×

‘The Mustang Blu’ โรงแรมที่เปิดเปลือยรอยอดีตอันงดงามของสถาปัตยกรรมโคโลเนียลร่วม 100 ปี

15.02.2020
  • LOADING...
The Mustang Blu

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • The Mustang Blu เป็นโรงแรมที่มีรากฐานจากอาคารยุคสมัยโคโลเนียลอายุร่วม 100 ปี ผ่านการใช้งานมาในหลายบทบาท ทั้งโรงพยาบาล ธนาคาร กระทั่งสถานอาบอบนวด จอย-อนันดา ฉลาดเจริญ ตัดสินใจปรับเปลี่ยนอาคารแห่งนี้เป็นที่พัก เปิดเผยร่องรอยเดิม แล้วเติมเรื่องราวเข้าไปใหม่
  • อาคารมีขนาด 900 ตารางเมตร สูง 3 ชั้น แปลนเป็นทรงสามเหลี่ยม ห้องโถงฉายบุคลิกของ The Mustang Blu ชัดเจน พื้นไม้ปูใหม่ทั้งหมด แต่ช่างเข้ากับพื้นผิวร่อนลอกของเพดานและผนัง ประตูตู้เซฟจากสมัยเป็นธนาคารที่ยังใช้งานได้ เฟอร์นิเจอร์วินเทจ ต้นไม้เขตร้อนชื้น สัตว์สตัฟฟ์ และโครงกระดูกสัตว์ 

ราวเดินทางไกลโพ้นไปจากกรุงเทพฯ เหมือนหลุดไปสู่อีกดินแดน… นี่คือความรู้สึกแว่บแรกที่ก้าวเข้าภายใน The Mustang Blu โรงแรมริมถนนไมตรีจิตต์ ตั้งใกล้หัวลำโพง อันมีรากฐานจากอาคารยุคสมัยโคโลเนียลที่ยืนหยัดมาร่วม 100 ปี อาคารหลังนี้ผ่านการใช้งานในหลากหน้าที่ ทั้งเคยเป็นโรงพยาบาล เป็นธนาคาร กระทั่งเป็นสถานอาบอบนวด จอย-อนันดา ฉลาดเจริญ มองเห็นความงามในเนื้อแท้ของตัวตึกที่ซ่อนเร้นอยู่ในความทรุดโทรมตามกาลเวลา เธอตัดสินใจปรับเปลี่ยนอาคารแห่งนี้เป็นที่พัก เปิดเผยร่องรอยเดิม แล้วเติมเรื่องราวเข้าไปใหม่ ‘เป็นความเจ็บปวดที่งดงาม’ คือคำนิยามที่จอยมีให้ The Mustang Blu

 

The Mustang Blu

 

The Concept

ในแวดวงแฟชั่น จอย อนันดา คือสไตลิสต์และโชว์ไดเรกเตอร์ผู้เจนจัด สไตล์ของเธอชัดเจน แม้ในการออกแบบตกแต่งภายในอาคาร ซึ่งก็ตั้งแต่ The Mustang Nero โรงแรมในตึกอายุราว 60 ปี ย่านพระโขนง ที่เธอทำมาก่อนหน้า ด้วยมีความสนใจในสถาปัตยกรรมเก่าแก่ หลังจาก The Mustang Nero ไปได้สวย เธอจึงเริ่มมองหาที่ทางต่อไป

 

“โจทย์แรกของจอยคือ อยากปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมให้กลับมาใช้งานได้ The Mustang Nero เป็นอาคารพาณิชย์ในย่านที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม จอยถามเพื่อน ถ้าฉันจะทำที่นั่นเป็นที่พัก เป็นโรงแรม เธอจะมาพักไหม ทุกคนเซย์โน ไม่มีทางเลย บอกย่านนั้นไม่น่าอยู่ เป็นจุดเสื่อมของสุขุมวิท แต่เราคิดว่า ถ้าเราตั้งใจทำ ทำให้ดี ทำให้สะอาด แล้วค่อยวัดดวงกัน ปรากฏว่า โรงแรมเต็มทุกวันจนถึงวันนี้ มีคนส่งข้อความมาทาง Inbox ว่าห้องไม่พอจอง ทำไมไม่ทำมากกว่านี้ มีคนที่เคยมาพักบอกว่า ที่นี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขานึกถึงกรุงเทพฯ เลยรู้สึกประทับใจว่าเราได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้ลูกค้าได้พูดถึงกรุงเทพฯ ในแง่ที่ดี รีวิวของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้จอยคิดจะทำที่ที่สอง”

 

และ The Mustang แห่งที่ 2 ก็คือ The Mustang Blu  

 

“จอยใช้เวลาตามหาตึกถึง 2 ปีกว่า ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ ที่เชียงใหม่ ภูเก็ต ไปดูหมด แต่สุดท้ายก็เลือกกรุงเทพฯ เพราะคิดว่าที่ที่เราถนัดก็คือ บ้านเกิดของเราเอง เราเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด จึงเริ่มตามหาตึกในกรุงเทพฯ มีหลายตึกที่น่าสนใจ สุดท้ายก็มาลงเอยที่ตึกนี้ จอยว่าหลายคนเคยเห็นตึกนี้มานาน เพราะเป็นอาคารมาเกือบ 100 ปีแล้ว โครงสร้างภายนอกก็สะดุดตา มีระเบียงสวย พอมีคนรู้ว่าจอยจะทำที่นี่เป็นที่พัก หลายคนก็มาคอมเมนต์ โอ้โห ดีใจจังเลย ผ่านมาตรงนี้ทีไร ถอนหายใจทุกที เพราะสภาพที่ค่อนข้างเสื่อมโทรมและไม่เจริญหูเจริญตา”

 

The Mustang Blu

The Mustang Blu

The Mustang Nero

 

ในอดีตตัวอาคารถูกเปลี่ยนผ่านมาในหลายบทบาท พื้นที่ภายในถูกต่อเติมเสริมทับ จอยจึงบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะค้นไปจนเจอความงามดั้งเดิมของอาคารหลังนี้   

 

“โจทย์ของจอยในการทำคือ รื้อไปให้เจอของเดิมก่อน แล้วรื้อเอาสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาคารออก แล้วค่อยเริ่มต้นเล่าใหม่ว่าเราจะเล่าแบบไหน จอยอยากเก็บร่องรอยของทุกความเจ็บปวดไว้ เลยตั้งชื่อโปรเจกต์ว่า ‘ความเจ็บปวดที่งดงาม’ จอยว่าอาคารเขาน่าสงสาร ค่อนข้างทรุดโทรม และอดีตที่เคยเป็นอาบอบนวดมาก่อน แต่สุดท้ายจอยมองว่า พวกเขาก็สวยงาม เลยเลือกที่จะเก็บร่องรอยของความเจ็บปวดไว้ เราซ่อมทั้งหมด แต่ไม่ปิดบังสิ่งเดิมของเขา เลือกที่เผยพื้นผิวเขาให้เห็นเลย”

 

ไล่ชมไปทีละส่วน จึงได้เห็นอดีตที่ไม่จำเป็นต้องปิดซ่อน ปรากฏผ่านโครงสร้าง ผ่านริ้วรอยฝังผนัง ผ่านหน้าต่างบางบานที่เป็นบานเก่า อีกร่องกะเทาะขอบบันไดทอดขึ้นชั้นบน ขณะที่เรื่องราวที่ใส่เข้าไปใหม่ได้เล่าผ่านเฟอร์นิเจอร์ เครื่องของตกแต่ง แสง สี เสียง และฟังก์ชัน การใช้งานของพื้นที่ที่ปรับให้เหมาะสมกับรูปแบบโรงแรม

 

The Mustang Blu

 

จอยเปิดภาพ Before & After ของสเปซภายในให้ดู เหลือเชื่อว่า เธอใช้ระยะเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น ในการแปรสภาพพื้นที่ของอาคารในอดีตมาสู่โรงแรมในรูปโฉมปัจจุบัน

 

“ข้อหนึ่งที่ทำให้โปรเจกต์นี้ยากคือ จอยจำกัดเวลาการทำไว้ที่ 5 เดือน ผู้รับเหมาก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าทุกคนทำตามตารางที่จอยวางไว้ก็คือทัน คีย์เวิร์ดของจอยคือ ‘ดีที่สุด’ ต่อใคร ต่ออาคาร อะไรก็ตามที่ทำให้อาคารดีขึ้น จอยจะทำ ‘สวยที่สุดในแบบของเรา’ ‘ประหยัดที่สุด’ คือไม่ฟุ้งเฟ้อเกินตัว ทำเท่าที่เราไหว เพราะเราทำคนเดียว ‘ปรับพื้นที่เสื่อมโทรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด’ จอยอยากให้แถวนี้ดีขึ้น เพราะใกล้หัวลำโพง อยากให้เป็นหนึ่งพื้นที่ที่ดีขึ้นของกรุงเทพฯ และ ‘ตรงต่อเวลามากที่สุด’ จะไม่เกิดประโยชน์เลย ถ้าสิ่งที่พูดมาทั้งหมดไม่ตรงต่อเวลา”  

 

The Mustang Blu

 

The Vibe

อาคารหลังตระหง่านแห่งนี้มีขนาด 900 ตารางเมตร สูง 3 ชั้น แปลนเป็นทรงสามเหลี่ยม ทางเข้าหลักคือประตูอยู่ส่วนมุมแหลม ผลักเข้าสู่บริเวณล็อบบี้ที่แนะนำความเป็น The Mustang Blu ตั้งแต่บริเวณต้อนรับ โครงกระดูกนกกระจอกเทศและม้าสตัฟฟ์ขนาดใหญ่ปะทะสายตา เคาน์เตอร์ Register ของแขกผู้เข้าพักตั้งอยู่ถัดไป ดวงไฟวอร์มแสง อุ่นสลัว แต่ไม่ทึบทึม

 

“จอยทำงานสไตลิ่ง แล้วต้องใช้พวกสัตว์สตัฟฟ์ถ่ายงาน เราก็อยากทำให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด และการไปเช่ามันแพงมาก มีถ่ายงานให้นิตยสารเล่มหนึ่งเป็นธีมพิพิธภัณฑ์ เลยคิดว่า ถ้าเราซื้อมาเอง มาเก็บไว้ เอามาใช้งานได้ด้วย ก็เกิดเป็นการสะสม แล้วพอไปถ่ายที่พิพิธภัณฑ์จริงๆ เราได้เห็นโครงสร้าง เห็นอนาโตมีของสัตว์ ซึ่งดีกว่าปล่อยเป็นซากทิ้งไป ที่แอฟริกาถ้าสัตว์ป่วยตาย แก่ตาย เขาจะสตัฟฟ์ไว้เพื่อเพิ่มมูลค่าของซากสัตว์ แต่เราไม่สามารถไปฆ่าเพื่อสตัฟฟ์นะคะ สัตว์ต้องป่วยตาย แก่ตาย หรือสัตว์ต่อสู้กันตาย

 

“ม้าตรงล็อบบี้ จอยซื้อมานานแล้ว ในช่วงที่กำลังตามหาตึก ก็บอกม้าว่า เดี๋ยวเธอต้องไปเข้าคอกที่ใดที่หนึ่งนะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะอยู่ที่ไหน แล้วเขาก็ยืนรอคอกเขาที่ Nero มานาน วันที่เอาเขาเข้าคอกนี้ ยังบอกกันเล่นๆ ว่า อะ เข้าคอกแล้วนะ พนักงานต้อนรับคนแรกของ Blu”

 

The Mustang Blu The Mustang Nero

 

เดินพ้นจากล็อบบี้ ลึกเข้าไปด้านใน ออกสู่ห้องโถงใหญ่ที่ตกแต่งสวยเสียจนต้องยืนมองนิ่งนาน บริเวณนี้เป็นห้องรับประทานอาหารเช้าและใช้งานอเนกประสงค์ของผู้เข้าพัก เสาต้นแข็งแรงยืนเรียง โชว์ริ้วลายปลายยอดค้ำเพดาน กลางห้องตั้งบันไดโครงเหล็ก ทอดนำสายตาขึ้นสู่ช่องวงกลมที่ต่อเนื่องไปถึงชั้นบนสุด จบด้วยหลังคาโคมที่มีช่องให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาข้างใน

 

The Mustang Nero The Mustang Nero

 

“เสาทั้งหมดที่เห็นตอนนี้ไม่มีใครเห็นมา 50-60 ปีแล้ว ระหว่างที่อาคารนี้เป็นอาบอบนวด ปลายเสาทั้งหมดถูกซ่อนอยู่ใต้ฝ้า ตัวเสาบางต้นก็อยู่ในผนังเบา ช่องวงกลมที่เป็นโดมก็อยู่ใต้พื้นที่ปิดตาย จอยเริ่มจากเห็นโดมก่อน เนื่องจากมีฝ้าที่แตกอยู่ มีช่องแสง ตอนแรกคิดว่ามีแค่เฉพาะโดมชั้น 3 แต่พอการรื้อสำรวจผ่านไปได้ 20 เปอร์เซ็นต์ จอยก็ลงมาสำรวจที่พื้นชั้น 3 เอ๊ะ มันตรงกันลงมาหรือเปล่า พอเปิดต่อไปเรื่อยๆ จึงรู้ว่า มันเคยเป็นช่องทะลุกันมาก่อน ก็เลยเดาว่า ชั้น 2 ต้องมีเหมือนกัน แล้วก็รื้อลงมาถึงข้างล่าง”

 

The Mustang Nero The Mustang Nero

 

ห้องโถงยิ่งฉายบุคลิกของ The Mustang Blu ชัดเจน พื้นไม้ปูใหม่ทั้งหมด แต่ช่างเข้ากับพื้นผิวร่อนลอกของเพดานและผนัง ซึ่งมีทั้งร่องรอยเก่าและเพนต์เข้าไปใหม่ให้กลมกลืนกับของเดิม ประตูตู้เซฟจากสมัยเป็นธนาคารที่ยังใช้งานได้ เฟอร์นิเจอร์วินเทจ ต้นไม้เขตร้อนชื้น สัตว์สตัฟฟ์ และโครงกระดูกสัตว์ 

 

The Mustang Nero

The Mustang Nero

 

“จอยอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนมิวเซียม เหมือนกับที่เราเข้าไปในคณะสัตวแพทย์หรือคณะวิทยาศาสตร์ที่มีพวกโครงสัตว์ มีงานทดลอง แต่ด้วยองค์ประกอบของลักษณะพื้นผิว มู้ดโทนของสีที่ออกมา เป็นไปได้ว่าทำให้คนนึกถึงคิวบาในยุคก่อน ซึ่งก็โอเคนะ สไตล์คิวบาก็สวยดี” 

 

The Mustang Nero

 

The Mustang Blu มีห้องพัก 2 ขนาด คือ 60 ตารางเมตร และ 30 ตารางเมตร มี 2 ห้อง ที่มีระเบียงยื่นออกฝั่งถนน หันเข้าชุมชนไทย-จีนย่านเยาวราช คือห้อง 301 และ 302 และด้วยแปลนอาคารที่เป็นสามเหลี่ยม จอยจึงพลิกข้อด้อยให้เป็นข้อเด่น “ห้อง 301 กับ 201 ห้องมีแพตเทิร์นเหมือนขนมเค้กทรงสามเหลี่ยม เราก็พยายามเอาจุดเด่นของสเปซมาเล่น คือค่อยๆ ไล่ความรู้สึกเข้าไป”

 

ทุกห้องพัก ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ไม่ว่าหันหน้าออกสู่ฝั่งไหน ถูกออกแบบให้อยู่ในธีมเดียวกันทั้งอาคาร แตกต่างคือการตกแต่ง ซึ่งจอยเองมองว่า นี่คือความน่ารัก เพราะแต่ละห้องให้ความรู้สึกที่ชวนมองต่างกันไป สีที่หยิบมาใช้ตั้งแต่โถงชั้นล่างจนถึงทุกห้องพักก็ถูกกำหนดให้ไม่หลุดจากอารมณ์เดียวกัน เธอไล่สีให้ฟังว่า เธอเลือกใช้สีขาว เทา ดำ เป็นเบส ใช้สีธรรมชาติของไม้ เหลืองมัสตาร์ด น้ำเงินทึม ทองเหลือง และหยอดเขียวมะกอกลงไปนิดหน่อย 

 

ไม่ว่าจะเดินไปมุมไหนของโรงแรม สิ่งหนึ่งที่ไม่ขาดไปจากการรับรู้คือ เสียงเพลงที่ดังคลอบรรยากาศ ในบอลรูมที่ไม่เบาเกินหรืออึกทึกมากไป

 

The Mustang Nero The Mustang Nero

The Mustang Nero

 

“อาจเป็นความโชคดีที่เรามาจากคนทำโชว์ เลยสามารถเลือกเพลงที่คิดว่าเข้ากับอาคารได้ สังเกตว่า เราไม่เปิดเพลงที่มีคำร้อง ส่วนที่มีเสียงคนพูดนั่นคือบทสวดอาหรับ แต่จอยบอกไม่ได้ว่าเพราะอะไรถึงต้องเลือกเพลงแบบนี้ แต่มันเข้ากับอาคาร เคยเปิดเพลงแจ๊สแล้วนะ แม้กระทั่งเพลงบลูส์ แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าไม่เข้า มันดูพยายาม แต่พอเป็นเพลงบรรเลงไหลลื่นไปกับอาคาร”

 

ชื่อ The Mustang Blu ตั้งคล้องกับ The Mustang Nero แต่ทำไมต้อง ‘Blu’ จอยอธิบาย “ทีแรกคำว่าบลู จอยตั้งใจจะลิงก์กับคำว่าสีฟ้า แต่สะกดเป็น Blues คือเพลงบลูส์ แต่ระหว่างการทำเกิดปัญหามากและเศร้ามาก คำว่า Blues ก็แปลว่า เศร้า เพื่อนบอก เฮ้ย เปลี่ยนชื่อไหม เผื่อทุกอย่างจะดีขึ้น เลยเปลี่ยนมาใช้เป็น Blu”

 

บางความเจ็บปวดนั้นงดงาม บางความเศร้าก็งดงาม หากเพียงเรามองเห็น  

 

The Mustang Blu

Address: 721 ถนนไมตรีจิตต์ แขวงป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 

Contact: 06 2293 6191

Facebook: www.facebook.com/themustangblu

Map:

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising