×

เกมแห่งอำนาจ

26.07.2017
  • LOADING...

“ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดคือคนที่เราเชื่อใจและใกล้ตัวเราที่สุด”

 

“เราไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าจะมีสงครามแล้ว เพราะถ้าจะมีก็จะเป็นแบบสงครามตัวแทน มหาอำนาจอยู่เบื้องหลังประเทศเล็กๆ ให้รบกัน คือใช้ประเทศอื่นเป็นสนามรบ ที่ผ่านมาการมีเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เขมรสามฝ่ายใดๆ เหล่านี้ เป็นสงครามที่เกิดจากอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน มีมหาอำนาจหนุนหลังต่างกัน”

 

“ถ้าเทียบกับ สามก๊ก แล้ว Game of Thrones มีความแตกต่างมากอย่างเห็นได้ชัด เวลาฝรั่งเขาจะรบกัน สิ่งที่เขาคิดก่อนคือต้องมีแผนที่ที่ชัดเจน และข้อต่อมาคือ ใครมีอาวุธที่ดีกว่ากัน คือเขาเอาเวลาไปประดิษฐ์คิดค้นอาวุธ จะข้ามภูเขา ก็หาวิธีเจาะภูเขา สงครามโลกครั้งที่สองคือตัวพิสูจน์เลยว่า เป็นสงครามที่มนุษย์ใช้เทคโนโลยีในการสู้รบมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”

   ไม่ใช่แค่ชอบดู Game of Thrones เพราะมีเรื่องราวที่สนุก พลิกไปพลิกมาเท่านั้น แต่ ดร. วิทย์​ สิทธิเวคิน ซีอีโอแห่ง DC Consultant ยังติดตามซีรีส์นี้ในแง่มุมของวิธีคิดในการสู้รบ การต่อสู้แย่งชิงอำนาจ การที่อาณาจักรหนึ่งพยายามอยู่เหนืออีกอาณาจักรหนึ่งตลอดเวลา เขามองว่าการต่อสู้ใน Game of Thrones ก็ไม่ต่างอะไรกับการแย่งชิง ประสานผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมืองใหญ่และพรรคการเมืองเล็ก มีการชิงไหวชิงพริบ ไม่มีอะไรแน่นอน วันนี้คนหนึ่งขึ้นเป็นใหญ่ อีกวันอาจจะเป็นอีกคน เพราะการเมืองเป็นเรื่องของคน เมื่อคนเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน อำนาจก็เปลี่ยน การแย่งชิงหรือครอบครองอำนาจในพื้นที่หนึ่งๆ จึงเป็นเรื่องชั่วคราว มีขึ้น มีลง มีเกิด มีดับแบบนี้จนกว่าโลกจะแตกสลายไป

 

ทำไมคุณถึงชอบดู Game of Thrones มันสนุกสำหรับคุณอย่างไร

   จริงๆ เราชอบประวัติศาสตร์และวรรณกรรมจีนมาก่อน แต่สำหรับเราคิดว่า Game of Thrones มันคือ สามก๊ก ฉบับฝรั่งนี่แหละ เพราะมีการแบ่งก๊กแบ่งเหล่ากันแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร ยุคเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดมาในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะชนชาติไหน ถ้าจำได้ ประโยคเปิดกับประโยคปิดจบเล่มของ สามก๊ก คือประโยคเดียวกัน นั่นคือ “คำโบราณว่า สถานการณ์ในเเผ่นดินนี้ เมื่อแตกเเยกมานานก็จักรวมสมาน รวมสมานมานานก็จักแตกแยก” นั่นเป็นเพราะประเทศจีนเป็นประเทศที่ใหญ่มาก มีเมืองยิบๆ ย่อยๆ เต็มไปหมด ก็จะมีคนพยายามผนึกอำนาจ พยายามรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และยุโรปก็เป็นแบบนี้ เยอรมนีก็เคยมี 4 ประเทศมาก่อนแล้วรวมเป็นหนึ่ง อิตาลีก็มาจากนครรัฐเล็กๆ กระจัดกระจาย แล้วก็มีการรวมกันเป็นหนึ่ง เรื่องนี้มีความท้าทายในแง่ของการปะติดปะต่อตัวละคร แล้วเนื่องจากเราเป็นคนชอบอ่านแผนที่ พอเชื่อมโยงสิ่งที่เขาเขียนมาแล้วก็รู้สึกเลยว่านักเขียนโคตรฉลาด แต่ไฮไลต์ที่เราว่าทำไมคนถึงติดตามก็คือพื้นเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องของหลายๆ รัฐที่พยายามจะรวมกันเป็นหนึ่งคือเวสเทอรอส แล้วจุดสูงสุดก็คือการได้นั่งบัลลังก์เหล็ก

   ถ้ามองในแง่การเขียน ก่อนหน้านี้สไตล์ฝรั่งจะไม่ได้บอกอย่างละเอียดว่าตัวละครนิสัยยังไง เช่น พูดน้อย ปากไม่ตรงกับใจ ช่างยอคน หรือถ้าเป็นเรื่องสงคราม ก็รู้แค่ชื่อแม่ทัพว่ามีใครบ้าง แต่ไม่รู้นิสัยใจคอโดยละเอียด รู้แค่เขารบกันยังไง แต่ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรในใจบ้าง ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สอง เราก็ไม่รู้นะว่าแม่ทัพแต่ละคนของฮิตเลอร์นิสัยยังไง เพราะฝรั่งไม่ได้ใส่ใจเรื่องพวกนี้ แต่ประวัติศาสตร์จีนจะบันทึกนิสัยตัวละครโดยละเอียด เช่น ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิงไม่เคยไว้ใจใคร ชายาเป็นคนเลือดเย็น แต่ Game of Thrones แตกต่างไป เรื่องนี้เรามองเห็นนิสัยใจคอของคนโดยละเอียดมาก เพราะเขาเอามิติทางจิตวิทยามนุษย์มาซ้อนกับตัวละคร ทำให้เรารู้ว่าแต่ละตัวเป็นคนแบบไหน รวมกับเรื่องของการรวมอาณาจักร ทำให้ดูแล้วสนุก น่าติดตาม

 

         ไฮไลต์อีกอย่างที่ชอบมากใน Game of Thrones คือตัวละครแต่ละตัวมีพัฒนาการจากคนเลวกลายเป็นคนดีได้ จากคนดี ใสซื่อบริสุทธิ์ กลายเป็นคนเล่ห์เหลี่ยมจัด เหี้ยมโหด มันเป็นความพลิกผันที่สมเหตุสมผล เพราะคนเรามันก็เป็นแบบนั้น แต่ละคนมีแรงจูงใจที่ไม่เหมือนกัน และที่สำคัญมากคือเมื่อคนมารวมกันแล้ว มันจะมีการหักเหลี่ยมเฉือนคมกัน ซึ่งต้องเรียนรู้ว่าควรรับมือยังไง เช่น ถ้าคนนี้นิสัยแบบนี้ เราจะใช้วิธีการจัดการยังไง

 

ถ้ามองในมุมของการเมือง คุณมีความเห็นอย่างไรกับการเมืองใน Game of Thrones

   อย่างที่บอกไปเลยครับว่ามันไม่ต่างจากประโยคเปิดและปิดของนิยายเรื่อง สามก๊ก ที่มีความหมายว่าบ้านเมืองเป็นหนึ่งแล้วแบ่งแยก เมื่อบ้านเมืองแบ่งแยกแล้วจะกลับเป็นหนึ่ง เรื่อง Game of Thrones มีพื้นฐานมาจากประวัติศาสตร์ยุโรปที่สังเกตได้ว่าจะมาจากการเป็นนครรัฐเล็กๆ แล้วก็จะมีคนมาผนึกกำลังรวมกัน จากนั้นก็จะเกิดการกบฏจากคนไม่อยากรวมเป็นหนึ่ง แล้วมันก็จะแตกแยกอีก ถ้าดูแผนที่ของดินแดนเวสเทอรอส มันก็คือเกาะอังกฤษที่สลับด้าน คือเอาเกาะเวลส์กับไอร์แลนด์​มาสลับทิศกัน ถ้าเราดูแค่ตระกูลสตาร์ก เราจะเห็นว่ามันคือสกอตแลนด์นั่นเอง แต่โดยรวมพื้นฐานของการเมืองในยุคโบราณ​มันจะต้องมีการอยากรวมอาณาจักรให้เป็นหนึ่ง โดยเฉพาะอาณาจักรที่พูดภาษาเดียวกัน ในประวัติศาสตร์โบราณของยุโรปก็เกิดการรวมตัวกันแบบนี้ ใน Game of Thrones ก็เหมือนกัน จากที่เคยอยู่กัน 7 รัฐ ก็จะมีคนอยากรวมกันเป็นหนึ่ง เพราะคนสมัยก่อนไม่ได้ทำงานทำการหรือทำธุรกิจ แต่รบกันอย่างเดียว รัฐไหนอ่อนแอกว่าก็จะโดนบุก รัฐที่ใหญ่อยู่แล้วก็จะหาพวกให้เยอะ แล้วไปข่มรัฐที่เล็กกว่า ผมใช้คำว่า military business ของสมัยก่อนเลยนะ ดังนั้นถ้าสังเกต มันก็เหมือนเรื่องพรรคการเมืองที่มีพรรคขนาดใหญ่ พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็กนั่นเอง ในเรื่องนี้พรรคใหญ่ก็คือแลนนิสเตอร์และบาราเธียน ส่วนสตาร์กนี่ถือเป็นรัฐบริวารนะ หมายความว่าตลอดมาของประวัติศาสตร์โลก ถ้ารัฐเล็กไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งหรือไม่ให้บรรณาการก็จะถูกกำจัด

   ตอนเรียนเรื่องการเมืองยุโรป อาจารย์จะบอกว่าพรรค FDP ของเยอรมนีเป็นพรรคเล็กที่ทุกคนอิจฉา เพราะไม่ว่าพรรคใหญ่พรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาลก็ต้องเหน็บพรรค FDP ไปด้วยเสมอ มันก็เหมือนการเมืองที่เราเห็นบ่อยๆ ในยุคนี้ คือถ้าพรรคใหญ่ได้เสียงจัดตั้งรัฐบาลไม่ถึงครึ่งก็จะไปหนีบพรรคเล็กๆ มาตั้งรัฐบาล เพื่อให้พูดจาภาษาเดียวกัน ทำงานร่วมกัน การเมืองอเมริกันก็มีลักษณะแบบนี้ คือมีสองพรรคใหญ่ เดโมแครตกับรีพับลิกัน แต่ก็จะมีรัฐตัวแปร หรือ swing state อยู่ด้วย แล้วก็แย่งชิงอำนาจกันมาแบบนี้

   จำได้ไหม หนึ่งในตอนไฮไลต์ก็คือภาค 3 ที่ร็อบบ์ สตาร์ก ลูกชายของเอ็ดดาร์ด สตาร์ก พากองทัพไปสู้กับแลนนิสเตอร์ ถ้าดูแผนที่ประเทศ ลงใต้มาจะเจอเมืองกันชนของวอลเดอร์​ เฟรย์ ซึ่งตอนนั้นเขาก็เข้ากับร็อบบ์ สตาร์ก อยู่ดีๆ ก็ให้สตาร์กเข้ามาตั้งฐานทัพแล้ว เพราะทางสตาร์กคิดแล้วว่าถ้าหักเมืองนี้เข้าไปได้ แลนนิสเตอร์พัง ปรากฏว่าเฟรย์หักหลัง จับล็อกทุกคน แล้วแทงเมียของร็อบบ์ตาย จากนั้นใช้หน้าไม้ยิงขุนพลทั้งหมดในห้องปิด ฆ่าเคทลินตาย คนดูช็อกกันหมดว่า เฮ้ย ทำไมเป็นแบบนี้ แต่นี่คือเล่ห์เหลี่ยมของเมืองเล็กๆ ไง คือถึงจะเป็นเมืองเล็ก แต่ก็มีความสำคัญ เป็นตัวแปรได้

   แล้วอย่าลืมเรื่องคำขวัญของแต่ละตระกูลที่มันบอกอะไรบางอย่างด้วย เช่น ของแลนนิสเตอร์ ‘A Lannister always pays his debts’ แปลว่า แลนนิสเตอร์ตอบแทนทุกคน ดังนั้นถ้าวอลเดอร์ เฟรย์ ฆ่าร็อบบ์ สตาร์ก ได้ ก็จะได้รางวัล เพราะคนใจกว้างทำงานแล้วมีผลตอบแทนเสมอ นี่แค่ฉากเดียวนะที่ทำให้เห็นว่าแลนนิสเตอร์เป็นรัฐนายทุน เพราะรวยมาก และรู้ด้วยว่าพวกรัฐเล็กๆ ไม่ได้ต้องการอะไรหรอก แค่มีพื้นที่ของตัวเองอยู่อย่างสงบสุขก็พอแล้ว นี่คือการที่พรรคใหญ่ตอบแทนพรรคเล็ก และพรรคเล็กก็สวามิภักดิ์พรรคใหญ่ การเมืองที่ไหนๆ ก็เป็นแบบนั้นมาตลอด

 

ภาวะผู้นำในเรื่อง Game of Thrones มีอะไรที่น่าสนใจ ผู้นำแบบไหนที่น่ายกย่อง หรือแบบไหนที่ต้องระวัง ใครดี ใครไม่ดี

   ผมว่ามันต้องแยกแยะว่าเก่งกับดีมันคนละเรื่องนะครับ แล้วเรื่องนี้ก็มีพื้นฐานข้อมูลมาจากเรื่องในยุคกลาง เพราะฉะนั้นมันจะยังไม่มีหรอก เรื่องการเมืองของประชาชน ประชาธิปไตย เพราะทั้งหมดคือการปกครองด้วยเจ้าครองนครที่เป็นขุนศึก ยุคนั้นมีแต่การออกรบ ยึดเมือง ถ้าจะถามว่าใครเก่งที่สุด ต้องบอกว่าแลนนิสเตอร์ โดยเฉพาะไทวิน คนที่เป็นพ่อ คนนี้มีอำนาจมาก มีบารมี มีทั้งพระเดชและพระคุณ​ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพระเดช คือการซื้อคนไว้ทั้งหมด แต่ทุกอย่างที่เขาดำเนินการเราจะไม่เคยเห็นแบบเต็มๆ เลยนะ จริงๆ แล้วเบื้องหลังเขาชักใยและซื้อทุกอย่างไว้หมดแล้ว การต่อสู้สมัยก่อนมันก็คือเรื่องอำนาจ เงิน และดินแดน ที่จะบริหารยังไงเท่านั้นเอง มันก็คือการต่อรองผลประโยชน์นั่นแหละ เป็นเกมแห่งการช่วงชิงอำนาจล้วนๆ สังเกตว่าเรื่องนี้จะไม่มีบทบาทของศาสนจักรเข้ามาเกี่ยวข้อง ยังไม่มีเรื่องศาสนา จะพูดถึงนิสัยใจคอของมนุษย์ล้วนๆ ถ้าจะมีคนที่มีความดีก็เป็นเรื่องของมโนธรรมเฉพาะบุคคลเท่านั้น เช่น พระเอก ที่เหลือคือเหลี่ยมจัดกันหมด แล้วเรื่องอำนาจนี่มันแล้วแต่คน บางคนมีอำนาจ มีเงินเพื่อปกป้องตัวเอง แต่บางคนมีเพื่อขยายอาณาจักร เพราะการบุกรุกเมืองอื่นนั้น เมื่อได้พื้นที่เพิ่ม ประชาชนในการปกครองก็จะได้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น มีอาหารเลี้ยงคนมากขึ้น ถ้าไม่รุกพื้นที่ คนอื่นก็มาบุกรุก ชีวิตก็มีแต่เรื่องสู้รบตลอดเวลา ต้องมีแสนยานุภาพ มีอาวุธ​ ดังนั้นถามว่าปัจจุบันทหารหรือกองทัพในแต่ละประเทศยังมีแบบนี้อยู่ไหม ยังมีนะครับ สิงคโปร์ที่เป็นประเทศเล็กมากๆ ทำไมมีเรือดำน้ำ 5 ลำ เพราะถ้าไม่มี ประเทศอื่นก็บุก

   ถ้าเทียบกับผู้นำประเทศก็คือ ถ้าไม่มีมิตร ก็ต้องมีความเข้มแข็งของตัวเอง มิตรมีสองประเภท คือมิตรที่เสมอกัน กับมิตรที่ยอมเป็นบรรณาการ รัฐเล็กๆ ถึงได้เข้าหาแลนนิสเตอร์หมดเลย เพราะรู้ว่าสู้ไม่ได้ ซึ่งมันก็ทำได้หลายอย่าง เช่น ส่งลูกไปแต่งงานกับตระกูลใหญ่ เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นการไขว้กันของตระกูลต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ไม่ต้องรบกัน การเมืองสมัยโบราณตรงไปตรงมามาก ใครเข้มแข็งกว่า คนอื่นก็จะมาสวามิภักดิ์

   แต่ถ้าถามถึงคนที่น่ากลัวที่สุด ผมว่าเฟรย์ เพราะว่าให้คนอื่นมาตั้งกองทัพแล้ว แต่หักหลัง ปิดห้องล้อมฆ่าเฉยเลย คนแบบนี้น่ากลัว เพราะเราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร ถึงได้มีคำพูดว่า ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดคือ คนที่เราเชื่อใจและใกล้ตัวเราที่สุด ในเรื่องจะเจอแบบนี้บ่อยมาก เคยเป็นเพื่อนกัน เคยร่วมรบกันแล้วเปลี่ยนไป แต่ประเด็นคือเรื่องมันไม่ได้มีแค่นี้ บางครั้งภัยมันก็ไม่ได้มาจากคนอื่น แต่มาจากภายในบ้าน ภายในครอบครัว อย่างที่ไทวินมีปมขัดแย้งกับลูก แล้วถูกลูกฆ่าตาย

   คือคนเข้มแข็งก็อาจถูกโค่นล้มจากคนใกล้ตัวได้ คนอ่อนแออย่างตระกูลบาราเธียนก็สอนให้รู้ว่า ตัวเองอ่อนแอแล้วยังไม่พอ แต่ยังไม่มีพันธมิตร ไม่มีเพื่อนอีก ก็เลยทำให้อยู่แค่นั้น ไปได้ไม่ไกล สตาร์กมาเข้าร่วมด้วย แต่ตัวเองก็อ่อนแออยู่ดี ถ้าเทียบกับประเทศไทยนะ เราเป็นประเทศเล็กๆ แต่มหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา จีน รัสเซีย ก็ต้องการเป็นมิตรกับเราอยู่ดี เหตุผลสำคัญคือด้วยพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์​ที่เรามี ไหนจะความสามารถด้านการทูต ความยืดหยุ่น การผูกมิตรกับมหาอำนาจก็ช่วยเราให้ผ่านการถูกบุกรุกมาหลายครั้งแล้ว นี่คือสิ่งที่ควรจะเป็นของรัฐที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่ เราต้องมีกุศโลบายที่จะพาให้ตัวเองรอดด้วย

   บทสรุปก็คือ อาณาจักรจะสิ้นสลายได้โดยปัจจัยหลักแค่ 2 เรื่องคือ ภัยคุกคามภายนอก กับสนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ ในตน หรือภัยที่เกิดจากตัวเอง

 

ถ้าพูดถึงสงคราม การสู้รบ คุณคิดว่ายุคนี้มีสงครามแบบไหนที่เราควรระวัง หรือน่ากลัวที่สุด

   เราไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าจะมีสงครามแล้ว เพราะถ้าจะมีก็จะเป็นแบบสงครามตัวแทน มหาอำนาจอยู่เบื้องหลังประเทศเล็กๆ ให้รบกัน คือใช้ประเทศอื่นเป็นสนามรบ ที่ผ่านมาการมีเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เขมรสามฝ่ายใดๆ เหล่านี้ เป็นสงครามที่เกิดจากอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน มีมหาอำนาจหนุนหลังต่างกัน อย่างซีเรียที่เห็นตอนนี้ คนที่รบกันจริงๆ ก็คือประเทศที่หนุนหลัง เมื่อก่อนพื้นที่รบคือแถบอินโดจีน แต่เดี๋ยวนี้คือตะวันออกกลาง หรืออย่างตุรกี เคยสงสัยไหมว่าทำไมคนไปตอแยจังเลย เพราะมันคือพื้นที่ยุทธศาสตร์ไง ถ้าดูดีๆ 3 จังหวัดของตุรกีอยู่ในยุโรป อีก 75 จังหวัดอยู่ในเอเชีย ข้ามทะเลไปเจอยูเครน อีกด้านเป็นยุโรปตะวันตก มันคือสี่แยกของโลก ดังนั้นหลายๆ ประเทศก็เลยไปตอแย ถ้าถามผมนะ เราควรจะคิดว่าเราจะอยู่อย่างไรท่ามกลางสงครามที่มหาอำนาจแบ่งฝักแบ่งฝ่ายได้อย่างที่เรามีศักดิ์ศรีของประเทศด้วย ถ้ามองดูพระปรีชาสามารถของกษัตริย์โบราณก็ส่วนหนึ่ง แล้วความสามารถของคนในชาติที่ประสานผลประโยชน์ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

   อีกอย่าง การจะไม่เกิดสงครามหนักๆ เหมือนสงครามโลกก็อาจจะเป็นเพราะสังคมเราเรียนรู้มาเยอะแล้วว่า การเกิดสงครามหนึ่งครั้งมีความเสียหายมหาศาล ถ้าจะมีก็สงครามตัวแทนนี่ล่ะ กองกำลังต่างๆ ที่มีทุกวันนี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวเองสักเท่าไร แต่เป็นเพราะมหาอำนาจสนับสนุนให้เกิดสงคราม

   ประเด็นคือเรื่องของเกม ไม่ว่าจะเป็นเกมไหน การเมืองในประเทศหรือระหว่างประเทศก็จะมีการสู้รบระหว่างพรรคใหญ่และพรรคเล็กที่เป็นตัวแปร รวมทั้งเรื่องการวางแผนว่าจะกุมอำนาจอย่างไรให้เหมาะสม แต่เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะเหลือมหาอำนาจแค่ขั้วเดียว เพราะมันต้องมีการสู้กัน เป็นการถ่วงดุลกันไปแบบนี้ เพราะถ้ากินรวบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โลกจะน่ากลัวมาก ดังนั้นความแตกต่างหลากหลายจึงสามารถช่วยไม่ให้ทุกอย่างเลวร้ายเกินไป

 

คุณคิดว่าตัวเองได้อะไรจากการดูซีรีส์เรื่องนี้

   เรื่องสัญชาตญาณขั้นพื้นฐานของคน ปัจจุบันมนุษย์มีเรื่องของมโนธรรมเข้ามามากขึ้นกว่ายุคโบราณ​ เรารู้จักการปฏิบัติต่อกันอย่างมีมนุษยธรรมมากขึ้น แต่ใน Game of Thrones มันเป็นการบอกสันดานดิบของมนุษย์อย่างแท้จริง ได้คืบจะเอาศอก มีพื้นที่แล้วก็อยากมีเพิ่ม มีพื้นที่แล้วกลัวคนอื่นคุกคามก็ต้องไปหาคนที่มีอิทธิพลคอยค้ำไว้ ไปสร้างพันธมิตร ไปประสานผลประโยชน์ เมื่อถูกคุกคามเยอะๆ ถ้าไม่พัฒนา ไม่ป้องกันตัวก็ตาย แล้วถึงจุดหนึ่งมนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงไป แต่จะเปลี่ยนแค่ไหนก็แล้วแต่คน แล้วแต่ว่าเจอเรื่องอะไร สัญชาตญาณเป็นยังไง บางคนเจอความยากลำบากเข้ากับตัวก็เริ่มเข้าอกเข้าใจคนอื่น เหมือนที่เจมี แลนนิสเตอร์ เปลี่ยนไป จากคนที่เย่อหยิ่ง ไม่เห็นใจใคร กลายเป็นคนที่เข้าใจคนอื่น เพราะตัวเองต้องตกระกำลำบาก ถูกตัดมือที่ถนัดที่สุดในการใช้ดาบ แล้วต้องมาหัดใช้มือซ้ายแทน ชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้เขาเรียนรู้ว่า การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเป็นธรรม อย่างเป็นมิตร มันมีจริงๆ

   ถ้าเทียบกับ สามก๊ก แล้ว Game of Thrones มีความแตกต่างมากอย่างเห็นได้ชัด เวลาฝรั่งเขาจะรบกัน สิ่งที่เขาคิดก่อนคือต้องมีแผนที่ที่ชัดเจน และข้อต่อมาคือ ใครมีอาวุธที่ดีกว่ากัน คือเขาเอาเวลาไปประดิษฐ์คิดค้นอาวุธ จะข้ามภูเขา ก็หาวิธีเจาะภูเขา สงครามโลกครั้งที่สองคือตัวพิสูจน์เลยว่า เป็นสงครามที่มนุษย์ใช้เทคโนโลยีในการสู้รบมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ฮิตเลอร์ข้ามฝั่งไปรบกับอังกฤษไม่ได้ ก็ใช้กองทัพอากาศไปถล่ม แต่สมัยก่อนทำไม่ได้นะ เพราะไม่มีเทคโนโลยีขนาดนั้น ดังนั้นจึงไม่มีการยกพลขึ้นบกที่อังกฤษ แต่เป็นการถล่มทางอากาศแทน แต่จีนตอนยุค สามก๊ก ทำไม่ได้ เพราะจีนไม่ใช่นักประดิษฐ์ เคยใช้ทวนมายังไงก็ยังใช้ทวนแทงจนถึงตอนอังกฤษ​ ฝรั่งเศสมาบุก ฝรั่งทำได้เพราะมีช่วงปฏิวัติวิทยาศาสตร์​ ทุกอย่างเลยพัฒนามาเรื่อยๆ นี่คือสงครามฝรั่ง ดูกันที่ว่าใครมีอาวุธดีกว่ากัน

   ส่วนจีน ด้วยความที่ยุคโบราณยังไม่มีพัฒนาการด้านอาวุธ เขาก็จะเน้นเรื่องกลยุทธ์​ หรือการอ่านนิสัยคน การวางแผนต่างๆ ดังนั้นการอ่านประวัติศาสตร์ทั้งฝรั่งและเอเชีย จะทำให้เรารู้ว่าเราต่างจากเขายังไง เพราะมันมีเรื่องวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องของการทำแผนที่ ซึ่งทางเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น ที่ไม่ถนัดเรื่องนี้มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ผมคิดเล่นๆ คือ การที่คนอ่าน สามก๊ก ไม่รู้เรื่อง ส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้ว่าเมืองไหนอยู่ตรงไหน เดินทัพกันยังไง ใครเป็นใคร แต่ฝรั่งไม่ว่าจะยุคสมัยไหน จะรบกับใคร เขาดูแผนที่ก่อนเลย ต้องรู้ว่าเมืองอยู่ตรงไหน เกาะแก่งเป็นแบบไหน ร่องน้ำเป็นยังไง การรู้แผนที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่มีแผนที่ เราจะไม่รู้ความเป็นจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น คุณจะไปทางไหน ทิศทางเป็นยังไง ฝรั่งเขาจะเน้นที่การรู้ภาพใหญ่ แล้วค่อยมาลงรายละเอียด

   แต่ทางเอเชียมักไม่ค่อยคิดอะไรเป็นภาพ ยกเว้นญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นคิดเป็นภาพเก่ง แต่ทางเอเชียจะเน้นใช้จินตนาการ มีเรื่องการอ่านคนอย่างแยบยล เรามีข้อดีอย่างอื่น พวกนี้ถือเป็น soft spot ที่เราจำเป็นต้องมีเช่นกัน

   กล่าวโดยสรุปคือ ไม่ว่าจะรบกี่ร้อยครั้ง การรู้เขารู้เราก็ยังเป็นเรื่องสำคัญเสมอ และท้ายที่สุดแล้ว สงคราม ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ยุคสมัยใดล้วนเกิดมาจากมนุษย์ที่ไม่เคยรู้เท่าทันกิเลสและด้านมืดในหัวใจตัวเอง ด้วยเหตุนี้ต่อให้ชนะสงครามต่อกันและกัน มนุษย์ก็ยังคงแพ้จิตใจของตัวเองอยู่เช่นเดิม 

   ติดตามอ่านเรื่องราวของผู้คนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอีกมากมายได้ในนิตยสาร The Standard เล่ม 2 www.thestandard.co/magazine

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising