×

Tiger (2021) ชีวิตล้มแล้วลุกของพญาเสือลำบาก ไทเกอร์ วูดส์

05.02.2021
  • LOADING...
Tiger (2021) ชีวิตล้มแล้วลุกของพญาเสือลำบาก ไทเกอร์ วูดส์

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • มองในแง่ตัวบุคคล ความเหมือนกันมากๆ ระหว่าง ไทเกอร์ วูดส์ กับไมเคิล จอร์แดน (ที่เพิ่งมีหนังสารคดีชีวประวัติ The Last Dance เผยแพร่ทาง Netflix) เราสามารถสรุปได้อย่างย่นย่อว่าทั้งสองไม่ได้เพียงแค่ ‘เป็นเลิศ’ ในกีฬาที่พวกเขาเก่งกล้าสามารถ ทว่าผลสำเร็จในงานอาชีพของไทเกอร์และไมเคิลยังเรียกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากความมหัศจรรย์ 
  • แต่ควบคู่ไปกับการสำแดงให้ผู้ชมได้เห็นฝีไม้ลายมือระดับสมมติเทพของทั้งสองคน คือการที่หนังสารคดีทั้งสองเรื่องย้ำเตือนให้ผู้ชมได้ตระหนักว่านอกจากพวกเขาไม่ใช่เทวดา แต่ยังเป็นปุถุชนที่มาพร้อมกับความบกพร่องนานัปการ ซึ่ง ‘ความไม่เพอร์เฟกต์’ ก็กลายเป็นราคาที่ทั้งสองคน โดยเฉพาะไทเกอร์ที่ต้องชดใช้ด้วยมูลค่าอันมหาศาล
  • ความโชคดีอย่างวายร้ายของคนทำหนัง และอาจเรียกได้ว่าเป็นความเมตตาปรานีของพระเจ้าเบื้องบน (ถ้าหากพระองค์มีจริง) ได้แก่การที่เรื่องราวของไทเกอร์มีสิ่งที่เรียกว่า ‘องก์สาม’ อันเหลือเชื่อ และมันเกี่ยวข้องกับการพลิกฟื้นจากชีวิตที่เหมือนเข้ารกเข้าพง การหวนคืนสังเวียนอย่างผู้ชนะ และการได้กลับมาผงาดอย่างพญาเสืออีกครั้ง

 

ในทำนองเดียวกับหนังสารคดีชีวประวัติของ ไมเคิล จอร์แดน เรื่อง The Last Dance ซึ่งเผยแพร่ทาง Netflix เมื่อปีกลาย หนังสารคดีชีวประวัติของ ไทเกอร์ วูดส์ เรื่อง Tiger ก็ ‘ดูเหมือน’ จะบอกเล่าเนื้อหาที่ละม้ายคล้ายคลึง และผู้ชมบ้านเราดูได้ทางช่อง HBO

 

มองในแง่ตัวบุคคล ความเหมือนกันมากๆ ระหว่างไทเกอร์กับไมเคิลสามารถสรุปได้อย่างย่นย่อว่าทั้งสองไม่ได้เพียงแค่ ‘เป็นเลิศ’ ในกีฬาที่พวกเขาเก่งกล้าสามารถ ทว่าผลสำเร็จในงานอาชีพของทั้งสองยังเรียกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากความมหัศจรรย์ และสามารถพูดได้อย่างไม่ต้องอ้ำอึ้งว่าพวกเขาสร้างปรากฏการณ์ในระดับที่อาจจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วในช่วงชีวิตของพวกเรา

 

อย่างไรก็ตาม ควบคู่ไปกับการสำแดงให้ผู้ชมได้เห็นฝีไม้ลายมือระดับสมมติเทพของทั้งสองคน ก็คือการที่หนังสารคดีทั้งสองเรื่องย้ำเตือนให้ผู้ชมได้ตระหนักว่านอกจากพวกเขาไม่ใช่เทวดา ยังเป็นปุถุชนที่มาพร้อมกับความบกพร่องนานัปการ ซึ่งหากมองในแง่มุมหนึ่ง เงื่อนไขปัจจัยดังกล่าวก็ยิ่งทำให้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่และการทำลายสถิติเป็นว่าเล่นของพวกเขาเป็นเรื่องที่แฟนๆ ต้องสแตนดิ้งโอเวชันยาวนาน แต่ในทางกลับกัน ‘ความไม่เพอร์เฟกต์’ ของพวกเขาก็กลายเป็นราคาที่ทั้งสองคน โดยเฉพาะไทเกอร์ที่ต้องชดใช้ด้วยมูลค่าอันมหาศาลทีเดียว

 

หนังสารคดีเรื่อง Tiger ของ แมทธิว ฮามาเชก และแมทธิว ไฮนีแมน แบ่งเนื้อหาการบอกเล่าออกเป็นสองตอน เฉลี่ยตอนหนึ่งยาวประมาณชั่วโมงครึ่ง และในขณะที่ครึ่งแรกบอกเล่าเรื่องการไต่เต้าและความรุ่งโรจน์ ตลอดจนเงื้อมเงาของความยุ่งยากที่ค่อยๆ ก่อรูปขึ้นมา ครึ่งหลังก็เป็นช่วงร่วงหล่นจากบัลลังก์อันเป็นผลพวงเรื่องอื้อฉาวส่วนตัว ไปจนถึงปัญหาอาการบาดเจ็บเรื้อรัง ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนน่าจะรับรู้โดยทั่วไป

 

 

ส่วนที่อาจนับเป็นข้อด้อยของหนังสารคดีเรื่องนี้ได้แก่การที่ผู้สร้างไม่สามารถโน้มน้าวให้เจ้าของเรื่องอย่างตัวของไทเกอร์เองหรือคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณกุลธิดา วูดส์ มาร่วมให้ความเห็นต่อสิ่งละอันพันละน้อยที่หนังบอกเล่า และข้อมูลในเชิงความคิดเห็นของไทเกอร์ล้วนมาจากฟุตเทจเก่าในต่างกรรมต่างวาระ อันส่งผลให้ระยะห่างระหว่างตัวหนังกับซับเจกต์เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แต่มองในมุมกลับกัน นั่นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในแง่ที่ตัวหนังสารคดีเรื่องนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อโปรโมตภาพลักษณ์ของไทเกอร์ (แบบที่ The Last Dance ถูกครหาว่ามีอิทธิพลของ ไมเคิล จอร์แดน แผ่ปกคลุมไพศาล) และส่วนหนึ่งของเนื้อหาเป็นการพาผู้ชมไปสำรวจหรือขุดคุ้ยเรื่องไม่ดีไม่งาม ซึ่งหากจะพูดอย่างให้ความเป็นธรรม หนังของฮามาเชกและไฮนีแมนก็ไม่ได้สนุกสนานกับการใส่สีตีไข่อย่างหน้ามืดตามัว และฉวยประโยชน์จากเรื่องหวือหวาในแบบของสื่อแท็บลอยด์

 

และส่วนที่สนับสนุนและส่งเสริมให้หนังสารคดีเรื่องนี้น่าติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ตรงที่เอาเข้าจริงๆ แล้วมันไม่ได้บอกเล่าแต่เฉพาะชีวประวัติของไทเกอร์ แต่กลับเปิดเผยให้ผู้ชมได้มองเห็นสิ่งที่เรียกว่าระบบนิเวศของทั้งวงการกอล์ฟซึ่งคนผิวขาวครอบงำและมีอิทธิพลมาอย่างยาวนาน วงการสื่อสารมวลชน และโดยเฉพาะบรรดาปาปารัซซี ซึ่งอยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างจากไฮยีนาที่พร้อมจะรุมเหยื่อเคราะห์ร้ายด้วยวิธีอันสกปรกหรือแม้กระทั่งลอบกัดอย่างน่าเวทนา ไปจนถึงสังคมอเมริกัน ที่ว่าไปแล้วก็มีส่วนสร้างนักกอล์ฟบันลือโลกอย่างไทเกอร์ขึ้นมา ทว่าในขณะเดียวกันก็ไม่รั้งรอที่จะร่วมบดขยี้ให้แหลกลาญในห้วงเวลาที่เจ้าตัวเสวยสุขจากความสำเร็จของตัวเองมากเกินไป

 

 

อย่างไรก็ตาม ปมเรื่องที่สำคัญมากๆ ของสารคดีเรื่องนี้ได้แก่การพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทเกอร์กับ เอิร์ล วูดส์ ผู้เป็นพ่อ ซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งว่าเขามีส่วนอย่างยิ่งยวดในการฟูมฟักให้ไทเกอร์เป็นพญาเสือแห่งวงการกอล์ฟ และใครคนหนึ่งเปรียบความแนบแน่นของสองพ่อลูกได้เป็นรูปธรรมมากๆ นั่นก็คือดอกเตอร์แฟรงค์เกนสไตน์กับมอนสเตอร์ของเขา หรืออีกนัยหนึ่ง ผีดิบที่เขาสร้างขึ้นมากับมือ มองมุมบวก ความเยือกเย็นของไทเกอร์ในสนามแข่งขันเป็นผลพวงมาจากการเคี่ยวกรำของเอิร์ล ผู้ซึ่งในความเป็นอดีตทหารผ่านศึกจากสงครามเวียดนาม การเล่นสงครามประสาทระหว่างฝึกซ้อมก็เพื่อให้หนุ่มน้อยพรักพร้อมสำหรับความกดดันในระดับสุดแสนจะทานทน

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เอิร์ลก็ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่น่าลอกเลียนทุกกระเบียดนิ้ว และเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ใครจะแอบเชื่อมโยงว่าการมีชีวิตมัวเมาทางเพศของไทเกอร์กับผู้หญิงนับไม่ถ้วนในช่วงหลังจากความสำเร็จและชื่อเสียงถาโถมเข้ามา เกี่ยวข้องกับการได้เห็นความเสเพลและสำส่อนของเอิร์ลอย่างชนิดตำตาตำใจตั้งแต่ยังเล็กๆ แต่ก็อีกนั่นแหละ มันไม่ได้แปลว่าไทเกอร์จะสามารถลอยตัวจากความผิดบาปทั้งปวง เพราะสุดท้ายสำนึกผิดชอบชั่วดีก็ยังคงเป็นของตัวเขาอยู่นั่นเอง และถ้าหากจะมีสักหนึ่งหรือสองบทเรียนที่เจ้าตัวน่าจะเรียนรู้ได้ ความเป็นอภิสิทธิ์ชนและคนมีชื่อเสียงของเขาไม่ได้ช่วยให้สามารถเอาตัวรอดจากเรื่องยุ่งยากที่เขาก่อขึ้นเสมอไป

 

ว่าไปแล้ว เรื่องของเหล่าเซเลบที่ติดกับดักชื่อเสียง ความโง่เขลา และความดันทุรังในการสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองก็ไม่ได้เป็นของแปลกใหม่แต่อย่างใด หนังสารคดีนับไม่ถ้วนล้วนพูดถึงประเด็นเหล่านี้ และการที่หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์พยายามแก้ต่างให้ทำนองว่า สำหรับไทเกอร์แล้ว เซ็กซ์ก็เหมือนยาเสพติด ในแง่ที่มันถูกใช้เป็นหนทางของการเยียวยาความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก็นับเป็นความเมตตาของคนทำหนังที่พยายามชี้ชวนให้ผู้ชมได้มองเห็นว่าจนแล้วจนรอดตัวไทเกอร์ก็ตกเป็นเหยื่อเหมือนกัน แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง ผลพวงที่น่าสลดหดหู่หรือแม้กระทั่งน่าเกลียดน่าชังจากเรื่องบัดสีของไทเกอร์อย่างที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น

 

พูดง่ายๆ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงนำพาให้บรรดาสื่อสารมวลชนรายงานเรื่องอื้อฉาวนี้อย่างอึกทึกครึกโครม (ซึ่งก็เป็นปกติธรรมดา) ทว่าที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นคือการที่มันบานปลายกลายเป็นมหกรรมรุมถล่มไทเกอร์อย่างสนุกสนานเมามัน เหมือนใครต่อใครล้วนรู้สึกว่าพวกเขาต้องไม่ตกรถไฟขบวนนี้ นีล โบลเตอร์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารขายข่าวคาวคนดัง National Enquirer ผู้ซึ่งเป็นคนจุดประกายเรื่องน่าอับอายขายหน้านี้บอกทำนองว่า ทุกคนดูเหมือนยินดีปรีดาที่ได้เห็นความล้มเหลวของไทเกอร์ และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์ครั้งมโหฬาร’ ของสังคมอเมริกัน

 

แต่ไซด์เอฟเฟกต์จากเรื่องวายป่วงของไทเกอร์ตามที่หนังสารคดีเรื่องนี้บอกเล่าไม่ได้ยุติเพียงแค่นั้น หากมันยังส่องสะท้อนให้เห็นปัญหาการเหยียดผิวในสังคมอเมริกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือในวงการกอล์ฟ

 

เหตุการณ์ที่ประธานจัดการแข่งขันเดอะมาสเตอร์ส ซึ่งเป็นหนึ่งในทัวร์นาเมนต์แกรนด์สแลม ออกแถลงการณ์ตำหนิพฤติกรรมส่วนตัวของไทเกอร์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแข่งขันแม้แต่น้อย กระทั่งใช้ถ้อยคำในลักษณะเทศนาสั่งสอน อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่าเป็นความ ‘เสือ_ไม่เข้าเรื่อง’ และไม่ใช่ธุระกงการของเจ้าของทัวร์นาเมนต์แม้แต่นิดเดียว (และพูดอย่างแฟร์ๆ ตัวไทเกอร์เองก็ออกมากล่าวคำขอโทษตั้งแต่ก่อนหน้านั้นนานแล้ว) และก็เป็นอย่างที่ใครบางคนตั้งข้อสังเกต สมมติเหตุการณ์คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นกับนักกอล์ฟผิวขาว น่าสงสัยว่าฝ่ายจัดการแข่งขันจะออกมาพูดจาห่วยแตกแบบนี้หรือไม่

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ เรื่องคาวโลกีย์ของไทเกอร์ก็ยังไม่ใช่จุดที่ตกต่ำที่สุดในชีวิตของเขาเพียงหนึ่งเดียว

 

อาจกล่าวได้ว่าหนังสารคดีเรื่อง Tiger คงจะไม่ถูกสร้างออกมาเลยตั้งแต่ต้น ถ้าหากชีวิตของไทเกอร์จมหายไปพร้อมกับเรื่องแย่ๆ และค่อยๆ พร่าเลือนไปจากการรับรู้ของสาธารณชน หรืออย่างมากมันก็คงจะเป็นหนังที่สร้างเพื่อให้ใครๆ ได้รำลึกความหลังซึ่งผ่านพ้นและไม่หวนคืน

 

 

ความโชคดีอย่างวายร้ายของคนทำหนัง และอาจเรียกได้ว่าเป็นความเมตตาปรานีของพระเจ้าเบื้องบน (ถ้าหากพระองค์มีจริง) ได้แก่การที่เรื่องราวของไทเกอร์มีสิ่งที่เรียกว่า ‘องก์สาม’ อันเหลือเชื่อ และมันเกี่ยวข้องกับการพลิกฟื้นจากชีวิตที่เหมือนเข้ารกเข้าพง การหวนคืนสังเวียนอย่างผู้ชนะ และการได้กลับมาผงาดอย่างพญาเสืออีกครั้ง และบทบาทหน้าที่ของเนื้อหาส่วนนี้ไม่ได้เพียงแค่ทำให้เส้นกราฟในทางอารมณ์ซึ่งกำลังดำดิ่งลงสู่หุบเหวกลับผงกหัวและพุ่งขึ้นไปสู่จุดสูงสุดอีกรอบ ทว่ามันยังเปิดโอกาสให้คนทำหนังเก็บเกี่ยวดอกผลจากประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกที่หนังหว่านเอาไว้ตั้งแต่ต้นอย่างซาบซึ้งตรึงใจ อีกทั้งผู้สร้างยังเน้นย้ำอีกด้วยว่า จนแล้วจนรอด ‘มอนสเตอร์’ ของดอกเตอร์แฟรงค์เกนสไตน์ก็ไม่ได้เป็นแค่ผีดิบ ทว่ามีเลือดเนื้อและความมีชีวิตชีวา

 

หรือหากจะสรุปแบบถอดบทเรียนจริงๆ Tiger เป็นหนังสารคดีที่เนื้อหาส่วนหนึ่งอาจจะบรรยายชีวิตอันยุ่งเหยิงของไทเกอร์ ทว่าในท้ายที่สุดแล้วมันกลับปิดฉากด้วยการหยิบยื่นความหวังและกำลังใจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเจตนาของผู้สร้างหรือไม่อย่างไร ‘โน้ตตัวสุดท้าย’ ของหนังกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายมากๆ สำหรับผู้ชมอย่างเราๆ ท่านๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญ และคงไม่เกินเลยความจริงหากจะบอกว่าพวกเราต่างก็กำลังเฝ้าคอยปาฏิหาริย์ของ ‘องก์สาม’ ที่จะช่วยนำพาพวกเราออกไปจากวิบากกรรมอันแสนสาหัสนี้แบบเดียวกันกับที่ไทเกอร์พบเจอ

 

Tiger (Mini-series, 2021)

กำกับ: แมทธิว ฮามาเชก และแมทธิว ไฮนีแมน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

ภาพ: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising