×

ชิปไม่หายแล้ว แต่โลกอาจเผชิญปัญหาขาดแคลน ‘ทองแดง’ แทน นักวิเคราะห์คาดวิกฤตอาจลากยาวไปถึงปี 2030 จ่อดันราคาพุ่ง 2 เท่า

07.02.2023
  • LOADING...

นักวิเคราะห์บางคนคาดว่าปัญหา ‘ทองแดง’ ขาดแคลนจะดำเนินต่อไปตลอดทั้งปีนี้ และลากยาวไปจนถึงปี 2030 จนอาจทำให้ราคาพุ่ง 2 เท่า สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และบีบบังคับให้ธนาคารกลางต้องรักษาอัตราดอกเบี้ยที่สูงต่อไป

 

สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า ขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนทองแดง เนื่องมาจากปัญหาจากฝั่งอุปทานในทวีปอเมริกาใต้ และแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่สูงขึ้น โดยการขาดแคลนทองแดงนี้อาจเป็นอีกตัวบ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อทั่วโลกจะเลวร้ายลง และส่งผลให้ธนาคารกลางต้องคงท่าทีแข็งกร้าวต่อไปอีกนาน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

ทั้งนี้ ทองแดงเป็นเสมือนเครื่องตรวจวัดสุขภาพเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ถูกใช้ในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุปกรณ์ไฟฟ้าไปจนถึงเครื่องจักรอุตสาหกรรม

 

ด้าน Robin Griffin รองประธานฝ่ายโลหะและเหมืองแร่จาก Wood Mackenzie กล่าวว่า เรากำลังคาดการณ์ว่าการขาดแคลนทองแดงจะดำเนินไปจนถึงปี 2030 โดยมีสาเหตุหลักมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่องในเปรู และความต้องการทองแดงที่สูงขึ้นในอุตสาหกรรมการเปลี่ยนถ่ายพลังงาน

 

“ทุกครั้งที่เกิดความไม่สงบทางการเมืองจะส่งผลกระทบมากมาย และสิ่งที่ชัดเจนคือความเป็นไปได้ว่าเหมืองขุดทองแดงจะต้องปิดตัว” Griffin เสริม

 

โดยในวันนี้ (7 กุมภาพันธ์) ทองแดงถูกซื้อขายอยู่ที่ 4.051 ดอลลาร์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้น 5.99% จากต้นปี (YTD)

 

ปัญหาฝั่งอุปทานจาก ‘อเมริกาใต้’ เป็นสาเหตุหลัก

เปรูซึ่งครองสัดส่วน 10% ของอุปทานทองแดงทั่วโลกได้เผชิญกับการประท้วง นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดี Pedro Castillo ถูกขับออกจากตำแหน่งในเดือนธันวาคม 

 

ทำให้เมื่อวันที่ 20 มกราคม Glencore ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองทองแดงในเปรู เพิ่งประกาศว่ากำลังระงับการดำเนินงานของเหมืองทองแดง Antapaccay หลังจากถูกผู้ประท้วงบุกปล้นและจุดไฟเผา

 

นอกจากนี้ ชิลีซึ่งถือเป็นผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็น 27% ของอุปทานทั่วโลก ก็ผลิตทองแดงลดลง 7% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบจากปีก่อน

 

ด้าน Goldman Sachs ระบุในบันทึกลงวันที่ 16 มกราคมว่า โดยรวมแล้วเชื่อว่าชิลีน่าจะผลิตทองแดงได้น้อยลงในช่วงปี 2023-2025

 

ความต้องการ ‘ทองแดง’ กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การเปิดประเทศอีกครั้งของจีน การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ และการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ได้กระตุ้นความต้องการทองแดงอย่างมาก และทำให้ทรัพยากรทองแดงมีความตึงเครียดมากขึ้น

 

Tina Teng นักวิเคราะห์ตลาดจาก CMC Markets กล่าวว่า การเปิดประเทศอีกครั้งของจีนมีผลกระทบอย่างมากต่อราคาทองแดง เนื่องจากจะช่วยปรับปรุงแนวโน้มอุปสงค์ และจะผลักดันราคาทองแดงให้สูงขึ้น ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนอุปทาน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งทำให้การขุดทำได้ยากขึ้นด้วย

 

ดังนั้น Teng จึงคาดว่าปัญหาการขาดแคลนทองแดงอาจคงอยู่ต่อไปจนถึงปี 2024-2025 พร้อมมองว่าเมื่อถึงเวลานั้นราคาทองแดงอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

 

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือน อย่ามองในแง่ร้ายเกินไป

อย่างไรก็ตาม Timna Tanners กรรมการผู้จัดการจาก Wolfe Research กลับมองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นการหยุดชะงัก และตนไม่คิดว่าปัญหานี้จะน่ากังวลกว่าปกติ พร้อมคาดการณ์ว่าในปี 2023 จะเห็นเหมืองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นหลายแห่ง นอกจากนี้ กิจกรรมและการบริโภคทองแดงอาจไม่ได้พุ่งกระฉูด ขณะที่จีนผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising