×

ข้อควรรู้ของการชุมนุมในการเดินทางสู่ความฝันด้วยความปลอดภัย

20.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (20 กันยายน) หากเป็นไปตามแผนของกลุ่มแกนนำ #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จะมีการเคลื่อนขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางออกจากบริเวณสนามหลวงไปยังทำเนียบรัฐบาล  


ผมกดดูเส้นทางใน Google Mapa ที่จะเดินเท้าผ่านถนนราชดำเนินใน-กลาง-นอก รวมเป็นระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร พร้อมคำนวณให้ด้วยว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยใช้อัตราเร็วในการเดินเท้าของมนุษย์ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

แต่ในความเป็นจริงคาดว่าใช้เวลานานกว่านั้น เพราะอัตราเร็วนี้ (คิดเป็น 1.4 เมตรต่อวินาที น่าจะเห็นภาพชัดขึ้น) อาจเร็วไปสำหรับการเดินขบวน และอาจมีฝนตกร่วมด้วยระหว่างเส้นทาง ผมอยากชวนผู้ชุมนุมคิดว่าระหว่างการเดินทางน่าจะมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้น และสามารถป้องกันได้อย่างไร 

 

ความเสี่ยงระหว่างการเดินเท้า

ถ้ามองด้วยกรอบความคิดที่แพทย์ใช้เป็นประจำ ความเสี่ยงจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือโรคติดเชื้อและอุบัติเหตุ โดยโรคติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคฉี่หนู เพราะอาจเดินผ่านบริเวณที่มีน้ำขังซึ่งมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และหากผิวหนังของเรามีบาดแผลก็จะเป็นช่องทางในการติดเชื้อได้ วิธีการป้องกันคือหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ และหากมีแผลก็ควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ยาแบบกันน้ำได้

 

ส่วนอุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งผู้ชุมนุมเอง เช่น ข้อเท้าพลิก หรือจากการควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ สาเหตุแรกควรป้องกันด้วยการเดินอย่างระมัดระวัง สังเกตลักษณะทางเดิน และคนที่เดินนำหน้าเรา หากเกิดอุบัติเหตุ ควรประเมินอาการเบื้องต้นว่าสามารถเดินลงน้ำหนักได้หรือไม่ ถ้า ‘ไม่ได้’ ควรขอความช่วยเหลือเพื่อให้พาไปยังหน่วยปฐมพยาบาล

 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับข้อเท้าพลิกมีหลักการเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘RICE’ คือ Rest พัก แยกออกมานั่งพักข้างทางก่อน, Ice ประคบเย็นด้วยผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งหรือเจลประคบเย็น, Compression รัดด้วยผ้ายืด และ Elevation ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงขึ้นเพื่อลดอาการบวม หากยังมีอาการปวดมากควรพบแพทย์เพื่อประเมินอาการอีกครั้ง

 

ในขณะที่สาเหตุที่สองจากการควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่จะต้องเริ่มจากการสำรวจความพร้อมก่อน อย่างแรกคือ ‘สติ’ เพราะสถานการณ์จริงอาจชุลมุนวุ่นวายที่ทำให้ตกใจจนไม่มีสติ อย่างที่สองคือ ‘สุขภาพ’ หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหืด ควรร่วมกิจกรรมอื่นแทน และอย่างที่สามคือ ‘น้ำดื่ม’ หรือน้ำสะอาดสำหรับล้างสารเคมี

 

ที่สำคัญคือ ‘การตรวจสอบข่าวลือ’ ที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่

 

หากมีการใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการแสบตา ไอ หายใจลำบาก ผื่นแดงที่บริเวณผิวหนัง ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน ข้อปฏิบัติหากสัมผัสคือ

 

  1. ตั้งสติ 
  2. อย่าจับใบหน้าหรือขยี้ตา เพราะมืออาจเปื้อนสารเคมี 
  3. ใช้น้ำสะอาดที่พกมาล้างตาและกลั้วคอ 
  4. หากใส่คอนแทคเลนส์อยู่ให้เอาออกทันที 
  5. ถอดเสื้อชั้นนอกที่เปื้อนสารเคมีออก หรือเปลี่ยนเป็นชุดสะอาด

 

นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น โรคลมแดด หรือฮีตสโตรกจากการอยู่ในสภาพที่มีอากาศร้อนเป็นเวลานาน อาการมักเริ่มต้นจากอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หน้ามืด ควรป้องกันด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ และสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี แต่ช่วงนี้มีฝนตก จึงควรเตรียมอุปกรณ์กันฝนรวมถึงหน้ากากอนามัยสำรองไว้เปลี่ยนเมื่อเปียกชื้นด้วย

 

ระบบบัดดี้ระหว่างการทำกิจกรรม

ผู้ชุมนุมควรใช้ ‘ระบบบัดดี้’ ซึ่งเป็นการจับกลุ่ม 2-3 คนในการดูแลกันและกัน โดยบัดดี้จะต้องทราบข้อมูลที่จำเป็นของสมาชิกคนอื่น ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล เบอร์ติดต่อญาติกรณีฉุกเฉิน และโรคประจำตัว คอยเช็กว่าแต่ละคนยังเกาะกลุ่มอยู่ และให้ความช่วยเหลือหากคนใดคนหนึ่งบาดเจ็บหรือเกิดเหตุที่ต้องการความช่วยเหลือ 

 

วันนี้ ถ้าเป็นไปตามอย่างที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่าผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่จะมีความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เหตุการณ์จะหยุดอยู่แค่การ ‘ป้องกัน’ โรคเท่านั้น แต่ถ้ากลับตรงกันข้าม สิ่งที่ตามมาคือการ ‘ปฐมพยาบาล’ ซึ่งหากต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญที่สุดคือ ‘1669’ ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising