×

ซีรีส์ Through the Darkness อ่านใจปีศาจกับโปรไฟเลอร์ผู้บอกเราว่า ‘อาชญากรรมที่สมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง’

16.04.2022
  • LOADING...
Through the Darkness

หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ และในซีรีส์มีภาพความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ การฆาตกรรมที่อาจสร้างความไม่สบายใจได้

 

งานประกาศรางวัลในเกาหลีใต้ Baeksang Arts Awards เวียนมาอีกครั้งพร้อมรายชื่อที่สูสีกันมากๆ หนึ่งในนั้นคือ คิมนัมกิล จากสาขานักแสดงนำชาย ผู้พลิกบทบาทจากฆาตกรต่อเนื่องใน Memoir of a Murderer (2017) มาเป็นโปรไฟเลอร์ใน Through the Darkness แม้จะน่าเสียดายที่ซีรีส์ได้เข้าชิงเพียงสาขาเดียว แต่นี่คือเรื่องที่เราแนะนำว่าไม่ควรพลาดอย่างยิ่งสำหรับซีรีส์ในไตรมาสแรกของปี 2022

 

Through the Darkness มีชื่อเกาหลีว่า เหล่าผู้อ่านใจปีศาจ เป็นซีรีส์แนวสืบสวน-อาชญากรรมจากช่อง SBS เพิ่งออนแอร์จบไปเมื่อเดือนมีนาคม ความยาว 12 ตอน สามารถรับชมซับไทยบนแอปพลิเคชัน Viu

 

ซีรีส์กำกับโดย พัคโบรัม และ คิมแจฮง เขียนบทละครโดย ซอลอีนา ดัดแปลงโครงเรื่องมาจากหนังสือขายดีของ ควอนอิลยง ร่วมกับนักเขียน โกนามู เล่าเรื่องชีวิตการทำงานของควอนอิลยง โปรไฟเลอร์ตัวจริงคนแรกของเกาหลี ซึ่งเขามาช่วยให้คำปรึกษาในกองถ่ายด้วยเช่นกัน

 


บทความที่เกี่ยวข้อง:


 

 

Through the Darkness

ควอนอิลยง โปรไฟเลอร์คนแรกของเกาหลี (ซ้าย)

 

ดำดิ่งสู่จิตใจอันมืดมิดของปีศาจ

 

ปลายปี 90 ขณะเกาหลีใต้เพิ่งผ่านวิกฤต IMF ก้าวเข้าสู่ยุค 2000 ด้วยการเผชิญหน้ากับฆาตกรต่อเนื่องที่สร้างความสะเทือนขวัญไปทั้งประเทศ ตำแหน่ง ‘โปรไฟเลอร์’ หรือนักวิเคราะห์พฤติกรรมอาชญากร ได้ถูกแต่งตั้งขึ้นมาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นครั้งแรกเพื่อรับมือกับบุคคลเหล่านี้

 

เรื่องราวดำเนินโดยจ่าสิบตำรวจ ซงฮายอง (รับบทโดย คิมนัมกิล) การเห็นเหยื่อฆาตกรรมตั้งแต่ยังเด็กได้ส่งผลกระทบให้เขารับรู้ความอ่อนไหวทางอารมณ์ลึกซึ้งกว่าคนอื่น แต่ตัวเองกลับกดเก็บความรู้สึกไว้เก่งเสียจนดูเป็นคนไม่ค่อยมีมนุษยสัมพันธ์ ยิ่งพอมาเป็นตำรวจที่มุมานะจะสืบสวนคดีให้ถูกต้อง เขาก็ยิ่งถูกเพื่อนร่วมงานเขม่นอยู่ไม่น้อย

 

ทว่าบุคลิกนั้นเองทำให้หัวหน้าหน่วยพิสูจน์หลักฐาน กุกยองซู (รับบทโดย จินซอนกยู) ชวนเขามาร่วมทีมวิเคราะห์พฤติกรรมอาชญากรซึ่งมีนานแล้วในต่างประเทศ ขณะที่ในเกาหลีเวลานั้นแทบไม่มีใครรู้จักว่าคืออะไร

 

งานของพวกเขาคือการวิเคราะห์ข้อมูลจากหน่วยพิสูจน์หลักฐานเพื่อหารูปแบบพฤติกรรมของคนร้าย สำรวจเบาะแสรอบที่เกิดเหตุที่คนอาจมองข้าม ใช้วิธี ‘Rapport’ คือการสัมภาษณ์อาชญากรตัวต่อตัว ทั้งสองคนค่อยๆ เรียนรู้กลยุทธ์การรับมือและเปลี่ยนบุคลิกให้ต่างจากสายสืบคนอื่น เช่น เปลี่ยนมาใส่ชุดสูท ทั้งหมดก็เพื่อให้อาชญากรไว้วางใจจนยอมเผยข้อมูลการก่อเหตุและภูมิหลังส่วนตัวซึ่งจะมีประโยชน์ต่อคดีอื่นๆ ต่อไป

 

ซีรีส์เล่าชีวิตการทำงานของตำรวจทั้งด้านบวกและลบ ขนานไปกับเส้นทางขรุขระของการที่ทีมวิเคราะห์พฤติกรรมไม่เป็นที่ต้อนรับในช่วงเริ่ม หัวหน้าต้องคอยวิ่งเต้นเพื่อต่อเวลาให้ทีมอยู่รอดปีต่อปี ขณะที่พวกเขาค่อยๆ สะสมประสบการณ์จากคดีข่มขืนและฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน คนอ่อนไหวอย่างซงฮายองก็เผชิญกับปมขัดแย้งในใจจากการอ่านใจฆาตกรที่มันเริ่มกลืนกินชีวิตของเขาไปด้วย

 

นอกจากนักแสดงฝั่งตำรวจแล้วก็ต้องปรบมือให้นักแสดงผู้สวมบทบาทฆาตกรได้อย่างน่าขนลุก พวกเขาถ่ายทอดความชั่วร้ายของ ‘ปีศาจ’ ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นเพียงคนอ่อนแอและน่าสมเพชที่ทำให้ผู้อ่านใจคนต้องคอยระวังไม่ให้ตัวเองดำดิ่งจนถอนตัวไม่ขึ้น

 

ควอนอิลยงเล่าว่าสิ่งที่ช่วยผ่อนปรนความเครียดอย่างหนึ่งคือความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เราจะเห็นการเน้นย้ำความสำคัญเรื่องนี้ด้วยฉากเล็กๆ น้อยๆ นอกเหนือโหมดทำงานจริงจัง เพราะมีแต่เพื่อนร่วมงานที่เข้าใจกันดีที่สุดว่าต่างคนต่างเจออะไรกันมาบ้าง

 

แล้วซงฮายองก็เริ่มหาสมดุลกลับมายืนได้ด้วยปณิธานที่อยากปกป้องความยุติธรรมของเหยื่อและครอบครัว แม้ว่าตัวเขาจะเจ็บปวดไม่น้อยไปกว่ากัน แต่นับจากวันแรกที่ก่อตั้งทีม เขาค่อยๆ พัฒนาบุคลิกตัวเองกลายเป็นคนเปิดเผยความรู้สึกมากกว่าเดิม เมื่อเวลาผ่านไป ผลลัพธ์จากการทุ่มเททำงานหนักร่วมกับหน่วยอื่นในองค์กรก็สามารถพิสูจน์ความสำคัญของทีมนี้ได้จนปูทางให้มีรุ่นอื่นๆ ตามมาในที่สุด

 

 

โลกนี้ไม่มีอาชญากรรมที่สมบูรณ์แบบ

 

เมื่อกล่าวถึงฆาตกรต่อเนื่อง คำที่ตามมาคือ ‘ไซโคพาธ’ หรือผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมการควบคุมชีวิตคนอื่นด้วยความรุนแรง โดยอ้างว่าพวกเขาโกรธแค้นจากการถูกสังคมละเลยจนต้องลงมือกับใครก็ได้อย่างไม่มีทางเลือก ทั้งที่จริงแล้วพวกเขาก็จะเลือกแค่เหยื่อที่กายภาพอ่อนแอกว่าตัวเองอย่างผู้สูงอายุ ผู้หญิง เด็ก รวมถึงสัตว์ที่มักตกเป็นเป้าทดลองก่อนเริ่มลงมือกับมนุษย์

 

กระทั่งถูกจับได้ แม้พยายามปฏิเสธข้อกล่าวหาในตอนแรก แต่พอถึงจุดหนึ่ง พวกเขาจะเริ่มอวดอ้างว่าตั้งใจวางแผนฆาตกรรมมารอบคอบอย่างไร วางตัวอยู่เหนือกว่าคนอื่นแม้แต่กับฆาตกรด้วยกันเอง ไร้ซึ่งความสำนึกผิดต่อเหยื่อไม่ต่างกัน

 

นอกจากฆาตกร 3 คนสุดท้ายที่อิงจากคดีจริงโดยปรับเปลี่ยนชื่อไป ดังนี้ ยูยองชอล เป็น กูยองชุน, จองนัมกยู เป็น นัมกีแท, คังโฮซุน เป็น อูโฮซอง ในซีรีส์ยังพูดถึงคดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซองของ อีชุนแจ ในท้าย EP.4 กับฉากจบ EP.12 ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะรู้จักจากภาพยนตร์ Memories of Murder (2003) เขาเริ่มก่อเหตุตั้งแต่ปี 1986 โดยไม่เคยถูกจับได้เพราะเทคโนโลยีสมัยนั้นทำให้การสืบสวนผิดพลาด แถมตำรวจยังจับ ยุนซองยอ ชายในละแวกนั้นมารับโทษคดีฆาตกรรมครั้งที่แปดแทนอยู่เกือบ 20 ปีด้วยการทรมานให้รับสารภาพ

 

คงเลี่ยงข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าระหว่างที่ตำรวจทำงานอย่างขันแข็งในคดีเหล่านี้ พวกเขาก็สร้างเรื่องให้ประชาชนวิจารณ์กันหนาหู เช่น ใช้กำลังเค้นให้ผู้บริสุทธิ์รับสารภาพ สะเพร่าจนปล่อยคนร้ายหลบหนีจากสถานีตำรวจ ละเลยคดีหญิงสาวที่หายตัวไป รับสินบนจากธุรกิจมืด ให้ความสนใจกับสื่อเกินควร ฯลฯ

 

อย่างไรก็ดี ในปี 2019 ตำรวจนำ DNA ของคนร้ายมาตรวจใหม่และพบว่าตรงกับ อีชุนแจ น่าเจ็บใจที่คดีหมดอายุความแล้ว และเขาถูกจำคุกตลอดชีวิตด้วยคดีฆ่าข่มขืนน้องสะใภ้อยู่ก่อนหน้า แต่นั่นก็ทำให้เขาหมดโอกาสได้รับการปล่อยตัวแบบติดทัณฑ์บนจากคดีเดิม แล้วในที่สุด ฆาตกรตัวจริงก็ถูกเปิดเผยตัวตนให้ประชาชนรับรู้ได้เสียทีหลังผ่านมานานถึง 33 ปี

 

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นทุกวัน มีคนมากมายกำลังทำงานหนักต่อไปเพื่อสร้างสังคมที่เตือนให้รู้ว่าอาชญากรไม่อาจรอดพ้นจากความผิดของตัวเองไปได้ พวกเขาหยิ่งผยองว่ากำลังสร้างผลงานอันสมบูรณ์แบบ โดยไม่รู้ว่าได้ทิ้งร่องรอยอะไรบางอย่างไว้เป็นหลักฐานเสมอ จากรูปแบบพฤติกรรมของตัวเองซึ่งเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นเป้าหมายและแรงจูงใจได้ชัดเจนที่สุด

 

ปีศาจถือกำเนิดขึ้นหรือถูกสร้างขึ้น?

 

ไม่ว่าจะในซีรีส์หรือชีวิตจริง พูดตรงๆ ว่าเราอดขยะแขยงไม่ได้เวลาได้ยินข้ออ้างจากปากฆาตกรว่าสภาพแวดล้อมผลักให้เขากลายเป็นปีศาจ เพราะใช่ว่าทุกคนที่เติบโตมายากลำบากจะต้องมีจิตใจบิดเบี้ยวเสียทั้งหมด อย่างที่กุกยองซูและซงฮายองคุยกันว่าพวกเขาก็ไม่ได้มีวัยเด็กสวยหรู

 

ทว่าก็ปฏิเสธได้ยากจริงๆ ว่าประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย พวกเขามักจะอยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงเป็นปกติ บ้างถูกรังแก ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ไม่เคยถูกนำทางกลับมาหาสังคมที่ปกติสุข บางคนเคยเข้าคุกด้วยคดีลักทรัพย์ วางเพลิง ไปจนถึงคดีข่มขืน แต่ไม่ทันไรก็ถูกปล่อยตัวออกมาทั้งที่ยังไม่ได้สำนึกผิด คนเหล่านี้จึงย่ามใจจนถลำลึกไปก่อเหตุเลวร้ายกว่านั้น

 

คนคนหนึ่งเป็นฆาตกรโดยกำเนิดหรือเกิดจากสังคมสร้างขึ้นมา เป็นด้วยนิสัยใจคอหรือสภาพแวดล้อมกระตุ้น หรือว่าการจัดหมวดหมู่ให้พวกเขาเป็นไซโคพาธ อาจเป็นเพียงการหลีกเลี่ยงโดยบอกว่าคนเหล่านี้แตกต่างจากคนทั่วไปอย่างเราตั้งแต่เกิดอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีคำตอบหนึ่งเดียวพอๆ กับคำถามที่ว่ามนุษย์เป็นคนดีหรือเลวแต่กำเนิด

 

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอะไร สิ่งที่เราพอจะช่วยกันทำได้เมื่ออยู่ในสังคมเดียวกัน ก็คงเป็นการช่วยกันสร้างโลกที่มองเห็นและรับฟังเหยื่อจากปัญหาความรุนแรงตั้งแต่ต้น มีกระบวนการบำบัดและมีข้อกฎหมายที่รัดกุมกว่านี้ เพื่อยับยั้งโอกาสที่จะมีใครต้องถูกผลักจนกลายไปเป็นเหยื่อและปีศาจอีก

 

“ไม่ว่าโลกของเราจะมีปีศาจถือกำเนิดหรือไม่ สิ่งสำคัญคือเราต้องระลึกไว้ว่า ไม่ว่าใครก็เป็นปีศาจได้สักวัน” – กุกยองซู

 

Through the Darkness Through the Darkness

 

อย่าลืมความเจ็บปวดของผู้สูญเสีย

 

“ผู้ต้องสงสัยที่ไร้สำนึก สังคมที่ไม่เปลี่ยนแปลง สื่อที่ไร้ยางอายทำให้ครอบครัวผู้สูญเสียต้องหลั่งน้ำตา เหยื่อที่เป็นเพียงนักศึกษาธรรมดากลัวการออกนอกบ้านตามลำพัง เธอยังไม่อาจกลับมหาวิทยาลัยได้ ส่วนเหยื่ออีกรายถูกฝังอยู่ใต้ดินที่หนาวเย็นแทนที่จะได้สนุกกับชีวิตวัยรุ่น ครอบครัวหนึ่งที่เคยมีความสุขเหลือเพียงรอยจากไฟไหม้ ลูกสาวผู้ขี้เล่นต้องตายอย่างไม่เป็นธรรมโดยไม่ทันตั้งตัว

 

ใครบางคนสูญเสียคนสำคัญในครอบครัวในเวลาชั่วข้ามคืนแบบนั้น และใครบางคนนั้นก็ไม่ใช่คนแปลกหน้า พวกเขาเป็นเพื่อนบ้านและครอบครัวของเรา” – ชเวยุนจี

 

อาชีพสื่อที่เป็นดาบสองคมและเป็นไม้เบื่อไม้เมากับตำรวจก็ถูกเล่าได้ดีผ่านนักข่าว ชเวยุนจี (รับบทโดย กงซองฮา) ขณะที่สำนักข่าวคู่แข่งของเธอทั้งตีข่าวเรียกเรตติ้งจนเกินเบอร์ ทั้งเปิดเผยรูปซงฮายองไปลงโดยไม่ยินยอม แต่เธอเลือกจะเขียนบทความถึงเหยื่อผู้ถูกบังคับให้จากไปอย่างน่าเศร้า และครอบครัวที่ต้องอยู่กับความเจ็บปวดไปตลอดชีวิต

 

หนึ่งในฉากที่เรารู้สึกร่วมมากๆ คือรายละเอียดบางอย่างที่ยูยองชอลกระทำกับผมของเหยื่อผู้หญิง ซึ่งถูกถ่ายทอดโดยตัวละคร ยุนแทกู (รับบทโดย คิมโซจิน) ตำรวจหญิงผู้ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าท่ามกลางอคติทางเพศที่ยังแฝงอยู่ในองค์กร เธอไปเยี่ยมศพนิรนามจากคดีกูยองชุนและเล่าว่าเส้นผมที่รุ่นพี่บอกให้ตัดสั้นจะได้กลมกลืนกับผู้ชายคนอื่นนั่นแหละ คือสัญลักษณ์เตือนใจในการทำหน้าที่ตำรวจให้ดี

 

เธอบอกว่าความยุ่งยากของการไว้ผมยาวเทียบไม่ได้กับความยากลำบากของเหยื่อและครอบครัว โดยเฉพาะเมื่อเหยื่อส่วนใหญ่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและฆาตกรรมอย่างทารุณ ซึ่งไม่ง่ายเลยที่เธอต้องรับมือกับเหตุแบบนั้นซ้ำๆ พร้อมฟังคำพูดที่มีต้นตอจากความเกลียดชังทางเพศ อย่างที่ยูยองชอลพูดต่อหน้าสื่อว่า ขอให้คดีของเขาทำให้ผู้หญิงไม่ปล่อยตัวพร่ำเพรื่ออีก

 

หรือเหตุผลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำของสังคม เป็นความโชคร้ายของคนที่บังเอิญผ่านมา พวกเขาอ้างแบบนี้แม้แต่กับเหยื่อที่เป็นเด็กน้อยเพียงไม่กี่ขวบ ซึ่งมันยิ่งสร้างคำถามวนเวียนให้กับครอบครัวว่าทำไมพวกเขาต้องเจอเรื่องแบบนี้ จนมีคนบางส่วนที่เลือกจบชีวิตตัวเองตามไปหลังการพิจารณาคดีสิ้นสุดลง เพราะพวกเขาไม่อาจรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไหว

 

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น ซงฮายองในวัยเด็กมองศพและสัมผัสได้ถึงความอ้างว้างของเธอแทนที่จะรู้สึกหวาดกลัว เขามักจะตามหาครอบครัวหรือคนใกล้ชิดของเหยื่อก่อนเสมอเวลามาถึงที่เกิดเหตุ เช่นเดียวกับโปรไฟเลอร์ตัวจริงที่บอกว่าเขาตั้งใจทำหน้าที่ยากๆ แบบนี้ก็เพื่อช่วยเยียวยาผู้สูญเสีย

 

และนี่คือข้อความสำคัญอีกประการที่พวกเขาทิ้งท้ายไว้ได้อย่างดีว่า ขอให้สังคมของเราเป็นสังคมที่ให้ความสนใจกับเหยื่อ และครอบครัวผู้สูญเสียที่ถูกละเลยมากที่สุดจากอาชญากรรม

 

Through the Darkness Through the Darkness

 

ภาพ: SBS

อ้างอิง:

FYI
  • ควอนอิลยง และ คิมนัมกิล มีรายการพิเศษถามตอบเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ตั้งแต่อาชีพโปรไฟเลอร์ พฤติกรรมการสะกดรอยตาม (Stalking) ที่เพิ่งเป็นกฎหมายใหม่ในปี 2021 ขณะที่การปั่นหัว (Gaslighting) ยังไม่นับว่าผิดกฎหมาย ฯลฯ ที่สำคัญคือเรื่องอาชญากรรมวิวัฒนาการมาอยู่บนโลกดิจิทัลที่ทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะคดีอาชญากรรมทางเพศ อาทิ การเผยแพร่ภาพแอบถ่าย หรือคดี ‘ห้องแชต Nth Room’ ที่มีผู้กระทำผิดทั้งวัย 20 และเยาวชน ซึ่งนี่คือสิ่งที่สังคมต้องตระหนักและปรับแนวทางการลงโทษกันต่อไป (รับชมได้ที่ www.youtube.com/playlist?list=PLBD3KVgNp_ozVH5aEfw2-RlIy6G-1klYN)
  • เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีการเปิดเผยจดหมายของ ยูยองชอล ซึ่งเขียนส่งให้กับรายการ Unanswered Questions ช่อง SBS รายการที่พาไปเจาะลึกคดีอาชญากรรมหรือประเด็นในความสนใจของสาธารณชน โดยได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงประชาชนที่โทรมาแจ้งเบาะแส ในหลายๆ ครั้งรายการมีส่วนช่วยเหลือคดีที่ยังไขไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือคดีฆาตกรรมย่านฮวาซอง เอกสารที่โปรดิวเซอร์และนักเขียนเคยรวบรวมไว้กลายเป็นแหล่งข้อมูลอันดับหนึ่งในการยื่นพิจารณาคดีใหม่ให้กับ ยุนซองยอ แพะในคดีดังกล่าวจนเขาได้รับความยุติธรรมกลับมา
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising