอกไว้ว่า ผู้หญิงในวัยสามสิบจนถึงต้นสี่สิบ จะเป็นวัยที่มีความต้องการทางเพศและการมีเซ็กซ์สูงกว่าผู้หญิงวัยอื่นทั้งปวง

     เขาบอกว่าผู้หญิงวัยสามสิบจะมีจินตนาการทางเพศ (Sexual Fantasy) และมีเซ็กซ์จริงๆ มากกว่าผู้หญิงวัยอื่นทั้งหมด เขาพบว่าผู้หญิงจำนวนมากในวัยสามสิบ รู้สึกว่าตัวเองเซ็กซี่กว่าตอนสาวๆ และมั่นใจในรูปร่างของตัวเองมากขึ้น เหมือนกับทุกอย่างมันเข้าที่เข้าทางแล้ว ดังนั้นจึงมีชีวิตทางเพศที่ดีกว่า ส่วนผู้หญิงที่อายุเลยสี่สิบไปแล้วก็ย่อมร่วงโรยไปตามวัย ดังนั้นวัยสามสิบจึงเป็นวัยที่ผู้หญิงมั่นใจในทางเพศมากที่สุด

     ที่สำคัญผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็บอกตรงกันว่า วัยที่เหมาะสมที่สุดของผู้หญิงที่จะมีลูกก็คือก่อน 35 ปี เพราะหลังจากนั้นไปแล้วโครโมโซมจะไม่สมบูรณ์เหมือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นความเสื่อมของร่างกายที่เกิดลึกมากจนสามารถย้อนกลับมาได้

     ส่วนในเรื่องของหน้าที่การงาน เขาบอกว่าในวัยยี่สิบคนจะอยู่ในโหมดเพิ่งเรียนจบ ยังไม่มีงานทำ กำลังหางานทำ หรือกำลังเลือกเส้นทางการทำงาน (career path) กันอยู่ แต่พอมาถึงวัยสามสิบต้องถือว่าเป็นช่วง ‘ไฮไลต์’ ของอาชีพเลยทีเดียว

     ในรายงานของ National Bureau of Economic Research ของเคมบริดจ์ (โดย Benjamin Jones และคณะ) เรื่อง Age and Scientific Genius เขาบอกว่าผลงานประดิษฐ์คิดค้นและการทำงานในระดับที่ได้รางวัลโนเบลนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อคนทำงานนั้นๆ อยู่ในช่วงครึ่งหลังของวัยสามสิบ ถ้านับเฉพาะคนที่ได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ พบว่าอายุเฉลี่ยขณะทำงานที่ได้รับรางวัลจะอยู่ในวัย 36 ปี ส่วนโนเบลสาขาเคมีจะอยู่ในวัย 39 ปี (โดยมากรางวัลโนเบลจะมอบให้หลังงานนั้นๆ ประสบความสำเร็จแล้วเป็นเวลานานนับสิบๆ ปี)

     อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไม่มีความสุขกับเส้นทางการทำงานของคุณ วัยสามสิบก็อาจเป็นวัยที่ย่ำแย่ได้เหมือนกัน มีบทความในวารสาร Journal of Occupational Health Psychology บอกว่าถ้าเราเลือกทางชีวิตไม่ถูกต้อง วัยสามสิบก็จะเป็นวัยที่ความสุขลดน้อยลงอย่างมาก และอาจเกิดอาการ ‘หมดไฟ’ ได้มากกว่าคนในวัยสี่สิบเสียอีก

     วัยสามสิบยังเป็นวัยที่อาจเริ่มมี ‘อาการเตือน’ ของวิกฤติวัยกลางคน (เรียกว่าเป็น Pre-Midlife Blues) ซึ่งนักจิตวิทยาบางคนเรียกว่าเป็น Quarter-Life Crisis คือเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นก่อนวัยกลางคนจริงๆ และมักเกิดขึ้นบ่อยกับคนในวัยสามสิบ นั่นคือจะมีอาการกระวนกระวาย และเกิดการตั้งคำถามต่างๆ นานา โดยเฉพาะถ้าติดอยู่กับการทำงานหรือความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ทำให้อยากเปลี่ยนชีวิตของตัวเองไปทั้งหมด จึงกลายเป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออีกช่วงหนึ่งของชีวิตได้เลย

     นักจิตวิทยาอังกฤษอย่าง Oliver Robinson เคยอธิบายเอาไว้ว่า สภาวะแบบนี้ทำให้คนวัยสามสิบจำนวนมากรู้สึกภายในแบบหนึ่ง แต่แสดงออกมาให้คนอื่นรู้อีกแบบหนึ่ง ผลลัพธ์ก็คือเกิดความไม่ลงรอย (discrepancy) ระหว่างพฤติกรรมที่เห็น กับความรู้สึกถึงตัวตนภายใน อันอาจนำไปสู่ภาวะทางจิตได้หลายแบบ แต่ในเบื้องต้นก็คือเกิดความต้องการจะเปลี่ยนชีวิต อยากหาทางออกไปจากสถานการณ์ปัจจุบัน และสร้าง (rebuild) ชีวิตขึ้นมาใหม่

     อย่างไรก็ตาม คน 80% ที่ผ่านวิกฤติเหล่านี้มาได้ เมื่อมองย้อนกลับไปจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องดีนะครับ เพราะช่วยให้ได้ทำความรู้จักกับตัวเองอย่างแท้จริง และการผ่านวิกฤติต่างๆ ในชีวิตมาได้ ก็จะทำให้เราได้เริ่มเรียนรู้ตัวเอง ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขกับมันจริงๆ ในการสำรวจอีกชิ้นหนึ่งของ YouGov จึงพบว่า ในคนส่วนใหญ่ช่วงเวลาต้นสามสิบอาจยังเป็นช่วงค้นหาอยู่ แต่จะเริ่มเกิดสมดุลในวัย 34 ปี และกว่าจะมาพบความต้องการจริงๆ ของตัวเองก็ในวัย 38 ปีแน่ะครับ

     เอาเข้าจริงคนที่อายุสามสิบก็คงมีหลายแบบ บางคนอาจยังค้นหาอยู่ บางคนค้นพบแล้ว บางคนกำลังต่อสู้ดิ้นรน บางคนมีความสุขดี เพราะฉะนั้นที่ว่ามาทั้งหมด จึงเป็นเพียง ‘ค่าเฉลี่ย’ ของคนวัยสามสิบในโลกนี้เท่านั้นนะครับ มันอาจตรงหรือไม่ตรงกับความรู้สึกของคุณก็ได้ แต่กระนั้นก็อยากให้คุณได้อ่าน เพราะผมรู้เลยว่าวัยนี้คือวัยที่หลายคนหวนกลับมาว้าวุ่นอีกหน

     บางทีในท่ามกลางความว้าวุ่นนั้น เราก็อาจต้องการการ ‘หยุด’ เพื่อมองย้อนกลับไปสำรวจตัวเองอย่างถี่ถ้วนก็ได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising