×

THROUGH THE LENS OF THE GREAT KING

โดย
17.10.2017
  • LOADING...

     “ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง”

     ข้อความบางส่วนจากพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีไปถึงพระสหายในต่างประเทศ ภายหลังที่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

     ใครจะทราบว่า เสียงหนึ่งที่ตะโกนแทรกเข้าพระกรรณว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน” ระหว่างที่รถพระที่นั่งแล่นผ่านฝูงชนที่มาส่งเสด็จจากสยามประเทศเพื่อไปศึกษาต่อ ณ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 จะกลายเป็นที่มาของความผูกพันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีต่อประเทศไทยและประชาชนไทยอย่างแน่นแฟ้น

     จากเหตุการณ์ในคราวนั้น พระองค์ไม่เพียงแต่ทรงนึกตอบในพระทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร” ตลอดรัชสมัยขององค์พระภูมินทร์ รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อชาติและประชาชน กลายเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ราษฎรได้อยู่เย็นเป็นสุขใต้ร่มพระบารมี

 

 

     THE STANDARD ขอน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการเก็บภาพส่วนหนึ่งใน นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ช่วงที่พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรและทรงงานในโครงการต่างๆ เป็นภาพของประเทศไทยและประชาชนในสายพระเนตรของพระองค์ อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า พระองค์ทรงห่วงใยพสกนิกรอย่างแท้จริง จนเรารับรู้ร่วมกันว่า “ที่ของพระองค์ อยู่ตรงกลางใจไทยทั้งมวล”

 

“ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้”

     โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีทั้งหมดกว่า 4,000 โครงการฯ ซึ่งหากนำมาระบุลงในแผนที่ประเทศไทย จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงงานครอบคลุมทุกพื้นที่ ตั้งแต่ยอดดอยจรดชายฝั่ง และกว่า 3,000 โครงการฯ ล้วนเกี่ยวพันกับการพัฒนาน้ำทั้งสิ้น เช่น ฝนหลวง กังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการแก้มลิง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ฯลฯ สะท้อนชัดถึงความห่วงใยในพระราชหฤทัยเกี่ยวกับปัญหาเรื่องน้ำที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นไปในมิติที่แตกต่างกัน ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค, น้ำเพื่อการเพาะปลูก, พลังงานน้ำ, การบริหารจัดการน้ำบรรเทาอุทกภัย, รักษ์น้ำในแหล่งป่าต้นน้ำ ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เฝ้าฯ ณ​ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529 ว่า

“…หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…”

 

‘‘ปลูกต้นไม้ในใจคน”

“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง…”  

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

31 ธันวาคม พ.ศ. 2502

 

     ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทรงเห็นสภาพป่าไม้เสื่อมโทรม และทรงตั้งพระราชปณิธานจะหาแนวทางฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้

     โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นหนึ่งในโครงการตามแนวพระราชดำริเพื่อสร้างวิถีที่ยั่งยืนระหว่างคนกับป่า ขณะที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยทราย ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้รับการจัดตั้งให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ หลังจากพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2526 และทรงพบสภาพป่าเสื่อมโทรม ศูนย์แห่งนี้มีการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและปลูกป่า ทั้งไม้โตเร็ว ไม้ผล และไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างสมดุลทางธรรมชาติของป่าให้คืนสู่สภาพเดิม

 

“เดิมพันคือบ้านเมือง”

“…ความจริงมันน่าท้อถอยหรอก…บางเรื่องมันน่าท้อถอย…แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านคือเมือง…คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

มีพระราชกระแสตอบหลังจากหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ทูลถามพระองค์ว่า

ทรงเคยเหนื่อยหรือทรงท้อบ้างหรือไม่?

(ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ​ ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557)

 

     พระปฐมบรมราชโองการในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ได้รับการพิสูจน์ให้ประจักษ์แก่ใจคนไทยทั่วประเทศ เพราะตลอดรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงห่วงใยพสกนิกรใต้ร่มพระบารมีอยู่มิรู้คลาย นอกจากจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พระองค์ยังสนพระทัยศึกษาปัญหาของพื้นที่เพื่อนำกลับไปหาทางแก้ไข เพื่อให้ราษฎรสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกอีกแล้วที่ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรของพระองค์ได้มากเพียงนี้

 

“ต้องขยัน เชื้อเพลิงจะเกิดขึ้นใหม่”

“ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ยังใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มี แต่ต้องขยัน ต้องหาวิธีที่จะทำให้เชื้อเพลิงเกิดขึ้นมาใหม่”

พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ​ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

4 ธันวาคม พ.ศ. ​2548

 

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานต่างๆ คิดค้นพัฒนาเครื่องจักรกลใช้พลังงานทดแทน จนเป็นที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการ รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำศูนย์พัฒนาปางตอง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะทรงเห็นว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ดีเซลมีความลำบากในเรื่องการลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิง และภายในศูนย์พัฒนามีแหล่งน้ำที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างอเนกประสงค์

 

“ไม่โลภอย่างมาก”

“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ…ก็มีความโลภน้อย… เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก …คนเราก็อยู่เป็นสุข…”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย

4 ธันวาคม พ.ศ. 2541

 

     โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้ที่ดินและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดทำโครงการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้ประชาชนได้นำไปปฏิบัติตาม สนับสนุนเศรษฐกิจแบบพอเพียง ให้ประชาชนได้อยู่อย่างพอมีพอกิน ไม่เดือดร้อน ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจของชาติกำลังอยู่ในภาวะถดถอย

 

“อยู่ดีมีสุข”

“…ความมั่นคงของประเทศชาตินั้นจะเกิดมีขึ้นได้ก็ด้วยประชาชนในชาติอยู่ดีมีสุข ไม่มีทุกข์ยากเข็ญ ดังนั้นการใดที่เป็นความทุกข์เดือดร้อนของประชาชน ทุกคนทุกฝ่ายจึงต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกันปฏิบัติแก้ไขให้เต็มกำลัง…”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเสด็จออกมหาสมาคม

ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

 

     หนึ่งในแนวคิดอันเนื่องมาจากพระราชดำริคือให้เน้นการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้แนวทางสำคัญในการส่งเสริมชุมชนหรือการพัฒนาชนบทที่สำคัญๆ คือการที่ทรงมุ่งช่วยเหลือพัฒนาให้เกิดการพึ่งตนเองได้ของคนในชนบทเป็นหลัก โครงการตามแนวพระราชดำริที่ดำเนินการอยู่หลายพื้นที่ทั่วประเทศ ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การพึ่งตนเองได้ของราษฎรทั้งสิ้น

 

“ระเบิดจากข้างใน”

“…ในการพัฒนาประเทศนั้น จำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐานคือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อนด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้วจึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลวและเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จแน่นอนบริบูรณ์…”

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

19 กรกฎาคม พ.ศ.​ 2517

 

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของ ‘คน’ ว่าสามารถพัฒนาต่อยอดได้ ทรงมีพระราชดำริว่าการพัฒนา ‘ต้องระเบิดจากข้างใน’ หมายถึงชาวบ้านต้องตื่นรู้และมีแรงกระตุ้นจากภายใน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านหรือชุมชนนั้นมีความเข้มแข็งและพร้อมสำหรับการพัฒนา มิใช่นำความเจริญจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนที่หากยังไม่พร้อมต่อกระแสใหม่ๆ สิ่งที่ตามมาคือการพัฒนาที่ล่มสลาย หรือเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

     แต่การจะกระตุ้นให้เกิดการระเบิดจากข้างในได้ นักพัฒนาจะต้องเข้าใจภูมิสังคมอย่างถ่องแท้เสียก่อน ในช่วงกลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในทุกถิ่นที่ ภาพที่เห็นบ่อยครั้งคือพระองค์ประทับร่วมกับชาวบ้านที่มารอเข้าเฝ้าฯ อย่างไม่ทรงถือพระองค์ และทรงซักถามประชาชนของพระองค์ถึงปัญหาและความทุกข์ยากที่พวกเขาต้องเผชิญ ในขณะเดียวกันก็ทรงกำลังเก็บข้อมูลอันเป็นจริงจากบุคคลในพื้นที่ เพื่อจะทรงวิเคราะห์แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด นั่นคือทรงเริ่มจากการศึกษาภูมิสังคม

 

 

     ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้ตามเสด็จฯ และถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาโดยตลอด ได้อธิบายถึงหลักการทรงงานของพระองค์ไว้ในการแสดงปาฐกถาในงานเฉลิมพระเกียรติ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาคนไทยที่สมบูรณ์แบบ’ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ภูมิ นั้นหมายถึงภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ดินอีสานเป็นแบบหนึ่ง ดินทางเหนือเป็นอีกแบบหนึ่ง ปัญหาของคนแต่ละท้องที่ก็ย่อมไม่เหมือนกัน ส่วนอีกคำคือ สังคม หมายถึงคน ซึ่งมีความหลากหลายไม่น้อยไปกว่าดิน น้ำ ลม ไฟ เลย

     เพราะฉะนั้นจึงต้องเคารพคน รู้จักคน เข้าใจคน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising