×

The Last Dance ของ เซอร์โม ฟาราห์

11.04.2023
  • LOADING...

นับจากวันที่ตัวอักษรนี้กำลังถูกโพสต์ลงบนหน้าข่าวของ THE STANDARD ซึ่งก็คือวันที่ 11 เมษายน 2023 เวลาของ เซอร์โมฮาเหม็ด ฟาราห์ หรือชื่อเดิมสมัยก่อนที่จะ (ถูกบังคับให้) ลี้ภัยมาอยู่ที่สหราชอาณาจักรคือ ฮุสเซน อับดี คาฮิน ในเส้นทางสายนักวิ่งเหลือเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์เท่านั้น

 

เซอร์โมประกาศอย่างชัดเจนตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า เขาจะยุติเส้นทางสายนักวิ่งในปีนี้ และรายการสุดท้ายที่เขาหวังจะลงแข่งขันคือลอนดอนมาราธอน ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายนนี้

 

นักกีฬาวิ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในวงการกรีฑาอังกฤษกล่าวว่า “มันเป็นเส้นทางอาชีพที่น่าทึ่ง และการมีส่วนร่วมในลอนดอนมาราธอนเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก

 

“ผมเสียใจมากที่ไม่ได้ลงแข่งเมื่อปีที่แล้ว และผมแค่อยากจะลองลงแข่งขันอีกครั้ง มันขึ้นอยู่กับร่างกายของผม ผมแค่ต้องการไปที่เส้นสตาร์ทและดูว่าผมจะทำอะไรได้บ้าง มันเป็นแค่การแข่งขันรายการเดียวที่ผมอยากจะมีส่วนร่วมในตอนนี้

 

“ผมไม่ใช่เด็กๆ อีกต่อไปแล้ว คุณไม่สามารถรักษาสภาพร่างกายไว้ได้ตลอดไป และสำหรับผม ผมต้องการที่จะจบมันในบ้านของผม

 

“เราเข้าใกล้จุดจบอาชีพของผมมากขึ้นอีกก้าวแล้วอย่างแน่นอน

 

“ผมจะไม่ไปโอลิมปิก (2024 ที่ปารีส) และผมคิดว่าปี 2023 จะเป็นปีสุดท้ายของผม” เขากล่าวเสริม “แต่อย่างที่ผมพูด ผมแค่ลงแข่งทีละรายการ และเตรียมพร้อมสำหรับลอนดอนมาราธอน ซึ่งเป็นรายการใหญ่

 

“มันแตกต่างออกไปเล็กน้อยกับสิ่งที่ผมทำมาตลอดอาชีพ ผมเข้าร่วมการแข่งขันทุกครั้งโดยรู้ว่าคุณต้องฝึกซ้อมอย่างถูกต้อง

 

“(ลอนดอนมาราธอน) จะมาถึงในอีกไม่นาน แต่ผมจะเตรียมตัวให้ดี ผมจะมุ่งหน้าไปยังเอธิโอเปียและฝึกซ้อมอย่างหนัก แล้วค่อยดูว่าผมจะทำอะไรได้บ้างเมื่อถึงเดือนเมษายน”

 

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 เมษายน) เซอร์โม ฟาราห์ เพิ่งจบอันดับ 7 ในการแข่งขันพอร์ตเกนทิล 10 กิโลเมตร ที่ประเทศกาบอง ซึ่งเป็นการแข่งขันที่เขาตั้งใจจะใช้ทดสอบตัวเองเป็นครั้งสุดท้ายก่อนลอนดอนมาราธอนจะเปิดฉากเพียงแค่ 15 วันเท่านั้น

 

เซอร์โมจบการแข่งขันรายการดังกล่าวด้วยเวลา 30.41 นาที ตามหลังผู้ชนะอย่าง แวงซองต์ คิปเกโมย จากเคนยา ที่คว้าแชมป์รายการนี้ด้วยเวลา 28.11 นาที อยู่ราว 2 นาทีครึ่ง แต่เมื่อคิดว่าฟาราห์อยู่ในวัย 40 ปีแล้วในปัจจุบัน ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่สุดยอดไม่น้อยเลย

 

การแข่งขันวิ่ง 10 กิโลเมตรที่กาบองรายการนี้ของเซอร์โม เป็นการแข่งขันรายการแรกของเขานับตั้งแต่เขาออกมาเปิดเผยเรื่องราวสุดช็อกว่า ตัวเองเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ในโซมาเลีย ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนชื่อและย้ายมาอังกฤษแบบผิดกฎหมายตั้งแต่ยังเด็ก

 

 

ฟาราห์เปิดเผยเรื่องราวดังกล่าวในสารคดี The Real Mo Farah ของ BBC โดยเล่าว่า เขาถูกพรากจากแม่ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ โดยขบวนการค้ามนุษย์ก็จัดการเปลี่ยนชื่อของเขาจากเดิมที่มีชื่อว่า ฮุสเซน อับดี คาฮิน มาเป็น โมฮาเหม็ด ฟาราห์ ก่อนส่งตัวมาที่สหราชอาณาจักร

 

เมื่อมาถึงอังกฤษแล้ว ฟาราห์ซึ่งในตอนนั้นอายุแค่ 9 ขวบ ถูกบังคับให้ใช้แรงงานด้วยการให้ดูแลเด็กๆ ที่อายุน้อยกว่าเขา เพื่อแลกกับอาหาร โดยไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ

 

เหตุการณ์ดังกล่าวดำเนินไปเกือบ 3 ปี จนกระทั่งฟาราห์ในวัย 12 ปีเข้าเรียนในเกรด 7 หรือราวมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตามระดับในประเทศไทย เขาได้พบกับ อลัน วัตคินสัน ครูพละจากเฟลต์แฮมคอมมูนิตี้คอลเลจ ที่เห็นพรสวรรค์การวิ่งในตัวเขา และส่งเสริมให้เขาเข้าสู่วงการกรีฑาในเวลาต่อมา

 

วัตคินสันดูแลฟาราห์เป็นอย่างดี จนกระทั่งเขาไว้ใจและเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟัง นั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ยอดนักวิ่งในอนาคตรายนี้ได้มีชีวิตใหม่

 

วัตคินสันช่วยเหลือฟาราห์ด้วยการหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้เขา และฝึกฝนลับความเร็วของเขามาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดฟาราห์ก็เริ่มแสดงออกถึงพรสวรรค์อันยอดเยี่ยมที่เขามี หลังคว้าแชมป์วิ่ง 5,000 เมตร ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เยาวชนยุโรปในปี 2001 ด้วยวัย 18 ปี

 

การคว้าแชมป์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้ฟาราห์เข้าสู่มหาวิทยาลัยเซนต์แมรีส์ กรุงลอนดอน ในฐานะนักวิ่งเต็มตัว และชีวิตหลังจากนั้นหลายคนก็คงรู้จักเขาเป็นอย่างดีจากความสำเร็จมากมายที่เขาสร้างขึ้นมา

 

ช่วงปี 2011-2017 ถือเป็นยุคทองของฟาราห์ หลังจากที่เขาคว้าความสำเร็จแรกบนเวทีใหญ่อย่างการคว้าเหรียญทองในกรีฑาชิงแชมป์โลก 2011 ที่เมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ ด้วยการเอาชนะ เบอร์นาร์ด ลาแกต ยอดนักวิ่งชาวอเมริกันในสมัยนั้น คว้าแชมป์ในระยะ 5,000 เมตรชาย ชนิดที่ เดฟ มูนครอฟต์ อดีตแชมป์โลก 5,000 เมตรชาวอังกฤษ ถึงกับออกปากชื่นชมฟาราห์ว่า เป็นนักวิ่งระยะไกลชายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่บริเทนเคยมีมา

 

หลังจากนั้นฟาราห์ก็ตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของเขาในระยะ 5,000 และ 10,000 เมตร ด้วยการคว้าเหรียญทองได้ทั้งสองรายการในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน

 

ขณะที่กรีฑาชิงแชมป์โลกที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปีหลังจากนั้น ในปี 2013 ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย และปี 2015 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เขาก็ไม่ทำให้แฟนๆ ผิดหวังเช่นกัน หลังคว้าเหรียญทองมาได้อีก 4 เหรียญจากทั้งสองครั้งที่เขาร่วม ในระยะที่เขาถนัดคือ 5,000 และ 10,000 เมตร

 

 

ยอดนักวิ่งเชื้อสายโซมาเลียรายนี้กลายเป็นนักวิ่งระดับตำนานในที่สุด หลังสามารถป้องกันแชมป์เหรียญทองทั้งประเภท 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร ที่รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในโอลิมปิกเกมส์ ปี 2016 ได้สำเร็จ ส่งผลให้เขากลายเป็นนักวิ่งระยะไกลคนที่ 2 ของหน้าประวัติศาสตร์โลก ที่ป้องกันแชมป์วิ่งระยะไกลในโอลิมปิกได้สำเร็จ 

 

โดยคนแรกที่ครองสถิตินี้คือ ลาสเซ อาร์ตูรี ไวเรน ยอดนักวิ่งระดับตำนานจากฟินแลนด์ เจ้าของฉายา ‘ฟลายอิง ฟินน์ส’ ที่คว้าเหรียญทองทั้งระยะ 5,000 และ 10,000 เมตร ได้ในโอลิมปิก 1972 ที่มิวนิก ประเทศเยอรมนี ก่อนมาป้องกันแชมป์ได้ในอีก 4 ปีต่อมาในโอลิมปิก 1976 ที่มอนทรีออล ประเทศแคนาดา

 

ฟาราห์ปิดท้ายตำนานของตัวเองในปี 2017 หลังคว้าแชมป์โลกระยะ 10,000 เมตร ในกรีฑาชิงแชมป์โลกที่กรุงลอนดอน เป็นการส่งท้ายก่อนหันเหความสนใจของเขาไปสู่การวิ่งมาราธอน และเขาเริ่มต้นมันได้ดีหลังคว้าอันดับ 3 ในรายการลอนดอนมาราธอน 2018 ได้สำเร็จ ด้วยเวลา 2.06.22 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของสหราชอาณาจักร

 

ในปี 2020 ชื่อของเซอร์โมกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังห่างหายไปตั้งแต่จบอันดับ 5 ในลอนดอนมาราธอน 2019 ด้วยเวลา 2.05.39 ชั่วโมง โดยเขาปรากฏชื่อกลับมาแข่งขันกรีฑา ประเภทลู่ อีกครั้งในศึกไดมอนลีก 2020 ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม หลังลงวิ่งในรายการวิ่ง 1 ชั่วโมงชาย (One Hour Men)

 

ฟาราห์ทำลายสถิติรายการดังกล่าว วิ่งระยะทางมากที่สุดในช่วงเวลา 1 ชั่วโมง ด้วยระยะทางทั้งหมด 21,330 เมตร ทำลายสถิติเก่าของ ไฮลี เกบเซลาสซี ที่เคยทำไว้ 21,285 เมตรตั้งแต่ปี 2007 ลงได้สำเร็จ

 

ฟาราห์กล่าวถึงเกียรติยศครั้งนั้นไว้ว่า “การทำลายสถิติโลกไม่ใช่เรื่องง่าย ผมบอกได้เลยว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก สถิติโลกนี้อยู่มาเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นมันบ่งบอกด้วยตัวเอง ผมตื่นเต้นมากที่จะได้กลับลงสนามแข่งขัน การหวนคืนสนามนี้เป็นครั้งแรกคือแรงผลักดันสำคัญของผม”

 

ในปี 2021 เป็นปีแห่งความล้มเหลวของฟาราห์ แม้ว่าเขาจะคว้าแชมป์วิ่งฮาล์ฟมาราธอน รายการ ฌิบูติอินเตอร์เนชันแนล ที่เอธิโอเปียก็ตาม แต่เขาจบอันดับ 8 ในการแข่งขันวิ่ง 10,000 เมตร ชิงแชมป์ยุโรป และยังพลาดการคัดตัวไปโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวในปี 2021 กับชาติสหราชอาณาจักร หลังทำเวลาช้ากว่าคัตออฟที่ 27.28 นาที อยู่ 19.4 วินาทีด้วยกัน

 

 

นับแต่นั้นมาก็ไม่ได้เห็นฟาราห์ทำท่า Mobot ซึ่งเป็นท่าดีใจประจำตัวของเขา (เหมือนกับที่ ยูเซน โบลต์ มีท่า To Di World) อีกเลย

 

ในลอนดอนมาราธอนที่จะมีขึ้นในอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ข้างหน้า อาจเป็นครั้งสุดท้ายแล้วก็ได้ที่เราจะได้เห็น เซอร์โม ฟาราห์ ทำท่า Mobot หลังจากวิ่งจบ

 

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เซอร์โมจะคว้าแชมป์รายการนี้ หลังจากที่ เคเนสซา เบเคเล ยอดนักวิ่งจากเคนยา ประกาศยืนยันว่าจะลงแข่งขันในปีนี้ด้วย ทำให้เขาคือตัวเต็งที่ยากจะโค่น

 

แต่ไม่ว่าจะได้แชมป์หรือไม่ แฟนๆ คงไม่ใส่ใจเท่าการที่ทัวร์นาเมนต์นี้จะเป็นทัวร์นาเมนต์สุดท้ายในการวิ่งของ เซอร์โม ฟาราห์ ก่อนที่เขาจะรีไทร์ไปหลังจากที่มันจบลง…

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising