×

TMB l Thanachart Hackathon 2020 เวทีระดมสมองประลองไอเดีย เพื่อเฟ้นหาสุดยอด ‘โซลูชัน’ ที่ตอบโจทย์ชีวิตทางการเงินที่ดีให้กับลูกค้า [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
07.10.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • TMB l Thanachart Hackathon 2020 การแข่งขัน Hackathon ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นโดย TMB l Thanachart ภายใต้โจทย์ ‘Hack to the Financial Well-Being Solution’ มุ่งหวังสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า และยังให้พนักงานในองค์กรได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจปัญหาของลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อร่วมกันหาแนวทางนำเสนอโซลูชันให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน

ยุค Digital Disruption ยังปรับตัวไม่เข้าที่ ทุกอุตสาหกรรมก็ต้องลุกขึ้นมารับมือกับการเข้าสู่ยุค New Normal กันอีกแล้ว องค์กรไหนเตรียมความพร้อมได้ไว มีบุคลากรที่มีทักษะแก้ปัญหาไว ปรับตัวเก่ง ก็อาจจะได้เปรียบหน่อย จะเรียกว่าเป็นความโชคดีของ TMB l Thanachart ก็ไม่ใช่ ต้องเรียกว่าเตรียมตัวมาดีจะเหมาะสมกว่า นับเป็นธนาคารแรกๆ ในประเทศไทย ที่ทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งใหญ่ ประกาศแนวคิด Make THE Difference สร้าง Mindset ให้บุคลากรกล้าคิด กล้าลงมือทำในสิ่งที่แตกต่าง บนบรรทัดฐานของการแก้ปัญหาของลูกค้าได้จริง สู่แนวคิดปัจจุบัน Make REAL Change พร้อมเป็นธนาคารที่ช่วยคิด ช่วยให้ความรู้และเครื่องมือ การวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของคนไทย

 

 

และยังคงไม่หยุดนิ่งเดินหน้าปรับวัฒนธรรมองค์กรและกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยการนำแนวคิดและการแข่งขัน Hackathon จากวงการสตาร์ทอัพมาปรับใช้ในองค์กร เพื่อเตรียมบุคลากรให้พร้อมเสมอในสมรภูมิยุคดิจิทัล สร้างวัฒนธรรมการทำงานรูปแบบใหม่ เปิดโอกาสให้พนักงานต่างฝ่าย ต่างแผนก ร่วมกันระดมสมอง หาไอเดียใหม่ๆ เพื่อแก้โจทย์ภายในเวลา 48 ชั่วโมง!

  

Hackathon ของที่นี่ต่างจากที่อื่นคือ แต่ละทีมต้องร่วมกันตั้งโจทย์ด้วยตนเอง และร่วมกันหาโซลูชันหรือไอเดียใหม่ๆ บนโจทย์เดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาให้กับลูกค้าเป็นหลัก จากความหลากหลายของสายงานมารวมกันเป็นทีม ทำให้เข้าใจรูปแบบชีวิตทางการเงินของลูกค้าอย่างแท้จริง จนนำไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เข้าใจลูกค้า ซึ่งมีหลายโซลูชันที่ถูกนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จริง คุณน่าจะเคยได้ยิน TMB ALL Free และ TMB Multi Currency Account นี่แหละคือตัวอย่างผลลัพธ์ที่ได้จากการแข่งขัน TMB Hackathon

 

กาญจนา โรจวทัญญู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาด ทีเอ็มบี กล่าวว่า “กิจกรรม Hackathon จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ในชื่อ TMB l Thanachart Hackathon 2020 ซึ่งความพิเศษของปีนี้คือ เป็นปีแรกที่ทีเอ็มบีและธนชาตได้ทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ หาแนวทางส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน เพื่อให้ชีวิตทางการเงินของลูกค้าดีขึ้น และสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้ไปปฏิบัติจริง ภายใต้หัวข้อ ‘Hack to the Financial Well-Being Solution’ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ชัดเจนของธนาคาร ที่มุ่งหวังจะสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า โดยให้ทุกคนได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจปัญหาของลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อร่วมกันหาแนวทางนำเสนอโซลูชันให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน โดยมีผู้บริหารระดับสูงมาเป็นคณะกรรมการร่วมตั้งคำถามและให้คำแนะนำ เพื่อให้แต่ละทีมสามารถต่อยอดแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้สามารถแก้ไขปัญหาลูกค้าได้ตรงโจทย์มากที่สุด”

 

 

“ถึงแม้ว่าเราจะมีหัวข้อ ‘Hack to the Financial Well-Being Solution’ เป็นกรอบให้กับผู้แข่งขัน แต่ทั้ง 10 ทีมนั้นมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องคิดแก้ปัญหาแตกต่างกัน การตีโจทย์ตั้งคำถาม เพื่อการตีความชีวิตการเงินของลูกค้าแต่ละกลุ่มก็จะต่างกันไป เช่น คำว่าชีวิตทางการเงินของลูกค้าที่เป็นเจ้าของธุรกิจกับลูกค้าบุคคลทั่วไปก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นโจทย์มันกว้างมาก แต่ละทีมต้องไปตีโจทย์ของตัวเองว่าเราจะทำให้ชีวิตการเงินของลูกค้าดีขึ้นผ่านผลิตภัณฑ์ ผ่านโซลูชัน หรือผ่านช่องทางของเราอย่างไร”

 

“รูปแบบของกิจกรรมจะเปิดโอกาสให้พนักงานทั้งสององค์กร จากหลากหลายสายงาน ไม่ว่าจะเป็นสายงานการตลาด สายงานบริหารผลิตภัณฑ์ สายงานกลยุทธ์และประสบการณ์ลูกค้า สายงานเครือข่ายสาขา และอีกมากมาย มารวมกันเป็นทีม เพื่อแก้โจทย์ร่วมกันภายใต้แรงกดดันของเวลาและการแข่งขัน ทำให้เกิดการทำงานรูปแบบใหม่ ได้ความคิดที่หลากหลายมุมมองจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มต้นจากกระบวนการทำความเข้าใจความต้องการและปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้า ต่อเนื่องด้วยการระดมสมองเพื่อหาโซลูชันแก้ปัญหา ซึ่งแต่ละทีมจะมีโอกาสนำเสนอแผนงาน พร้อมรับฟังคำแนะนำโดยตรงจากผู้บริหารระดับสูงที่ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้สามารถแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้ตรงโจทย์”

 

 

ทุกปีความท้าทายของการแข่งขันก็ต่างกัน สำหรับปีนี้นอกจากโครงสร้างทีมที่มาจากหลากหลายแผนกย่อมส่งผลให้การตีความโจทย์ต่างกัน ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ดูเหมือนจะมีผลบ้างไม่มากก็น้อย 

 

“สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลในแง่ของมุมมองของลูกค้าเกี่ยวกับเรื่อง Financial Well-Being จากเมื่อก่อนเวลาพูดเรื่องนี้ ลูกค้ายังไม่ค่อยสนใจหรือเห็นความสำคัญ แต่พอเกิดสถานการณ์นี้ขึ้น กลายเป็นว่าทุกคนเริ่มตระหนักถึงสุขภาพทางการเงินมากขึ้น ในขณะเดียวกันธนาคารเองก็ต้องมองตัวเองใหม่ เช่น เมื่อก่อนเราทำธุรกิจในโหมดที่ต้องการให้ลูกค้ามาใช้บริการสินเชื่อเยอะๆ ตอนนี้ต้องคิดใหม่ การส่งเสริมให้ลูกค้ามีหนี้เยอะๆ ถูกต้องหรือไม่ หรือลูกค้าควรจะมีหนี้ที่ไม่เกินตัว หรือลูกค้าอยากจะกู้ซื้อรถ อาจจะคิดว่าผ่อนรถเดือนละ หนึ่งหมื่น ธนาคารต้องทำหน้าที่บอกให้ลูกค้ารู้ถึงค่าใช้จ่ายจริงๆ ซึ่งเป็นการช่วยให้ลูกค้าตระหนักถึงสุขภาพทางการเงินของลูกค้า ในการมีรถสักคันจะต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าทางด่วน ค่าจอดรถ เป็นต้น” 

 

ตัวชี้วัดความสำเร็จของการจัด Hackathon นอกจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ปล่อยสู่ตลาดไปแล้ว การสร้างความผูกพันระหว่างองค์กรและพนักงาน หรือพนักงานและพนักงานด้วยกัน ‘Employee Engagement’ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างพนักงานที่มาจากหลากหลายสายงาน ‘Collaboration’ ก็ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กร

  

 

“เราเปิดโอกาสให้คนในทีมซึ่งมีความเชี่ยวชาญหลากหลาย ได้แชร์มุมมองของตัวเองทำให้เกิด Collaboration หรือการทำงานร่วมกัน และการได้นำเสนอไอเดียก็นำไปสู่เรื่องของ Empowerment ทำให้คนรู้สึกภูมิใจว่านี่คือไอเดียของฉัน เนื่องจากองค์กรขนาดใหญ่ ไม่ง่ายเลยที่เสียงของคุณจะถูกได้ยิน แต่การเข้าร่วม Hackathon มันคือ Shortcut ที่ไอเดียจะถูกได้ยินไม่ว่าคุณอยู่ตำแหน่งไหนในองค์กร นี่คือสิ่งสำคัญมากๆ ที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่า อยู่ที่นี่เขามีโอกาสได้คิดและได้ทำจริง”

  

ความท้าทายต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้แนวคิด Hackathon กลายเป็น Way of  Working และทำอย่างไรให้สิ่งนี้ทั่วถึงไปทั้งองค์กร ไม่ใช่แค่สร้างโซลูชันได้เร็ว และตอบโจทย์ลูกค้าได้จริง แต่พนักงานสามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปแก้โจทย์ในชีวิตการทำงานประจำวันของพวกเขาได้ด้วย  

 

ชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์

 

เชื่อว่าไม่ยากหลังจากได้พูดคุยกับ ชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ หัวหน้าทีมผู้ชนะของปีนี้ ตั้งแต่การตีโจทย์ สิ่งที่ได้ระหว่างการแข่งขัน ข้อดีของการทำงานกับทีมที่หลากหลาย ไปจนถึงการนำสิ่งที่ได้จาก Hackathon ไปปรับใช้ในการทำงาน

 

“จริงๆ ผมชอบโจทย์นี้มากเลยนะ ผมว่าโจทย์มันตรงกับสถานการณ์ตอนนี้ เนื่องจากปีนี้เราเจอโควิด-19 มันเป็นโรคระบาด ที่ส่งผลกระทบกับลูกค้า สำหรับทางการเงินมันก็เป็นโรคทางการเงินด้วยเหมือนกัน เมื่อสภาพคล่องของลูกค้าเริ่มมีปัญหา ในฐานะที่เราเป็นสถาบันทางการเงิน เราเหมือนเป็นหมอทางการเงินที่ต้องเข้าไปช่วยลูกค้า ดังนั้นโจทย์นี้ทำให้เราต้องเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนความคิด เพราะวิกฤตรอบนี้ไม่เหมือนที่ผ่านๆ มา รอบนี้มันเกิดที่ระดับมวลชน ทุกคนได้รับผลกระทบหมด พอได้รับโจทย์มาแบบนี้ เราต้องเปลี่ยนความคิด อย่ามองมันเป็น Negative เราต้อง Hack มัน เพื่อให้เกิด Well-Being ทั้งกับลูกค้าและตัวเราเอง”

  

นอกจากความท้าทายในการตีโจทย์และต้องระดมสมองเพื่อหาโซลูชันภายใน 48 ชั่วโมงแล้ว การทำงานร่วมกับคนในทีมซึ่งมาจากหลากหลายแผนก และไม่ใช่ทีมงานที่คุ้นเคย ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องปรับตัวให้ทันและเรียนรู้ให้ไว 

 

“ก็เป็นเรื่องท้าทายนะ และก็มีข้อดีอยู่ในนั้น อย่างแรกได้รู้จักคนเยอะขึ้น มุมมองมันหลากหลาย โดยเฉพาะปีนี้ Hackathon น่าจะพิเศษมากๆ เพราะเป็นปีแรกที่ทีเอ็มบีและธนชาตจับมือกัน ผมเองก็อยู่ธนาคารธนชาตมาก่อน ถือเป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน ทำให้เราต้องปรับตัวเข้ากับทีมงานใหม่ องค์กรใหม่ วัฒนธรรมใหม่ การที่ทีมหลากหลายก็ทำให้เราเห็นมุมมองที่กว้างขึ้น มันมีแนวคิดบางอย่างที่คิดไม่ถึงเหมือนกัน เช่น เมื่อก่อนถ้าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่าง เราก็จะนึกถึงเซลส์ มาร์เก็ตติ้ง พีอาร์ แต่วันนี้ในทีมเรามีไฟแนนซ์อยู่ด้วย พอคุยกันก็รู้สึกว่าจริงๆ ไฟแนนซ์เขาก็มีมุมมองทางด้านธุรกิจ บางมุมที่เขาเสนอมาก็ทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นนะ”

 

“เราสามารถนำกระบวนการการทำงานใน Hackathon มาปรับใช้ได้เยอะ อย่างแรกคือ การแข่งขันใช้เวลาน้อย กฎ Parkinson’s Law ที่เคยได้ยินมาก็ใช้ได้ผลจริงๆ เวลาสั้นๆ ที่เราคิดว่าจะทำไม่สำเร็จ มันสำเร็จได้ ขอแค่มีเป้าหมายที่ชัดเจน และแบ่งงานกันทำเป็นชิ้นๆ แต่ละคนก็หยิบงานของตัวเองไปทำได้ เพราะมีฟังก์ชันที่ชัดเจน และยังมีเรื่องของทีมเวิร์กเข้ามาด้วย ผมว่านี่คือหัวใจสำคัญเลยนะ และใต้คำว่าทีมเวิร์กมันคือความไว้ใจ เพราะการทำอะไรภายใต้กรอบเวลาที่สั้นมากๆ และต้องการความเร็วมากๆ เราจะคิดไปว่าจำนวนคนสำคัญ เทคโนโลยีสำคัญ แต่พอได้มาทำ Hackathon มันคือเรื่องของความไว้ใจในทีมงานและทุกคนรู้ฟังก์ชันของตัวเองชัดเจน สุดท้ายคือโจทย์ต้องชัด ทำให้รู้ว่าปัญหาที่ต้องแก้คืออะไร ทุกคนก็จะมุ่งไปที่เป้าหมายเดียวกัน มองเป้าหมายเป็นเหมือนเข็มทิศ และทีมงานคือผู้ที่ร่วมเขียนแผนที่ที่ดี”

   

 

ชัชฤทธิ์ยังบอกอีกว่า นอกจากจะได้เห็นข้อดีของการทำงานเป็นทีมและทิศทางการทำงานที่ชัดเจนแล้ว เขายังพบว่า มีหลายคนในทีมสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดบางอย่างในตัวเองได้อีกด้วย ตัวเขาเองก็เช่นกัน “การทำงานภายใต้ข้อจำกัดของเวลา กุญแจสำคัญคือทุกคนต้องรู้ว่าอะไรคือข้อจำกัดที่เราควบคุมไม่ได้ และเราก็เปลี่ยนแปลงเฉพาะสิ่งที่เราควบคุมได้ คุณถึงจะสามารถผ่านมันไปได้ เป็นสิ่งที่ทำให้เราผ่านช่วงเวลายากลำบากมาได้ อย่างในช่วงที่เราต้องครีเอต Prototype  ทีแรกก็คิดว่าไม่น่าจะทัน สุดท้ายมันก็ออกมาได้ นั่นหมายความว่าข้อจำกัดมันก็แค่เรื่องในใจเรา ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงกรอบความคิดที่เราสร้างขึ้น ถ้าเราคิดว่ามันต้องผ่านไปได้ เราก็จะปรับตัวกับมันได้ ซึ่งช่วยสอนกระบวนการคิดให้เป็นระบบ โดยมีเป้าหมายและการทำงานกันเป็นทีมที่ช่วยให้ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัด” 

 

เหนือสิ่งอื่นใดการทำ Hackathon ทำให้เรามองเห็นปัญหาที่แท้จริงของลูกค้าชัดขึ้น เลยทำให้โจทย์เราชัด “เรื่องที่เปลี่ยนแปลงแนวคิดการทำงานไปเลยคือ เราไม่ตั้งเป้าว่าจะต้องเพอร์เฟกต์ตั้งแต่วันแรกที่ปล่อยโซลูชัน แทนที่จะรอให้เพอร์เฟกต์ เราแบ่งย่อยเพื่อที่เราจะเทสต์ตลาดให้เร็วที่สุด เมื่อมีอะไรผิดพลาดก็รีบแก้ไข ทำให้เราได้เรียนรู้ลูกค้า ทฤษฎี Fail Forward ที่เคยอ่านเพิ่งจะมาเข้าใจก็ตอนนี้ อีกเรื่องคือ ช่วยลดอัตตาของตัวเรา พอเราไม่ได้คิดว่าโซลูชันของเราต้องเพอร์เฟกต์ที่สุดในวันที่เราปล่อยสู่ตลาด เรายังสามารถปรับและทำให้มันดีขึ้นได้อีก เพื่อให้เหมาะสมกับลูกค้ามากขึ้น และในวันที่เราลดอัตตา หูเราจะเปิดฟังลูกค้ามากขึ้น

 

ชัชฤทธิ์ยังบอกอีกว่า การทำงานในยุคดิจิทัลทุกคนต้องปรับตลอดเวลา แต่ไม่ใช่แค่เรียนรู้เทคโนโลยี จะต้องเรียนรู้ลูกค้าให้มากขึ้น เพราะลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย “การที่มีดิจิทัลเข้ามาทำให้เป็นประโยชน์กับเราคือ เราสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น ได้ยินเสียงลูกค้าชัดขึ้น หลากหลายขึ้น แล้วจะทำอย่างไรให้เราสามารถนำเรื่องเหล่านี้มาพัฒนาโซลูชันที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้ตอบโจทย์มากที่สุด” 

 

 

วิจิตรา ธรรมโพธิทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ทีเอ็มบี 

 

สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกอย่างในการนำโมเดล Hackathon มาสร้างรูปแบบการทำงานใหม่ของสถาบันการเงินคือ การพัฒนาบุคลากรให้มี Mindset ในการทำงานเป็นทีม มองเป้าหมายเดียวกัน และเดินหน้าไปพร้อมกัน และอย่างที่บอกไป ปีนี้เป็นการรวมกันของสององค์กร สองวัฒนธรรม วิจิตรา ธรรมโพธิทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ทีเอ็มบี บอกว่า นึกภาพง่ายๆ ก็เหมือนคนแต่งงานกัน มาจากคนละบ้าน ก็ต้องมีการศึกษาซึ่งกันและกัน

 

“มองว่า Hackathon เป็นการแข่งขันที่แฝงไปด้วยการเรียนรู้ ดังนั้นทุกคนเข้ามาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ก่อนหน้านี้ก็มีกิจกรรมที่ทำร่วมกันอยู่แล้ว เพียงแต่ Hackathon มีข้อได้เปรียบตรงที่ต้องใช้ความคิดเยอะขึ้น ระดมสมองกันอย่างหนัก คราวนี้เมื่อสององค์กรต่างก็มีข้อดี กระบวนการทำงานผลิตภัณฑ์หรือผลประโยชน์ต่างๆ ที่เคยให้กับลูกค้าก็ต่างกันไป ทุกคนจึงดึงจุดแข็งของตัวเองออกมาผสมผสานกัน แชร์มุมมองซึ่งกันและกัน”

 

“พอทุกคนได้แชร์ไอเดีย ทำให้เขาได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพให้คนอื่นได้เห็น นั่นจะเป็นสิ่งที่ติดตัวเขาไป เราเชื่อว่าถ้าเขานำแนวคิดในการทำ Hackathon ไปปรับใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นในองค์กร เขาก็จะหาโซลูชันมาตอบโจทย์ได้อย่างรวดเร็ว”

  

“เราเองก็อยากให้แนวคิดนี้มันกลายเป็นแนวทางการทำงานของคนในองค์กร การที่เขาได้ทำงานร่วมกันกับหลากหลายแผนก ได้รู้จักกัน ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เวลาที่ต้องทำงานร่วมกันก็ราบรื่นขึ้น สิ่งนี้ได้ส่งผลดีกลับมาสู่องค์กรด้วย ไม่ใช่แค่ลูกค้าอย่างเดียว ได้เพื่อนเยอะขึ้น ได้เข้าใจและรู้จักกันมากขึ้น มันทำให้ Mindset เขาเปลี่ยน การรับฟังจะทำให้เขามองเห็นปัญหาของอีกฝ่ายชัดขึ้น นี่คือเรื่องสำคัญของการทำงาน สิ่งนี้จะทำให้เขาพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและเดินไปด้วยกันตามเป้าหมายขององค์กร”  

 

 

หากจะมองว่า Hackathon คือเครื่องมือเสริมที่ทำให้การพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรเข้าสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้นก็ไม่ผิดนัก วิจิตราเสริมว่า “ตลอดมาองค์กรมีการพัฒนาบุคลากรตลอด โดยแนวคิดของการพัฒนาคือ 70-20-10 นั่นคือ ลงมือทำ 70 ได้รับการโค้ชชิ่ง 20 และ 10 คือการเรียนในห้องเรียน ซึ่ง Hackathon เป็นเหมือนเวทีให้พนักงานได้มีโอกาสลงมือทำจริง เป็นเวทีที่เขาจะได้แสดงศักยภาพของตัวเองมากขึ้น

 

“คน ทีเอ็มบี จะมี DNA ของคนชอบคิดและพยายามขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ก็เหมือนแนวคิด Make THE Difference เราเชื่อว่ามันเป็นความเชื่อที่ต่อเนื่องกันมา ในขณะที่ธนชาตก็เป็นองค์กรที่มีแรงผลักที่จะมุ่งไปข้างหน้าเหมือนกัน เพียงแต่ความเร็วของสององค์กรอาจจะยังไม่เท่ากัน แต่เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องเจอและต้องอยู่ใน Mindset ของทุกคน เพราะวันนี้ถ้าเราไม่เปลี่ยน ก็เหมือนถอยหลัง

 

“และต่อให้บุคลากรมี Mindset ที่ดี แต่องค์กรไม่เปิดโอกาสให้ เมื่อเขาทำมันก็จะไม่ถูกมองเห็น เราจึงมุ่งเน้นเรื่องการให้คุณค่ากับบุคลากร และเปิดโอกาสให้เขาได้มีเวทีแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหนขององค์กร แต่วันนี้เรามีเป้าหมายเดียวกัน เขาได้โอกาสแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ไม่มีผิด ไม่มีถูก มันทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจว่ามีเสียงเล็กๆ ของเขาอยู่ในนั้น

 

“เหนือสิ่งอื่นใดไม่ว่าดิจิทัลจะเข้ามา เทคโนโลยีจะดีอย่างไร แต่ถ้าบุคลากรยังไม่มี Mindset ที่จะวิ่งไปด้วยกัน ไม่มีความมุ่งมั่น เทคโนโลยีดีขนาดไหน ก็ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี”

 

วันนี้ ทีเอ็มบีและธนชาต ตั้งเข็มทิศชัดเจน และยังมีบุคลากรที่พร้อมปรับตัวไปคู่กับองค์กร เชื่อว่าต่อให้เคลื่อนทัพไปทิศไหน ด้วยความเร็วเท่าไร หรือจะต้องล้มสะดุด เราก็จะเห็นองค์กรนี้ลุกขึ้นมา ‘Make REAL Change’ ได้อย่างรวดเร็วแน่นอน 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising